top of page

Sigma 100-400/5-6.3 DG DN OS C

Updated: Aug 24, 2023

"คุณภาพคุ้มราคา กับน้ำหนักและขนาดกำลังดี"



สวัสดีครับ ถ้าจะว่ากันเรื่องชุดเลนส์สำหรับการถ่ายภาพของแต่ละคนอาจมีเลนส์ที่ “จำเป็น” ในชุดแตกต่างกัน บางท่านเน้นชุดตัวท๊อป 3 กษัตริย์ ซึ่งส่วนมากประกอบด้วยเลนส์ซูมมุมกว้าง เลนส์ซูมช่วงปกติ และเลนส์เทเลซูม โดยมากจะครอบคลุมระยะตั้งแต่ 14-200 มม. ที่ f2.8 แทบจะเป็นมาตรฐานของทุกค่ายไปแล้ว บางท่านนิยมเลนส์ตัวเดียวเที่ยวรอบโลกเช่น 28-300 มม. และประกอบกับเลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยวความสว่างสูงอีกสักตัวหนึ่ง หรือบางท่านนิยมพกพาเลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยวความสว่างสูงหลาย ๆ ตัวเพื่อให้ได้คุณภาพของภาพสูงสุด แต่จะมีเลนส์ช่วงระยะหนึ่งที่สมัยก่อน (กว่า 20 ปีที่แล้ว) คนเข้าถึงกันได้ไม่มากนัก เพราะเป็นเลนส์ที่ค่อนข้างจำเพาะเจาะจงการใช้งานคือเลนส์พวก Super telephoto ซึ่งมีทางยาวโฟกัสให้เลือกใช้กันตั้งแต่ 400-500 มม. ขึ้นไป ระยะขนาดนี้ส่วนมากต้องเป็นช่างภาพกีฬาหรือไม่ก็สายสัตว์ป่าจึงจะได้ใช้งานเต็มที่ ยิ่งพวกเลนส์ที่ความสว่างสูงหน่อย (ในที่นี้คือ f4 หรือ f5.6) ก็มีราคาไปถึง 6 หลักแล้ว คนทั่วไปจึงแทบไม่มีโอกาสได้ใช้ อย่างไรก็ตามในยุคหลังหลายค่ายเริ่มมีการออกเลนส์ซูมแบบ Super telephoto คุณภาพดีราคาไม่แพง ให้คนได้เข้าถึงและดื่มด่ำในการใช้งานมากขึ้น เช่น Tamron 150-600, Sigma 150-600, Nikon 200-500 เท่าที่ผมได้ลองใช้เลนส์พวกนี้มาทั้งหมดถือว่าทำได้ดีมาก ๆ แล้วครับ ทั้งคุณภาพของภาพและความไวในการโฟกัส ทำให้โอกาสในการได้ภาพสูงมากครับ อย่างไรก็ตามเลนส์ในกลุ่มนี้กรรมสิทธิ์มักเปลี่ยนมือมา ๆ ไป ๆ คนที่ครอบครองส่วนใหญ่ก็จับนอนตู้อยู่บ้านเพราะขนาดและน้ำหนักของมันยังเป็นอุปสรรคต่อผู้ใช้งานทั่วไปอยู่พอสมควร หลายคนจึงเลือกไปจบที่ระยะ 400 มม. ซึ่งในท้องตลาดก็มีให้เลือกใช้กันอยู่ เช่น Canon 100-400, Nikon 80-400, และ Sigma 100-400/5.6-6.3 ตัวนี้ที่ผมอยากมาคุยให้กันฟังครับ เพราะว่ามีขนาดย่อมกว่า ช่วยปลายซูมพอแตะ ๆ ระยะไปไหว จะเอาไกลกว่านี้ก็ครอปเอา (สมัยที่ใช้ Nikon D800 กับเลนส์ 200-500 ของมันนี่จัดว่าสนุกมาก เพราะกล้องถือว่ามีความละเอียดค่อนข้างสูงในสมัยนั้น ครอปเป็น APS-C คว้าดาวคว้าเดือนกันมันส์) เลนส์ปลายซูมระยะ 400 มม. ผมไม่ค่อยได้เป็นเจ้าของเท่าไร เพราะไปติดใจที่ 500 ถึง 600 มม. มากกว่าครับ และขอสารภาพไว้ ณ ที่นี้ว่าที่เอาเจ้า 100-400 มาใช้ก็เพราะว่ารอ 150-600 Sport ของ Sigma L mount อยู่นั่นเองครับ เดี๋ยวหวดมาแล้วจะเอามารีวิวให้อ่านกันอีกที

Sigma fp + Sigma 100-400 f5-6.3 DG DN OS C


Sigma 100-400 f5-6.3 DG DN OS C ตัวนี้เป็นเลนส์ในอนุกรม Contemporary คือราคาประหยัดหน่อย แถมด้วย OS คือมีกันสั่น (ซึ่งเดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็มี) กันสั่นนี่ส่วนตัวไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์มันกับเลนส์ช่วงนี้เท่าไร เพราะผมชอบถ่ายนกถ่ายสัตว์ ชัตเตอร์สปีดช้าถึงไม่สั่นแต่ก็เอาสัตว์ไม่อยู่ครับ montion blur ภาพที่ได้จึงต้องยอมแลกกับจุดรบกวนอยู่เสมอ ๆ

Sigma fp + Sigma 100-400 f5-6.3 DG DN OS C


สมัยก่อนการเลือกเลนส์เทเลอันดับแรกให้ดูช่วงปลายซูมที่ f กว้างสุด หลายค่ายพยายามทำเลนส์ราคาประหยัดออกมาขายก็จะตายตรงสเต็ปแรกนี้แทบทุกเจ้าครับ ขอให้ดูความคม คอนทราส และสีไว้ให้ดีครับ โดยเฉพาะที่ f กว้างสุด หลายท่านอาจแย้งว่าใช้วิธีหรี่รูรับแสงเอาก็พอช่วยได้ นั่นก็จริงครับ แต่โอกาสในการได้ภาพจะลดลงทันทีจากข้อจำกัดของสภาพแสง ความไวชัตเตอร์กับทางยาวโฟกัส และจุดรบกวนที่จะตามมาอีกครับ หลังจากพิจารณาช่วงปลายซูมแล้วก็ขอให้ทดลองให้ช่วงต่าง ๆ ตลอดช่วงซูมครับ ว่าคมชัดสม่ำเสมอกันดีหรือไม่ เพราะบางทีอาจมีลักไก่ ช่วงต้นดี ช่วงปลายดี ช่วงกลางดรอปลงไปก็มีนะครับ แต่เลนส์ยุคหลัง ๆ นี้ที่ราคามากกว่า 3 หมื่นบาทขึ้นไป ถือว่าให้คุณภาพดีเพียงพอต่อการใช้งานแล้วครับ ถ้าไม่จุกจิกเล็ก ๆ น้อย ๆ ผมว่าใช้ได้หมดครับ ไม่ได้จะมาอวยชัยให้พร Sigma อย่างเดียวครับยี่ห้ออื่นผมว่าดีหมดเหมือนกัน เพราะใช้มาหมด พี่เจ็บมาเยอะ ฮ่ะ ฮ่ะ จะมีประเด็นบ้างก็คือเรื่องความไวในการโฟกัสซึ่งจะขึ้นอยู่กับกล้องด้วยส่วนหนึ่ง เลนส์ตัวนี้ผมใช้กับ Sigma fp เรียกได้ว่าแทบล้มลุกคลุกคลาน ยิงสัตว์หวังผลไม่ได้เลยครับ อ่ะ โยนทิ้ง จนมาให้กับ Leica SL และ Panasonic S1 อันนี้พอโอเคอยู่ครับ ใกล้เคียงกับพวก Nikon DSLR ที่เคยใช้สมัยก่อน แต่อย่างว่าครับกล้องพวกนี้มันเป็น Contrast detection ต้องยอมรับว่าบางสถานการณ์ระบบโฟกัสยังสู้ไม่ได้เลย ยังมีอาการวืดวาดอยู่มากกว่าระบบ Phase detection แต่ระบบ AF-C ไล่จิกคนจิกสัตว์ของ Panasonic ก็ดีจริง ๆ ครับ ซึ่งใช้กับเลนส์ Sigma 100-400 ตัวนี้ได้ดีมากครับ นกกระโดดโฟกัสก็กระโดดตามไปจิกได้แบบ “เอาอยู่”

Sigma fp + Sigma 100-400 f5-6.3 DG DN OS C


Sigma 100-400 ตัวนี้มากับ f5-6.3 เบะปากนิดหน่อย แต่ก็เป็นที่ยอม ๆ โดยทั่วกันสำหรับเลนส์ช่วงราคานี้ น้ำหนักอยู่ที่ราว ๆ 1.2 กิโลกรัม (หนีมา Mirrorless ก็คอห้อยอยู่ดี) การออกแบบตัวเลนส์คงไม่ต้องพูดถึงเพราะเลนส์ระดับนี้ซื้อมาถ่ายภาพไม่ได้ซื้อมาโชว์แน่นอนครับ แต่ต้องพูดถึงนิดนึงตรง Collar ตัวนี้ไม่มีมาให้นะครับ เป็นวงแหวนยางหุ้มมาในส่วนนั้นแทน ใครอยากใช้ Collar ก็ซื้อแยกกันเองครับ


Panasonic Lumix S1 + Sigma 100-400 f5-6.3 DG DN OS C


คุณภาพของภาพว่ากันตามใช้งานจริง เพราะช่วงหลัง ๆ ต้องยอมรับว่าไม่ค่อยมีเวลามาถ่ายเพ่งพิกเซลอย่างสมัยก่อนครับ ก็มีได้ควงออกไปถ่ายตามทริปต่าง ๆ เป็นบางครั้งบางคราว ประกอบกับสองสามปีนี้มีสถานการณ์ไม่ปกติเข้ามาเลยทำให้ไม่ค่อยได้ออกไปไหนก็ต้องขออภัยกันไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ เพราะว่าไม่ได้เป็นนักรีวิวมืออาชีพ พอว่าง ๆ ก็มาเขียนเล่าสู่กันฟัง เอ้า! คุณภาพตัวนี้ครับ เปิดที่ f กว้างสุด หวังผลได้เลย ทั้งระยะใกล้และระยะไกล คมคาย คมชัดเป็นที่น่าพอใจยิ่ง ไม่มีอาการซอฟท์ หรือฟุ้งให้เห็นครับ คอนทราสต์ดีตั้งแต่เริ่มต้น ก็ขอให้รูปทั้งหลายเป็นตัวแทนพูดแทนตัวอักษรก็แล้วกันครับ ผมว่าถ้าไม่ซีเรียสกันมากจนเกินไป เลนส์ Sigma ในซีรีส์ Contemporary ก็ถือว่าคุณภาพดีแล้วครับ

เรื่องสีสันและไมโครคอนทราสต์จะโดดเด่นมาก ๆ เมื่อประกบกับ Sigma fp พูดได้เต็มปากว่าซัด Leica SL และ Panasonic S1 ปลิว (แต่ออโต้โฟกัสและการจับถือ การควบคุม Sigma fp ก็เข้าขั้นย่ำแย่จนเสียโอกาสไปเยอะ) ภาพที่ได้สีอิ่ม แน่น โทนของภาพดีมาก ๆ ถ้ามาประกอบกับ Leica SL ภาพจะดูแบนลงและติดเหลืองขึ้นมาทันที ส่วน Panasonic S1 ถือว่าได้โทนสีที่ดีครับ แต่ภาพไม่เด้ง ไม่ป๊อบเหมือนใช้ fp ถ้าใครอยากเล่นลองไปหาเล่นที่ร้านกันดูครับ ถ่ายกลางแจ้งมีแดด ๆ หน่อย เดี๋ยวรู้เรื่องครับ สุดท้ายมาจบเรื่องราวเลนส์ตัวนี้ด้วย Leica SL2-S ลงตัว สีสันอาจไม่เด็ดเท่า Sigma fp แต่ก็ดีกว่าตัวอื่น ๆ หมดครับ อย่างไรก็ตามเอกลักษณ์ของเลนส์เมื่อประกบกับ Leica ก็ยังแสดงออกมาได้เด่นชัดนะครับ ภาพที่ถ่ายจากเลนส์ L mount ของ Leica กับภาพจาก Sigma ตัวนี้จะเห็นถึงสีสันที่แตกต่างกันได้ค่อนข้างชัดเจนครับ ภาพถ่ายส่วนมากผมก็หวดที่ f กว้างสุดเลย ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ตามภาพตัวอย่างครับ ผมลงไปว้เป็นไฟล์ขนาด Original หาทางโหลดไปซูมดูกันได้ครับ

Leica SL2-S + Sigma 100-400 f5-6.3 DG DN OS C


สุดท้ายก็เอาว่าเป็นเลนส์ที่ตอนนี้นอนเฝ้าตู้อยู่อีกตัวหนึ่ง ของต้องมีประจำการไว้ถึงแม้จะไม่ค่อยได้ใช้แต่ก็ไม่ได้ขายครับเพราะถ้าจะใช้แล้วมันต้องมี! เดี๋ยวอีกหน่อยจะไป Sigma 150-600 sport รออ่านกันได้เลย สำหรับตัวนี้ ซูมช่วงปลายอาจไปได้ไม่ไกลเท่าใจหวัง แต่แลกมาด้วยขนาดที่กำลังน่ารักพกพาไม่ยากนัก ก็ดูจะเป็นตัวเลือกของสาย Serious Casual ที่น่าสนใจไม่น้อย ถ้าไม่ได้จะไปยิงนกไกล ๆ ใช้เพื่อท่องเที่ยวทั่วไป ตัวนี้ผมว่าถ่ายสนุกกว่า 70-200 นะครับ ต้องไปลองกันเอาเอง... สวัสดี


Comments


bottom of page