top of page

Leica SL2-S REVIEW

Updated: Aug 24, 2023

สิ่งที่นักรีวิวไม่เคยบอกเกี่ยวกับ Leica SL2-S


บทนำ

ครั้ง Leica SL2 เปิดตัวมาแรก ๆ ก็มีความคันยิบ ๆ อยู่เหมือนกันเพราะชาวเราชอบกล้องยี่ห้อนี้กันอยู่แล้ว ร่ำ ๆ ว่าจะไปโดนอยู่หลายที แต่ก็ติดอยู่ว่าความละเอียดมันสูงมากเกินกว่าจะใช้ในชิวิตประจำวันไปหน่อย และราคาที่ค่อนข้างแรงเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษามูลค่าของ SL ที่สู้ M ไม่ได้ Leica อนุกรม SL นี่ต้องเป็นกล้องที่ซื้อมาแล้วใช้ ใช้ให้ยับ ไม่ต้องคิดเรื่องขายต่อครับ ราคาลงเรื่อย ใช้ไปรวย ๆ สวย ๆ ส่วนใครจะเก็บจะสะสมขอเชิญสายเลนส์ M ครับ ตอนนั้นก็เลยมีโอกาสได้ลองเล่น Mirrorless L mount หลากหลายยี่ห้อ (อันที่จริงก็หมดทุกยี่ห้อ) ไปพลาง ๆ ทั้ง Leica SL(typ601), Sigma fp, และ Panasonic S1 ที่ว่ากันว่าเป็นแฝดของ Leica SL2


เมื่อถึงเวลาอันสมควร เราก็ขยับกล้อง Mirrorless L mount ของเราไปให้ถึงสิ่งที่รักสิ่งที่ชอบกันดีกว่าครับ กับ Leica SL2-S ที่เพิ่งเปิดตัวกันไปเมื่อปลายปี 2020 ที่ผ่านมา ตัวนี้โดนใจหลายอย่าง ความละเอียดออกมากำลังดี ไม่โหดเกินไปเหมือน SL2 โดยมีความได้เปรียบเรื่องการจัดการจุดรบกวนในภาพเมื่อใช้ ISO สูงมาแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก ให้ความยืดหยุ่นในการถ่ายภาพได้มากกว่า ความรู้สึกแน่นปึ๊กเหมือนเคย และความคาดหวังในเรื่องคาแรกเตอร์สีสันที่หาไม่ได้จากยี่ห้ออื่น ๆ ของค่ายนี้ อย่าไปคิดว่ามันเป็นเวอร์ชันถูกของ SL2 หรือแฝดของ Panasonic รุ่นไหนนะครับ ถึงแม้ว่าจะเป็นกล้องราคาถูกในอนุกรม SL จนราคาแทบจะชน Leica Q ซึ่งเป็นคอมแพ็คอยู่แล้ว (เกินหกหลักห้ามบอกเมีย) ก็ตาม หลังจากได้ลองเล่นแล้วผมว่า Leica SL2-S มันเป็นอีกทางเลือกนึงของ SL2 มากกว่า เหมือน ๆ Sony มี A7R กับ A7S นั่นแหละครับ เพราะฉะนั้นอย่าไปดูถูกมัน แต่ต้องมองในทิศทางที่มันถูกวางไว้มากกว่าครับ


ต้องยอมรับว่าที่ได้ใช้ Panasonic S1 ตลอดระยะเวลา 1 ปีมานี้ มันเป็นกล้องที่ใช้ได้ดีมากครับ แต่ยังติดเรื่องเล็ก ๆ อยู่สัก 3 เรื่องที่ไม่ค่อยพอใจมันเท่าไรคือ

1. เรื่องของสีสันและคาแรกเตอร์ของภาพ: หลายภาพที่ถ่ายมาดีเลยนะครับ มีความเด้ง 3Ds pop ก็มา แต่สีสันที่ได้มันมักจะอมฟ้าเกินไป และมีการบูสต์ย่านสีบางย่านที่มากเกินไปในความเห็นผมนะ การเกลี่ยสีเกลี่ยโทน พอเอามาถ่ายเทียบกับ Leica M ตามบทความก่อน ๆ แล้วมันเห็นชัดว่ามีการจัดการไฟล์และสีต่างกัน ความเป็นธรรมชาติของภาพแตกต่างกัน

2. ความซับซ้อนของมัน: S1 เป็นกล้องที่ดีมาก ปรับแต่งอะไรต่าง ๆ ได้ละเอียดมาก ๆ แต่พอนาน ๆ เรามาใช้ทีก็มักจะหาของที่ต้องการปรับแต่งจากในเมนูจำนวนมหาศาลของมันไม่ค่อยจะเจอ ยอมรับว่าเริ่มแก่แล้วครับ อยากได้อะไรง่าย ๆ แต่ดี ๆ ฮ่ะ ๆ

3. ประเด็นเรื่อง Shutter shock แก้ไขได้แต่ไม่ทั้งหมด หลายภาพที่ถ่ายด้วย Electronic 1st Curtain Shutter ก็ยังมีอาการสั่นน้อย ๆ ของภาพอยู่ การสลับใช้งานระหว่าง Mechanic shutter กับ Electronic shutter โดยผู้ใช้เองจึงเป็นหนทางที่ได้ผลมากกว่า


แกะกล่อง+ความรู้สึก

เปิดกล่องมาไม่มีอะไรมาก แพคเกจดี แต่ธรรมดา ไม่น่าจดจำเท่า M หลังจากได้ลองใช้ Leica SL (typ601) มาช่วงหนึ่งมาจับ SL2-S ตัวนี้ ยังได้ความรู้สึกเดิมครับ แน่น ตัน หนัก แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปนิดหน่อยที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงคือฟิลลิ่งการกดชัตเตอร์ครับ เป็นชัตเตอร์สองจังหวะแก๊ก ๆ แบบกล้องทั่ว ๆ ไป ไม่นุ่มนวลเท่า SL ตัวแรก ต่างกันคนละเรื่อง! ซึ่งตัวแรกนั้นทำดีจริง ๆ ครับ ส่วนปุ่มกดอื่น ๆ SL2-S มีปุ่มกดปรับ Layout ให้ไปเหมือน Leica M ซึ่งก็ใช้ง่ายดีครับแต่ส่วนตัวชอบแบบ S เหมือนตัวเก่ามากกว่า


อย่างไรก็ตามต้องยอมรับครับว่า Leica SL2 และ SL2-S ทำบอดี้ออกมาได้สวยจริง ๆ การออกแบบลงตัวขึ้นมากกว่า SL ตัวแรกที่ดูเป็นแป้นแบน ๆ ใหญ่ ๆ กะโหลกก็ไม่สวย แต่ตัวนี้ออกแบบมาทำให้นึกถึง Leica SL film ขึ้นมาก การถ่ายทอด DNA เริ่มเห็นชัดเจนครับ สิ่งที่น่าชื่นชมอีกอย่างคือกริ๊ปที่มีการเว้าเข้าไปทำให้จับถือได้ถนัดมากขึ้นเยอะ และการออกแบบหูคล้องสายสะพายก็ลงตัวแล้ว สองข้างทำมาเหมือนกัน นอนตายตาหลับเสียทีครับ ส่วนประเด็นเรื่องตัวอักษรบนกะโหลกกล้องและชื่อรุ่นบนฮอตชูเป็นสีดำ ผมว่าเฉย ๆ ครับ จะสีขาวสีดำก็เหมือน ๆ กันแหละ แต่ดีตรงดีมันเด่นน้อยลง (ปล.ตัวที่ผมได้มา ป้ายจุดแดงไลอะกร้าของเราเอียงนิด ๆ ด้วย แหม่ เป็นเสน่ห์ของงานมือจริง ๆ ทำไมได้อะไรมาตัองป้ายเอียง ๆ ไปเสียทุกอย่างเลย) ช่องปิดพอร์ตต่าง ๆ เป็นยางทั้งชิ้น ต้องรอดูระยะยาวว่ามันจะบวมจะหลุดจะหลวมอย่างไรหรือไม่ อย่าลืมนะครับ Leica SL ตัวแรกหลายตัวพออายุมากเข้าเริ่มมีปัญหายางที่รองตาตรงช่องมองภาพแตกนะครับ

แหม่ ต้องเอียงให้เห็นกันสักนิดนึงพอรำคาญ


ปุ่มกดทั้งหลาย ลูกกลิ้ง ทำน้ำหนักได้ดี ฟิลลิ่งดี แน่น หายห่วงครับ รู้สึกได้ว่าใช้ของแพง ฮ่ะ ๆ ส่วนมากตัวอักษรบนกล้องนี้จะเป็นการสลักลงไปแล้วถมสีครับ ยกเว้นแค่ 3 ปุ่มด้านหลังคือ PLAY FN และ MENU เป็นการสกรีนสีลงไปเฉย ๆ นานไปก็มีโอกาสเสียดสีจนลอกได้เหมือนกันครับ แต่ก็ช่างมันเถอะ M ก็เป็นแบบนี้ กล้องไหน ๆ ก็เป็นแบบนี้ ใช้ของแล้วไม่เก่าก็คงไม่ได้นะครับ


ฝาปิดช่อง SD card ได้ DNA เดิมมาครับ เลื่อนแป๊กแล้วเปิดออก ก็แน่นหนาดีได้มาตรฐานและไม่ได้เป็นจุดอ่อนอะไร แต่ความเห็นส่วนตัวผมว่ามันดูราคาถูกครับท่านครับ ส่วนตัวของผมชอบฝาที่มีการเลื่อนหรือหมุนเพื่อปลดล็อกก่อนชั้นหนึ่งมากกว่า แล้วเปิดฝากันมาแบบนุ่ม ๆ จะได้ฟิลลิ่งที่พรีเมี่ยมกว่านี้ครับ ส่วนกลไกการใส่แบตเตอรี่ยังคงเป็นเอกลักษณ์ที่ดี และดีแล้วครับ ความรู้สึกที่ได้อยากใส่ ๆ ถอด ๆ มันทั้งวัน


สายสะพายของกล้องที่ไม่ค่อยมีใครได้รีวิวพูดถึงกัน ผมแกะมาใช้เรียบร้อย เพราะหาสายอื่น ๆ ใส่ยากจริง ๆ สำหรับ SL นี้ มีสาย Nikon กับ Zeiss อยู่ที่บ้านจะเอามาคล้องมันก็คงประหลาด ๆ ก็เลยเอาสายแถมมันนี่แหละมาใส่ใช้เสียเลย สายที่แถมมาถือว่าทำดีครับ มีความกว้าง ยืดหยุ่นรับน้ำหนักได้ดี คล้องคอสบาย ไม่หนัก ไม่กด ไม่เจ็บ ไม่ระคายเคือง ถือว่าเป็นสายที่ดีใช้สบายครับ แต่สิ่งที่เคืองอย่างเดียวคือตัวอักษร LEICA ตัวเบ้อเริ่มอยู่บนสาย ล่อโจรดีมาก และโดนเมียจับได้ง่ายมาก ๆ ครับ


เมนูและฟังก์ชันการทำงาน

ส่วนนี้ผมขออนุญาตคุยกันลึก ๆ เฉพาะเรื่องภาพนิ่งนะครับ เรื่องวิดีโอไม่โปรไม่กล้าเขียน Leica SL2-S มีระบบที่ค่อนข้างเข้าใจง่ายและไม่ซับซ้อนครับ (ปรับอะไรได้ไม่เยอะนั่นแหละ) เอาจริง ๆ ตอนเล่น Panasonic S1 นี่ (คนแก่อย่างเรา) กว่าจะปรับกันได้ นานเลยครับ รายละเอียดเยอะ (ดี) จริง ๆ ปรับได้ทุกอย่าง ปรับเสร็จแล้วก็ใช้ไปแบบนั้นแหละครับ อย่างอื่นก็ไม่ได้ไปยุ่งกับมัน ซึ่งนาน ๆ เอามาใช้ทีจะปรับตั้งทีปรากฏว่างงเลยครับ ลืมไปแล้วว่าอะไรอยู่ตรงไหน ส่วนเจ้า SL2-S นี่ ไม่ซับซ้อนครับ ปรับง่ายดี ผมชอบตรงนี้ของ Leica มานานแล้ว เพราะถ่ายได้สวยเลย ดีเลย ไม่ต้องปรับอะไรอีก ขออนุญาตแนะนำระบบและฟังก์ชันที่น่าสนใจหรือมีความแตกต่างนะครับ เพราะศัพท์บางอย่างไม่เห็นในยี่ห้ออื่น ๆ ก็ต้องมาทำความเข้าใจกันนิดนึง ดาวน์โหลดคู่มือมาอ่านกันได้ในเว็บไซต์ไลก้าครับ มันไม่ได้แถมมากับกล้อง ฮ่ะ ๆ โถ กล้องตัวเป็นแสนนน ส่วนเรื่องฟังก์ชันอย่างอื่นหาอ่านได้จากรีวิวที่อื่น ๆ อยู่แล้วนะครับ


Display profile

อันนี้คือดีครับ เราสามารถ custom หน้าจอเราได้ว่าต้องการให้แสดงอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นแถบข้อมูลพื้นฐาน Grid Histogram Peaking Clipping ฯลฯ ซึ่งตั้งค่าได้ 4 แบบ แล้วตอนถ่ายใช้ปุ่ม FN กดเพื่อสลับโปรไฟล์การแสดงผลเอา ตอนแรกผมเอามาเล่นงมหาตั้งนาน ไม่เจอว่าจะเอา Focus peaking ออกได้อย่างไร นึกว่าจะใช้ยาก แต่พอเข้าใจตัวนี้แล้วมันก็เป็นอีกแนวคิดในของการจัดการ Interface ซึ่งดีครับใช้เป็นแล้วสะดวกมาก ซึ่งโปรไฟล์สำหรับการแสดงผลตรงนี้ ปรับตั้งที่เดียวกัน แต่แยกกันเลือกใช้ได้อิสระระหว่างโหมดการถ่ายภาพและการดูภาพครับ


Floating ISO

เป็นเรื่องที่กล้องจะปรับ ISO แบบ fine tune โดยไม่แบ่งเป็น Step ตามระบบปกติ ฟังก์ชันนี่น่าจะเห็นผลดีตอนถ่ายวิดีโอครับ เรื่องการปรับแสงให้เนียนเสมอกันไม่วูบวาบ ยังไม่ได้ลองกับวิดีโอเลยนะครับ

Shutter type

ปัญหาเรื่อง Shutter shock ที่ผมเคยบ่นมาแสนนานว่าเจอกับกล้อง Mirrorless หลายรุ่นที่เคยใช้ จนต้องคอยเปลี่ยนโหมดให้น่ารำคาญใจ เช่น Leica SL(typ601) ที่ผมเคยใช้มาเจอเต็มที่ไม่รอดนะครับ ส่วน Panasonic S1 ถึงแม้ว่าจะมี Electronic 1st Curtain ให้เลือกใช้แต่ในบางภาพก็ยังไม่รอดอยู่ดีครับ ต้องคอยเปลี่ยนอยู่เรื่อยระหว่าง Mechanic กับ Electronic แต่ Leica SL2-S ตัวนี้มี Hybrid shutter ซึ่งผมก็ไม่รู้จริง ๆ หรอกครับว่ามันทำงานอย่างไร มันจะเหมือน Electronic 1st Curtain หรือไม่ แต่ที่รู้แน่ ๆ อย่างหนึ่งคือ มันปรับแต่งมาให้จัดการปัญหาได้ครับ ภาพคมชัดทุกภาพไม่มีอาการ Shutter shock เบลอน้อย ๆ ให้รำคาญใจอีกต่อไป เลือกอันเดียวอยู่ ควงกล้องกดได้สบายใจ อันนี้ถือว่าปลดล็อคความน่าอึดอัดใจของผมไปได้มากทีเดียว


Image overlay

เป็นฟังก์ชันที่เพิ่มเติมเข้ามาใน Firmware 2.0 ครับ เป็นการเอาภาพเก่าที่เคยถ่ายไว้แล้วมาซ้อนทับเพื่อการถ่ายต่อตรงกับฉากเดิม น่าจะมีประโยชน์มากกับการถ่ายวิดีโอ และการถ่ายภาพเพื่อการศึกษาอย่างผม เช่น ผมเคยทำวิจัยงานหนึ่งต้องไปถ่ายภาพ Landscape ที่มุมเดิมเดือนละครั้งในรอบ 1 ปี ถ้ามีฟังก์ชันนี้ตั้งแต่สิบกว่าปีก่อน ผลงานตอนนั้นน่าจะออกมาดียิ่งขึ้นครับ

การใช้งานที่เหลือผมว่าก็เป็นไปตามมาตรฐานของกล้องทั่ว ๆ ไปครับ ปรับตัวเข้าใจได้ไม่ยาก


EVF 120 Hz

ช่องมองภาพสามารถเลือกปรับได้ว่าจะให้แสดงผลแบบ 60Hz หรือ 120 Hz ซึ่งเจ้าตัว 120 Hz นี่ ถึงแม้ว่าอาจจะกินแบตมากกว่าเพราะจอต้อง refresh มากขึ้น แต่ว่าภาพที่ได้ในช่องมองภาพสมูธนุ่มนวลดีมากครับ เวลาแพนกล้องตามวัตถุต่าง ๆ หรือหันกล้องไปมา ภาพในช่องมองภาพมีความลื่นไหลดีมาก ถ้าใครได้ลองจะติดใจแล้วจะเปิดเป็น 120Hz ทิ้งไว้เลยครับ ใช้แล้วติดใจจริง ๆ


คุณภาพของภาพ

ความเห็นส่วนตัวของผมคือ ภาพที่ดีจากกล้องหมายถึงภาพที่มันตรงกับความเป็นจริง สีต้องตรง มิติต้องตรง อย่าไปเร่งสีเร่งคม เท่านั้นผมว่าจบแล้วครับ อยากได้ของเล่นอะไรไปแต่งเอาใน Software ซึ่งกล้องที่สีตรง ๆ ลักษณะนี้ส่วนมากภาพที่ได้จะ “จืด” และถ่ายยาก ในยุคหนึ่งราวLeica X2, Leica M(typ240) เป็นต้นมา ไฟล์ jpg จากกล้องจะสีตรงกับความเป็นจริงดีมาก แต่คอนทราสต์ของภาพค่อนข้างจะสูงเกินไปสักหน่อย ซึ่งภาพเหล่านี้ไม่เตะตาคน ถ่ายให้สวยได้ยากมาก แต่คุณภาพของสีสันผมยกให้หมดใจ พอมาถึงปัจจุบัน SL2-S พบว่าภาพ jpg ที่ได้จาก Leica เริ่ม ๆ จะเป็นไปตามสมัยนิยมมากขึ้นเหมือนกัน คือดูแล้วสีสันสวยสดใสเริ่มเหมือนยี่ห้ออื่น ๆ ไปเสียแล้ว มีความใกล้เคียงเมื่อเทียบกับไฟล์ RAW ที่ได้มาสีสันสดใสมาก ถูกใจตามยุคตามสมัย ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนจาก M คือ คอนทราสต์ของไฟล์ jpg ไม่หนักไม่โหดจนส่วนมืดจมง่ายเหมือนพวก M ครับ ไฟล์ jpg ถือว่าใช้ได้เลยคอนทราสต์ที่ได้ต่ำกว่าไฟล์ RAW เพราะผ่านการจัดการ Highlight-shadow มาแล้วอีกด้วย น่าจะพูดได้ว่าเสน่ห์ของสีจืด ๆ แต่ตรงเป๊ะแบบ jpg สมัยก่อนหายไป ได้ไฟล์สวย ๆ ดูง่าย ๆ มาแทน อย่างไรก็ตามเอกลักษณ์ความเป็นภาพจากกล้องไลก้าที่รักษามาได้โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจไม่ทราบ คือการถ่ายภาพมาแล้วรู้สึกว่ามัน “ได้” เลย ไม่ต้องไปปรับอะไรต่อมากมาย


Leica SL2-S + Sigma 2.8/45 ซ้ายเปิดที่ f2.8 ได้ความฟุ้งเป็นคาแรกเตอร์ ขวาเปิดที่ f4 คมกริบ


พูดมาแบบนี้จะบอกว่ากล้อง SL2-S นี่คุณภาพของภาพมันเทพใช่ไหม บอกเลยครับว่ามันก็มีคุณภาพดีสัมพันธ์กับราคาที่มันขายนั่นแหละครับ อาจดู Overprice ไปบ้างเมื่อเทียบกับ Panasonicแต่คนซื้อก็ยินดีที่จะจ่ายครับ อย่างไรก็ตามเรื่องคุณภาพของภาพ SL2-S ยังมีข้อที่ต้องพิจารณาอีกมากเกี่ยวกับสีสันที่ได้รับจาก jpg และ RAW เพราะภาพที่ได้มาในบางสถานการณ์ให้สีสัน “ต่างกัน” อย่างน่าตกใจดังที่เคยได้ทดสอบไปในบทความก่อนหน้านี้ จะพบว่า jpg เองก็บูสต์สีบางย่านขึ้นมาจนล้นเก็บรายละเอียดไม่อยู่เช่นกัน โดยเฉพาะย่านสีส้ม สีแดง แถมยังจะเพี้ยนเป็นอมชมพูไปเสีย ในขณะที่ถ้าถ่าย RAW แล้วมา convert ด้วย Embed profile ในบางสถานการณ์เรียกว่า “ไปกันใหญ่” สีไม่ตรงเลย กรณีนี้ Adobe profile อาจไว้ใจได้มากกว่าครับ ให้สีตรง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยคอนทราสต์ที่สูงกว่าปกติ ต้องไปแก้ไขกันเอา และย่านสีเขียวไม่อิ่มลึกเท่า jpg หรือ Embed profile ทั้งนี้ลักษณะพื้นฐานของไฟล์ทั้งหมดสีสันให้มาสดใสเลยครับ ไม่มีสีจืด ๆ แต่ตรงกับตาเห็นอีกต่อไป นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายอยู่พอสมควรสำหรับสาย jpg แต่สำหรับคนที่ถ่าย RAW มาโดยตลอดอาจไม่รู้สึกอะไรมากนัก ด้วยความอยากรู้อยากเห็นเลยไปเอา iphone 12 pro มาลองถ่ายเทียบสีกันดู... โอเคครับ ใช้ไลก้าต่อไปได้อย่างสบายใจ มันดีแล้วแหละ อย่าไปคิดมาก รายนั้นบูสต์สีกันยับไฟล์แต่งมาเสียเละ ฮ่ะ ๆ ๆ


เรียงจากซ้ายไปขวา ไฟล์ JPG / RAW แล้ว convert ด้วย Adobe profile / RAW แล้ว convert ด้วย Embed profile


ซ้ายไปขวา ไฟล์ JPG / RAW แล้ว convert ด้วย Adobe profile / RAW แล้ว convert ด้วย Embed profile / iphone12 pro


สาย jpg โปรดระมัดระวังอีกอย่างหนึ่งคือ ใน jpg setting จะมีโหมด iDR ให้เลือกใช้ครับ กล้องจะปรับเกลี่ยส่วนมืดส่วนสว่าง ทำให้บางครั้งภาพที่ได้อาจไม่ตรงใจหรือไม่เป็นธรรมชาติมากนัก ควรพิจารณาเลือกใช้กันให้ดี ค่อย ๆ ลอง ค่อย ๆ ปรับตั้งกันไปตามที่ชอบนะครับ

Leica SL2-S + Sigma 2.8/70 macro


หากถามว่าโดยรวมภาพที่ได้ออกมาพอใจไหม ก็ถือว่าพอใจนะครับ แต่คิดว่ายังไม่สุด ถ้าไม่เอาแต่ละภาพมาเทียบดูพร้อมกันไม่ค่อยรู้เรื่องหรอกครับเรื่องสีล้นไม่ล้น หรือเรื่องคอนทราสต์หนักมากน้อยดังที่กล่าวมา (แต่ชาวเรานักแสวงหาคาแรกเตอร์ มันต้องส่องกันครับ) Leica SL2-S ให้ลักษณะของภาพ โทนสี ส่วนตัวมีความเห็นว่าทำออกมาได้คล้ายกับ Panasonic S1 มาก ๆ แต่ถ้าให้วิเคราะห์กันจริงจังก็จะพบว่า Leica SL2-S ให้ภาพที่มีโทนออกเหลืองมากกว่านิด ซึ่ง Panasonic S1 ในหลาย ๆ กรณีที่จะให้ภาพอมฟ้าและแดงเด่น เมื่อเทียบกับ SL2-S แล้วพบว่าภาพจาก Leica จะมีลักษณะการให้สีที่ออกเหลือง ๆ กว่า แต่สีเป็นธรรมชาติมากกว่าครับ ลองพิจารณากันดู ว่าทุกวันนี้เราติดภาพที่ปรับ WB แบบขาวเป็นขาวจั๊วะมากเกินไปจนผิดไปจากตาเห็นหรือไม่ ส่วนประเด็นว่าภาพจาก SL2-S กับ M จะแตกต่างกันหรือไม่แค่ไหน เดี๋ยวไว้รีวิวกันครั้งต่อไปจะเอาเลนส์ M ตัวเดียวกันมาถ่ายเปรียบเทียบระหว่าง M edition 60 กับ SL2-S เป็น PartII ครับ

Leica SL2-S + Sigma 2.8/70 macro


ชี้แจงกันสักนิดก่อนว่าเลนส์ L mount ทั้งหมดที่ทดลองถ่ายผมใช้ของ Sigma ยกทั้งเซ็ตนะครับ เพราะเคยลองเปรียบเทียบกันแล้วมันให้สีสันที่ถูกใจมากกว่าเลนส์ Panasonic ครับ ภาพที่ได้คมชัด สีสันอิ่ม แต่ขาดครับ ขาดการแยกระยะลึกตื้นที่ชัดเจน ความเด้ง โดดเด่นของภาพ มันแตกต่างจากพวก M ที่เล่น ๆ กันอยู่อย่างชัดเจนครับ ส่วน L mount ของไลก้าเองผมยังไม่มีโอกาสได้เอามาลองเล่นครับ และคงไม่ซื้อมันถ้ามีเงินขนาดนั้นคงซื้อเลนส์ M ครับ เพราะเมื่อไรที่ SL2-S ประกบกับเลนส์ Leica M ภาพที่ได้ออกมาเป็นอีกเรื่องหนึ่งทันที มิติภาพ ความเด้ง ความลึกตื้น ผมว่าแตกต่างกับเลนส์ L-mount ที่ใช้อย่างชัดเจน คาแรกเตอร์จากเลนส์ M มันแสดงออกมาชัดมาก ดีมาก ภาพเด้ง ไมโครคอนทราสต์ดี ถ้าได้แดดนิด ๆ นะครับ ภาพมันจะสุดยอดมาก คุ้มค่าที่จะเก็บสะสมเลนส์ M mount กันไว้ต่อไปครับ เรื่องนี้เก็บไว้เป็น PartII เช่นกันครับ เอาภาพมาให้ดูภาพนึงเรียกน้ำย่อยก่อน


Leica SL2-S + Leica Summarit 2.5/35


ISO

เรื่องคุณภาพของภาพที่ ISO สูง ๆ SL2-S ตัวนี้ทำได้แสนดีเลยครับ ภาพที่ ISO สูง ๆ ยังใช้งานได้ สีสันตรง! ไปจนถึง ISO50000 แต่ถ้าดันขึ้นไปถึง ISO100000 แล้วก็ถือว่าได้ภาพครับแต่ภาพมันไม่ได้ เพราะสีสันจะเริ่มเพี้ยนและจุดรบกวนเยอะไปหน่อยแล้ว ซึ่งกล้องที่ให้ภาพที่ ISO50000แล้วมันยังโอเคนี่ ผมว่าเถื่อนมากพอแล้วครับ สมัย 20 ปีก่อนเรามีกล้องถ่ายภาพที่ดัน ISO3200 ได้นี่ก็หรูหรามากแล้วแถมจุดรบกวนบาน ที่น่าจะพอใช้ได้น่าจะอยู่ราว ๆ ISO1600 จนถึงปัจจุบันความสามารถนี้สูงขึ้นไปอีก 5 stop ผมว่าครอบคลุมการถ่ายภาพทั่วไปแบบเหลือ ๆ เลยครับ ถ้าไม่ใช่สาย Night life นี่ผมว่าใช้ไม่ถึงแน่นอน ส่วนตัวผมได้เฮเพราะเวลาถ่ายนก สามารถใช้เลนส์ Super telephoto ราคาประหยัด f แคบ ๆ แล้วดัน ISO ได้สบาย ๆ ไม่ต้องเปลืองซื้อเลนส์แพง ๆ ครับ เดินถ่ายตอนเช้า ๆ นกในพุ่มไม้ ตอนเย็น ได้กดกันยับครับงานนี้

ว่ากันต่อในเรื่อง Auto-ISO ครับ ฟังก์ชันต่าง ๆ ผมคงไม่อธิบาย แต่ขอแจ้งข้อจำกัดข้อหนึ่งที่อาจเป็นโดย Bug ของ firmware หรืออะไรบางอย่าง ทำให้เวลาใช้เลนส์มือหมุนใน SL2-S จะไม่สามารถใช้ Auto ISO ได้ครับ ISO จะขึ้นว่า Auto นะครับแต่ค่ามันจะมา fixed อยู่ที่ ISO100 ไม่ขยับไปไหนทั้งนั้น สายมือหมุนต้องปรับค่า ISO กันเอาเองนะครับ ผมไล่หาข้อมูลว่าปัญหานี้ก็มีมานานตั้งแต่รุ่น SL2 ปกติแล้วครับ แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขให้สามารถใช้ได้เหมือน SL (typ601) รุ่นแรก ใครจะมาใช้รุ่นนี้ก็ต้องรับสภาพตามนี้ด้วยนะครับ


ISO6400


ISO12500


ISO25000


ISO50000


ISO100000


สรุปกันรวม ๆ ว่า Leica SL2-S เป็นรุ่นที่น่าใช้สำหรับเรา ๆ ท่าน ๆ ที่ไม่ได้ต้องการภาพความละเอียดสูงลิ่ว แต่กล้องมีความยืดหยุ่นรองรับการใช้งานได้มาก ภาพดี สีสันดี โทนดี และเหมาะกับผู้ที่แบกชุดทั้งกล้องทั้งเลนส์ของมันไหว... สวัสดีกันก่อนแต่พองาม เดี๋ยวว่ากันต่อภาคสองกับเลนส์ M ครับ




Σχόλια


bottom of page