Nikkor Z 14-30 f/4 S
- Paron Chatakul
- May 22, 2024
- 2 min read
Updated: Apr 3
เลนส์ตัวนี้ขออนุญาตเป็นมินิรีวิวก็แล้วกันนะครับ ได้มานานแล้วแต่ไม่ค่อยได้ใช้ ไหน ๆ กลับมาไลน์นิคอนแล้ว เราจึงต้องมีให้ครบช่วงกันนะครับ สำหรับเลนส์ Ultra-wide แล้ว ผมเลือก Nikkor Z 14-30 f4 S ด้วย 2 เหตุผลหลักคือ S-line และ ราคาครับ เลนส์ในกลุ่มนี้โดยส่วนตัวผมแทบไม่เคยใช้เลย นอนตู้เป็นส่วนมาก ด้วยเหตุผลด้าน optic ว่าเวลาเลนส์จะเก็บภาพกว้างมาก ๆ ทัศนมิติมันจะยิ่งลึกมากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการรับรู้ความลึกและขนาดของวัตถุต่าง ๆ ในภาพ ซึ่งในงานสถาปัตยกรรมจะมีผลมาก และทำให้บรรยากาศของที่ว่างผิดเพี้ยนไป แต่ไหน ๆ ไปเจอมันวางขายมือสองสภาพดีราคาดี มันก็เลยติดตัวกลับมาบ้านด้วยตามระเบียบ วันนี้จะลองเล่นลองวิพากษ์วิจารณ์ให้เพื่อน ๆ พี่ ๆ อ่านกันยามว่างก็แล้วกันครับ

Nikon Zf + Nikkor Z 14-30 f4 S

Nikon Zf + Nikkor Z 14-30 f4 S

Nikon Zf + Nikkor Z 14-30 f4 S
สามภาพนี้ลองสังเกตเส้นสายและความบิดเบี้ยวกันดูครับ
แต่ไหนแต่ไรมาการวัดคุณภาพของเลนส์มุมกว้าง (มาก) ลักษณะนี้มักจะต้องดูความตรงความโค้งกันที่ขอบภาพครับว่ามีความบิดเบี้ยวมากและยังคงรักษาความคมได้มากแค่ไหน แต่ในปัจจุบันผมเชื่อว่าทุกค่าย “หายห่วง” เพราะทั้งเทคโนโลยีเลนส์และซอฟท์แวร์พัฒนาไปมากเสียจนปรับแก้ไขภาพจนตรงเป๊ะ ตั้งแต่บันทึกไฟล์ RAW แล้ว ดังนั้นตรงนี้ไปลองทดสอบกันดู พกกล้องพกเมมโมรี่การ์ดไปลองกันตามร้านได้เลย ที่สำคัญคือควรใช้เลนส์กับกล้องยี่ห้อเดียวกันซอฟท์แวร์มันจะทำงานได้เต็มที่ครับ สมัยก่อนนอกจากเลนส์มุมกว้างมาก ๆ ที่จำต้องรักษาคุณภาพของภาพให้ตรงที่สุดแล้ว ยังมีเลนส์ฟิชอาย (fisheye) ที่ปัจจุบันไม่ค่อยเห็นขายกันมากนัก คือเลนส์มุมกว้างมาก ๆ ที่ปล่อยให้ขอบภาพโค้งไปตามทรงกลม ก็จะได้ภาพที่แปลกตาไปอีกแบบ ส่วนตัวผมเองทั้งเลนส์มุมกว้างมาก ๆ หรือเลนส์ฟิชอาย มันถ่ายได้ภาพสนุกน่าสนใจ แต่หากใช้มากไป หรือใช้ไปนาน ๆ มันจะน่าเบื่อครับ เพราะการจัดองค์ประกอบต่าง ๆ มันจะคล้าย ๆ เดิม มันเก็บมาหมด หรือทุกอย่างก็จะดูเล็ก ๆ ไกล ๆ ไปหมด ทำให้อารมณ์ของภาพแต่ละภาพมันไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ถามว่าต้องมีเก็บไว้ไหม ก็ตอบได้เลยว่าต้องมี เพราะในบางสถานการณ์มันจำเป็นครับ หรือถ้าใครไม่ซีเรียสนักก็ยกโทรศัพท์มาถ่ายที่ 0.5x ก็ได้

The Nikkor 14-30 at its prompt position is compared in size to the 24-120.
ลักษณะภายนอกของ Nikkor Z 14-30 f4 S ดูเผิน ๆ เหมือนเลนส์นิคอนธรรมดาทั่วไปครับ หน้าเลนส์ 82 มม. น้ำหนัก 485 กรัม ประกอบด้วยเลนส์ 14 ชิ้น 12 กลุ่ม มี Aspherical lens 4 ชิ้น และความพิเศษนิดหน่อยของตัวนี้คือ เวลาจะใช้งานต้องหมุนเลนส์มาประจำตำแหน่ง 14mm เสียก่อน เลนส์จะยื่นออกมาพร้อมใช้งานครับ เลนส์ลักษณะนี้มีข้อดีคือเวลาเก็บจะมีขนาดกระทัดรัดลงมาหน่อย อย่างไรก็ตามเวลาเลนส์หมุนมาตำแหน่งพร้อมใช้งานแล้วก็มีความยาวเท่ากับเลนส์ 24-120 f4 S เท่านั้นเองครับ ข้อดีของเลนส์ตัวนี้อีกอย่างคือหน้าเลนส์มันไม่นูนครับ ใส่ฟิลเตอร์ได้ตามปกติ ไม่เหมือนพวก f2.8 บางตัวเลนส์ชิ้นหน้านูนมาก
Nikon Zf + Nikkor Z 14-30 f4 S

Nikon Zf + Nikkor Z 14-30 f4 S
คุณภาพของภาพ ถึงแม้จะเป็นเลนส์ในรุ่นประหยัด แต่คำว่า S-line ยังเชื่อใจได้เสมอครับ ส่วนตัวผมว่า 14-30 f4 ตัวนี้เป็นเลนส์ที่ดี คมยันขอบจริง ๆ ความบิดเบี้ยวเป็นศูนย์ คุ้มค่าตัวมาก ๆ อีกตัวหนึ่งที่นิคอนทำออกมาครับ f4 สำหรับเลนส์ช่วงนี้ก็ไม่ใช่อุปสรรคในการใช้งานทั่วไปแต่อย่างใด เพราะเลนส์กว้างขนาดนี้ไม่ต้องหวังหลังเบลออะไรอยู่แล้ว DOF มันเยอะไปตามความกว้างของเลนส์และกล้องสมัยนี้การจัดการจุดรบกวนเมื่อ ISO สูง ๆ ก็ทำได้ดีมากเพียงพอแล้วครับ

Nikon Zf + Nikkor Z 14-30 f4 S

Nikon Zf + Nikkor Z 14-30 f4 S พยายามเทียบให้ดูภาพที่วางแบบไว้กลางกับวางไว้ข้าง ๆ นะครับ
เลนส์ช่วงนี้ไม่ใช่เลนส์ที่จะเอาไว้ถ่ายภาพบุคคลที่หวังผลคุณภาพนะครับ เพราะสัดส่วนมันจะเพี้ยน และ “ห้าม” เอาไปถ่ายภาพหมู่ที่มีคนซ้อนกันหลาย ๆ แถวนะครับ มันทำให้คนที่อยู่หลังถูกผลักออกไปไกลมากจนแทบจะมองไม่ออกว่าใครเป็นใคร (ภาพล่าง) ทางที่ดี ถ้าพอมีระยะถอยได้ให้ถอยแล้วใช้เลนส์ที่แคบกว่านี้จะดีกว่า

Nikon Z6ii + Nikkor Z 14-30 f4 S Don't do this!
สรุปว่า Nikkor Z 14-30 f4 S ก็เป็นเลนส์ที่ดีมากอีกตัวหนึ่งที่สมควรเก็บไว้ “กันเหนียว” ในบางสถานการณ์ หรือถ้าใครชอบมุมกว้างมาก ๆ จัดไปเล่นก็ไม่มีผิดหวัง สำหรับตัวผมเองไม่ค่อยได้ใช้มาก นอนตู้มากกว่า แต่ของมันต้องมี!
สุดท้ายของฝากภาพจากเลนส์ตัวนี้ไว้สักชุดหนึ่งเหมือนเคย อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ครับ

Nikon Z6ii + Nikkor Z 14-30 f4 S
Comments