"เขาว่ามันเป็น Custom keyboard ระดับเริ่มต้น"
สวัสดีครับ ไม่พูดพร่ำทำเพลง วันนี้ีมีคีย์บอร์ดตัวใหม่มานำเสนอ ไม่ใช่เรื่องกล้องอีกแล้ว ไป ๆ มา ๆ ไอ้ COVID19 นี่จะทำให้ผมเข้าไปอยู่ในทุกวงการเสียแล้ว ทั้งกล้อง เครื่องเสียง นาฬิกา และคีย์บอร์ด ฮ่ะ ๆ เรื่องคีย์บอร์ดนี่คนไม่อินก็ไม่อินนะครับ คนอิน ๆ ก็ถลำลึกไปไกลเลยทีเดียว ว่ากันตัวละ 6 หลัก (จริง ๆ ไม่โม้ แพงอย่างกะเลนส์ไลก้า) แต่ผมว่าผมมาแค่นี้แหละพอละ ชักจะเยอะ วันนี้ได้คีย์บอร์ดของ KBDfans BELLA มาครับ (สาธุ ขอให้เป็นตัวจบ) ในวงการเขาเรียกว่าเป็นตัวเริ่มต้นของ Custom คีย์บอร์ด จริง ๆ มันก็ไม่ Custom หรอกนะครับ เพราะมาเป็น Kit เอามาประกอบเอง ใคร ๆ ก็มีแบบนี้เยอะแยะ จะ Custom กันก็แค่สวิตช์กับคีย์แคปที่เลือกซื้อหากันตามอัธยาศัยเท่านั้นเอง ที่เหลือก็แต่งโน่นนี่นิด ๆ หน่อย ๆ ให้เกิดความรู้สึกและเสียงในการพิมพ์ที่แตกต่างกันออกไป ในวงการทั่วไปสวิตช์พวกนี้ต้องมีการ Lube หรือทาสารหล่อลื่นกันด้วยเพื่อความลื่น พริ้ว และให้เสียงที่ดีกว่าก็ว่ากันไปครับ ผมเอาแค่ซื้อมาประกอบแล้วใช้ก็พอละครับ แค่นี้ก็แย่ละ ฮ่ะ ๆ
เจ้า Bella ตัวนี้ จะเรียกว่าหาซื้อง่ายก็ไม่ง่าย ยากก็ไม่ยากครับ KBDfans เคยผลิตออกมาทีนึงในจำนวนไม่มากนักแล้วก็หยุดไป นี่กลับมาผลิตใหม่ก็คาดว่าจำนวนไม่มากนักเช่นกัน มันไม่ใช่คีย์บอร์ดที่จะไปเดิน ๆ ตามร้าน หรือกดหาตามแหล่งช้อปออนไลน์แล้วเจอครับ มันยากกว่านั้นอีกสเต็ปหนึ่ง แต่ก็ไม่ถึงขนาดที่จะต้องสั่งเป็น Group buy (GB) พวกนั้นไปอีกขั้นครับ เรียกว่าได้ของมาปุ๊บขายต่อก็กำไรแล้วก็มี
เจ้า Bella ตัวนี้เรียกว่าเป็นคีย์บอร์ดขนาด 75% (ของคีย์บอร์ด Full size แบบที่มี Numpad มาด้วยที่เราคุ้นเคยกันนั่นแหละครับ) คือมีส่วนตัวอักษร ปุ่ม F1-12 ปุ่มลูกศร และปุ่มอื่น ๆ อีก 4 ปุ่ม ที่เรียกว่าปุ่มอื่น ๆ เพราะเราสามารถปรับแต่งให้มันเป็นปุ่มอะไรก็ได้ตามใจเราทั้งหมดแหละครับ ผ่าน Software ของ QMK ที่สร้าง Firmware ให้คีย์บอร์ดเป็นไปอย่างที่เราต้องการ ที่สนใจตัวนี้มาก ๆ อันดับแรกเพราะชื่อเลยครับ ผมว่าชื่อ Bella มันน่ารักดี... แค่นั้น การใช้งานผมว่าใช้ง่ายกว่าพวก 60% นิดหน่อยตรงที่มีลูกศรให้มาด้วย เวลาเลื่อนดูรูปหรือทำงานมันสะดวกขึ้นหน่อยครับ แต่ใจผมก็ยังชอบ 60% มากกว่าเพราะมันจบในตัว เรียบร้อยเป็นสีเหลี่ยมสวยงาม และขนาดเล็กน่ารักน่าชัง ส่วนคีย์บอร์ด Full size สำหรับผมเลิกพูดไปเลย มันใหญ่ เกะกะ ผมไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับตัวเลขมาก ๆ ที่ต้องใช้ Numpad เป็นประจำครับ และผมก็ไม่ชอบยกมืออกจากพื้นที่หลักเพื่อไปกด Numpad เสียด้วย
รุ่นนี้มีด้วยกันเท่าที่เห็น 4 สีนะครับ สีดำ สีเทา สีน้ำเงินเข้ม และสีขาว e-white (แต่จะออกครีม ๆ นิด ๆ ไม่ได้ขาวจั๊วะแบบ e-white ของ Tofu ครับ คนละขาวกัน) เปิดกล่องมาเป็นชิ้น ๆ เลย มีเคส แผงวงจร (PCB) โฟมลดเสียงทั้ง Case foam และ Plate foam มี Plate ทองเหลือง และ Stabilizer สำหรับพวกปุ่มยาว ๆ มาแค่นี้แหละครับ ที่เหลือให้เรา Custom หาสวิตช์และปุ่มกันเอาเอง เอาละ มาถึงผมก็ประกอบเลย ไม่ได้ยากอะไร ในกล่องก็ไม่มีคู่มือวิธีการอะไรมาให้ครับ เข้าใจไปว่าคนซื้อต้องประกอบเป็นอยู่แล้ว ก็ประกอบ ๆ ไปครับ คีย์บอร์ดตัวนี้มีโครงสร้างแบบ Top mount คือเคสจะแยกออกเป็นส่วนบนล่าง แผงวงจรจะประกอบกับ plate แล้วยึด plate กับเคสส่วนบน ก่อนที่จะประกอบเคสส่วนล่างปิดไปครับ ก่อนหน้านี้ผมเคยใช้แต่แบบ Tray mount ที่ประกอบจากด้านล่างขึ้นมาด้านบน ก็พบว่าการกดในแต่ละส่วนของคีย์บอร์ดมันมีความ “ยวบ” ไม่เท่ากันเนื่องจากระยะห่างจากตำแหน่งยึดของสกรูกับเคสด้านล่างครับ แต่การโครงสร้างแบบ Top mount แบบนี้ โอเคกว่าครับ รับน้ำหนักการกดในแต่ละส่วนค่อนข้างกระจายเท่า ๆ กันดีทีเดียว เคสส่วนล่างมีแผ่นทองเหลืองประกบอยู่เข้าใจ (ไปเอง) ว่าช่วยเรื่องเสียงของคีย์บอร์ดให้แน่นขึ้นครับ เพราะทองเหลืองมันหนาแน่นกว่าและมันอ่อนกว่าอลูมิเนียมซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของคีย์บอร์ด อะไรแข็ง ๆ แน่น ๆ เสียงมันจะก้องเลยต้องมีทองเหลืองเอาไว้สักหน่อยนึง ส่วน plate ทองเหลืองก็เช่นเดียวกันครับ จะให้เสียงที่ออกมาหนักแน่นกว่า plate อลูมิเนียม
ก่อนทำการประกอบคีย์บอร์ดทุกตัวผมแนะนำให้เช็คของทั้งหมดให้เรียบร้อย และเสียบสายเช็คบอร์ดก่อนนะครับ ว่าทำงานได้ปกติไหม หากประกอบแล้วกดไม่ติดจะได้ทราบแน่ชัดว่าเกิดขึ้นจากอะไร ขั้นตอนไหนที่พลาดไปครับ การเช็คว่าบอร์ดทำงานปกติดทั้งหมดทุกตัวอักษรไหม ไม่ยากครับ เปิดเว็บพวก Keyboard test เสียบสาย แล้วหาคีมเหล็กมาสักตัวนึง จิ้มตรงจุดที่จะเป็นขาสองข้างของสวิตช์ให้วงจรมันปิดครับ มันก็จะเป็นการสั่งการทำงานของปุ่มนั้น ๆ ค่อย ๆ ตรวจสอบไปทีละปุ่มจนครบเป็นอันใช้ได้ครับ ถ้าเสียบสวิตช์แล้วกดไม่ติดจะได้รู้ว่าเป็นที่สวิตช์ ไม่ใช่บอร์ด
การประกอบคีย์บอร์ดตัวนี้ก็ง่ายดาย ผมเลือก PCB แบบ Hot swappable มาเพราะว่าไม่ต้องบัดกรีครับ ดึงเปลี่ยนสวิตช์ได้ง่าย เกิดเบื่อสวิตช์นี้ หรือสวิตช์พังจะเปลี่ยนตัวใหม่ก็แค่ดึงออกแล้วเอาอันใหม่ยัดเข้าไปเป็นอันเสร็จครับ สะดวกดี ที่ผ่านมาผมเปลี่ยนสวิตช์ไปมาอย่างบ่อย เพราะเลือกที่ถูกใจไม่ได้สักที (สั่งซื้อมาลองเป็นตัว ๆ เล่นได้ครับ มีขายเยอะแยะ) คราวนี้หลังจากลองมา 4 - 5 แบบที่เลือกในดวงใจมา ผมว่าผมจบที่ Glorious Panda ครับ เด้งสู้นิ้วดี ไม่ยึกยักหลายจังหวะ น้ำหนักกดกลาง ๆ ที่ 67 g พวกคนเล่นจริงจังนี่เยอะมาก ๆ ครับ ว่ากันถึงแกนสวิตช์ทำจากวัสดุอะไรให้เสียงยังไง สปริงชุบนิกเกิล ชุบทอง อะไรก็ว่าไปครับ ผมเข้าไม่ถึง เอาเป็นว่าลองพิมพ์อะไรแล้วชอบก็เลือกเอาอันนั้นมาครับ ไม่ได้ Lube กับเขาด้วย ใส่ไปเดิม ๆ นี่แหละ ตรงคาแรกเตอร์มันดี ส่วนปุ่มกดตอนนี้ผมก็อินเลิฟกับ Profile ASA ของ AKKO ครับ ผมว่าความสูงกำลังดีก้าวนิ้วได้ง่ายแต่มั่นใจ พิมพ์สนุกกว่า OEM profile ที่ใช้กันในคีย์บอร์ดทั่วไปครับ แต่พิมพ์กับเจ้าสวิตช์ตัวนี้ไปนาน ๆ ก็มีเมื่อยได้เหมือนกัน
Bella ตัวนี้มีลูกเล่นเล็ก ๆ น้อย ๆ ตรงข้างปุ่ม Esc มันจะเป็นรูปแมวทำหน้ายิ้มอยู่ (ก็ไม่รู้ว่าทำไมต้องเป็นแมวเหมือนกัน) เจ้าตัวนี้สามารถดึงออกมาได้โดยใช้แม่เหล็กยึดเอาไว้ครับ เอาไว้เป็นตัวช่วยเปิดสวิตช์สำหรับการ Lube หรือปรับแต่งอื่น ๆ ขอโทษที ผมไม่ได้ใช้มันหรอก ขี้เกียจทำ เจ้าแมวนี่ผมว่าถ้าคนชอบก็ชอบไปเลยคนเกลียดก็สามารถเกลียดบอร์ดตัวนี้ไปได้เลยเหมือนกัน ส่วนจุดที่่น่าเกลียดแบบให้อภัยไม่ได้คือช่องเสียบ USB-C มันตื้นครับ หลายสายที่มีอยู่เหมือนเสียบได้ไม่ค่อยสุด มันทำงานได้แหละครับแต่มันดูไม่เรียบร้อย
ประกอบเสร็จเอาไปชั่งน้ำหนักได้ 1.95 กิโลกรัม บ้าไปแล้ว หนักมาก ๆ แต่ข้อดีก็คือมันสามารถวางอยู่กับที่ได้แน่น ๆ ไม่เลื่อนไปไหน ผมเคยใช้คีย์บอร์ดพลาสติก 60% มาก่อนปรากฏว่าใช้งานไปนาน ๆ เข้ามันเลื่อนไปตามแรงกดแรงดันของมือเราครับ กลายเป็นว่ามันเอียงไปข้างนึงต้องคอยจับให้เข้าที่อยู่เรื่อย
นั่งพิมพ์รีวิวอันนี้ไม่ใช่อะไร อยากลองใช้คีย์บอร์ดครับว่ามันจะให้ความรู้สึกอย่างไร ผลก็คือพิมพ์ตอนแรกสนุกดี พิมพ์มันส์ แน่น สนุก แต่พอเลยหนึ่งหน้าไปแล้วเริ่มเมื่อย ฮ่ะ ๆ ๆ แต่ถามว่าดีไหมก็ต้องตอบว่าดี เพราะของที่ซื้อมาแล้วดีเสมอ จะว่าไปมันก็มีอีกเรื่องที่น่าหยิบมาพูดคุยกันก็คือ ผมเห็นพวกที่เล่นลึก ๆ กันเขาปรับแต่งตัว Stabilizer เพื่อลดความคลอนและลดเสียงของมันกันด้วย Bella ที่ใช้อยู่นี่ผมประกอบแบบเดิม ๆ ครับ พวกปุ่มยาวโดยเฉพาะปุ่น space bar มันก็จะมีเสียงการสั่นของตัว Stabilizer แต๊ง ๆ เข้ามา เสียงไม่แน่นเหมือนปุ่มเดี่ยว ๆ ก็น่ารำคาญอยู่พอสมควร ถ้าจะปรับแต่งกันก็ต้องรื้อออกมานับหนึ่งใหม่ ซึ่งคงไม่ใช่เร็ว ๆ นี้ครับ ขี้เกียจครับ
สรุปกันเถิด ผมว่าถ้าไม่คิดอะไรมากหาซื้อคีย์บอร์ดทั่วไปมาใช้ไม่กี่ร้อยบาท พังก็เปลี่ยนครับ เล่น Mechanical keyboard พวกนี้ผมว่าเอาสนุก และใจรักล้วน ๆ เปิดโลกอีกใบ ของอีกวงการ แต่ถ้าจะว่าถึงข้อดี ผมว่ามันทำให้รู้สึกว่าอยากพิมพ์ อยากใช้มัน อยากทำงานครับ ฟิลลิ่งมันดีแค่นั้นเอง เอาจริง ๆ ถ้าใครสมาธิแน่วแน่ มีความรับผิดชอบสูง งานก็เสร็จได้เหมือน ๆ กันครับ ฮ่ะ ๆ ๆ สวัสดี
แถมท้ายด้วยเรื่องเทคนิคการประกอบคีย์บอร์ดประเภทนี้นิดนึงครับ พวกปุ่มยาว ๆ มันจำเป็นจะต้องมี Stabilizer ให้เรากดตรงไหนของปุ่มก็ลงไปพร้อมกันหมดทั้งปุ่ม ไม่เด้งไปเด้งมาเป็นไม้กระดกนั่นเอง แล้วเจ้า Stabilizer ตัวนี้แหละครับ ที่มันมีส่วนประกอบหลายชิ้น ส่วนมากจะมีลวดเชื่อมระหว่างสองฝั่งให้ Stabilizer สองข้างขึ้นลงพร้อมกัน เจ้าลวดนี้ กับความหลวมระดับนึงของตัว Stabilizer จะทำให้เกิดเสียงแก๊ก ๆ (เหมือนเสียงลวดกระทบอะไรแกรกๆ แบบนั้น) ทำให้ปุ่มยาว ๆ เหล่านี้มีเสียงที่น่ารำคาญมาก จำได้ว่าเคยเปิดยูทูปดูวิธีการประกอบ เขาแนะนำให้ตัดขาบางอันของก้าน Stabilizer ออก ตอนแรกผมก็ไม่เชื่อหรอกครับ คิดว่ามาจากโรงงานมันควรดีอยู่แล้วสิ แต่พอชักรำคาญมากทนไม่ไหวก็เลยลองทำตามดู รวมถึงหาแผ่นผ้า/ยางนุ่ม ๆ มารองระหว่างตัว Stabilizer กับ PCB ปรากฏว่าเสียงดีขึ้นอย่างมากจนน่าพอใจครับ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ตามนี้เลยครับ
มาครับ กองของให้เรียบร้อย
ตัดขาที่มีติ่งยื่น ๆ ออกมาแบบนี้ รวมถึงฝั่งทะแยงมุมด้วย และติดผ้า/ยางรองไว้ที่ PCB ก่อนติดตั้ง Stabilizer ได้ผลอย่างมาก
ติดโฟม ติดเพลท ใส่สวิตช์
ประกอบร่างแล้วเสียบ Keycaps เป็นอันดับสุดท้าย เป็นอันเสร็จพิธีครับ
รวมกลุ่มเป็น 1 ในบรรดา Mechanical keyboard ที่เก็บไว้ครับ (ผมมี 12 มือครับ ไม่ต้องแปลกใจ)
คนร่ำเรียนมาด้านที่เกี่ยวข้องกับศิลปะนี่มันหักห้ามใจยากจริง ๆ ครับ ลองให้เห็นความสวยความงาม รวมถึงความน่าพึงพอใจในอะไรก็แล้วแต่ มันห้ามใจไม่อยู่เสียทุกทีไปครับ อ่านจบแล้วใช้คีย์บอร์ดอันละร้อยนะครับ อย่าตามมาครับ ผมเตือนทุกคนแล้ว ^_^ สวัสดีครับ
ปิดท้ายด้วยตัวอย่างใช้ปุ่มขาว ๆ เนียน ๆ โปรไฟล์ XDA ครับ
Comentários