top of page

Sigma fp

Updated: Aug 24, 2023

"ถ้าไม่มั่นใจ อย่ามา"

สวัสดีครับ

วันนี้มาลองเล่นอย่างอื่นที่ไม่ใช่ไลก้ากันบ้างนะครับ เผื่อเพื่อนพี่น้องสนใจกล้องฟูลเฟรมเล็ก ๆ เอาไว้แปลง M mount มาลง

ในที่สุดก็ได้มีโอกาสทดลองกล้องฟูลเฟรมที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกขณะนี้ (ต้น 2020) หากท่านลองค้นหาคำว่ากล้อง Sigma fp ในอินเตอร์เน็ตจะพบว่ามีรีวิวกันอยู่บ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ แต่จะสังเกตเห็นว่าไม่ค่อยมีรีวิวผู้ที่ซื้อมาใช้จริงยาว ๆ เท่าไร และดูเหมือนว่ากล้องรุ่นนี้มีคนใช้กันไม่มากนัก ทั้ง ๆ ที่ใช้ L mount ร่วมกับ Leica และ Panasonic แล้ว ก่อนที่จะได้มาลองผมก็หาตัวอย่างภาพถ่ายจากเว็บไซต์ต่าง ๆ มาดู แล้วลองสังเกตดูครับว่าโทนของภาพ และลักษณะคาแรกเตอร์ของภาพมันแอบไม่เหมือนกล้องที่ใช้เซนเซอร์ CMOS อื่น ๆ ขอให้สังเกตว่า ภาพตัวอย่างที่ออกมาจากกล้องรุ่นนี้จะติดอันเดอร์นิด ๆ หรือไม่ก็เป็นภาพถ่ายในที่แสงน้อย ๆ หรือเป็นภาพ jpg หลังกล้องที่คอนทราสต์สูง วันนี้จะมารีวิวกันแบบหมดเปลือก ไม่อวยชัยให้พร ระดับนี้แล้วไม่เคยรับเงินมารีวิวนะครับ ไม่มีใครจ้าง (ฮ่ะๆๆ) บทความนี้ขอเน้นไปที่ภาพนิ่งเพราะผมเองไม่ถ่ายวิดีโอ (เรียกว่าถ่ายไม่เป็นเลยดีกว่า) และขอไม่พูดถึงเรื่องเทคนิคต่าง ๆ เช่น ความไวของออโต้โฟกัส เพราะผมเล่นมือหมุนมานานครับ ไม่ได้อัพเดทเทียบเคียงกับกล้องปัจจุบันครับ พูดถึงภาพรวมกันคร่าว ๆ แล้วเจาะลงไปเรื่องคาแรกเตอร์ภาพกันเลยครับ

อ่านมาถึงตรงนี้มีคำถามแน่ ๆ ว่าไม่ถ่ายวิดีโอแล้วจะมารีวิวเล่นกล้องรุ่นที่ขึ้นชื่อว่าเก่งเรื่องวิดีโอทำไม ผมขอตอบได้ทันทีเลยครับว่าผมสนใจกล้องรุ่นนี้ในเรื่องโทนของภาพ คาแรกเตอร์ของไฟล์เท่านั้น เอามาใช้กับพวกเลนส์ไลก้าที่มีอยู่น่าจะดึงสิ่งที่น่าสนใจออกมาได้ครับ ผมเชื่อว่าพี่น้องที่เล่นกล้องกันมาจนถึงระดับมือหมุนคงรู้สึกเช่นเดียวกันว่าบางครั้งเราไม่ได้ต้องการสมบัติอะไรมากมายจากกล้อง เราแค่ต้องการคาแรกเตอร์ โทนสีของภาพ ความอิ่มของสี คอนทราส ไมโครคอนทราส ความเด้ง ถ้าท่านเป็นพวกนี้ก็ขอให้ลองตามมาอ่านดู แต่ถ้ามองหารีวิวที่แสดงสมบัติของกล้องในเชิงเทคนิคก็ปิดหน้าต่างได้เลยครับ และอีกเหตุผลหนึ่งที่สนใจกล้องฟูลเฟรมขนาดเล็ก ๆ ก็เพราะอยากได้กล้องฟูลเฟรมที่เอาไว้เป็นบอดี้สำรองเอาไว้ใช้สบาย ๆ อยู่ เพราะไม่อยากห้อยเจ้า M60 ราคาสูงลิบติดดอยออกไปไหนมาไหนทุกวัน ไม่อยากซื้อกล้องดิจิทัลไลก้าอีก เพราะราคามันลง (คิดเป็น % ไม่มากเท่ายี่ห้ออื่น ๆ แต่ถ้าคิดเป็นตัวเงินก็มากอยู่) ยังอยากใช้เลนส์ไลก้า และยังอยากเก็บเลนส์ไลก้าต่อไป เพราะคุณภาพดีไว้ใจได้ ไม่มีอะไรให้พัง ฮ่ะ ฮ่ะ พวกกล้องฟูลเฟรมตัวเล็ก ๆ ราคาไม่แรงนักก็เห็นทีจะมี Sony จำพวก A7 Canon EOS R/RP Nikon Z6 และก็ Sigma fp นี่แหละครับ ที่ราคามันน่ารักน่าลุ้นและใส่เลนส์ Leica M ได้ จริง ๆ Nikon Canon ก็น่าสนใจแต่ก็เคยใช้มาหมดแล้วทั้งสองยี่ห้อ สมบัติของมันก็พอรู้ ๆ กันอยู่ตามเรื่อง ผมไม่อยากได้โทนภาพแบบนั้น และอยากลองของใหม่ ๆ ครับ อีกอย่างเลนส์เทพ ๆ ที่มีก็ขายทิ้งไปหมดแล้ว ส่วน Sony เคยใช้ A7 ตัวแรกอยู่ก็ชอบนะครับ แต่สกินโทน และภาพติดสีเหลืองนี่ทำให้ผมขออยู่ห่าง ๆ มันไว้หน่อยดีกว่า หวยเลยมาออกที่ Sigma fp เฉยเลย เพราะดูภาพแล้วชอบโทนสีของมัน ชอบมากกว่า Nikon Canon ดูลักษณะแล้วถ่ายคนน่าจะสวย เลยได้มาลองกล้องที่เอาแต่ใจตัวเองมากที่สุดตัวหนึ่งในตลาดปัจจุบันกันนะครับ

Sigma fp กับเลนส์ Leica Summarit 2.5/35, Voigtlander Heliar 3.5/50, Leica Summilux 1.4/35 FLE (edition 60)

เอาจริง ๆ ว่าผมก็เล็งกล้อง Sigma มานานแล้วครับ ตั้งแต่พวกซีรี่ส์ DP เพราะชอบภาพที่ได้จากเซนเซอร์ Foveon มาก สีสันมันดี ไมโครคอนทราสมันเด็ดขาด ภาพเป็น 3Ds pop สวยงามจริง ๆ ครับ ลองไปหารีวิวอ่านกันดู ผมได้ดูภาพจากเพื่อนที่ใช้อยู่ก็ติดใจครับ แต่ติดที่อุปสรรคเรื่องความชักช้าอืดอาดของมัน และแบตเตอรี่ที่หมดเร็วเหลือเกิน เลยยังไม่ได้เจอกันสักที มาเจอ fp คราวนี้โอกาสดี คงต้องลองสักหน่อย ถึงจะเป็นเซนเซอร์ CMOS ก็เถิดครับ

มาว่ากันเรื่องบอดี้ก่อนนะครับ ความสวยกระทัดรัดมันแน่นอนครับ ได้คะแนนไปเยอะ วัสดุดีเป็นโลหะทั้งหมด จอพับไม่ได้เป็นอะไรที่ผมชอบมาก เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องความเสียหายของจอหรือสายแพในอนาคต กล่อง ๆ ตัน ๆ เล็ก ๆ เป็นไปแบบนี้ดีแล้ว แต่เรื่อง Ergonomic เน่าเลยนะครับ ขนาดใส่กริปแล้วคนมือใหญ่ก็คงไม่สะดวก ยิ่งถ้าไม่ใส่กริปนี่จะจับถือได้ไม่ดีเลยครับ แต่ตามแนวคิดข้อดีของมันก็คือมันจะหาอะไรมาต่อเสริมเพิ่มเติมได้เต็มไปหมด จะเอากริปไม้ จะโมเอง จะอะไรก็แล้วแต่ ใส่ได้ทั้งหมดครับ ซึ่งโอเค ก็ยอมรับได้ถ้ามาด้วยแนวความคิดแบบนั้น ส่วนตัวผมถนัดใส่ตุ่มใต้กล้องประคองด้วยมือซ้ายพร้อมหมุนโฟกัสเลนส์มือหมุน มือขวาจะได้อิสระไม่ต้องพึ่งพิงกริปมากนักครับ ปุ่มกดต่าง ๆ มีน้อย เมนูก็ไม่มีอะไรซับซ้อน เล่นแป๊บ ๆ ก็เข้าใจละครับ ซึ่งเป็นส่วนที่ผมชอบเพราะรู้สึกว่าเริ่มแก่ละ ขี้เกียจจะไปเรียนรู้อะไรยาก ๆ แบบสมัยวัยรุ่น ยิ่งใช้ไลก้ามา (โดยเฉพาะ M60) ก็ไม่อยากมีปุ่มอะไรแล้วครับ... พอพูดถึงเรื่องปุ่ม Sigma fp มันจะมีจุดอ่อนอยู่ที่หนึ่งตรงวงแหวนหมุน ๆ ปรับตั้งค่าต่าง ๆ ด้านหลังกล้องครับ มันออกจะหลวม ๆ และไวไปหน่อย บางทีอยากจะกดปุ่มเฉย ๆ ก็กลายเป็นหมุนไปแบบไม่ได้ตั้งใจ เรื่องนี้สร้างความหงุดหงิดให้มากพอสมควรครับ ใครจะสอยก็ขอให้ไปลองตัวจริงก่อนครับ ว่าเข้ามือดีหรือไม่

สิ่งที่ให้มากับตัวกล้องจะมีดังนี้

1. Module แฟลชนะครับ ผมไม่ได้ลองนะครับ ไม่ได้มาสายนี้นานแล้ว ตั้งแต่เลิกรับงานถ่ายภาพก็ไม่มีแฟลชติดบ้านเลย

2. สายคล้องคอ เป็นสายแถมที่ดีมาก ๆ สายหนึ่งเลยนะครับ เป็นผ้านิ่มนวลดี และ “ไม่มีสกรีนยี่ห้อตัวใหญ่ ๆ แปะโว้ย” อันนี้ถึงกับลุกขึ้นยืนปรบมือ กรุณาอย่าใช้ลูกค้าเป็นสื่อโฆษณาอีกครับ เขาเสียเงินให้คุณไปแล้ว ผมเชื่อว่าเจ้าของกล้องหลายท่านไปซื้อสายคล้องคอยี่ห้ออื่นก็เพราะไม่อยากมีโลโก้ยี่ห้อกล้องตัวใหญ่ ๆ นี่แหละครับ

3. หมุดเกลียวสำหรับคล้องสายคล้องคอ (2 ตัว)

4. สายไฟ และอแดปเตอร์ชาร์จไฟ กล้องตัวนี้ไม่มีที่ชาร์จไฟแยกนะครับ ถ้าจะเอาต้องซื้อเพิ่ม ผมให้ไว้เป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจนะครับ เสียบสายชาร์จไฟกับกล้องต้องใช้เวลา 4 ชั่วโมงนะครับแบตเตอรี่ถึงจะเต็ม เน้นว่า 4 ช.ม. นะครับ ไปหาซื้อแท่นชาร์จแยกดีกว่าครับ หาไม่ยาก เพราะใช้แบตเตอรี่แบบเดียวกับ Leica และ Panasonic อีกหลายรุ่นครับ เช่น Leica Q1 หรือพวก Panasonic ตระกูล G ทั้งหลาย

5. กล้องและฝาปิดกล้อง

6. กล่อง ใบ คู่มือ ตามประสา

7. สำหรับชุด kit จะมีเลนส์ Sigma 45mm f2.8 DG DN รวมมาในกล่องให้ด้วยอีกตัวหนึ่ง ซึ่งเราจะพูดถึงมันในรีวิวครั้งถัด ๆ ไปนะครับ

Sigma fp + Voigtlander Nokton 50 f1.2

มาครับ แกะกล่อง ชาร์จไฟ ถ่ายภาพ ผมใช้แดปเตอร์ Gabale ของจีนครับมี Close focus ด้วยก็ถ่ายสนุกดีเหมือนกัน พอถอดการ์ดแล้วมาลงคอมพิวเตอร์เท่านั้นแหละครับ ซึ้งงงงงงงงงงงง

มันเป็นเรื่องคาแรกเตอร์ของกล้องและภาพที่นักรีวิวส่วนมากไม่ค่อยพูดถึง เห็นมีพูดถึงกันบ้างในต่างประเทศ ซึ่งผมว่ามันเป็นเรื่องสำคัญมากนะครับสำหรับการถ่ายภาพนิ่ง เพราะกล้อง Sigma fp ไม่รักษาส่วนสว่าง (Highlight) ของภาพเอาเสียเลย หากถ่ายด้วย RAW เอามาเข้า Lightroom จะดึงส่วนสว่างโดยยังรักษารายละเอียดอยู่ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะฉะนั้น ดูดี ๆ นะครับ ภาพตัวอย่างจากอินเตอร์เน็ตทั้งหลายจะเป็นโทนของภาพในอีกลักษณะหนึ่งจริง ๆ ยิ่งภาพ JPG หลังกล้องนะครับไม่รู้จะพูดว่ายังไงดี แต่ Dinamic range มันแคบเสียจนเห็นภาพแล้วนึกย้อนยุคไปถึงกล้อง Leica X2 ที่เคยใช้อะไรทำนองนั้นเลยครับ ส่วนสว่างขาวเวอร์หายไปเลย ส่วนมืดก็จมรายละเอียดหาย คอนทราสต์หนัก (แต่ Sigma fp สียังตรงสู้ Leica X2 ไม่ได้ พวกไฟล์ jpg ของไลก้ายุคนั้นนี่สีจืด ๆ แต่ตรงตามตาเห็นเป๊ะมาก) ด้วยคาแรกเตอร์แบบนี้ อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่บางคนนำมารีวิวกันว่าภาพที่ได้จาก Sigma fp ให้ลักษณะภาพราวกับเซนเซอร์ CCD แล้วอวยชัยให้พรกันไป แต่คุณพี่ครับ นี่ผมว่ามันก็ไม่ค่อยจะถูกนะ แต่ก็อาจเป็นไปได้ที่ Sigma พยายามปรับตั้งให้มันมีคาแรกเตอร์คล้าย ๆ กล้อง Foveon ในสมัยก่อนแต่ประสิทธิภาพมันค่อนข้างไม่ค่อยดีสำหรับยุคสมัยนี้ ถึงแม้จะต้องสารภาพว่า Sigma fp มันใช้งานยากจริง ๆ ถ้าคนไม่รู้จักกล้องนี่อาจไม่ได้ภาพเลยนะครับ กล้องตัวนี้มันแอบเป็นกล้องขี้ฟ้องอยู่ ถ้าถ่ายมาในสภาพแสงที่ไม่เหมาะสมหรือวัดแสงมาไม่เป๊ะไฟล์มันก็เน่าเอาได้ง่าย ๆ เรียกว่าไม่ยืดหยุ่นอาจจะเหมาะกว่า อ่านมาถึงตรงนี้แล้วคงนึกในใจกันละว่าใช้ยากอย่างนี้เอามันไปขายดีกว่า หรืออย่าไปซื้อมันเลยละกัน

ด้านล่างนี่คือชุดที่ถ่ายด้วย .jpg จบหลังกล้องครับ ส่วนมากแต่งด้วย Color Teal & Orange ยกเว้นภาพแนวตั้งเป็น Color Standard ครับ

แต่ช้าก่อน...

จะบอกว่าถ้าถ่ายภาพมาได้ตามตำรา (แบบอนุรักษ์นิยม เช่น มีความเปรียบต่างในภาพไม่มากเกินไป ทิศทางของแสง ฯลฯ) เมื่อไรเมื่อนั้นจะได้ภาพที่น่าพอใจ สี ความป๊อบ คาแรกเตอร์ภาพจัดว่าดีทีเดียว

Sigma fp + Leica Summarit 35 f2.5

จริงอยู่ที่ตามรีวิวหลายสำนักบอกครับ ว่ากล้อง Sigma fp ไม่ได้เป็นกล้องที่เหมาะกับทุกคน แต่ผมคิดว่าถ้าตั้งใจจะเรียนรู้ที่จะอยู่ไปกับมันจริง ๆ มันก็ไม่ได้ยากเกินไปนะครับ มันก็น่าสนุกดีเสียด้วยซ้ำที่จะได้ลองปรับเปลี่ยนลักษณะภาพ การถ่ายภาพที่คุ้นเคย ไปลองอะไรใหม่ ๆ (ย้อนยุค นึกไปถึงช่วงที่เริ่มถ่ายภาพดิจิทัลใหม่ ๆ) ดูบ้าง

Sigma fp + Leica Summarit 35 f2.5

สวดข้อเสียไปยับเยิน มันก็ต้องมีข้อดีของมันบ้างครับ แม้ว่า Sigma fp เก็บรายละเอียดส่วนสว่างได้เข้าขั้นห่วย (รอลุ้น Profile สำหรับไฟล์ RAW ที่ Sigma บอกว่าจะออกมากันต่อไปครับ) แต่เจ้ากล้องตัวนี้มันเก็บรายละเอียดส่วนมืดได้ดีอยู่นะครับ คุยกับ Jeff Meechai กูรูเรื่องกล้อง จนเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวไปแล้ว แล้วก็นึกถึงกล้องรุ่นเก่า ๆ ที่เคยใช้กันยุคหนึ่ง เรามักจะถ่ายอันเดอร์ไว้หน่อยแล้วค่อยมา “ขุด” กันในโปรแกรมแต่งภาพ ซึ่งขุดมากก็มีจุดรบกวน (Noise) บานเลย ในยุคหลังพอ CMOS เริ่มพัฒนาไปมาก ๆ เราจะเริ่มถ่ายเผื่อโอเวอร์กันนิดนึงแล้วมาดึงลงจะดีกว่าเพื่อลดการเกิดจุดรบกวนในภาพ ส่วนตัวผมว่าจะได้ภาพที่สดใสดี และเรา (หรือเฉพาะผมเอง) ก็ชินแบบนั้นเสมอมาครับ (จริง ๆ กล้องยุคใหม่หลังจากนั้นมาอีกมันยืดหยุ่นสุด ๆ ละครับ จะถ่ายแสงมั่วอะไรมามันปรับได้ดีหมด) คราวนี้พอมาเจอ Sigma fp เลยเป๋ กล้องไม่รักษา Highlight เลยต้องเปลี่ยนสไตล์กันนิดนึง เทคนิคการใช้กล้องตัวนี้คือเวลาถ่ายให้ดู Histogram เป็นหลัก วัดแสงรักษาส่วนสว่างเอาไว้ให้ได้แล้ว การนำเข้า Lightroom เพื่อมาดึงส่วนมืดขึ้นมานั้นก็จะเป็นเรื่องง่ายครับ มันสามารถดึงพรวดได้หมดหลอด 5 stops แบบสีไม่เพี้ยน และจุดรบกวนก็น้อยมาก ๆ เลยครับ รายละเอียดยังเก็บได้ดี สีดีครับ เช่นเดียวกับ ISO สูง ๆ กล้องตัวนี้สามารถดันขึ้นไปได้ถึง ISO102,400 (เป็นระดับปกติของกล้องปัจจุบันไม่ต้องตื่นเต้น) ซึ่งก็มีจุดรบกวนเพิ่มขึ้นกันไปตามเรื่องครับ แต่ข้อดีคือมันยังสามารถรักษาสี ความคม และรายละเอียดของภาพได้น่าประทับใจครับ

ไล่ไปครับ ชุดนี้ผมใช้ Voigtlander Heliar 50 f3.5 ISO200 400 800 1600 3200 6400 12800 25600 51200 102400

สถานการณ์ห้องมืดเลย เลนส์ Voigtlander Nokton 50 f1.2 ISO 25600 DNG แล้วดึงใน LR ครับ

การใช้เจ้า Sigma fp นี่ คนถ่ายจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจและปรับตัวตามกล้องมันสักหน่อยนะครับ ก็จะสามารถได้ภาพที่ดีและมีคาแรกเตอร์ไม่เหมือนใครได้ครับ เมื่อตรงดีแล้วจะเห็นว่า สีสันโทนภาพและคอนทราสต์มันจับใจ ภาพมีความคมและความป๊อบใช้ได้ครับ (แล้วแต่เลนส์ที่ใช้ด้วย) ลองเปรียบเทียบคาแรกเตอร์ของภาพกันดูครับ ผมจะพยายามลงตัวอย่างไว้เยอะ ๆ ถ้าใครถวิลหาลักษณะอารมณ์ของภาพแบบนี้ก็จัดหามาเล่นกันได้ แต่ถ้าใครใส่ใจกับคุณสมบัติและความสามารถแนะนำให้ข้ามมันไปก่อนได้เลยครับ เรื่องการเก็บ Dynamic range นี่ไปดูไฟล์ Sony A7iii ก็ได้ครับ เก็บส่วนสว่างก็ดี เก็บส่วนมืดก็ดีรูดขึ้นได้เต็มหลอด 5 stops เช่นกัน ใครไม่ซีเรียสกับโทนสีของโซนี่ก็จัดไปเถอะครับ ไม่น่าผิดหวัง ผมเองก็ใช้ Sony Rx10 mark iv อยู่ตัวนึง โฟกัสถอดมาจาก A7iii นี่แหละ เร็ว เด็ด เอาอยู่ ซูมโกงที่ 24-600 mm เข้าป่ายิงนกยิงสัตว์ตัวเดียวอยู่ครับ แพ้แค่เซนเซอร์เล็กจุดรบกวนเยอะ ถ่ายคนโทนไม่สวยเลย พยายามปรับแก้ยังไงก็ไม่หาย

สถานการ์แบบนี้ ภาพซ้ายต้นฉบับถ่ายด้วยไฟล์ DNG อันเดอร์จนมืดเกือบสนิท จับเข้า LR ดึง Exposure ขึ้นมาดื้อ ๆ 5 stops ได้ภาพขวาครับ

Sigma fp + Sigma 45/2.8 DG DN Contemporary color : Teal & Orange

พูดถึงเรื่อง Histogram แล้ว กล้อง Sigma fp จะมีกราฟอีกแบบหนึ่งให้อ่านกันด้วยซึ่งมีความสะดวกดีอยู่เหมือนกัน คือกราฟในลักษณะที่เรียกว่า Wave form มันจะเป็นกราฟที่แนวแกน X แทนความยาวของภาพแนวนอน และแกน Y แสดงถึงค่าความสว่าง ดังนั้นเราจึงสามารถตรวจสอบได้อย่างรวดเร็วว่าตรงไหนของภาพสว่างหรือมืดเกินไปหรือไม่ ซึ่งผมมักใช้กราฟแบบ Wave form มากกว่า เราจะเห็นได้ทันทีเลยว่าจุดเด่นของเราสภาพแสงเป็นอย่างไร ถ้าใครถ่ายขาวดำมามาก มีความรู้เรื่อง Value ของสี ตอนเล็งดู Waveform เทียบกับสีจริงของแบบจบเลยครับ บรรลุ อันนี้แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคนด้วยครับ

ความคม เรื่องนี้ตอบกันยากเพราะเกี่ยวกับเลนส์ด้วยส่วนหนึ่งนะครับ ผมลอง ๆ ดู หลาย ๆ เลนส์ รีดรายละเอียดของภาพออกมาได้เยอะนะครับ สนุกดีเหมือนกัน (สำหรับเลนส์ที่มากับกล้อง Sigma 45mm f2.8 DG DN Contemporary นั้นเปิดกว้างแล้วฟุ้งนะครับ เขาว่าเป็นคาแรกเตอร์ก็ว่ากันไป ต้อง f4 ถึงกลับมาคม)

ภาพบนใช้ Sigma 45 f2.8 เปิดที่ f2.8 เลยครับ คมพอใช้แต่ยังฟุ้ง ๆ หน่อยนะครับ

ภาพล่างใช้ Voigtlander Nokton 50 f1.2 เปิดกว้างที่ f1.2 ถ้าโฟกัสเข้าเป้า เงาสะท้อนราวตากผ้า ราวระเบียง ในดวงตายังมาให้เห็นครับ

จริง ๆ แล้วกล้อง Sigma fp มีลูกเล่นจุกจิกมาให้ปรับอยู่เหมือนกัน เช่นพวก HDR หรือ Fill light ซึ่งใช้จริงก็ไม่ได้ผลดีนัก และยังทำให้กล้องเสียเวลาคำนวณไปมาก ถ่ายต่อเนื่องไม่ได้ด้วยครับ แนะนำว่าถ้าจะเอาคุณภาพจริงปิดไปเลยครับลูกเล่นพวกนี้

Fill light -5, 0, 5 เอาภาพที่สุดโต่งมาให้ดูว่ามันทำงานยังไงครับ ถ้าจะใช้ควรปรับแต่น้อย ๆ ไม่เกิน 1 ไม่งั้นภาพมันปลอม ๆ ชอบกล

ความแปลกอีกประการหนึ่งของกล้องรุ่นนี้คือมันถ่ายภาพเห็นอินฟราเรดด้วยครับ แต่สียังไม่ได้เพี้ยนถึงขนาดสมัยที่ใช้ Leica M8 ผมพบโดยบังเอิญตอนถ่ายเล่นในบ้านกลางคืนแล้วเปิด iRobot ทำความสะอาดไปด้วย ถ่ายออกมาเลยได้เห็นอินฟราเรดที่ iRobot มันปล่อยออกมา ในขณะที่กล้องตัวอื่น ไม่เห็นครับ

เห็นอินฟราเรดจาก iRobot ด้วย

ผมไม่รู้ว่าเกี่ยวกับเรื่องอินฟราเรดก่อนหน้านี้ไหม แต่ภาพขาวดำที่ได้จาก Sigma fp + Leica Summaron 3.5/35 ไฟล์ jpg หลังกล้องนี่ถือว่าจบเลย เทพแล้ว เป็นที่พอใจมาก (ของผมคนเดียว) ทำอะไรกับมันต่อไม่ถูกแล้วครับ ถ้าวัดแสงมาได้เป๊ะ ถือว่าดีทีเดียวครับ คอนทราสดีแต่ยังเก็บรายละเอียดส่วนมืดได้ครบ ความคมดี กระด้าง ๆ แบบลักษณะของ Summaron 35 f3.5 ย่างที่เคยรีวิวกันไปครับ

Sigma fp + Leica Summaron 35 f3.5 ไฟล์ .jpg ตั้งเค่า Standard ทั้งหมดจบหลังกล้อง

ทีนี้ลองเปรียบเทียบดูระหว่างภาพขาวดำ jpg จากเลนส์ Leica Summaron 35 f3.5 (ซ้าย) กับ Sigma 45 f2.8 DG DN Contemporary (ขวา) โทนยังเทียบชั้นกันไม่ได้ครับ

ส่วนการวัดแสงนั้นถ้าได้ลองเล่นจริงแล้วจะพบว่าถ้าตั้งค่าจอ LCD เป็นออโต้ ภาพบนจอจะออกมาค่อนข้างมืดจนเรานึกว่าภาพอันเดอร์ไปมาก ๆ ได้ครับ พอปรับให้สว่างภาพจริงเลยโอเวอร์ไปหมด ต้องเช็คที่ Histogram หรือ Waveform จะชัวร์สุด เอามาลงคอมพิวเตอร์มันจะโอเค หรือไม่ก็ควรปรับค่าความสว่างของจอหลังกล้องให้อยู่ระดับสูงสุดไปเลย จึงจะใกล้เคียงกับภาพจริงครับ

เปรียบเทียบภาพซ้าย jpg หลังกล้องกับภาพขวา RAW ผ่าน LR ครับ

อีกประการหนึ่งที่เป็นเสมือนคอขวดอั้นความสามารถของเจ้า Sigma fp เอาไว้ คือ กล้องรุ่นนี้มันยังไม่มี Profile สำหรับไฟล์ RAW ครับ นี่ทำให้ไฟล์ RAW ที่เป็น DNG ของมันยังค่อนข้างเน่า ๆ ส่วนมืดจมหายหมด และมีข้อจำกัดอยู่มาก เข้าใจว่ากลาง ๆ ปีนี้น่าจะมีลุ้นพร้อมกับ Firmware ใหม่ที่จะออกมาครับ ใครอยากแหวกแนวก็มาเล่นแล้วลุ้นกัน ถ้าไม่อยากเสี่ยงก็ข้ามไปจัดกล้องค่ายใหญ่ที่เหลือได้เลยครับ รีวิวนี้ผมเน้นเรื่องลักษณะของภาพ คาแรกเตอร์ของกล้องล้วน ๆ เลยนะครับ เรื่อนสมบัติอื่น ๆ มีให้ดูกันเยอะแล้ว ไม่พูดถึงนะครับ สุดท้ายก็ฝากภาพจากกล้องตัวนี้กับเลนส์ต่าง ๆ เอาไว้ให้ดู ก่อนจะจับมันมาเปรียบเทียบกันในคราวหน้าครับ... สวัสดี

***Update เพิ่มเติมครับ ภายหลัง Lightroom มีอัพเดทมาแล้วพบว่า ไฟล์ RAW จาก Sigma fp สามารถใช้โปรไฟล์ของ Adobe ได้แล้วครับ งานนี้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับคาแรกเตอร์ภาพมากมาย ผมจะขอยกไปกล่าวเป็นอีกโพสหนึ่งนะครับ ลองติดตามกันดู ใครรักใครชอบกล้องรุ่นนี้จะได้ตัดสินใจกันได้ง่ายขึ้นอีกนิดครับ

หลังจากเล่นมาสักพักหนึ่ง ลงตัวแล้วครับ จากการที่มี profile สีใน Adobe LR แล้ว เรื่องคุณภาพของภาพผมไม่มีข้อข้องใจแล้วครับ สีดี ไดนามิกเรนจ์ดี สามารถดึงส่วนสว่างได้มาก ดึงส่วนมืดก็ยังได้มากและดีเหมือนเดิมอยู่ ไฟล์ RAW ยืดหยุ่นขึ้นมาก ๆ ปรับแต่งง่ายแล้ว สบายแล้วครับ แต่เรื่องข้อเสียของตัวกล้องอื่น ๆ ก็ยังคงเดิมแหละครับ แต่ผมพอใจกับมันมากขึ้นเยอะ

bottom of page