top of page

Voigtlander Nokton 50mm f1.2 VM

Updated: Aug 24, 2023

"ใครว่า Voigt เป็นไลก้าคนยาก"

ยังไม่ได้ย้ายค่ายออกจากจุดแดงไปซบอกค่ายอื่นแต่อย่างใดนะครับ แค่จังหวะมันเอื้ออำนวยมีของมาให้เล่นไปตามประสา ก็มาเขียนเล่าสู่กันฟังไว้ครับ คราวนี้ไปได้ Voigtlander Nokton 50mm f1.2 VM มาลองเล่นครับ และช่วงนี้มันก็กลายเป็นเลนส์ติดกล้องผมแทน 35 Summilux FLE ไปเรียบร้อย

ปกติผมเป็นคนถ่ายแต่ระยะ 35mm เป็นหลักนะครับ เลนส์ 50mm ก็มีบ้าง แต่ไม่เคยใช้ติดกล้องยาว ๆ เพราะเฟรมภาพมันถ่ายได้ไม่ค่อยหลากหลาย สำหรับผมควง 35 ไประยะเดียวก็เที่ยวได้รอบโลก แต่วันนี้ก็ขอรีวิวเลนส์ 50mm ไปตามประสาคนถนัดระยะ 35 ก็แล้วกันนะครับ หลายปีก่อนหน้านี้ผมมีโอกาสได้ลองใช้ Voigtlander Nokton 50mm f1.1 VM กับกล้องไลก้าอยู่เป็นเวลาสั้น ๆ แล้วก็รู้สึกไม่ถูกจริตกับมันมาก ๆ ตอนนั้นไม่ได้ทดสอบเปรียบเทียบอะไรเก็บไว้มากมาย แต่รู้สึกว่าภาพที่ได้มามันออกโทนทึม ๆ ภาพไม่ใส ก็ยังแอบนึกดูถูกดูแคลนมันอยู่ในใจว่าทำทั้งทีไม่รู้จักทำให้ดี ๆ หน่อย เป็นเลนส์ที่ถ่ายแล้วเบื่อง่าย คาแรกเตอร์ภาพมันไม่มีความน่าสนใจ ตัว f1.1 นี่โครงสร้างเลนส์ค่อนข้างเรียบง่าย ด้วยเลนส์ 7 ชิ้น 6 กลุ่ม ไม่ต้องมีชิ้นเลนส์พิเศษใด ๆ ลุยมันไปดื้อ ๆ ปัจจุบันก็ยังมีขายอยู่นะครับ ราคาไม่แรงมากแต่ถ้าไม่อยากเสียเงินหลายต่อผมแนะนำให้ข้ามมันไปเลยครับ

4 ภาพนี้เป็นภาพที่มาจาก Voigtlander Nokton 50mm f1.1 VM ที่กล่าวไปข้างต้น จะสังเกตเห็นโทนของภาพที่จืดและค่อนข้างหม่น รายละเอียดดีเทล และไมโครคอนทราสทำได้ไม่ดี ใช้แล้วไม่ติดมือ ภาพไม่ค่อยมีชีวิตชีวาครับ

Leica M edition 60 + Voigtlander Nokton 50mm f1.1 VM (ซ้าย) และ Leica M edition 60 + Voigtlander Nokton 50mm f1.2 VM (ขวา)

ส่วนเจ้าตัว f1.2 นี้ Voigtlander เพิ่งออกวางจำหน่ายเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา เปิดตัวมาด้วยเลนส์ 8 ชิ้น 6 กลุ่ม มี Aspherical 4 surfaces (4 ด้าน 2 ชิ้น) ถ้าจะเขียนชื่อเล่นเกทับไลก้าคงจะได้ว่า Nokton 50 f1.2 AAAA และมีเลนส์ Abnormal Partial Dispersion ซึ่งเป็นเลนส์ประเภทเดียวกับ ED (Extra low dispersion) นี่เห็น ๆ กันอยู่นี่แหละครับ ใช้เพื่อจัดการกับความคลาดสี อีกชิ้นหนึ่ง (ในเว็บ voigtlaender.de เขียนว่า "Disperion" เข้าใจว่าคงเขียนผิด แถมด้วยเขียนสเป็คว่าเลนส์ 6 ชิ้น 8 กลุ่ม ผมอ่านแล้วงงเลย จำนวนกลุ่มมากว่าชิ้นเลนส์ แล้วก็ปล่อยให้ผิดอยู่ได้เป็นปี ๆ) รูปร่างหน้าตาเลนส์ตัวนี้ค่อนข้างกระทัดรัดครับ หน้าเลนส์ 52mm เทียบกับของเก่า f1.1 ที่ 58mm รูปลักษณ์ภายนอกตัวนี้ทำได้ดีครับ แต่เหมือนจะได้แรงบันดาลใจจาก Leica Noctilux 50 f1.2 มามากไปหน่อยครับ คล้ายกันมาก ทั้งการเซาะร่องแหวนโฟกัส ลักษณะของแหวนปรับรูรับแสงที่มี slope นิดนึง รวมไปถึง Lens hood ก็ยังเหมือนทั้งขนาดและ slope เมื่อเอารูปมาเทียบกันแล้วบอกว่าไม่ก๊อปก็แทบไม่เชื่อครับ

Leica M edition 60 + Voigtlander Nokton 50mm f1.2 VM เปิดที่ 1.2

หลายคนมักจะเรียกเลนส์ Voigtlander ว่าเป็นไลก้าคนยาก หรือ Poorman Leica เพราะเป็นเลนส์ M mount ที่ราคาไม่แพง ผู้ใช้งานที่มีงบประมาณจำกัดก็มักจะมาจบที่ยี่ห้อนี้ ก่อนเป็นบันไดก้าวขึ้นไปเมื่อมีโอกาส สมัยก่อน Voigtlander จะวางเลนส์ไว้ในราคาประหยัด ราวหมื่นต้น ๆ หาเล่น f1.4 ได้ แต่พักหลังรุ่นใหม่ ๆ วางตำแหน่งไว้แพงมากขึ้น ๆ ราคาขึ้นมาเบียด Zeiss แล้ว ผมจึงคิดว่าไม่น่าจะใช่ Poorman Leica อีกต่อไป เพราะถ้าคนอยากเล่นไลก้าจริง ๆ ราคานี้หามือสองได้สบายหลายรุ่นครับ ผมเชื่อมั่นมาตั้งแต่สมัยก่อนว่า Voigtlander ก็มีสูตรเลนส์ของเค้า มีคาแรกเตอร์ภาพที่ออกแนวติดดาร์กนิด ๆ ของเค้าชัดเจน และถึงแม้ว่าบริษัทจะถูกซื้อไปโดย Cosina แต่ก็เป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงเก่าแก่มานาน ไม่ใช่ยี่ห้อใหม่ที่เปิดตัวมาตั้งใจก๊อปของในตำนานเท่านั้น แต่เมื่อได้เห็นภาพที่ถ่ายจาก Voigtlander 50 f1.2 ตัวนี้แล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะนึกในใจว่า "เออ ลักษณะภาพมันเหมือนไลก้าจริง ๆ ว่ะครับ" ต่างจาก Voigtlander รุ่นเก่า ๆ ที่เคยได้ลอง อารมณ์มันไม่ได้เหมือน Noctilux นะครับ เพราะที่ f1.2 มันคมและคอนทราสดีทีเดียว มีขอบมืดหน่อย ๆ อารมณ์จะออกไปคล้าย ๆ พวก Summilux เสียมากกว่า ใครมี Leica Summilux 50 ลองหาเล่นทดสอบกันดูนะครับ ผมไม่ค่อยเชี่ยวชาญทาง 50mm

เลนส์ Voigtlander Nokton 50 f1.2 VM ตัวนี้ งานประกอบไม่ต้องห่วงครับ เรียบร้อยดี แน่น โฟกัสนุ่มนวลไม่สะดุด รุ่นนี้มาพร้อมกับ Lens Hood LH-10 ขนาดใหญ่ทีเดียว (บอกแล้วว่าเหมือน Noctilux 50 f1.2 อย่างกับก๊อปมา ฮ่ะ ๆ) หรือจะใส่ LH-8 ที่ตรงรุ่น 40 f1.2 ซึ่งมีขนาดสั้นลงหน่อยก็ได้ครับ ในกรณีที่ไม่ซีเรียสเรื่องแฟลร์ แต่ต้องการฮูดเพื่อการปกป้องเลนส์เท่านั้น

เรื่องคุณภาพของภาพ ถ้ายังไม่พูดถึงเอกลักษณ์ของภาพที่คอมือหมุนแสวงหากัน ก็ต้องชมครับว่าเป็นเลนส์ที่ให้คุณภาพดีมาก ๆ ตัวหนึ่ง ความคมมีมาเลยตั้งแต่ f1.2 ครับ ถึงแม้ว่าจะมีขอบมืดอยู่พอสมควร (น้อยกว่า Noctilux 50 f1 V.2 ที่เคยลองมาก) แต่ถ้าจับแนวได้ก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ดีครับ เรื่องขอบม่วง Chromatic aberration มีมาแน่นอนครับสำหรับเลนส์ ASPH. เรื่องนี้ต้องทำใจครับ มีเลนส์สมัยใหม่น้อยมาก ๆ ที่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้ดีครับ ส่วนมากพึ่งพา Software กันหมดครับ ถ้าถ่าย jpg บางกล้องอาจมองไม่เห็น ทำให้คิดไปว่าเป็นความดีที่มาจากเลนส์ครับ แต่จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องของ Software ที่ประมวลผลมาแทบทั้งนั้นครับ แม้แต่ RAW ไฟล์เอง กล้องบางยี่ห้อยังใช้ Software เข้าไปยุ่งด้วยในบางส่วนก่อนจะออกมาเป็น RAW ให้พวกเราใช้กันครับ ปัจจุบันการจัดการ Profile ของเลนส์และกล้องในโปรแกรมแต่งภาพต่าง ๆ จึงมีความสำคัญมาก หลายคนที่สนใจเฉพาะตัว Final product จะรับได้ครับ เพราะถือว่าเป็นเรื่องของเทคโนโลยี และรูปแบบที่ต้องปรับตัวตามไป แต่หลายคนที่ทำใจไม่ค่อยจะได้ จึงถวิลหาเลนส์ที่ออกแบบได้ดีจบได้ตั้งแต่เลนส์เลย จะวัดกันจริง ๆ ก็ไปยิงกับฟิล์มกันครับ แน่นอน ซัดกันนัว คาแรกเตอร์บาน จนต้องเก็บเลนส์ช่วงระยะเดียวกันหลายต่อหลายตัว มันเป็นเรื่องของสุนทรียภาพครับ เหนือกว่าความถูกผิด และมีความเป็นปัจเจกสูง

สองภาพนี้ Leica M edition 60 + Voigtlander Nokton 50mm f1.2 VM ภาพบนเปิดที่ 1.2 จะเห็น CA เข้ากวนใจบริเวณที่ที่มีความเปรียบต่างแสงสูง แต่พอหรี่ลงมาที่ f2 ภาพล่าง จะพบว่า CA หายไปมากอย่างมีนัยยะสำคัญ

เรื่องโบเก้ Voigt 50 f1.2 ตัวนี้ส่วนตัวผมว่าทำได้ดีเลยนะครับ วัดกันด้วยสายตานี่แหละ หลายคนมักให้ความสำคัญกับจำนวนเบลด (Blade ตัว L = ล. ลิงครับ) ของ Diaphragm ครับ แต่จะเรียนว่าถ้าที่ f กว้างสุดยังไงก็กลมครับ เลนส์ไหน ๆ ก็เหมือนกัน ถ้าจะถ่ายเปิดกว้างไม่ต้องสนใจจำนวนเบลดเลยครับ แต่ส่วนใหญ่จำนวนเบลดจะมีผลทันทีเมื่อเริ่มหรี่ f stop ลงมาครับ ไลก้าหลายตัวได้โบเก้เป็นดาวแฉกเมื่อหรี่ลงมา 0.5 - 1 stop เลนส์บางตัวที่ Diaphragm น้อย ๆ ก็จะเห็นเป็น Ploygon ตามจำนวนใบเบลดครับ สมัยก่อนมีเลนส์น่าสนใจตัวหนึ่งคือ Carenar 50mm f2.8 มีเบลดแค่ 2 ใบ โบเก้จะออกมาเป็นสี่เหลี่ยม คาแรกเตอร์ Unique มากครับ เรื่องเบลดนี่จะมีอีกเรื่องที่ล้ำลึกอยู่นิดหน่อยเกินกว่าความรู้ระดับหางอึ่งผมจะอธิบายได้ เรื่องการหรี่ f stop ถ่ายภาพไฟให้มีแฉกครับ เลนส์ที่มีจำนวนเบลดเป็นเลขคู่ จะได้จำนวนแฉกตามจำนวนเบลดครับ ส่วนเลนส์ที่มีจำนวนเบลดเป็นเลขคี่ จะได้จำนวนแฉกเป็นสองเท่าของจำนวนเบลดครับ

Leica M edition 60 + Voigtlander Nokton 50mm f1.2 VM เปิดที่ 1.2

เอ้า ว่ากันยังไม่ถึงคุณภาพของโบเก้เสียที มาครับ มาดูรูปทรงของโบเก้กันก่อน เลนส์ตัวนี้ถ้าถ่ายเปิดกว้างโบเก้กลมแน่นอน แต่ขอบภาพจะเบี้ยวเป็นรูปลูกรักบี้อยู่บ้างนะครับ อันนี้สัมพันธ์กับขนาดของเลนส์ชิ้นหน้าครับ ขอบ ๆ ภาพ แสงเข้าเฉียง ถ้าหน้าเลนส์ไม่กว้างพอมันจะถูกขอบกระบอกเลนส์บังแสงไปบางส่วนครับ เพราะฉะนั้นเลนส์ตัวนี้ไม่ได้คุณภาพแบบ No compromise นะครับ มัน Compromise กับขนาดของเลนส์ไปเรียบร้อยแล้วครับ ส่วนจุดที่ต้องขอชม Voigtlander ตัวนี้มาก ๆ ก็มีครับ คือเรื่องการเกลี่ยแสงในวงโบเก้ ทำได้ค่อนข้างดีเลยนะครับ นวล กระจายแสงดี ผิดกับสมัยก่อนที่จะเลือกใช้เลนส์ที่มี Aspherical surface ต้องระวัง เลนส์บางตัวที่ทำไม่ดี โบเก้มันจะเป็นลายก้นหอยเป็นที่น่ารำคาญมากครับ (ขอความกรุณาว่าในอนาคตอย่าไปเห็นมันเป็นคาแรกเตอร์ที่น่าหลงใหลกันนะครับ ฮ่ะ ๆ)

Leica M edition 60 + Voigtlander Nokton 50mm f1.2 VM เปิดที่ 1.2 สังเกตความเนียนของแสง และความบิดเบี้ยวเป็นรูปรักบี้ตามขอบภาพครับ

Leica M edition 60 + Voigtlander Nokton 50mm f1.1 VM เปิดที่ 1.1 ให้สังเกตความไม่สม่ำเสมอของแสงในวง ขอบของโบเก้

และรูปทรงสามเหลี่ยมดูพุ่ง ๆ ของโบเก้บริเวณขอบภาพครับ

คุณภาพของภาพดีครับ ความคมเพิ่มขึ้นตามการหรี่รูรับแสงซึ่งเป็นไปตามปกติของเลนส์ เพียงแต่ตัวนี้ที่ f กว้างสุดขนาด f1.2 มันยังให้ภาพที่คมน่าพอใจ อันนี้ก็ขอชมเป็นพิเศษอีกรอบครับ

Leica M edition 60 + Voigtlander Nokton 50mm f1.2 VM ลองดูความคมเมื่อเปิดที่ 1.2 กลางภาพครับ

Leica M edition 60 + Voigtlander Nokton 50mm f1.2 VM เปิดที่ 5.6 ขยายมาลองพิจารณากันดูครับ

ผมไม่ได้ขยายส่วนขอบ ๆ ภาพมาให้ดูกันเพราะข้อจำกัดนิดหน่อยที่ผมใช้กล้อง Range finder แพนกล้องไปมาโฟกัสก็หลุดละครับ และไม่มีโอกาสได้ใช้ขาตั้งกล้อง เซ็ตฉากอะไรจริงจัง ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

เลนส์ตัวนี้ไมโครคอนทราสดี ความป๊อบมีให้เห็นเหมือนกันครับ ถ้าใครเคยเล่น Voigtlander สมัยสักสิบกว่าปีก่อนแล้วกลับมาลองรุ่นใหม่ ๆ ตอนนี้จะตกใจครับ ผมว่าไม่ต้องโม้มาก ชมคาแรกเตอร์จากภาพกันเองก็แล้วกันครับ

Leica M edition 60 + Voigtlander Nokton 50mm f1.2 VM

เรื่องขอบมืดหรือวินเยท (Vignette) มีแน่ครับสำหรับเลนส์เปิดกว้างขนาดนี้ ไม่น้อยด้วยครับ เมื่อหรี่รูรับแสงก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น จนหมดจดที่ f4 ครับ ลองดูจากสองภาพด้านล่างนี้ครับ ภาพหนึ่งจากฟิล์มแสดงศักยภาพของเลนส์แท้ ๆ อีกภาพหนึ่งจากดิจิทัล IMHO นะครับ ส่วนตัวผมชอบขอบมืดเวลาถ่ายคน เพราะมันช่วยเน้นตัวแบบให้เด่นดีครับ ถ้าได้ทำไฟล์ RAW เองก็มักจะเพิ่มมันเข้าไปแบบภาพขวานี้ครับ

Leica MP + Kodak proimage100 + Voigtlander Nokton 50mm f1.2 VM เปิดที่ 1.2 (ซ้าย)

Leica M edition 60 + Voigtlander Nokton 50mm f1.2 VM เปิดที่ 1.2 (ขวา)

Leica M edition 60 + Voigtlander Nokton 50mm f1.2 VM เปิดที่ 1.2

ข้อดีของเลนส์ที่สว่างมาก ๆ คือช่วยกล้องไลก้ารุ่นเก่า ๆ ที่ ISO ต่ำต้อยได้ดีมากเลยครับ

เรื่องย้อนแสงใส่ฮูด LH-10 ตัวเบ้อเร่อ ย้อนแสงจัง ๆ ก็มีคอนทราสตกแสงฟุ้งสีเหลื่อมให้เห็นเหมือนกันครับ + ด้วยแฟลร์อีกจุดหนึ่ง เรื่องย้อนแสงเท่าที่ได้เล่นมานี่ ติดใจพวก เลนส์ Nano ของ Nikon มากครับ ดีจริง ๆ

Leica M edition 60 + Voigtlander Nokton 50mm f1.2 VM เปิดที่ 1.2

สรุปได้ว่า Voigtlander Nokton 50mm f1.2 VM คุณภาพดี เป๊ะ งานดีเหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน เป็นตัวแทนของเลนส์อีก Generation ของ Voigtlander ร่วมกับตัว Nokton 40mm f1.2 ได้อย่างสง่าผ่าเผยครับ ต่อไปเราก็รอดูกันว่าเลนส์ที่คลานตามออกมาจะพา Voigtlander ไปอยู่ถึงระดับไหน ทั้งคุณภาพและราคาขายครับ

Leica M edition 60 + Voigtlander Nokton 50mm f1.2 VM เปิดที่ 1.2

เขียนไปเขียนมาเหมือนไม่ใช่รีวิว น่าจะเรียกว่ามาคุยเล่นกันมากกว่า จนมาถึงบทส่งท้ายตรงนี้ ว่า Voigtlander ยังเป็นไลก้าคนยากอยู่หรือไม่? ตอบ: ถึงแม้ว่ารูปทรงจะดูตั้งใจเหลือเกิน และลักษณะภาพก็ดูคล้ายกันอยู่ แต่ตอนที่ผมถือเลนส์ตัวนี้ติดกล้องกลับไม่ได้รู้สึกว่าเราใช้เลนส์ตัวนี้เพราะไม่มีเงินซื้อ Noctilux นะครับ ผมว่ามันเป็นอะไรที่รู้สึก Casual มากกว่าหิ้วเลนส์ไลก้าไปถ่ายรูป ภาพที่ได้รับรองไม่เหมือน Noct แน่นอน แต่จะคล้าย Lux หรือไม่แค่ไหนค่อยว่ากัน ส่วนราคาที่ Voigtlander วางมาสำหรับเลนส์รุ่นใหม่ ๆ มันแพงกว่าไลก้ามือสองสภาพดีหลายตัวแล้วนะครับ ราคาอาจไปได้ 50 Summicron มือสองได้เลยครับ แต่ถ้าใครเล็งเจ้า Voigtlander Nokton 50 f1.2 VM ที่เป็นมือสองแล้วล่ะก็ สามารถจัดมาเล่นได้เลยนะครับ ถือว่าคุ้มทีเดียว อย่างน้อยถ้าเล่นจนเบื่อแล้วจะขายทิ้งก็ไม่เจ็บตัวมากนัก (จะแอบบอกว่าช่วงนี้บางคนถือ Voigtlander ถึงกับมีเฮนะครับ) สวัสดี

Leica M edition 60 + Voigtlander Nokton 50mm f1.2 VM เปิดที่ 1.2

Leica M edition 60 + Voigtlander Nokton 50mm f1.2 VM เปิดที่ 1.2

bottom of page