top of page

Summicron Rigid Original Black paint RED scale vs YELLOW scale

Updated: Aug 24, 2023

"คู่ชก ระดับตำนาน"


สวัสดีครับ คราวนี้มาว่ากันด้วยเรื่องเลนส์ของสายลึก ๆ ที่คนธรรมดาอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ มักไม่ค่อยได้เคยเห็นครับ นั่นคือเลนส์ Leica Summicron 50mm V.2 rigid “Black paint” คือเจ้าเลนส์ 50 Rigid นี่น่าจะมีอยู่ในครอบครองของหลายท่านที่เล่นกล้องไลก้าจนเรียกได้ว่าเป็นเลนส์สามัญประจำบ้านตัวหนึ่ง แต่เลนส์ 50 Rigid ที่เป็น Original Black paint แท้ ๆ ที่ไม่ได้มา re-paint ภายหลัง ผมเชื่อว่าน้อยคนจะได้สัมผัส วันนี้ครับ ผมได้รับความอนุเคราะห์จากพี่แอดมินแห่งกลุ่ม Leica M60 & Rare Collectible Leica ที่เคารพ เอามาให้ทดลองใช้ลองรีวิวเล่นดูถึง 2 ตัว แน่นอนครับ ดังที่จั่วหัวไว้ มันคือ 50 Rigid original black paint RED scale และ 50 Rigid original black paint YELLOW scale วันที่ไปรับพี่แกใส่ถุงมาให้ถุงเดียวเลนส์สองตัวชนกันกริ๊ก ๆ ในถุงน่ารักน่าชัง ด้วยมูลค่าของเลนส์มหาศาลถ้าเป็นผมนี่คงห่อโฟมอย่างหนาแยกกันมา ฮ่ะ ๆ ๆ เอาเถอะครับ ยังไงเราได้มาแล้วก็รักษาให้ดีที่สุดและรีวิวให้มันส์ที่สุดสมกับพี่แกตั้งใจ มาว่ากันเลยครับ

เจ้า RED scale ผลิตปี ค.ศ.1964 เพื่อมาเข้าชุดกับ Leica M3 black paint ดังที่พี่ท่านให้ข้อมูลไว้ว่าในปีเดียวกันนั้น Leica ได้ออกเลนส์ 50 Summilux V2 black paint ทั้ง RED และ YELLOW scale มาด้วยจึงเชื่อว่าเอาไว้คู่กับ M3 แน่ ๆ ส่วนเจ้า YELLOW scale อีกตัวหนึ่งที่จะนำมาเปรียบเทียบกันในวันนี้ผลิตปี ค.ศ.1967 เป็นปีสุดท้ายที่ Leica ผลิต 50 Rigid ครับ พี่ท่านให้ข้อมูลไว้ว่าเลนส์ที่ผลิตปีแถว ๆ นี้จะเป็น Double scale คือมีทั้งหน่วยเมตรและฟุต บางท่านอาจเรียกว่าเป็นรุ่น Transition ที่กำลังเปลี่ยนผ่านจาก Black paint brass มาเป็น Black chrome ครับ

แน่นอนว่าขนาดของเลนส์สองตัวนี้เท่ากันทุกประการ จะมองมุมไหนก็เหมือน ๆ กัน เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งว่า เลนส์ Black paint สองตัวนี้ไม่ได้ใช้ทองเหลืองหมดทุกชิ้นส่วนนะครับ เวลาสีดำที่เพ้นท์ไว้มันลอกออกมาจะเห็นว่าแหวนโฟกัสลอกออกมาแล้วเป็นสีเงินครับ แตกต่างจากส่วนอื่น ๆ ที่เห็นเป็นทองเหลืองครับ

มีหลายกระแสพูดถึงเลนส์สองตัวนี้ว่าตัว RED scale ซึ่งผลิตออกมาก่อนนั้นให้คุณภาพของภาพที่ดีกว่า ครั้งนี้จะมาลองรีวิวเปรียบเทียบกันดูครับว่าใครจะอยู่ใครจะไป ผมเชื่อว่าการนำเลนส์สองตัวนี้มาถ่ายภาพเปรียบเทียบกันน่าจะไม่เคยมีใครทำมาก่อนถ้าไม่ได้สปอนเซอร์ระดับเศรษฐีแบบนี้ ฮ่ะ ๆ ๆ เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ว่าตัว YELLOW scale นั้นได้ผ่านการล้างเลนส์เพื่อกำจัดฝ้ามาก่อนครับ ซึ่งการล้างนี้แน่นอนว่าจะมี Coating บางส่วนหลุดลอกหายไปด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของภาพแน่นอน จึงไม่อาจเปรียบเทียบกันได้อย่างเต็มปากเต็มคำนักว่าใครดีกว่ากัน เอาเป็นว่าผมจะพยายามวิเคราะห์ดูในส่วนที่น่าจะพอทำได้ก็แล้วกันครับ

ภาพชุดแรกให้ดูแบบย้อนแสงกันดูก่อน จะได้ทราบข้อจำกัดนะครับ เลนส์ที่ถูกล้างมาแล้วแน่นอนว่า โค้ทติ้งจะต้องบางลงหรือหายไปแล้วแต่ความหนักหน่วง แต่สิ่งนี้ส่งผลต่อคุณภาพแน่นอนครับ ถึงแม้ว่าความคม ความเบลอ คาแรกเตอร์การละลายหลัง ขอบมืดจะยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่เมื่อถ่ายย้อนแสงแล้วจะพบว่ามีแสงที่ฟุ้งออกมาจากการสะท้อนกลับไปกลับมาของแสงในตัวเลนส์นั่นเองครับ (เลนส์โบราณที่ยังไม่มีเทคโนโลยี Coating จึงพยายามออกแบบให้ใช้ชิ้นเลนส์น้อยที่สุดเพื่อลดแสงเหล่านี้ ส่วนเลนส์ใหม่ ๆ Coating ดีมากแล้วก็อัดกันไปได้เป็นสิบ ๆ ชิ้นครับ) ภาพซ้ายฝ่ายแดง ภาพขวาฝ่ายเหลืองนะครับ จะเห็นได้ว่าฝ่ายเหลืองบริเวณราวบันไดด้านบนมีแสงที่ไม่ได้รับเชิญมาทำให้สีสันเพี้ยนไปและคอนทราสต์ลดลงครับ (กดดูภาพขนาด Original ได้เลยนะครับ)

ลองดูภาพรวมเปรียบเทียบกันก่อนจากสองตัวนี้ครับ ถ้าไม่มาขยายดูอาจเห็นได้ว่ามันแทบจะได้ภาพเหมือนกันเป๊ะเลยครับ ดังภาพชุดด้านบนนี้ ถ่ายที่ f2 2.8 4 5.6 8 11 16 ตามลำดับ ซ้ายเป็นฝ่ายแดง ขวาเป็นฝ่ายเหลืองนะครับ สิ่งที่น่าจะพอเห็นได้จากภาพใหญ่นี้ก็คือการเก็บรายละเอียดส่วนสว่างครับ ฝ่ายแดงทำได้ดีกว่าขณะที่ภาพฝ่ายเหลืองส่วนสีขาวจะขาวเวอร์แบบรายละเอียดหายไปมากกว่าครับ จะเกี่ยวกับการล้างเลนส์มาไหม อันนี้ผมตอบได้เต็มปากเต็มคำว่า "ไม่ทราบครับ"



อย่างไรก็ตาม หากซูมเข้ามาดูกันใกล้ ๆ แล้วจะพบว่ามีความต่างกันอย่างชัดเจนเลยครับ ซึ่งดูเหมือนว่าฝ่ายแดงจะสามารถเก็บคอนทราสต์ รายละเอียด ของภาพได้ดีกว่าอย่างเห็นได้ชันใน f กว้างสุด แถมด้วยว่าฝ่ายแดงเหมือนจะได้ภาพที่คมกว่าในบางกรณีด้วยครับ

รวมถึงดูเหมือน ๆ ว่าจะมีระยะชัดลึกมากกว่าฝ่ายเหลืองที่เบลอออกจากความชัดเร็ว (อาการนี้เป็นทุกภาพที่ถ่ายเปรียบเทียบกันเลยนะครับ ไม่น่าเกิดขึ้นจากการโฟกัสพลาด เพราะใช้ทั้ง Leica M60 และ Panasonic S1 ที่เป็น Mirrorless ถ่ายไปหลายชุด ผลออกมาเหมือนกันทุกชุดเลยครับ) ทำให้ภาพโดยรวม ๆ ดูซอฟท์มากกว่าครับ ซึ่งก็อาจจะเป็นที่ตัวนี้ตัวเดียวก็ได้นะครับ หรือแต่ละตัวมันไม่เหมือนกันเลยก็เป็นไปได้เหมือนกัน ฮ่ะ ๆ ๆ ตามสไตล์ยี่ห้อนี้เขาแหละ มันต้องมีส่วน Human error นิด ๆ เอาไว้เป็นเสน่ห์ (ให้นึกถึงพวกเลนส์ ASPH. ยุคแรก ๆ ที่ฝน Aspherical surface ด้วยมือ ส่องกันมันส์) ส่วนเรื่องสีสันและคาแรกเตอร์ของภาพไม่ต่างกันเลยครับ สีเหมือนกันเป๊ะ เลนส์ไลก้ากับสีทองยังไงก็สวย ด้วยคอนทราสต์และความลุ่มลึกของสีที่เลนส์มอบให้ ถ่ายสีทองสวยจริง ๆ ครับ (ความเห็นส่วนตัว)

ลักษณะของโบเก้สองตัวนี้เหมือนกันครับ คือเป็นวงที่มีขอบสว่างบาง ๆ ตรงกลางจะมืดกว่า ไม่ได้ตรงตามตำราในอุดมคติเท่าไร มันก็เป็นคาแรกเตอร์ของมันครับ ตามขอบภาพเจ้าวงที่ว่านี้ก็จะถูกบีบเบี้่ยวไปเป็นวงรี ๆ อันเนื่องมาจากเลนส์ชิ้นหน้ามีขนาดเล็กครับ เป็นเรื่องข้อจำกัดทางกายภาพของมัน

เรื่อง Diffraction เวลาหรี่ค่ารูรับแสงลงไปมาก ๆ เช่น f16 ไม่เป็นปัญหาและไม่พบว่าความคมลดลงเลยครับสำหรับฝ่ายแดง แต่ฝ่ายเหลืองในกรณีที่มีความเปรียบต่างของแสงสูงจะพบว่าภาพซอฟท์ลงไปพอสมควรเลยครับ ไม่แน่ใจว่ากรณีนี้เกี่ยวข้องกับการล้างเลนส์มาด้วยหรือไม่ เทียบจากภาพดอกไม้ให้ดูนะครับ แต่ในภาพที่ร่มทั่วไป ก็ยังคมเปรี๊ยะอย่างเท่าเทียมกันครับ ดังชุดภาพช้างไม้ด้านล่างนี้ได้เลยครับ

สรุปเรื่องคุณภาพของภาพเมื่อพิจารณาแบบยิบ ๆ แล้วผมยกให้ฝ่ายแดงโดดเด่นกว่าจริง ๆ ครับ ไม่เกี่ยวกับเรื่องล้างเลนส์หรือไม่ล้างนะครับ เล็งสภาพแสงและมุมที่ไม่เกิดการสะท้อนและการฟุ้งแล้ว รายละเอียดที่ฝ่ายแดงให้มามันดีกว่าอย่างเห็นได้ชัดเมื่อขยายภาพมาพิจารณา แต่หากไม่ได้ขยายมาส่องกันดู แค่ดูภาพเต็มจอคอมพ์ หรือปริ้นท์มาดู หรือถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม ผมว่ายากมาก ๆ ครับที่จะแยกกันออกระหว่างสองตัวนี้


สรุป(อีกที) เอาจริง ๆ ก็คือ ผู้ที่จะซื้อเลนส์ระดับนี้น่าจะเป็นนักสะสมแล้วล่ะครับ คุณภาพอะไรยังไงอาจไม่ได้ซีเรียสเท่าผู้ที่จะซื้อเลนส์ไปถ่ายภาพจริง ๆ จัง ๆ แบบต้องเพ่งดูคุณภาพกันอย่างที่ทำให้ดูนี้ ขอตอบแบบตามตรงด้วยความเคารพคือถ้าจะเน้นคุณภาพของภาพมาก ๆ ตามทฤษฎี คงต้องไปหาเลนส์รุ่นใหม่ ๆ ครับ ส่วนเลนส์สองตัวนี้มันผลิตมาจะ 60 ปีแล้ว พวกเราเสพคาแรกเตอร์ของเลนส์คาแรกเตอร์ของภาพกันครับ บางครั้งเลนส์ให้ความฟุ้งเราก็เรียกกันว่า Leica Glow บางครั้งเรามาดูการไล่สีไล่โทนมิติของภาพ ฯลฯ ก็ว่าไปครับ เป็นความสุขของนักสะสมสายวินเทจ อย่างไรก็ตามผมบอกได้แค่ว่าเลนส์สองตัวนี้หากหาได้ก็เก็บได้ทั้งคู่ครับ ราคาติดลมบน แล้วผมเชื่อว่าผู้ที่ซื้อเลนส์ระดับนี้สะสมได้ ก็น่าจะหา 50 Rigid ตัวธรรมดามาไว้ติดกล้องถ่ายเล่นเวลาไปไหนมาไหนได้อีกสักตัวเหมือนกันจริงไหมครับ เผื่อทำตกจะได้ไม่เสียดาย ซึ่ง Rigid ตัวธรรมดาก็ถือว่าเป็นเลนส์ราคาแข็งตัวนึงเหมือนกันนะครับ ค่อย ๆ ขึ้นไปเรื่อย ๆ เลนส์ผลิตมาเยอะมากก็จริงแต่ความต้องการเยอะกว่าครับ คนเล่นกล้องสะสมกล้องหน้าใหม่ ๆ เกิดขึ้นเสมอ แต่ของไม่มีผลิตเพิ่มแล้วนะครับ ลองถ่ายภาพเล่นกันดู แล้วมาอภิเชษฐ์ร่วมกันว่าคนเมื่อ 60 ปีที่แล้วเขาใช้เลนส์ที่มีคุณภาพขนาดนี้ ซึ่งในยุคนั้นก็คงกล่าวได้ว่าเป็นเลนส์ระดับแนวหน้าได้อย่างเต็มปาก ขนาดที่ว่าเอามาใช้กับกล้องดิจิทัลสมัยนี้ อัตราแยกขยายยังสุดยอดขนาดที่ซูมมาดูแล้วยังให้ภาพที่คมไม่มีเบลอ ว่าแล้วก็เอาเงินไปปาใส่ร้านกล้องกันครับ แล้วรับเลนส์กลับมาเล่นกัน ^_^ สวัสดี...

Comentários


bottom of page