top of page

Zeiss 50mm Planar VS. Sonnar

Updated: Aug 24, 2023


"ซื้อมันไปสองตัวนั่นแหละ"

สวัสดีครับ กลับมาแล้วกับเรื่องกล้องมาคุยกันต่อครับ คราวนี้ผมได้มีโอกาสเอาเลนส์ Zeiss C Sonnar T* 1.5/50 ZM และ Zeiss Planar T* 2/50 ZM มาใช้พร้อม ๆ กัน ผมเชื่อว่าเลนส์สองตัวนี้คงอยู่ในตัวเลือกของเลนส์ 50 มม. M mount คุณภาพดีของใครหลาย ๆ คน ด้วยราคาของ Zeiss ที่วางไว้จะแพงกว่า Voigtlander แต่ก็ยังถูกกว่า Leica โขอยู่ ทำให้บางคนที่คิดจะซื้อเลนส์ราคาประหยัดที่ไม่ใช่ไลก้าจะไปมอง Voigtlander เสียเยอะ คนที่เงินไม่ใช่ปัญหาก็จะพุ่งไปที่ Leica มากกว่า อย่างไรก็ตามชื่อชั้นกับคุณภาพเรื่องความคมและความใสเคลียร์ของภาพ ชื่อ Carl Zeiss ก็ยังเป็นที่เล่าลือและพูดถึงอยู่เสมอ ๆ Zeiss เองมีประวัติความเป็นมายาวนาน และเป็นคู่แข่งที่คู่คี่ดู๋ดี๋กับไลก้ามาตั้งแต่โบราณ แต่มีมรสุมจากพิษสงครามเลยทำให้เซ ๆ ไปบ้าง เอาเป็นว่าเรื่องประวัติหาอ่านได้มันส์ ๆ หลายที่ครับ ผมไม่พูดถึงดีกว่าเพราะเดี๋ยวจะยาว (พักหลังหลายท่านเริ่มบ่นว่าผมเขียนยาวเหลือเกิน ฮ่ะ ๆ) เอ้า เข้าเรื่อง! จริง ๆ แล้วผมเอง สมัยก่อนไม่ได้เป็นแฟน Zeiss สักเท่าไร แต่มาช่วงหลัง ๆ ก็สนใจและมีโอกาสได้เล่นเลนส์ตระกูล ZM มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งบางตัวก็คุณภาพดีเหลือหลาย เช่น Distagon T* 1.4/35 ชนกับเลนส์ไลก้าได้แบบแยกไม่ออก แถมยังคมมากกว่าเสียอีก เลยยิ่งสนใจหนัก คราวนี้เลยไปจัด 50 มม. Planar กัย Sonnar มาเทียบกันให้รู้แล้วรู้รอด เพราะผมว่าเลนส์สองตัวนี้เป็นตัวเริ่มต้นสาย M ที่น่าสนใจ คุณภาพดีทั้งคู่ และคงมีหลายคนคิดไม่ตก ตัดสินใจกันไม่ถูกแน่ ๆ ว่าจะถอยตัวไหนมาประจำการดี วันนี้มาดูกันครับ เอาสเป็คมาวัดกันก่อนนะครับ จะได้พูดคุยกันต่อได้ง่าย ๆ

ภาพจาก http://www.zeiss.com จะเห็นว่าแนวคิดของสูตรเลนส์ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

ผอมสูง (ซ้าย)

Zeiss Planar T* 2/50 ZM (ในบทความนี้จะขอเรียกว่า Planar เฉย ๆ)

f2 - f22

โฟกัสใกล้สุด 0.70 เมตร

โครงสร้างเลนส์ 6 ชิ้น 4 กลุ่ม

ฟิลเตอร์ขนาด 43 มม.

ความยาวเลนส์ 68 มม.

น้ำหนัก 230 กรัม

ดูเหมือนจะไม่มีเรื่องเล่าสำหรับเลนส์ตัวนี้จาก Zeiss มากนัก อาจไม่ได้มีที่หยิบสูตร Classics มาใช้หรือมีคาแรกเตอร์พิเศษอะไรนัก แต่เป็นเลนส์รุ่นใหม่ที่มีคุณภาพดีครับ

ร า ค า 2 9 , 5 0 0

อ้วนเตี้ย (ขวา)

Zeiss C Sonnar T* 1.5/50 ZM (ในบทความนี้จะขอเรียกว่า Sonnar เฉย ๆ)

f1.5 - f16

โฟกัสใกล้สุด 0.90 เมตร

โครงสร้างเลนส์ 6 ชิ้น 4 กลุ่ม

ฟิลเตอร์ขนาด 46 มม.

ความยาวเลนส์ 45 มม.

น้ำหนัก 250 กรัม

T* anti-reflection coating

C for Compact & Classic

Aperture geometry เหมือนรุ่นก่อนที่เคยทำตลาดช่วง 1930s

ร า ค า 3 8 , 5 0 0

ปล.ราคานี้เป็นราคาตั้ง ณ วันที่ผมเขียนนะครับ หาซื้อกันจริงน่าจะได้ถูกกว่านี้กันไม่มากก็น้อยครับ

Planar และ Sonnar เรื่องโครงสร้างหายห่วงนะครับ เป็นโลหะหมด แน่นโฟกัสได้นุ่มนวล f คลิ๊กเฟิร์มดีมาก เอาจริง ๆ เท่าที่เคยลองเล่นมา Zeiss ค่อนข้างทำเลนส์ได้มีมาตรฐานนะครับ ความหนืดความแน่นของแหวนต่าง ๆ เท่าที่เคยลองมันเท่ากันทุกตัว แต่ฝ่ายจุดแดงน่ะ คุณภาพค่อนข้างหลากหลายนะครับ เลนส์มาล็อตเดียวกันแหวนโฟกัสหนืดไม่เท่ากัน หรือแหวน f คลิ๊กหนักคลิ๊กเบาไม่เท่ากันก็เจอมาแล้วนะครับ กลับมาที่ Zeiss สองตัวนี้มีขนาดและน้ำหนักใกล้เคียงกันมากครับ ใครจะไปสายคอมแพ็ค Planar f2 อาจยังไม่ตื่นเต้นนัก แต่ Sonnar f1.5 ตัวนี้ถือว่าเล็กมากจริง ๆ หิ้วไปไหนมาไหนได้สบาย ย้อนกลับมาดูเลนส์สมัยใหม่ OMG! หาเล็ก ๆ เบา ๆ แทบไม่เจอ

Voigtlander Heliar 3.5/50 V4 @f5.6 -------> Zeiss Planar T* 2/50 @f5.6 -------> Zeiss Sonnar T* 1.5/50 @f5.6

แวบแรกที่ได้เห็นภาพจากเลนส์ทั้งสองตัวนี้ บอกได้ว่า Zeiss รักษาคาแรกเตอร์ของภาพได้ค่อนข้างดีครับ ภาพที่ได้จากเลนส์ Zeiss สองตัวนี้มีคอนทราสที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับ Leica หรือ Voigtlander แต่สีสันและโทนของภาพค่อนข้างมีเอกลักษณ์นะครับ เรียกว่าสีสันสุภาพ สวยหวาน ถ้าเทียบกับเลนส์ Voigtlander 3.5/50 ที่ผมมักใช้เป็นตัวเปรียบกับเลนส์ต่าง ๆ ประจำ คราวนี้ก็ขอเอามาลองดูให้เห็นกันสักนิดหน่อย พบว่า Voigtlander ให้สีที่สดกว่า ออกโทนอุ่น และคอนทราสที่หนักกว่า ซึ่งบางสถานการณ์คอนทราสหนัก ๆ ไม่ใช่ว่าจะดีนะครับ เพราะบางทีที่สภาพแสงไม่เป็นใจอย่างภาพด้านบน เลนส์ Zeiss มันจะลดความหนักหนาของเงาบนใบหน้าได้ดีเมื่อเทียบกับเลนส์อื่นที่ให้คอนทราสสูงครับ ส่วน Zeiss สองตัวที่ให้สีสันสุภาพกว่า Voigtlander แล้ว ลึก ๆ รายละเอียดจะเป็นอย่างไร เดี๋ยวจะว่ากันอีกทีครับ

แถวแรก Heliar @f3.5 -------> Planar @f2 -------> Sonnar @f1.5

แถวสอง Heliar @f5.6 -------> Planar @f5.6 -------> Sonnar @f5.6

แถวล่าง Crop จาก f5.6

ภาพจาก f กว้างสุดของแต่ละตัว (เรื่องหลังเบลอหายหายห่วง ตัด Voigtlander ไปได้เลย เริ่มที่ f3.5 ไม่ใช่แนวนี้เลยครับ) และขอให้สังเกตสีส้มในภาพมันค่อนข้างจะล้น ๆ ออกมาทางช่องแสงด้านหลังของตัวแบบมากกว่าเลนส์อื่น ๆ

ส่วน Zeiss ทั้งสองตัว ภาพจะค่อนข้างเด้งออกมาจากฉากหลังชัดเจน ผมว่า Planar คาแรกเตอร์การเบลอหลังมันดูปกติคุ้นตา แต่ Sonnar ที่ f กว้างสุด มันมีคาแรกเตอร์ที่น่าสนใจแตกต่างไปมาก ภาพมีความนวล มีขอบมืด (Vignette) นิด ๆ ถึงแม้ว่าจะเป็นสูตรเลนส์เก่า Classics แต่ Coating T* ถือว่าที่ f1.5 คุณภาพของภาพที่ได้ดีมาก ๆ ไม่มีฟุ้งเลย หากินที่ f1.5 ได้สบาย ๆ

พูดถึงเรื่อง Details (ต้องแยกจากความคมนะครับ) เรื่องความคม ผมดูที่ f5.6 เลย จะได้ไม่ต้องอ้างเรื่องโฟกัสเข้าหรือไม่เข้ากัน Voigtlander ยังคมสุดใน 3 ตัวนะครับ แต่ Details ของภาพ ในที่นี้คือ สิว ผด ขน ฯลฯ Planar ทำได้ดีที่สุด จนดีเกินไป ขุดออกมาหมดทุกอย่าง รองลงมาคือ Voigtlander และ Sonnar ตามเข้ามาเป็นอันดับสุดท้าย เอ้าแล้ว Sonnar มันขายแพงสุดได้อย่างไร? คำตอบคือมันขาย Character ของภาพครับ ที่ f1.5 เป็นอะไรที่พิเศษมาก ๆ ซึ่งผมเคยเล่าไว้ในหลาย ๆ บทความและยังคงยืนยันต่อไปว่าอะไรที่วัดในเชิงปริมาณไม่ได้ โดยเฉพาะความงาม มันมักจะเรียกมูลค่าได้สูง ในที่นี้ Sonnar มีดีเทลน้อยกว่าแต่จะได้เปรียบเรื่องการถ่ายภาพบุคคลมากครับ ลองดูความเนียนของหน้าและสกินโทนที่ต่างออกไปจากภาพบนครับ

ภาพเปรียบเทียบ

ซ้าย Planar f2 f2.8 f4 f5.6 f8 f11 f16 f22 ขวา Sonnar f1.5 f2 f2.8 f4 f5.6 f8 f11 f16 (ไม่มี f22)

ดูภาพเปรียบเทียบนะครับ การเปรียบเทียบเลนส์สองตัวนี้มีประเด็นสำคัญที่ควรพูดถึงอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน

1. ความคม

ความคมเทียบชัด ๆ ที่ f2 และ f8 นะครับ ชัดเจนว่า Planar เข้าวินครับ ถึงแม้ว่าจะเป็น f กว้างสุดก็ยังทำความคมได้อย่างน่าประทับใจจริง ๆ ครับ (ซึ่งเลนส์สมัยใหม่พัฒนาเรื่อง f กว้างสุดกันไปมาก ๆ แล้ว สมัยสิบกว่าปีก่อนจะถ่ายภาพเอาคุณภาพยังต้องหรี่ f กันลงมาบ้าง เดี๋ยวนี้เป๊ะกันหมด ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีครับ) ส่วน Sonnar ไม่ว่า f ไหน ก็แพ้ลุ่ยครับ ไม่ต้องกังวล ถึงจุดนี้ก็ต้องถามกับตัวเองว่าความคมนั้นจะเอาคมระดับไหน ถ้าดูจากจอ พิมพ์ไม่ใหญ่ ไม่ซูมดูก็ไม่มีใครดูออกครับ

ดูชัด ๆ กับความคมครับ อยากให้พิจารณาการเก็บรายละเอียดของ Planar อีกที มันสุดจริง ๆ ครับ

ครอปจากกลางภาพ ซ้าย Planar f2 f8 ขวา Sonnar f1.5 f2 f8

ครอปจากขอบมุมบนซ้ายของภาพ ซ้าย Planar f2 f8 ขวา Sonnar f1.5 f2 f8

2. ทัศนมิติ

Sonnar มาทำคะแนนในส่วนนี้ได้มากจริง ๆ ครับ ภาพที่ถ่ายจาก Sonnar มันมีทัศนมิติที่แน่นกว่า Planar อย่างเห็นได้ชัด ชัดเสียจนบางทีถ่ายมาเทียบกันยังรู้สึกว่ามันเป็นเลนส์ 50 มม.เหมือนกันจริง ๆ เหรอ ผมเองไม่แน่ใจนะครับว่าตัวไหนเพี้ยน แต่เท่าที่คุยกับเพื่อนผู้รู้และใช้ Zeiss มาหลายตัว (Jeff Meechai) ท่านว่าไว้ว่า Sonnar พัฒนามาจากเลนส์เทเล โดยเป็นการทำเลนส์เทเลให้ได้กว้างสุดจนมาแตะ 50 มม. ผลคือมันยังติดเทเลนิด ๆ แต่นั่นส่งผลต่อภาพมากทีเดียวครับ ทัศนมิติที่แน่น การเบลอหลังที่เห็นได้ชัดเจนกว่า จากภาพตัวอย่างด้านล่างถ่ายที่ f2 เท่ากัน Sonnar สามารถให้ภาพที่เบลอหลังได้มากกว่าอย่างชัดเจนเลยครับ (ดูจากภาพ Crop มุม ด้านบนที่ f2 เท่ากันแต่ละลายต่างกันสุด ๆ) ผลคือมันดี ส่วนตัวผมให้ชนะ Planar ในเรื่องความพิเศษตรงนี้ ชนะแบบ ชนะไปเลย เป็นคาแรกเตอร์ ถ้าคนชอบก็รักเลยครับ ถ้าไม่ชอบก็จะไปชอบ Planar เพราะมันเป๊ะ

เปรียบเทียบทัศนมิติดูนะครับ ซ้าย Planar ขวา Sonnar ถ่ายที่ f2 ทั้งคู่

3. สีสัน

เลนส์สองตัวนี้ค่อนข้างเป็นสุภาพชนทั้งคู่ครับ สีสวย สีดี ไม่จัดเหมือน Voigtlander 3.5/50 โดย Sonnar จะให้สีจืดกว่า Planar หน่อย อมส้มน้อยกว่านิดนึงครับ

ลองดูกันที่ขอบภาพบ้าง แน่นอน Sonnar ขอบมืดกว่าที่ f กว้างสุดแน่ แต่เรื่องขอบมืดก็เคยคุยกันไปแล้วครับว่า มันเป็นข้อจำกัดเชิงเทคนิค แต่บางครั้งกลับเป็นข้อดีในการถ่ายภาพที่ทำให้มีความดราม่าได้มากขึ้น เน้นตัวแบบตรงกลางได้ดีขึ้น เป็นต้น Zeiss ทั้งสองตัวนี้ที่ f กว้างขอบ ๆ ภาพมีอาการนัว ๆ บ้างไม่ได้คมเป๊ะทั้งภาพนะครับ ลองดูภาพเปรียบเทียบที่ f กว้างสุดของทั้งสองเลนส์กันดูครับ

เลนส์ Zeiss สองตัวนี้น่าแปลกใจที่มีราคาต่างกันไม่มากนัก Sonnar T* 1.5/50 ZM จะแพงกว่า Planar T* 2/50 ZM อยู่ราว ๆ หมื่นนึง ซึ่งผิดจากโครงสร้างราคาของพวก Leica มากที่เหล่า Summilux (f1.4) จะมีราคาแพงกระโดดไปจาก Summicron (f2) มาก ทำให้ผู้ซื้อเลือกได้ง่ายกว่า ใครจะตัดใจก็ตัดไปเลย เอา Summicron ได้ความเป๊ะ ความคม ส่วนใครกระเป๋าหนักอยากเสพย์คาแรกเตอร์ก็ไปโน่น Summilux "แต่สำหรับ Zeiss Sonnar f1.5 และ Planar f2 มันตั้งราคาใกล้กันมาก จะทำให้คนซื้อรักพี่เสียดายน้อง และตัดสินใจยากมากจริง ๆ ครับ"

ลองพิจารณาภาพจาก f กว้างที่สุดของแต่ละตัวกันครับ ซ้าย Planar ขวา Sonnar (ดูความแน่นและความเบลอหลัง)

เรามาสรุปกัน

Planar

ถูกกว่า ให้คุณภาพของภาพที่สมบูรณ์ คมมาก รายละเอียดดี เป็นเลนส์ที่เป๊ะมาก ๆ ตัวหนึ่ง ซึ่งก็ควรจะเป็นตัวจบได้แล้ว ถ้ามันไม่มี Sonnar ออกมา อันที่จริง Planar เหมือนจะถ่ายภาพได้ดีทุกแนวยกเว้นคน เพราะคมเกินไป ขุดคุ้ยรายละเอียดมากเกินไป ฮ่ะ ๆ ๆ แถมโฟกัสได้ใกล้กว่า (70 ซม. กับ 90 ซม.) ถ่ายสนุกกว่าใช้งานได้หลากหลายกว่าแน่นอนครับ

Sonnar

แพงกว่า แต่ก็ได้ f1.5 มา ภาพมีคาแรกเตอร์พิเศษอันเป็นเอกลักษณ์ที่หลายคนหลงใหล ความคมซูมดูสู้ Planar ไม่ได้แต่ทัศนมิติแน่นกว่า เบลอหลังได้มากกว่า ถ่ายคนดีทีเดียวครับ ถึงจะแพงกว่าแต่ก็ออกมาขายในราคาที่ไม่ต่างกันมาก

เหมือนกับว่า Zeiss จะให้ชาว 50 มม. ได้เลือกทางเดินของตัวเองครับว่าจะไปสายประสิทธิภาพหรือสายอารมณ์ คำเตือนอย่างเดียวสำหรับคนที่หลงรัก Sonnar คือ หาตัวโฟกัสตรงดี ๆ นะครับ ตัวนี้ขึ้นชื่ออยู่เรื่องโฟกัสไม่ค่อยตรง ส่วนเจ้าตัว Planar ไม่เคยมีปัญหาครับ

ใครซื้อตัวไหนไปแล้วก็ไม่ต้องกังวล ผมว่าเลนส์มันคนละคาแรกเตอร์กัน มันทำให้คนเลือกไม่ได้จริง ๆ เพราะถ้ามันเห็นได้ชัดว่าตัวไหนดีกว่าล่ะก็ Zeiss มันคงทำออกมาขายตัวเดียวแหละ อีกตัวคงขายไม่ออกแน่ แหม่... เขียนมาเสียขนาดนี้แล้วชาวเราคงหนีไม่พ้นต้องเก็บทั้งสองตัวสิครับ เลนส์ 35 มม. ยังมีได้ตั้งหลายตัว 50 มม. จะมีสักสี่ซ้าห้าตัวมันจะเป็นอะไรไป

Planar @f2 + Leica M edition 60

Sonnar @f1.5 + Leica M edition 60

Sonnar @f1.5 + Leica M edition 60

Sonnar @f1.5 + Leica M edition 60

Sonnar @f1.5 + Leica M edition 60

Sonnar @f1.5 + Leica MP + Kodak pro image 100

Sonnar @f1.5 + Leica MP + Kodak pro image 100

bottom of page