“ยอดเยี่ยมเมื่ออยู่กับไลก้าแต่อย่าเอาไปใส่กล้องอื่น”
ในที่สุดผมก็มีวาสนาได้ลองได้ใช้เลนส์ “35 APO-M” ที่ราคาแพงไปอีกระดับหนึ่งแต่กระนั้นใครอยากจะได้เลนส์ตัวนี้ก็ยังต้องรอคิวกันเป็นปี ๆ สุดท้ายด้วยการสนับสนุนของผู้ใหญ่ใจดีในวงการ เอาเลนส์มาให้ลองเล่นลองใช้อยู่เป็นแรมเดือน จึงได้ลองทดสอบและมีเรื่องราวมามาเล่าสู่กันฟัง ต้องขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ครับ
เห็นเป็นเลนส์ตัวเล็ก ๆ แบบนี้ ภายในมีเลนส์ถึง 10 ชิ้น 5 กลุ่ม โดยสองกลุ่มที่วางไว้ใกล้กล้องเป็นชิ้นเลนส์แบบ floating elements (FLE) และมีเลนส์ Aspherical ถึง 4 ด้าน (นานาจิตตังนะครับ ชิ้นเลนส์พิเศษมันเอาไว้ “แก้” ส่วนตัวผมจะชอบชิ้นเลนส์น้อย ๆ มากกว่า บางอย่างอาจสู้ไม่ได้แต่ภาพมันให้ความรู้สึกต่างกัน) ฮูดเป็นแบบสี่เหลี่ยมหมุนเกลียวแบบเลนส์สมัยใหม่ ดีมาก ตรงนี้ผมชอบ ออกแบบมาเรียบร้อยดี ใส่ฟิลเตอร์แล้วใส่ฮูดสบาย ๆ ครับ (หันมามอง Steel rim re-issue ที่มีอยู่ ให้ฮูดมาสองอัน แต่โยนทิ้งไปหมดละ ใช้งานจริงไม่ได้เรื่อง)
จุดเด่นหลัก ๆ นอกเหนือจากคุณภาพของภาพคือ 35 APO ตัวนี้เป็นเลนส์ตัวแรก ๆ ในอนุกรม M ยุคใหม่ ที่ไลก้ากำลังจะก้าวเดินไปในอนาคต ด้วยการใส่ close focus เข้ามาในเลนส์ด้วย ทำให้เลนส์สามารถโฟกัสได้ใกล้สุดถึง 30 ซม. แน่นอนครับว่าการหาพิสัย (range finder: RF) ไปไม่ถึง ไม่สามารถโฟกัสได้ทางช่องมองภาพ ต้องใช้จอหลังหรือ EVF เท่านั้น กลไกคือเมื่อหมุนโฟกัสมาจนสุดระยะของ RF แล้วแหวนโฟกัสมันจะตึง ๆ นิดนึง ต้องออกแรงอีกหน่อยเพื่อให้โฟกัสมันหลุดไปอยู่ในโซน close focus ครับ คนที่ใช้ RF อย่างเดียวจึงยังใช้งานได้ดีไม่มีปัญหาอะไร โดย close focus ที่มากับเลนส์ตัวนี้ทำให้การถ่ายภาพด้วยกล้อง Leica M สนุกขึ้นมาก ๆ และได้ใช้บ่อยมาก ๆ ครับ จนเป็นที่น่าคิดว่า Leica M ในอนาคตจะจัดการอย่างไรกับช่องมองภาพแบบหาพิสัย อาจได้เห็น build in EVF หรือ hybrid กันบ้าง (ซึ่งแน่นอนว่าถ้าทำออกมาจริงคงไม่โดนใจผมคนนึงล่ะ ถ่ายได้ดี โอกาสได้ภาพสูง ถ่ายสนุก แต่อารมณ์มันไม่ได้ครับ ไปใช้กล้อง mirrorless อื่น ๆ ก็ได้อารมณ์ถ่ายภาพเหมือนกัน ส่วนคาแรกเตอร์ภาพค่อยว่ากันอีกเรื่อง)
มาถึงจุดนี้แล้ว รีวิวนี้เลยขออนุญาตเอาเลนส์มาลองเทียบกันระหว่าง Leica APO-Summicron M 1:2/35 ASPH. กับ Leica Summilux 1:1.4/35 Steel rim re-issue กันครับ เพราะเป็นเลนส์ 35 มม. ที่สุดโต่งไปคนละด้าน (ที่วางตลาด ณ ปัจจุบัน) ให้มันรู้กันไป
เปรียบเทียบ ซ้าย 35 APO-M ขวา 35 Steel rim re-issue ที่ f1.4 f2 f2.8 f4 f5.6 f8 f11 f16
ประการแรกเลยสิ่งที่สังเกตเห็นคือ เล็งดี ๆ นะครับ 35APO ให้มุมมอง (field of view) ที่แคบกว่า 35Steel rim อยู่นิดนึง ถ้าไม่ใช่คนที่คุ้นเคยกับเลนส์ช่วงนี้มานานอาจแยกไม่ออก ที่แคบกว่าเพราะอะไรตามอ่านตอนท้ายได้ครับ
35APO กินแสงมากกว่า 35Steel rim อยู่ประมาณ 1/3 สต็อป นี่ไง เดาว่าอาจเป็นเพราะชิ้นเลนส์ที่มากกว่าครับ กล้องคุณภาพดี ๆ จัดการจุดรบกวนดี ๆ ในปัจจุบันอาจไม่ส่งผลกระทบเท่าไร แต่จำได้ว่าในสมัยยี่สิบปีก่อนที่เล่นกล้อง ต้องมานั่งเทียบกันว่าเลนส์ยี่ห้อไหนกินแสงมากกว่า ณ รูรับแสงเดียวกัน
35APO คมเปรี๊ยะตั้งแต่ f2 ในขณะที่ 35Steel rim ที่ f2 ก็คมนะครับแต่ฟุ้งและนัวเร็ว (มาก) เมื่อไล่ไปสู่ขอบ
35Steel rim เมื่อเปิดกว้างสุดที่ 1.4 สีของภาพมีความเขียวปนอยู่เล็กน้อย และตั้งแต่ f2 เป็นต้นไปจะให้โทนอุ่น (ไม่อุ่นเท่าตัว original) แต่โทนอุ่นกว่า 35APO ที่ให้โทนภาพแบบกล้องสมัยใหม่อย่างชัดเจน
และนี่เลยครับของเด็ดที่ 35 APO-M มีมาให้คือ Close focus!
เปรียบเทียบ ซ้าย 35 APO-M ขวา 35 Steel rim re-issue
ลองดูเช็ตนี้ครับ โบเก้ที่ได้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คาแรกเตอร์ของภาพส่วนตัวผมว่าดีทั้งคู่ แค่ลักษณะแตกต่างกัน Steel rim ขอบโบเก้ชัดเจนมาก ทำให้เห็นโบเก้เป็นวงจำนวนมาก ส่วน 35 APO-M มีโบเก้ที่ให้คุณภาพดีตรงตามตำรา แต่เลนส์ทั้งสองตัวยังให้โบเก้ค่อนข้างวนเป็นวงกลมเช่นเดียวกันเนื่องมาจากชิ้นเลนส์ขนาดเล็กครับ
แน่นอนว่าความคมแตกต่างกันอย่างชัดเจนครับ ใครชอบภาพที่เป๊ะ perfect คงหลงรัก APO ส่วน Steel rim มันจะนัว ๆ เนียน ๆ ถ่ายยากอยู่เหมือนกันโดยเฉพาะถ้าวางจุดเด่นไว้ค่อนไปทางขอบภาพ
สังเกตลักษณะของโบเก้แบบที่มีคุณภาพดีอย่าง APO กับ True king of bokeh ที่หลายคนหลงรักคาแรกเตอร์จากข้อจำกัดทางการออกแบบเลนส์อย่าง Steel rim
เพราะฉะนั้น 35APO-M เป็นเลนส์ที่ให้คุณภาพของภาพได้ดีแบบภาพสมัยใหม่ คล้ายคลึงกับภาพจาก 35APO-SL ที่ผมเคยรีวิวไว้ก่อนหน้านี้ ถ่ายแล้วว้าว ได้ภาพดี เด้ง คุณภาพสุดไปหมดแทบทุกด้าน
ตามประสาเลนส์ที่ให้ภาพเด้งดึงเป็นสามมิติของไลก้าที่ผมได้ลอง ๆ ใช้มาเป็นสิบ ๆ ตัวแล้ว ผมสังเกตได้ว่าเลนส์เหล่านี้มักจะถูกเซ็ตไว้ให้ภาพมันเบลอออกจากจุดโฟกัสเร็ว (ไม่ได้หมายความว่าเบลอหลังได้มากกว่านะครับ แต่มันเริ่มเบลอออกไปจากจุดโฟกัสเร็ว จากการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ ท่านว่าของพวกนี้ออกแบบได้ ทำได้ โดยเฉพาะในเลนส์ที่มีชิ้นเลนส์เยอะ ๆ สามารถปรับแต่งอะไรได้มากมาย) ซึ่งมันน่าจะเป็นส่วนหนึ่งนอกเหนือจากไมโครคอนทราสต์ที่ทำให้ภาพดูเป็น 3D pop ครับ 35APO ตัวนี้ก็เช่นกัน ถ่ายอะไรก็ดูพิเศษไปหมดก็น่าจะมาจากเทคนิคนี้ส่วนหนึ่งนั่นเอง ดังนั้นเลนส์พวกนี้จะมีจุด sweet point พวก 35mm จะอยู่ราว ๆ 3 เมตร ภาพที่ได้จะเด้งสวยที่สุดครับ
การถ่ายย้อนแสงพบเจอ flare บ้างตามประสา เป็นแสงเส้น ๆ ลงมารบกวนตัวแบบได้เช่นกัน หรือบางคนอาจมองเป็นคาแรกเตอร์ที่สามารถเล่นสนุกกับมันได้ อันนี้แล้วแต่ความชอบส่วนบุคคลครับ
35 APO-M on Nikon Zf : 0_0"
35 APO-M on Nikon Zf : 0_0"
อวยชัยให้พรกันมาพอแล้ว หักมุมมาที่จุดด้อยแบบช็อคผมไปเลยคือ เมื่อเอา 35APO มาใส่กับกล้องอื่น ในที่นี้ผมใช้ Nikon Zf มันทำให้ผมผิดหวังเป็นอย่างมาก ผมเชื่อมาโดยตลอดว่าเลนส์ไลก้าทำ optic มาดีมาก ๆ (ซึ่งมันดีจริง ๆ ในเลนส์รุ่นเก่า ๆ เอาไปใส่กล้องไหนก็ได้ภาพที่ดี) แต่พอมาเป็นเลนส์ยุคใหม่นี้ โดยเฉพาะตัวนี้ที่ราคาแพงมาก ๆ พอเอามาใส่ข้ามยี่ห้อกลับพบความบิดเบี้ยวแบบโค้งออกที่ขอบภาพชัดเจนมาก ๆ จึงเข้าใจว่าสุดท้ายมันเป็นการจัดการคุณภาพของภาพด้วยซอฟท์แวร์พอใส่กล้อง Leica เลนส์กับกล้องมันคุยกัน มันจัดการมาให้เสร็จก่อนบันทึก RAW เสียด้วยซ้ำ ภาพที่ได้เลยคุณภาพสูงลิ่ว ในขณะที่ใส่กับกล้องอื่นแล้วพบความบิดเบี้ยวมาก ผมจึงไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าเลนส์ตัวนี้มีคุณภาพที่ “ดีจริง” มันดีสำหรับกล้อง Leica เท่านั้นครับ เข้าใจว่าเมื่อถ่ายเทียบกับตัว steel rim แล้ว 35APO ให้มุมที่แคบกว่านิดนึง เลยเดาเอาว่ามันปรับไฟล์ชดเชยเรื่องนี้แหละครับ
จับคู่กับ M11 เป็น perfect match ครับ
เอาล่ะ ๆ ยังไงเสียเลนส์ตัวนี้ก็ถือว่าเป็นเลนส์คุณภาพระดับ Top tier ของไลก้าที่อัดเข้ามาได้ในเลนส์ M ตัวเล็ก ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไลก้าทำมาโดยตลอด เป็นเลนส์ที่ผมไม่แนะนำสำหรับนักถ่ายภาพทั่วไป หรือไม่ซาบซึ้งกับ นวัตกรรมการออกแบบ หรือถ่ายมาไม่ได้ใช้งานจริงจัง ไม่ได้ส่องพิจารณาคาแรกเตอร์ หรือคุณภาพของภาพแบบจริงจังครับ หรือใครที่คิดจะเอาเลนส์ตัวนี้ไปแปลงใส่กล้องยี่ห้ออื่นเลิกคิดได้เลยครับ แต่สำหรับผู้ใช้งานทั่ว ๆ ไป Summicron M 1:2/35 ASPH. เพียงพอแล้วครับ แต่ถ้าใครอินกับ APO แล้วมาได้เลยครับผมก็เชียร์เช่นกัน จะไม่มีอะไรค้างคาใจ สวัสดี...
คราวหน้ารีวิวอะไรกันดีล่ะทีนี้....
Comments