แวะเวียนกลับมาพูดคุยกันอีกครั้งกับนาฬิกาครับ คราวนี้เป็น Rolex เรือนเล็ก ๆ เรือนหนึ่ง เรือนนี้คือ Oyster perpetual 34mm สีชมพู (ref. 124200-0004) เปิดตัวปี 2020 ครับ ไซส์นี้ก็เป็นไซส์ที่แปลก ปัจจุบันน่าจะถูกเหมาว่าเป็นนาฬิกาผู้หญิงไปแล้วเพราะหน้าปัดค่อนข้างเล็ก แต่สมัยก่อนผู้ชายใส่ไซส์นี้กันนะครับ ปัจจุบันต่างหากที่นาฬิกามันขนาดใหญ่เกินไปมาก
จะซื้อนาฬิกาทั้งทีต้องมีเหตุผลประกอบกันสักหน่อย อันดับแรก Rolex ยังไงต้องเป็น default ที่ต้องมีอย่างน้อยสักเรือนหนึ่ง ขออนุญาตไม่เล่าถึงที่มาที่ไปของแบรนด์นะครับ มันยาวและหาอ่านได้มากมายเพราะยี่ห้อนี้มันดัง ปัจจุบันนาฬิการาคาถูกกว่านี้มีอีกมากที่มีฟังก์ชันอัดมาแน่น ๆ หน้าตาล้ำ ๆ มีเยอะครับ แต่เรือนนี้เป็นนาฬิกาหน้าตาเรียบ ๆ ดีไซน์เดิม ๆ มาแต่ไหนแต่ไร แล้วมันมีอะไรน่าสนใจ มาดูกันตามประสาของผมนะครับ ซื้อมาใช้ ซื้อมาใส่ ไม่ขาย ไม่เก็บเก็งกำไร เรามาร่วมอภิเชษฐ์ในนาฬิกาแต่ละเรือน ๆ ไปด้วยกันครับ และขอออกตัวไว้ก่อนอีกครั้งว่าไม่ใช่เซียนนาฬิกา เป็นแค่คนรัก คนชอบ เท่านั้น มีอะไรผิดถูกชี้แนะกันได้ครับ
หน้าปัด
เป็นที่น่าน้อยใจว่าหน้าปัดขนาด 28mm และ 34mm ที่ขายอยู่ในปัจจุบันไม่มี Lacquer Dial สีสันสดใส เขียว ฟ้า ชมพู จะมีเพียงหน้าปัดแบบ Sunray Dial ที่เป็นสีต่าง ๆ ให้เลือกเท่านั้น สิ่งที่น่าสนใจคือรายละเอียดของหลักชั่วโมงและรอบนอกบริเวณขอบหน้าปัดจะมีความแตกต่างกันไปตามขนาด โดย 41mm และ 36mm (ตอนนี้ไม่มี 39mm ขายแล้วนะครับ) หลักชั่วโมงจะเบิ้ล 2 แท่งบริเวณ 3, 6, และ 9 นาฬิกา ขนาดอื่น ๆ จะเป็นหลักชั่วโมงขีดเดียวเหมือนกันหมด แต่ขนาดความหนาจะไม่เท่ากันโดยตำแหน่ง 3,6,9 นาฬิกา หลักชั่วโมงจะมีขนาดใหญ่กว่าตำแหน่งอื่น ๆ อีกความน่าสนใจจะไปอยู่ตรงวงนอกของหน้าปัดครับ ที่ขนาด 34mm จะเป็นขนาดเดียวที่มีเป็นเลขโรมันอยู่รอบนอกครับ ขอบด้านในยังยิงเลเซอร์ตัวอักษร Rolex มงกุฎ และ serial number และยังมีเลเซอร์รูปมงกุฎเล็ก ๆ บนกระจกแบบมองตาเปล่าด้วยสายตาคนแก่อย่างเราไม่เห็นอีกด้วย ยิ่งพิศดูยิ่งเห็นรายละเอียดมากมายบนหน้าปัดครับ นับว่าเป็นนาฬิกาหน้าตาเรียบ ๆ ที่มีรายละเอียดมากมายจริง ๆ
ด้านหลัง
จบสิ้นกัน เป็นฝาปิดเรียบ ไม่มีแม้แต่ตัวอักษรใด ๆ ตามประสา Rolex ก็ได้แต่บ่นในใจว่าเปิดหลังใสได้แล้วน่า เครื่องรุ่นนี้ไม่ต้องกลัวอะไรแล้ว อยากชม ๆ
วัสดุ
สิ่งที่ผมสนใจมาก ๆ อย่างหนึ่งของ Rolex คือวัสดุ Oyster steel 904L ครับ เพราะเป็นสเตนเลสที่มีความแข็ง ทนต่อการขีดข่วน รอยขนแมวต่าง ๆ ได้ดีมาก ตามที่เคยหาข้อมูลไว้น่าจะประมาณ 490 Vickers ขณะที่ 316L ที่ใช้ทำนาฬิกายี่ห้ออื่น ๆ นั้นจะมีเพียง 152 Vickers เท่านั้นอย่างไรก็ตามป้องกันรอยขูดขีดยังสู้เซรามิคที่ 1,200-1,350 Vickers ไม่ได้อยู่ดีครับ เอาล่ะ ๆ 904L ก็ถือว่าเป็นหมุดหมายของวัสดุหนึ่งที่อยากทดลองใช้ครับ แม้จะได้ยินได้ฟังมาว่ามีการผสมนิกเกิลซึ่งบางคนอาจจะใส่แล้วแพ้ แต่เรามั่นใจว่าเราไม่แพ้ ฮ่ะ ๆ เกือบทั้งเรือนของนาฬิกาเรือนนี้ทำผิวปัดด้านเป็นเส้นทั้งหมดเลย (ทราบมาจากท่านพี่ที่เคารพท่านหนึ่งว่า Rolex ใช้ความหยาบพิเศษของกระดาษทรายเพื่อให้ขนาดของลายเส้นแตกต่างจากนาฬิกาทั่ว ๆ ไป) มีเพียงขอบด้านข้างตัวเรือนและด้านข้างของสายเท่านั้นที่ขัดเงา
สาย
เป็นแบบ Oyster 3 ชิ้น ต้องยอมรับเลยว่าสวมใส่สบายมากจริง ๆ แถมยังมี Easy link ที่สามารถปรับระดับความยาวของสายเพิ่ม/ลดได้ 5mm อย่างง่ายดาย ทำให้ชาย-หญิงแบ่งกันใส่ได้อย่างพอดี ฮ่ะ ๆ ๆ
เครื่อง
แน่นอนว่า Rolex ใช้เครื่อง In house มานานแล้วและในปี 2020 เป็นต้นมาก็เป็นเครื่อง Generation ล่าสุดครับ พูดถึงเรื่องนี้มีหลายประเด็นที่อยากจะชี้ชวนให้ดูกัน Oyster Perpetual 34mm เรือนนี้ใช้เครื่องรหัส 2232 เป็นเครื่องคนละรุ่นกับ Oyster Perpetual 36mm และ 41mm ที่ใช้รหัส 3230 ครับ จริง ๆ แล้วเครื่องสองรุ่นนี้คล้ายกันครับ มี 31 jewels เท่ากัน ฟังก์ชันพื้นฐานขับเคลื่อนเข็มชั่วโมง นาที วินาที ที่ความถี่ 28800 Hz เท่ากัน แตกต่างกันที่ขนาดของเครื่องที่ 2232 มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 20mm เท่านั้น จึงน่าจะเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ 2232 สำรองพลังงานได้ 55 ชั่วโมง (พัฒนาจาก 2231 ที่สำรองพลังงานได้ 48 ชั่วโมง) ในขณะที่ 3230 สำรองพลังงานได้ถึง 70 ชั่วโมง (เครื่องที่สำรองพลังงานได้ 70 ชั่วโมงนี้ Tudor แบรนด์น้องทำออกมาก่อนแล้วด้วยสถาปัตยกรรมของเครื่องที่คล้ายกัน... เริ่มสนใจ Tudor กันหรือยังครับ) และดูเหมือนว่า Rotor ของ 2232 จะไม่มีลูกปืนตรงแกนกลางแบบ 3230 แต่บริเวณแกน balance wheel มีตัวยึดที่หน้าตาแปลกไป เข้าใจว่าเป็น Shock absorber นั่นแหละ แต่ทำไมหน้าตาไม่เหมือนกัน อันนี้เกินความรู้ความเข้าใจผมไปละ
ในทางทฤษฎี 2232 ที่เครื่องเล็กกว่าในขณะที่ balance wheel ขนาดเท่าเดิมมันควรจะเดินได้อย่างเที่ยงตรงมากกว่า อย่างไรก็ตาม 2232 และ 3230 ก็เคลมว่าเดินได้เที่ยงตรงระดับ -2/+2 วินาทีต่อวัน ผ่านตามมาตรฐาน Superlative chronometer ของ Rolex เองที่เริ่มใช้ตั้งแต่ 2015 โดยทดสอบหลังจากประกอบเรียบร้อยแล้ว ผ่านแล้วจะได้รับเหรียญเขียวที่มาด้วยในกล่องนั่นเอง อย่างไรก็ตาม Superlative chronometer ไม่ได้มีการทดสอบความทนต่อสนามแม่เหล็ก (แตกต่างจาก METAS ที่ระบุไว้ชัดเจนว่าต้องทนต่อสนามแม่เหล็กได้ 15,000 gauss) แต่ตรงนี้น่าสนใจ เพราะเครื่อง 3230 ที่อยู่ใน Oyster perpetual ขนาด 41mm และ 36mm ใช้ Hairspring แบบ Parachrom ที่เห็นสีฟ้า ๆ นั่นแหละครับ ซึ่งเป็นสิทธิบัตรของ Rolex ที่ใช้มานานและเป็นที่น่าคิดว่าจริง ๆ แล้วเนื้อแท้ของ Parachrom ก็ยังเป็นโลหะใช่หรือไม่ ในขณะที่ 2232 ที่ใช้กับหน้าปัด 34mm ตัวนี้เป็น Syloxi hairspring ซึ่งทำจาก Silicon จบเลยครับเพราะมันไม่มีปฏิกิริยากับแม่เหล็กนั่นเอง จะเห็นว่า Rolex รุ่นเดียวกันแต่ขนาดต่างกัน ใช้เครื่องคนละรุ่นกันที่มีความแตกต่างกันอยู่พอสมควรนะครับ
การใช้งาน
ใช้ได้เหมือนนาฬิกาทั่ว ๆ ไปนี่แหละครับ เราเอามานั่งชมนั่งดูแต่นาฬิกาแพงก็ไม่ได้เดินเร็วกว่านาฬิกาถูกครับ ความเข้าใจในแบรนด์ ความเข้าใจในการออกแบบ ส่วนประกอบในตัวนาฬิกา สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ทำให้เกิดความพึงพอใจ (aesthetics) ในการสวมใส่นาฬิกา ส่วนตัวผมเองเวลาเลือกดูนาฬิกาจะพยายามตัดกระแสนิยมหรือเรื่องราวทางการตลาดออกจากการพิจารณา และพยายามมองหาคุณค่าจากในตัวของมันเอง ร่วมกับความพึงพอใจของเราที่ต้องใช้ ต้องใส่มันในชีวิตประจำวันมากกว่าครับ เรื่องนาฬิกานี่ผมยังรู้น้อยมาก ๆ แต่ก็อยากแชร์เอาไว้ เผื่อใครมาสนุกด้วยกัน ตอนนี้ติดใจนาฬิกาหน้าปัดเล็ก ๆ แล้วครับ... สวัสดี
Comments