top of page

MS Optics Vario Prasma 50mm f1.5

Updated: Aug 24, 2023

"ลุ๊งงงงง"

วันนี้จะมาว่ากันเรื่อง Leica M10-P ASC100 limited edition กันครับ...

ถถถ นี่มันเลนส์ลุ๊งงง

ผมได้ยินชื่อลุง Miyasaki มาหลายปีละครับ บางส่วนจากเว็บไซต์ Japancamerahunter ว่าไว้ว่าหลังจากลุงแกเกษียณอายุงานมาจากการทำกล้องส่องทางไกลให้บริษัทของเล่น แกก็มาลงมือทำงานเกี่ยวกับ Optics โดยเริ่มจากตัวแปลงเม้าท์เลนส์ต่าง ๆ มาเป็น Leica M mount และมาออกเลนส์ตัวแรกของแกเองในปี ค.ศ. 2006 เป็นรุ่น MS Optical 50mm f1.3 ครับ ใครจะหาสะสมจะได้พุ่งเป้าไป แต่ก่อนแกใช้ชื่อ MS Optical ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อ MS Optics ครับ เลนส์ลุงมันเจ๋งยังไงผมก็ไม่เคยสัมผัสสักที เคยเห็นแต่ภาพจากท่านอื่น ๆ ในเว็บไซต์และ Facebook ครับ เคยอยากเล่น MS Optical Apoqualia 35mm f1.4 เพราะช่วงนั้นชอบถ่ายแต่เลนส์ 35mm จับตัวโน้นเทียบตัวนี้เป็นที่สนุกสนานดังเห็นได้จากรีวิวที่ผ่าน ๆ มาครับ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ลงเอยกันสักที เพราะรู้สึกว่าราคาเลนส์ลุงแกมันออกจะทำใจยากสักหน่อย แล้วผมก็ลืม ๆ มันไป

จนมาได้รับเลนส์ MS Optics Vario Prasma 50mm f1.5 จาก KameraCrafts มาทดลองเล่นดูครับ ขอออกตัวก่อนว่าได้ลองแค่นิดเดียวนะครับ บทความนี้เรียกว่าเป็น Hands-on ก็แล้วกันนะครับไม่ใช่การรีวิวนะครับ เพราะไม่ได้เจาะลึก ขุดคุ้ยอย่างที่เคย พอดีไม่มีกล้องที่เหมาะ ๆ ที่จะรีดประสิทธิภาพจากเลนส์ลุงแก รอฤกษ์ดี ๆ น่าจะไปกด SL2 มาไว้สักตัว ฮ่ะ ๆ Vario Prasma ตัวที่ได้ทดลองเป็นสีทองครับ ดูมีความพิเศษทีเดียว พ่วงด้วย Serial number 0 ฟังดูเจ๋งมาก เหมือนตัวโปรโตไทป์อะไรสักอย่าง แต่สุดท้ายมาทราบว่า Serial number 0 ก็มีหลายตัว แล้วยังมีเบอร์ 00 และเบอร์ 000 อีก อ้าวเฮ้ย อะไรกันลุง เป็นมุขตลกของแก หรือแกลืม หรือแกต้องการอะไรจากสังคมผมก็มิอาจทราบได้ ได้ยินครั้งแรกถึงกับตะโกนในใจว่าลุงเอ้ยยยย นี่แค่เรื่อง Serial number นะครับ ฮ่ะ ๆ

เลนส์ลุงเบาหวิว โครงสร้างเลนส์เป็นอลูมิเนียมครับ โฟกัสมีก้านให้เกี่ยวนิ้ว กลไกนุ่มนวลใช้ได้ ก้านปรับรูรับแสงใช้แรก ๆ อาจยากนิดนึง ต่อไปก็ไม่ชินหรอกครับ ฮ่ะ ๆ ๆ การปรับรูรับแสงมีเลขกำกับตั้งแต่ 1.5/2/2.8/4/5.6/8 และ 16 เลยครับ ไม่มีคลิ๊กนะครับจะเอากว้างแค่ไหนก็ได้แล้วแต่ศรัทธา เลนส์ตัวนี้มากับฮูดทรงกระบอกเล็ก ๆ สีเดียวกับตัวเลนส์ด้วยครับ ก็สวยงามเข้ากันดี ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว ลองดูภาพที่มาจากรูรับแสงค่าต่าง ๆ เปรียบเทียบกันดูเลย ไล่ซ้ายไปขวา ลงไปเรื่อย ๆ ครับ 1.5/2/2.8/4/5.6/8 ครับ

ภาพแรก ๆ อาจเห็นชัดเจนว่าโฟกัสไม่ค่อยเข้าเป้า แต่สามารถเห็นคาแรกเตอร์ความฟุ้ง ความเบลอ Fall off ได้ชัดเจนนะครับ สำหรับผมแล้ว ช่วงที่ชอบที่สุดน่าจะเป็นแถว ๆ f2.8 เพราะยังคงมีความฟุ้งอยู่ครับ ถ้าต่อเนื่องไปที่ f4 ผมว่าเริ่มหวังผลด้านคุณภาพได้แล้วครับ ความคมชัดไป Top form ที่ f5.6 และ f8 ครับดังภาพที่เอามาให้ดูเป็นตัวอย่าง ภาพที่ถ่ายที่ f5.6 และ f8 นี่คมมากนะครับ ผมว่าเลนส์ปัจจุบันหลายตัวต้องมีอายครับ มันคมแบบธรรมชาติมาเลย ไม่ใช่คมเพราะการเร่งด้วยซอฟท์แวร์ในกล้องนะครับ คมสวย ๆ เหมือน Voigtlander Vintage line 50mm f3.5 V4 ตัวโปรดของผมนั่นแหละครับ

เจ้า Vario Prasma ตัวนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Kino Prasmat 1.5/50 (Japancamerahunter) ซึ่งจะมีเรื่อง Spherical Aberration (SA) ที่สามารถปรับได้โดยการหมุนเปลี่ยนระยะเลนส์ชิ้นหน้า จะมีตัวเลขตั้งแต่ 2 - 6 (เรื่องนี้ออกตัวเลยครับว่าไม่ใช่นักวิชาการเรื่องกล้อง สมัยมัธยมฟิสิกส์ก็ตกแล้วตกอีก) มันจะเป็นอย่างไรไม่ทราบได้ แต่การเปลี่ยนระยะเลนส์ชิ้นหน้ามันทำให้ระยะโฟกัสมันเปลี่ยนด้วยครับ เวลาใช้กับ Leica M ยิ่งหมุนไปทางเลขน้อยระยะโฟกัสยิ่ง Back ไปเรื่อย ๆ โดยค่าปกติของมันคือเลข 6 ครับ ตอนแรกก่อนจะได้จับเลนส์ยังคิดว่าเป็นการเปลี่ยนคาแรกเตอร์ของภาพเฉย ๆ จนคุณเคแห่ง Kameracrafts เอามาลองให้เห็น ๆ ถึงกระจ่าง ท่านแจ้งว่าเมื่อปรับเลนส์ชิ้นหน้าระยะโฟกัสมันจะเปลี่ยน ถ่ายกับ Leica M ไม่ได้เลย แต่พวก Mirrorless ต่าง ๆ ยังสามารถหมุนหาโฟกัสได้อยู่ ซึ่งเมื่อโฟกัสที่จุดใหม่ได้แล้วคาแรกเตอร์ภาพมันก็จะเปลี่ยนไปนั่นเอง (ในเว็บไซต์ Japancamerahunter เป็นการลองเลนส์ตัวนี้กับ Sony A7R ซึ่งสามารถหมุนหาโฟกัสใหม่ได้เสมอ) ถ้าหากใครคิดจะนำมาใช้กับ Leica M แล้วล่ะก็แหวนวงหน้าทำหน้าที่เหมือนตัวปรับจูนระยะโฟกัสเท่านั้นเองครับ เพราะบิดเล่นตำแหน่งอื่นไม่ได้เลย โฟกัสเพี้ยนหมดครับ แต่พวก Mirrorless ได้เฮ เพราะเหมือนได้เล่นเลนส์คาแรกเตอร์หลากหลายในตัวเดียว

ลักษณะของภาพมีคาแรกเตอร์ภาพฟุ้งภาพฝัน บางคนอาจมองว่ามันเป็นปัญหาทางด้านการออกแบบเลนส์ แต่ขณะเดียวกันยังมีคนอีกไม่น้อยที่มองว่ามันเป็นคาแรกเตอร์ของเลนส์ครับ ไม่งั้นเราจะมีเลนส์ช่วงเดียวกันเก็บไว้หลาย ๆ ตัวทำไม ตัวนี้ลุงบอกแล้วว่าได้มาจาก Kino Prasmat สมัย ค.ศ.1922 โน่น ถ่ายภาพแล้วอิ่มประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมกันไปเลยครับ จริง ๆ ภาพที่ออกมาจากเลนส์ตัวนี้ไม่ได้เลวนะครับ ผมคิดไปถึง Leica Summilux 35mm f1.4 pre-ASPH. หรือตัวคลาสสิกที่ผมชื่นชอบเหลือเกิน แต่เจ้า Vario Prasma ตัวนี้จะออกอาการหนักและคุมได้ยากกว่านิดนึง ถ้าถ่ายคนจัดองค์ประกอบให้จุดเด่นอยู่กลาง ๆ ภาพหน่อย ปรับจูนโฟกัสดี ๆ ก็น่าจะได้ภาพดี ๆ เอาเรื่องเหมือนกัน มันต้องใช้เวลาเรียนรู้จนเป็นเลนส์คู่ใจ ถึงตอนนั้นผมว่ามันสามารถเป็น “เทพ” ได้เหมือนกัน

เลนส์ตัวนี้ติดกล้องในกระเป๋า อยู่ได้ไม่กี่วันผมก็ยอมแพ้ครับ เพราะใส่กระเป๋าแล้วแหวนคุมเลนส์ชิ้นหน้ามันก็คอยจะเคลื่อนไป จะตั้งโฟกัสใหม่ให้เป๊ะแต่ละทีก็ยากมาก ๆ (เพราะดันใช้ M60 ที่ไม่มีจอหลังไง ถ้าเปลี่ยนไปใช้กล้อง M ที่มี Live view นี่สบาย) สุดท้ายก็ยอมแพ้ลุง เอาไปส่งคืนแต่โดยดี แต่ยอมรับครับว่าถ้าผมใช้ M10-P ผมอาจเก็บตัวนี้ไว้เล่น เพราะเป็นเลนส์ตัวหนึ่งที่ให้อารมณ์ที่ชัดเจนดีเหมือนเกันครับ กล้องมีมี EVF หรือ LV นี่สามารถปรับคาแรกเตอร์ของเลนส์ได้หลายแบบเลย เหมือนซื้อเลนส์ตัวเดียวได้มา 5 ตัว แล้วการถ่ายภาพด้วยเลนส์สูตรเก่า ๆ มันได้ภาพที่เห็นปุ๊บก็รู้เลย คาแรกเตอร์ภาพมันต่างจากเลนส์ยุคที่มี Aspherical surface จริง ๆ ครับ วันนี้ปล่อยแย๊บแบบ Hands-on กันเบา ๆ ใครอยากเล่นก็ไปลองครับ สวัสดี

bottom of page