top of page

Voigtlander Bessa R3M 250Jahre

Updated: Aug 24, 2023

"RF ที่ใช้ง่าย ถ่ายสนุก"

วันนี้มีโอกาสดีได้ไปเยี่ยมเยือนร้านกล้องเปิดใหม่ Kamera Craft อยู่ที่ Yelo house สะพานหัวช้างครับ คนในร้านก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คุณเค คุ้นหน้าคุ้นตากันดีอยู่ เลยได้ Voigtlander Trigger winder และ Voigtlander Bottom Grip A มาใช้สำหรับ Voigtlander Bessa ตัวที่มีอยู่ ซึ่งช่วงนี้เห็นมีคนให้ความสนใจกันมากพอสมควรเพราะกระแสฟิล์มมันกลับมาฮิตมาก ประกอบกับตัวกล้องมันเลิกผลิตไปแล้ว เลยคิดว่าน่าจะเอามาเขียนรีวิวการใช้งาน ข้อดีและข้อจำกัดเก็บไว้เผื่ออ่านแชร์ประสบการณ์กันครับ

Voigtlander Bessa R3M limited 250 Jahre ตัวนี้ได้มาตั้งแต่ปี 2010 ครับ เก่าเก็บมาเรื่อย ถ่ายไปไม่เกิน 20 ม้วน ฮ่ะ ๆ ถ่ายไม่คุ้มค่าตัวเลย สมัยนั้นได้มือหนึ่งมาทั้งเซ็ตในราคาเท่ากับครึ่งหนึ่งของราคามือสองที่ปล่อย ๆ กันในอีเบย์ตอนนี้ (2019) ราคามันกระโดดขึ้นมาเยอะมากตอนที่ Voigtlander มันหยุดการผลิต Bessa นี่แหละครับ แปลกดี ในความรู้สึกผมยังรู้สึกว่ามันน่าจะขายได้ เพราะเห็นมือใหม่เปิดตัวในวงการ Range Finder (RF) ก่อนไป Leica ก็มาแวะที่ Voigtlander กันเกือบทั้งนั้น ตอนนั้นที่ผมซื้อก็ไม่ได้คิดอะไรมากครับ อยากเล่น RF กับเขาบ้าง สมัยนั้นยังใช้ D-SLR แบบชุดใหญ่รับถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกอยู่เลย (ภายหลังมาใช้ RF แล้วรับงานอะไรไม่ได้อีกเลย ฮา) ก็อยากมีกล้องฟิล์มดี ๆ เอาไว้ถ่ายเล่นสักตัวนึงครับ จะซื้อ Leica มันก็รู้สึกว่าแพงเกินไป (ตอนนี้กดมาเสียสุดเลย) มาลงตัวที่ตัวนี้เพราะเดินผ่านแล้วกล้องมันเรียก มันวางอยู่ในกล่องสีขาว กำมะหยี่สีแดง จัดชุดมาพร้อม Voigtlander Heliar 50 f2 Collapsible ที่ทำพิเศษเฉพาะชุดนี้เท่านั้นไม่มีขายแยก แต่คุณภาพมันจ๋อย ๆ สุดท้ายเลยติด Voigtlander Heliar 50 f3.5 Vintage line ลุยตลอด เพราะสี ความใส โทน มิติ คุณภาพ ดีกว่าทุกด้าน เรื่องเลนส์เคยรีวิวคุยกันไว้แล้วหลายครั้ง วันนี้ขอมาพูดเรื่องกล้อง Voigtlander Bessa กันเสียหน่อยครับ

กล้องตระกูล Bessa มีอยู่ 3 รุ่นครับ R2 R3 R4 แตกต่างกันที่อัตราขยายช่องมองภาพที่ส่งผลต่อเฟรมไลน์ของเลนส์ที่จะนำมาใส่ครับ โดย

  • R2 จะมีอัตราขยายที่ 0.7x ได้เฟรมไลน์ 35 50 75 90

  • R3 จะมีอัตราขยายที่ 1x ได้เฟรมไลน์ 40 50 75 90

  • R4 จะมีอัตราขยายที่ 0.52x ได้เฟรมไลน์ 21 25 28 35 50

จะเห็นว่า R4 ชัดเจนออกไปว่าจับกลุ่มเลนส์นอร์มอล - ไวด์ และ R2 ได้เฟรมไลน์ใกล้เคียง Leica M คือครอบคลุมไวด์ถึง 35 และช่วงเทเล ถือว่าใช้ประโยชน์ได้หลากหลายที่สุด ส่วน R3 มันคล้าย R2 มากโดยเริ่มที่ระยะแปลกคือ 40 ที่เหลือเหมือน R2 แต่กลับโดดเด่นด้วยอัตราขยาย 1x นั่นหมายถึงเวลาถ่ายภาพสามารถลืมตาได้สองข้างเลยครับ จะทำให้เราไม่พลาดสิ่งต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นรอบ ๆ ช่องมองภาพที่ถ้าหลับตาข้างนึงเราจะมองไม่เห็น จุดนี้ผมว่าเป็นจุดที่เจ๋งมาก ๆ เมื่อเทียบกับ Leica M ที่มีอัตราขยาย 0.58x 0.68x 0.72x 0.85x และที่ใกล้เคียงสุดคือ 0.91x ที่มีมาใน M3 ครับ เรื่องกรอบภาพ Bessa นี้เฟรมไลน์ที่มีมาให้ทั้งหมด ต้องมาหมุนตั้งเองนะครับ อยู่ด้านบนกล้อง มันไม่มีกระเดื่องเตะเฟรมให้อัตโนมัติเหมือนไลก้าครับ

Bessa ในแต่ละรุ่นจะมีรายละเอียดย่อย ๆ แยกออกไปนิดหน่อยครับ คือ R2A R2M R3A R3M R4A R4M ซึ่ง A หมายถึงการทำงานด้วยระบบไฟฟ้า มีความไวชัตเตอร์อัตโนมัติให้เลือกใช้ แต่สิ่งที่ต้องแลกมาคือ ถ้าไม่มีแบตเตอรี่ก็ถ่ายภาพไม่ได้เลยครับ ส่วนรุ่น M จะใส่แบตเพื่อวัดแสงเท่านั้น ชัตเตอร์ต่าง ๆ เป็นกลไกล้วน หากแบตหมดก็แค่วัดแสงไม่ทำงาน กล้องยังสามารถถ่ายได้สบาย ๆ ถ้าผู้ใช้กะแสงเป็น นอกจากนี้ยังมีรุ่นอื่น ๆ ก่อนหน้าอีก เช่น R2s สำหรับ Nikon RF mount, R2c สำหรับ Contax RF mount, R เฉยๆ สำหรับ Leica screw mount และ R2 เฉย ๆ สำหรับ Leica M mount รุ่นก่อนหน้า series ที่กล่าวไปข้างต้น

ตัวที่ผมถือครองอยู่นี้เป็น Bessa R3M รุ่น Limited 250 Jahre (อ่านว่า ยา - เร่อ ตัว J ออกเสียงเป็น Y นะครับ ซึ่ง Jahre เป็นภาษาเยอรมันแปลว่า Year นั่นเอง) Voigtlander ทำรุ่นนี้ออกมาในโอกาสครบรอบ 250 ปีของการก่อตั้งยี่ห้อนี้ครับ 1756 - 2006 นางก็หาช่องทางหากินแหละครับ เพราะจริง ๆ Voigtlander ก็โดนซื้อไปโดย Cosina เรียบร้อยไปตั้งนานละ มันจะเอาอะไรมาเก่าแก่ แล้ว Limited รุ่นนี้ก็ไม่ได้มีอะไรมากมายครับ สังเกตง่าย ๆ ด้านหน้าจากการสกรีนว่า R3M ก็จะเปลี่ยนเป็น BESSA-R3M และด้านบนมีสกรีน 1756 - 2006 และ 250 Jahre เท่านั้นเองครับ ที่เหลือเหมือนรุ่นปกติทุกประการ (ถ้าใครเป็นแฟนยี่ห้อนี้คงทราบว่าพวกเลนส์ limited ที่เป็นนิกเกิลน่าเก็บมากกว่าเป็นไหน ๆ)

งานประกอบ บอดี้กล้อง Bessa ถือว่าทำได้ดีกว่ากล้องฟิล์มในยุคหลัง ๆ ที่เป็นพลาสติกเสียส่วนมาก R3M ใช้ บอดี้เป็น Magnisium alloy ซึ่งให้ความรู้สึกที่ดีมาก ยกเว้นแต่ฝาหลังที่ยังเป็นพลาสติก ปิดไปแล้วก็ยังมีการขยับตัวกรอบ ๆ แกรบ ๆ อยู่นิดหน่อย ประเด็นนี้ไม่ต้องเทียบกับไลก้า ความรู้สึกคนละเรื่องครับ การทำสีเขาแจ้งว่าเป็น Black paint ฮั่นแน่ะ แต่ก็คงจริงแหละครับ ลอกง่ายเชียว 555 ลอกแล้วเห็นสีเงิน ๆ ไม่ทอง ไม่เซ็กซี่

ชัตเตอร์เป็นโลหะ เสียงดังฟังชัด คนเล่นไลก้ามาจะไม่ชอบแน่นอน เพราะกล้องค่อนข้างโฉ่งฉ่างไม่นุ่มเนียน เสียงไม่สุภาพเหมือนค่ายจุดแดง

มันมีช่องใสให้เห็นว่าตอนนี้ใส่ฟิล์มอะไรอยู่หรือไม่บนฝาหลัง ส่วนตัวผมไม่ชอบตรงนี้นักเพราะกลัวแสงรั่ว ซึ่งก็กลัวไปเองแหละครับ ตราบใดที่ซีลมันยังดีอยู่ ที่ผ่านมา 10 ปี มันก็ไม่เคยมีปัญหาอะไรเลย

Voigtlander Bessa R3M + Voigtlander Nokton 1.2/50 Aspherical + Kodak Proimage 100

แล้วมันมีอะไรดี

ประการแรก Voigtlander Bessa R3M นี่ผมว่าช่องมองภาพสบายตากว่า Leica ครับ การหาพิสัยสามารถเล็งได้ง่าย ภาพซ้อนชัดเจน ผมว่าบางทีเวลาย้อนแสงยังชัดและดูง่ายกว่า Leica M6 ด้วยซ้ำ แต่บางคนในเว็บต่างประเทศให้ความเห็นไว้ว่าช่องหาพิสัยของ Voigtlander มันอยู่ใกล้กับช่องมองภาพมาก อาจจะมีส่วนในความแม่นยำของการโฟกัส แต่เท่าที่ผมใช้มา “ไม่เคยมีภาพที่โฟกัสหลุดไปจากความตั้งใจเลยครับ” ตรงนี้ผมจึงคิดว่ามันไม่ใช่ประเด็นเท่าไร

ประการที่สองคือสเกลวัดแสง ผมชอบกว่า Leica M มาก เพราะแสดงสเกลแบบกล้องสมัยใหม่คือแสดงตัวเลขตั้งแต่ -2 -1 0 +1 +2 อ่านค่าง่าย คำนวณง่าย กะง่าย ต่างจาก Leica M ที่แสดงเพียงแค่จุดสามเหลี่ยมกับวงกลม

จุดที่ต่างกันกับ Leica M ผมว่าก็มีประมาณนี้นะครับ ที่เหลือถ้าเอาเลนส์เดียวกัน ฟิล์มเดียวกันมาใส่ มันก็ได้ภาพมาแบบเดียวกันแหละครับ ถ่ายฟิล์ม บอดี้มันไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับคุณภาพของภาพสักเท่าไร ถ้าไม่ได้เอาไปลุยสงครามที่ไหน มันเป็นคุณค่าทางใจเสียส่วนมาก

ที่นี้ความสนุกสนานก็อยู่ที่ Voigtlander trigger winder เหมือนกันครับ เจ้าตัวนี้ผมบอกเลย คนไม่มีเงินไม่มีสิทธิ์ใช้นะครับ เพราะมันต้องใช้เหรียญบาทไขเข้าไปกับตัวกล้อง ฮ่ะ ๆ ส่วนการใช้งาน การพับเก็บ เหมือน LeicaVit ทุกประการ เล่น Leica มาไม่เคยได้เจอกับ Vit เสียทีเพราะราคาแพงมาก ส่วนเจ้า Voigtlander trigger winder นี่มี Grip A ตุ่มประหลาดมาด้วย เอาไว้พักมือเวลาลั่นไก (ขึ้นฟิล์ม) นั่นเองครับ เออ ใช้มันส์ และรู้สึกว่าหน้าตามันดูโบราณดี ใส่แล้วกล้องก็ตั้งไม่ได้ต้องถอดตุ่ม Grip A เสียก่อน แต่ถ่ายแล้วสับมันส์ดีทีเดียว

Voigtlander Bessa R3M + Voigtlander Heliar 2/50 Collapsible + Ilford Delta 400

Voigtlander Bessa R3M + Voigtlander Heliar 2/50 Collapsible + Ilford Delta 400

Voigtlander Bessa R3M + Voigtlander Heliar 2/50 Collapsible + Ilford Delta 400

Voigtlander Bessa R3M + Voigtlander Nokton 1.2/50 Aspherical + Kodak Proimage 100

Voigtlander Bessa R3M + Voigtlander Heliar 3.5/50 Vintage line V.4 + Kodak Proimage 100

bottom of page