top of page

ว่ากันด้วยเรื่องแป้นพิมพ์กลไก

Updated: Aug 24, 2023



จากเว็บไซต์รีวิวกล้อง เริ่มมีนาฬิกามาปน ตอนนี้ก็เริ่มมีของอีกอย่างแล้ว แหม่จะว่าคอนเทนต์สับสนก็สับสนอยู่หน่อย ๆ อะนะครับ ช่วงนี้ไม่มีเงินซื้อกล้อง แต่ของเล่นของลูกผู้ชายอย่างเรามันก็มีหลากหลายเนอะ เรื่องที่จะเขียนวันนี้บอกเลยว่าถ้าใครยังไม่เคยเข้ามาก็จะไม่รู้หรอกว่าโลกของ Mechanical keyboard มันใหญ่ขนาดไหน ไม่ใช่ Keyboard ที่เป็นเครื่องดนตรีนะครับ แต่เป็น Keyboard อุปกรณ์ input ของคอมพิวเตอร์นี่แหละครับ เรื่องของเรื่องคือเมื่อผมต้องซื้อคีย์บอร์ดเอาไว้ต่อคอมพิวเตอร์สักตัว ก่อนหน้านี้ก็ใช้ Macbook ปกติ พอเปลี่ยนมาใช้ Macmini ต้องหาจอ หาเมาส์ หาคีย์บอร์ดมาต่อเอง เลยเริ่มศึกษาหาข้อมูลตามนิสัย ก็เลยเริ่มเป็นเรื่องที่จะมาเล่าสู่กันฟัง ณ วันนี้แหละครับ มันเริ่มยังไงและจะไปจบลงที่ไหน ลองดูกัน



คีย์บอร์ดปกติราคาถูกที่เราใช้กันโดยทั่วไปตั้งแต่ราคาหลักร้อยต้น ๆ ไปจนถึงพันกว่าบาท ส่วนมากจะเป็นคีย์บอร์ที่เป็นปุ่มยาง ปุ่มยางในกรณีนี้คือจะมีแผ่นยางแผ่นหนึ่งวางอยู่บนแผงวงจรคีย์บอร์ด เมื่อกด ปุ่มจะมาดันโดมยางตรงนั้นให้ยุบลงไป หน้าสัมผัสที่ติดตั้งไว้ใต้โดมนั่นก็จะแตะกับแผงวงจรทำการพิมพ์ตัวอักษรตัวนั้นทำงานขึ้นมา ซึ่งคีย์บอร์ดปกติเหล่านี้มักไม่ถูกใช้โดยนัก “เล่น” คีย์บอร์ดเนื่องด้วยน้ำหนักกดไม่ได้ฟิลลิ่ง มีความไม่แน่นอน อาจมีอาการกดเบิ้ลซ้ำ และไม่ได้ความเรียลในการกดนะครับ สารพัดเหตุผลต่าง ๆ นานาก็ตามมาเป็นปกติครับ เช่น คีย์บอร์ดแบบปุ่มยางนี้ถ้าเสีย จะต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งแผงเลย แต่ถ้ามาใช้คีย์บอร์ดแบบกลไก หากมีตัวไหนเสีย มันจะเสียแค่สวิตช์นั้นตัวเดียว ซื้อแค่สวิตช์มาเปลี่ยนได้สบาย ๆ ซึ่งเหตุผลนี้ส่วนตัวผมว่าฟังไม่ค่อยขึ้นเท่าไรครับ คีย์บอร์ดธรรมดาตัวละสามร้อยห้าร้อย เสียโยนทิ้งซื้อใหม่ กับคีย์บอร์ดกลไกตัวละเกือบสี่พัน แต่เสียเปลี่ยนสวิตช์ตัวละยี่สิบสามสิบบาท ผมว่าเงินจำนวนนี้สี่พันนี่ก็ซื้อคีย์บอร์ดแบบธรรมดาใช้ได้ไปชั่วชีวิตคนคนนึงแล้ว ไม่เห็นต้องมานั่งคิดมาก เหตุผลทั้งหมดทั้งปวง อย่างที่ผมเคยกล่าว มันมาจาก Emotion ล้วน ๆ การเลือกของซื้อของอารมณ์มาก่อนทั้งนั้นแหละครับ เหตุผลและการวิเคราะห์มันเป็นตัวสนับสนุนครับ



ทีนี้เอาเป็นว่าไม่อยากใช้คีย์บอร์ดปุ่มยางแบบเดิม ๆ แล้วล่ะ อยากจะเปลี่ยน อยากจะแนว ๆ กับเขาบ้างจะเริ่มต้นกันยังไงดี ถ้าให้ผมแนะนำในฐานะผู้ที่ศึกษาหาข้อมูลมานะครับ ถ้าจะไปให้สุดสายนี้ อย่าซื้อ Mechanical keyboard สำเร็จรูปเลยครับ ซื้อแยกทีละชิ้น เอามาประกอบเองเลยครับ เอาให้มันส์ไม่อย่างนั้นมันไม่สาแก่ใจ แต่ถ้าเอาง่ายเอาเร็วคีย์บอร์ดกลไกที่วางขายกันอยู่ปัจจุบันก็มีให้เลือกหลายยี่ห้อนะครับ สำหรับคนที่ไม่อยากยุ่งยาก (แต่เชื่อเถอะ ถ้ารักจะมาสายนี้แล้ว เดี๋ยวมันต้อง Custom เองสักวัน) เช่น Corsair, Drop, Ducky, Durgod, Fnatic, Glorious, Happy hacker, HyperX, Iqunix, Keychron, Kinesis, Leopold, Loga, Lofree, Logitech, MSI, Obinslab, Philip, Razer, Redragon, Roccat, Steelseries, Varmilo, Wasd, Xtrfy และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ทุก ๆ ค่ายก็มักมีองค์ประกอบที่คล้าย ๆ กันครับ ได้แก่ Frame, Printed Circuit Board (PCB), Stabilizer, Plate, Switch, Keycap, Cable ไม่หนีไปจากนี้ครับ สวัตช์และปุ่มส่วนมากสลับใส่กันได้หมด มีมาตรฐานอยู่ไม่กี่แบบ ส่วนถ้ามากกว่านี้ไปก็อาจเป็นพวก Accessories เพิ่มเติมเล็กน้อย เช่น ยาง O-ring หรือแผ่นโฟมลดเสียง ฯลฯ



ก่อนจะไปถึงการลุยไปกับคีย์บอร์ดคู่ใจสักตัว อันดับแรกคงต้องมาเลือก Layout ของคีย์บอร์ดกันก่อนครับ โดยปกติทั่วไปคีย์บอร์ดของคอมพิวเตอร์สมัยก่อนจะมีขนาด 104 keys หรือเรียกว่า Full size ซึ่งจะประกอบด้วยประมาณ 4 ส่วนหลัก ๆ คือ 1.ส่วนปุ่มที่เกี่ยวกับการพิมพ์ (ตัวอักษร shift enter พวกนี้) 2.ปุ่ม Function keys (f1 – f12) 3.ปุ่มลูกศรและ 6 ปุ่มตรงกลางพวก page up, page down, insert, delete, home, และ end และ 4.ปุ่มตัวเลขบริเวณ Numpad / หากทำการตัดส่วน Numpad ออกไปดื้อ ๆ เลย จะเรียก Layout นี้ว่า Ten Keys Less (TKL) / หากตัดส่วนลูกศร function keys และ 6 ปุ่มพิสดารนั่นออกไปอีก จะเรียกว่าพวกขนาด 60% หลัก ๆ ที่ใช้การตัดทอดออกจาก Full size และเป็นที่นิยมก็จะมีประมาณนี้ นอกจากนี้ยังมี Layouts อื่น ๆ อีกมากมายแล้วแต่จะมีการดัดแปลงและออกแบบมาใหม่ เช่น 96% 75% 65% 40% 20% หรือแม้แต่บางอันมีแค่ 2 ปุ่มก็เคยเห็นมาแล้วครับสำหรับพวกที่อยากได้ปุ่มเพิ่มเติมเฉพาะทาง ส่วนตัวของผมหลังจากได้ลองเล่นลองพิมพ์กับคีย์บอร์ดหลาย ๆ ขนาด กลับมาหลงรักคีย์บอร์ดขนาด 60% มากที่สุด ทั้ง ๆ ที่มันไม่มี Numpad ไม่มีปุ่ม Functions และแม้แต่ไม่มีลูกศร แต่คีย์บอร์ดขนาดนี้เป็นคีย์บอร์ดที่ “เข้ามือ” มากที่สุด จะหยิบจับไปไหน พกพา หรือเวลาพิมพ์งานก็รู้สึกว่าเหมาะกับมือมากที่สุด ไม่เทอะทะและต้องเอื้อมนิ้วขยับมือไปกดกับบางปุ่มมากจนเกินไป ในขณะที่หลายคนมักเลือกคีย์บอร์ดแบบ TKL เพราะเริ่มชินกับการไม่มี Numpad ของคีย์บอร์ดโน้ตบุ๊ค แต่การตัดลูกศรออกไปแบบ 60% มันทำใจยาก ก็ใช้ TKL หรือ 65% ไปได้ครับ บางท่านกลับมีการแสดงออกตรงกันข้ามเพราะคิดถึง Numpad มากหรือจำเป็นต้องมีการใช้บ่อย จึงเลือกใช้แป้นพิมพ์กลไกแบบ Full size อันนี้แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน แต่ผมแนะนำให้เลือกตรงนี้ให้ได้ก่อนจะไปดูขั้นตอนต่อไปครับ



เมื่อตกลงปลงใจกับ Layout ที่ชอบแล้ว ต่อไปก็เรื่อง PCB ครับ จะซื้อแยก หรือซื้อแบบ D.I.Y. kit หรือซื้อแบบ Pre built ที่ประกอบสำเร็จรอเสียบสวิตช์กับปุ่ม ก็แล้วแต่ถนัดครับ เรื่องยี่ห้อของ PCB ผมไม่สันทัดนัก แต่เรียนให้ทราบว่า PCB ก็มีหลาย ๆ แบบที่ต้องเลือกเช่นกัน



อย่างแรกที่ต้องเลือกเลยคือ ต้องการ PCB ที่เป็น Hotswapable หรือไม่ ปกติ PCB ทั่วไปเวลาเสียบสวิตช์คีย์บอร์ดแล้วจะต้องบัดกรีขาสวิตช์ให้ติดกับ PCB ด้านหลัง แต่ถ้าเป็น PCB แบบ Hotswapable แล้วจะสามารถถอดหรือใส่สวิตช์ได้ทันที ไม่ต้องบัดกรี แต่แน่นอนว่าต้องแลกมาด้วยราคาที่แพงกว่าปกติ หลังจากเลือกรูปแบบการติดตั้งสวิตช์ได้แล้ว เราก็มาเลือกกันครับว่าต้องการไฟติ๊ดชิ่ง ๆ หรือไม่ จะเอาเป็นแสง RGB ปรับซิ่งปรับแว้นได้ หรือแสงขาวอย่างเดียว หรือไม่มีแสงอันนี้คือสิ่งที่มากับ PCB ครับ แนะนำแถมไว้ตรงนี้ด้วยว่า PCB บางรุ่นมีรูรองรับสวิตช์ 3 pin บางรุ่นรองรับ 5 pinโดยที่สวิตช์ก็มีทั้งแบบ 3 pin และ 5 pin ตามนี้ อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติก็ไม่ใช่ปัญหานะครับ แค่ตัด pin พลาสติกออก 2 อันก็สามารถใส่ด้วยกันได้สบาย ไม่เกี่ยวกับประสิทธิภาพการทำงานแต่อย่างใด และเข้าใจว่า PCB ในยุคใหม่ ๆ นี้คงเป็น USB-C กันหมดแล้ว ไม่น่าเป็นประเด็นในการเลือกนะครับ พวกที่ใช้ Mac ก็ไม่ต้องกังวลกับ Layout ของปุ่มครับ คีย์บอร์ดประกอบเองพวกนี้ส่วนมาก PCB จะสามารถ flash firmware เข้าไปใหม่ได้ จะให้ปุ่มไหนกลายเป็นอะไรเสกได้หมดด้วย QMK ครับ แค่เลือกปุ่มมาใส่ให้ตรงกับที่ตั้งไว้ก็พอ



ได้ PCB มาแล้วก่อนอื่นก็ต้องต่อกับคอมพ์เพื่อทดสอบก่อนครับว่าเรียบร้อยสมบูรณ์ดีทุกปุ่มไหมโดยเอาคีมปากแหลม ๆ นี่แหละครับแตะให้วงจรแต่ละปุ่มมันเชื่อมกันจำลองเหมือนการกดสวิตช์ในงานพิมพ์ เมื่อเรียบร้อยดีก็ติดตั้ง Stabilizer กัน ไอ้เจ้าตัวนี้มันมีไว้ช่วยให้ปุ่มยาว ๆ สามารถกดลงและเด้งขึ้นได้พร้อม ๆ กันไม่เอียงเทไปด้านใดด้านหนึ่งครับ



ทีนี้ก็มาถึงเจ้าสวิตช์เจ้าปัญหาละครับ เพราะมีให้เลือกเยอะมาก ๆ ๆ ๆ ๆ จนคนเริ่มหาว่าบ้า กะแค่คีย์บอร์ดอันเดียวจะวุ่นวายอะไรหนักหนา แต่มันเป็นเรื่องจริงครับ ใครไม่ลองไม่รู้ ไม่เคยเข้ามาในโลกนี้ก็จะไม่รู้จัก จริง ๆ แล้วฟิลลิ่งของคีย์บอร์ดกลไกส่วนมากก็เป็นผลมาจากสวิตช์นี่แหละครับ ว่าจะหนักเบา กี่จังหวะ ให้ความรู้สึกอย่างไร ให้เสียงอย่างไร ในโลกนี้แบ่งเอาง่าย ๆ แบบแบ่งเองไม่ตามหลักวิชาการนะครับ มันมี Linear switch ที่กดลงไปจังหวะเดียวพรวดถึงโคนปุ่ม เนียน ๆ ลื่น ๆ แต่มีความหนักเบาของสวิตช์แตกต่างกันไปได้แต่ละรุ่น Tactile switch เป็นสวิตช์ที่กดแล้วรู้สึกถึงผิวสัมผัส มีจังหวะนิด ๆ พอต้านมือ มีน้ำหนักการกดให้เลือกหลายหลายเหมือนกัน และ Clicky switch เป็นสวิตช์สองจังหวะที่กดผ่านจังหวะแรกลงไปจะมีกลไกทำให้เกิดเสียงคลิ๊ก เจ้าสวิตช์แบบหลังนี่เสียงดังแจ๊บ ๆ หลายคนชอบกันมากเพราะหนวกหูดี แรก ๆ ผมก็ชอบครับ แต่หลัง ๆ เริ่มเบื่อ รู้สึกว่ามันโวยวายมากเกินไปแบบไม่มีรสนิยม จึงมาจบลงที่ Tactile ซึ่งถ้าเทียบกับกาแฟคงเป็นอาราบิกาขณะที่ Clicky เป็นโรบัสต้า หรือองุ่นที่ใช้ทำไวน์ Tactile คงเป็น Cabernet sauvignon ขณะที่ Clicky เป็น Merlot ครับ มันไปได้ไกลว่าอ่อนไหวกว่า หลากหลายกว่า ก็ว่าไปเรื่อย สวิตช์ที่เป็นที่นิยมคงไม่พ้นยี่ห้อ Cherry ครับ มาจากเยอรมันผู้ถือครองสิทธิบัตรเจ้าสวิตช์นี่มายาวนาน แต่ตอนนี้หมดอายุไปเรียบร้อยแล้ว จึงมีบริษัทอื่น ๆ ทำสวิตช์ออกมาขายกันให้เยอะแยะ เช่น Gateron, Kailh, HyperX, Glorious ฯลฯ ซึ่งหลายยี่ห้อมีราคาย่อมเยาในขณะที่บางสวิตช์ก็หายากราคาแพง ต้องไปทดลองพิมพ์กันดูเองครับ มันมี “หลายร้อย” รุ่นให้เลือกสรร สำหรับผมสุดท้ายไปจบที่สวิตช์ Glorious Panda เป็น Tactile ที่ให้ความรู้สึกโอเคสุดแล้ว (ในกลุ่มสวิตช์ที่หาได้ทั่ว ๆ ไปนะครับ) สำหรับผมครับ นอกจากนี้ยังมีสวิตช์ที่เป็นกลไกอีกชนิดหนึ่งคือ Optical สวิตช์ครับ มันใช้การบังแสงทดแทนการทำให้ลวดแตะกันเหมือนกลไกปกติ ซึ่งผมเองยังไม่เคยลอง



การประกอบคีย์บอร์ดพวกนี้ส่วนมากมันจะมี 2 ชั้นครับ ชั้นแรกเป็น PCB ที่ใช้ยึดขาสวิตช์เข้ากับแผงวงจร ส่วนอีกชั้นเรียกว่า Plate จะยึดกับตัวสวิตช์ ปกปิดตัวบอร์ดจากสภาพแวดล้อมภายนอกให้เรียบร้อยครับ ซึ่งวัสดุก็มีหลากหลายแบบให้เลือกทั้งอลูมิเนียม ทองเหลือง คาร์บอนไฟเบอร์ อันนี้แล้วแต่ชอบ



ประกอบเสร็จแล้วก็ยัดใส่เคสครับ ซึ่งอันนี้แล้วแต่ชอบแล้วแต่งบประมาณครับ แต่ถ้าจะ Custom ทั้งทีก็อย่าใช้พลาสติกเลยครับ เอาวัสดุพรีเมี่ยมหน่อยจะฟินกว่าครับ เคยเห็นทั้งอลูมิเนียม ไม้ เรซิน ฯลฯ ไหน ๆ เราจะต้องใช้เวลาอยู่กับมันวันละหลาย ๆ ชั่วโมงแล้ว ลุยเลยครับ ผมชอบเคสโลหะหนัก ๆ ครับมั่นคงดี กดแล้วมันแน่นไม่เลื่อนไม่เคลื่อนง่าย ๆ ใส่อารมณ์ได้ไม่บ่นครับ



องค์ประกอบสุดท้ายที่จะทำให้คีย์บอร์ดใช้งานได้สมบูรณ์คือปุ่ม (Keycap) นั่นเองครับ วัสดุหลักของ Keycap ปัจจุบันจะมีสองประเภทใหญ่ ๆ คือ ABS กับ PBT ครับ ABS จะบาง ๆ แกะเลเซอร์ ยิงตัวอักษรได้คมคายสวยงาม ราคาไม่แพง แต่มันบางเสียงมันจะแก๊ก ๆ ไม่หนักแน่น และอย่างนึงที่ทำให้ผมไม่เลือกใช้ ABS เลยก็เพราะว่าใช้ไปนาน ๆ มันจะขึ้นเงา ๆ บริเวณปุ่มที่ใช้บ่อย ซึ่งผมรับไม่ค่อยได้ครับ ไม่สวย เลยหันมาคบ PBT ดีกว่า เวลาเลือกซื้อขอให้เลือกที่หนา ๆ หน่อย มันจะกดได้มั่นใจหนักแน่นดี การเจาะทำไฟลอดหรือยิงภาษาไทยอาจจะทำได้ยากกว่า ABS แต่คุณภาพของผิวสัมผัส จะสาก ๆ กว่าและใช้งานได้นาน ไม่ขึ้นเงาแบบ ABS สดุดี ปุ่มกดเนี่ยไม่น่าเชื่อว่าจะส่งผลต่อเสียงและความ “แน่น” ของความรู้สึกเวลาพิมพ์งานได้เป็นอย่างมากเหมือนกัน อันนี้ก็คงต้องลองแล้วก็เฟ้นหาคู่ชีวิตกันเองนะครับ ตัวใครตัวมัน



ที่เหลือจะเป็นเรื่องรองครับ ยางโอริงกันเสียงดังเวลาตัวปุ่มกระแทกกับสวิตช์ตอนกดสุด แผ่นโฟมลดเสียงใต้ PCB สาย USB coil มัวน ๆ (มีเพื่ออะไรก็ไม่รู้) ฝาครอบกันฝุ่น ก็แล้วแต่ศรัทธาตกแต่งกันไปตามปัจเจกสุนทรีย์ ส่วนที่รองข้อมือทั้งหมดนี่ผมจัดการหาซื้อไม้มะริดกับไม้สาธรมาตัดเองขัดเองต้อง มันต้อง Custom ระดับนี้ครับถึงจะฟิน...



คราวหน้า สัญญา กลับมาเรื่องกล้องแน่นอนครับ ^_^ สวัสดี

ตัวนี้ใส่ปุ่มแบบ DSA profile

ตัวนี้ลองทำสีปุ่มแบบเหล็กถลอก ๆ เล่น ๆ ดู


ปุ่มแบบ SA profile ของ Domikey เป็น ABS


ความสูงของ SA profile พิมพ์สนุกดีเหมือนกัน


ปุ่มแบบ ASA profile ของ AKKO ค่อนข้างลงตัวดีเหมือนกัน เป็น PBT ความสูงมากกว่าปุ่ม OEM profile ทั่วไป แต่น้อยกว่า SA profile กำลังเข้ามือครับ

Comments


bottom of page