top of page

Tudor North Flag

Updated: Aug 24, 2023

"ผมไม่เล่นนาฬิกาครับ"

ต้องกราบขออภัยผู้อ่านทุกท่านด้วยที่คราวนี้รีวิวนาฬิกา ไม่ใช่กล้อง พอดีนาน ๆ ได้เปลี่ยนสักทีก็เลยเลือกแบบ เลือกเยอะมาก ๆ และต้องหาความรู้ใหม่ ๆ ใส่หัวเยอะมาก ๆ ครับ เลยอยากจดเอาไว้เผื่อตัวเองลืมสักนิด เพราะ “ผมไม่เล่นนาฬิกาครับ” เป็นคำพูดที่ผมอยากประกาศเพื่อป้องกันการป้ายยาจากเพื่อนพี่น้องเหลือเกิน แค่ “เล่น” กล้องอย่างเดียวก็เดินเซแล้ว แต่เมื่อมีโอกาสจะได้เลือกซื้อนาฬิกาดี ๆ สักเรือนหนึ่งจึงต้องเลือกอย่างพิถีพิถันหน่อย ถึงแม้ว่าผลออกมาจะแตกต่างไปจากแนวทางการสะสมนาฬิกาก็ตาม (ก็เพราะการ “ไม่เล่น” นาฬิกานี่แหละครับ ถึงทำให้การเลือกสนุกมาก) จึงอยากบันทึกไว้กันลืมว่าเวลาจะเลือกซื้อนาฬิกาสักเรือนหนึ่งควรจะต้องดูอะไรบ้าง ตามประสาคนไม่เป็น คนไม่เล่นนาฬิกา ต้องหาความรู้จากศูนย์ และเป็นความเห็นส่วนตัวล้วน ๆ ครับ

พูดถึงในตลาดนาฬิกาบ้านเรายี่ห้อที่ได้ยินติดหูคงไม่พ้น Patek Philippe, Rolex, Audema Piguet, Omega, Panerai และอีกหลากหลายยี่ห้อที่ไม่ได้พูดถึงนะครับ ยิ่งค้นดู ยิ่งอ่านก็ยิ่งเจอ ยี่ห้อที่ไม่เคยได้ยินผ่านหูมาก่อนก็มีความน่าสนใจหลายต่อหลายเรือน เหมือนโลกที่เคยรู้จักมันกว้างขึ้นไปเรื่อย ๆ สนุกดีแต่ต้องต่อสู้กับกิเลสมากมายครับ เอาล่ะ จุดเริ่มต้นผมก็มาตั้งโจทย์กันง่าย ๆ ก่อน ว่าเราจะหานาฬิกามาใช้ ใส่ติดมือทุกวัน ใส่ไปได้นาน ๆ ไม่หวือหวา ไม่ต้องแฟชั่นมาก เหตุผลส่วนตัวอันดับแรกที่ตัดไปเลยคือสีทองครับ ผมไม่เสี่ย ฮ่ะ ๆ ๆ อันนี้แล้วแต่รสนิยมครับ แล้วสีทองมันก็แพงครับ ไม่เอาดีกว่า เกรงใจคนซื้อให้

วินาทีนี้มองไปทางไหนก็มักจะเห็นแต่คนใส่นาฬิกาดำน้ำครับ ไม่ว่าจะไปงานแบบไหนก็แล้วแต่ หลายเว็บไซต์ หลายสำนักที่อ่านมาก็มักจะพูดไปเสียงเดียวกันว่าเป็นนาฬิกาที่สวย ใส่ได้ทุกโอกาส (คือจริง ๆ นาฬิกาอะไรก็ใส่ได้หมดป่ะครับ มันอยู่ที่กระแสและความนิยมมากกว่า จะอ้างอะไรก็ได้ครับ ทำใจสบาย ๆ แล้วเลือกที่เราชอบดีกว่า) ผมก็ตามไปดูไปลองนะครับ ตัวดัง ๆ อย่าง Rolex submariner, Omega seamaster อะไรพวกนี้ แล้วก็ไม่โดน (เกือบโดน Seamaster 300M) จะพูดให้สวย ๆ คือ อาชีพอย่างผมมันบุกป่าฝ่าดง จะใส่นาฬิกาดำน้ำไปทำไม Bezel หมุนได้เอาไว้จับเวลาอยู่ใต้น้ำก็ไม่ได้ใช้ แต่เอาเข้าจริง ๆ ใครจะใส่นาฬิกาเรือนละเป็นแสน ๆ ไปปีนเขาหินปูนให้มันครูดเล่น ไปลุยป่าก็ Casio Protrek สิครับ เหมาะสุดแล้ว มีทั้งเข็มทิศ Barometer อุณหภูมิ Altimeter ฯลฯ อีกสารพัดจะบรรยาย สุดยอดฟังก์ชันแล้ว ส่วนเหตุผลหลักอีกข้อที่ไม่ชอบพวกนาฬิกาดำน้ำ คือ ผมไม่ชอบ Bezel ที่หมุนได้ครับ ใส่ไปโดนอะไร ๆ หรือสะพายเป้ ถอดเป้ มันชอบหมุนเอง แล้วผมเองนั่นแหละที่รำคาญ ต้องมาหมุนให้ตรงเลข 12 เสมอ ๆ เรือนเก่า (Tag Heuer Aquaracer) ที่เคยใส่อยู่ นานไป Marker มันก็ไม่ค่อยจะตรงเลข 12 ก็หงุดหงิดอีก เลยเอาเป็นว่านาฬิกาดำน้ำโดนหักคะแนนส่วนตัวไปเสียเยอะกับเรื่องนี้ เลยไม่ลงเอยกัน

เคยอยากได้นาฬิกาที่ตัวเรือนเป็น Ceramic เพราะเป็นรอยยาก ใส่แล้วใหม่อยู่นาน ที่เห็นว่าราคาพอจับต้องได้ก็มี Tudor Fast Rider Black Shield ซึ่งไม่สวยเลย (ด้วยความเคารพ ราคาตั้งแสนปลาย ๆ ผมซื้อไม่ลง) กับอีกตัวที่มอง ๆ อยู่เหมือนกัน คือ Omega Dark/Grey Side of the Moon ตัวนี้สวย แมน แพง จบ แต่ใหญ่และราคาขนาดนั้นคงไม่ได้เอามาใช้บ่อย ๆ แน่ เคยเห็น Panerai ที่ตัวเรือนเป็น Ceramic เช่นกัน แต่ราคาแพงมากดูไม่คุ้มค่าเท่า Omega รองลงมาจากนั้นก็กลับไปเป็นพวกนาฬิกาดำน้ำที่ใช้ขอบ Bezel เป็นเซรามิกอีก ก็ไปลงรุ่นเดิม ๆ ซึ่งก็ยังไม่อยากได้อย่างที่ว่า ทำให้เริ่มไปมองพระรองอย่าง Damasko จากเยอรมัน เพราะเหล็กพี่แกทนการขีดข่วนดีเหลือหลาย (ราว ๆ 700 Vickers) แต่ถ้าเป็นรุ่นเคลือบดำ เขาเคลมว่าทนการขีดข่วนได้ 2,500 Vickers นั่นคือเท่า ๆ กับ Sapphire เลยนะครับ ทำให้แบรนด์นี้ดูน่าสนใจมาก (Damasko ผลิตพวกเหล็กให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ มาก่อน และมีสูตรเหล็กที่เป็นสิทธิบัตรของตัวเองอยู่มาก ก่อนหน้านี้เคยทำให้ยี่ห้อ Sinn มาก่อน ซึ่งเหล็กเจ๋ง ๆ ของ Damasko ถูกใช้เฉพาะในรุ่น U1 เท่านั้น)

มาถึงตรงนี้ หลายคนคงไปจบที่ Rolex Submariner แล้ว เพราะราคามันขึ้นเอา ๆ จริง ๆ แต่ “ผมไม่เล่นนาฬิกาครับ” ผมต้องการค้นหานาฬิกาที่เหมาะกับตัวเอง และคุ้มค่ามากกว่า

ในแวดวงนาฬิกามักจะให้คุณค่ากับนาฬิกาที่เป็นระบบกลไกมากกว่าระบบ Qualtz หรือพวกดิจิทัล คือคนเล่นมันก็เสพย์อะไรกันแบบนี้แหละครับ มากไปกว่ากลไกเจ๋ง ๆ ก็เป็นเรื่องราว วัฒนธรรม ที่มาที่ไป ไล่ไปจนถึงคนดังคนไหนเคยใส่นาฬิการุ่นนี้ไปทำอะไรบ้าง มาถึงตรงนี้ก็ชักจะเริ่มไปกันใหญ่ จะใส่ Omega Moon watch หน้าตาและเครื่องแบบเดียวกันที่เคยใส่ไปดวงจันทร์ เราก็ไม่ได้ไปอวกาศเองสักหน่อย นักบินอวกาศที่ใส่นั่นก็ไม่ใช่ญาติเรา / Speedmaster ลิมิเมตชูมัคเกอร์ เราก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเขา / Rolex Daytona เดี๋ยวนะนายพอล นิวแมน ยังไม่รู้จักเลยครับว่ามันคือใคร พอคิดแบบนี้ก็เลยเริ่มเฉย ๆ กับเรื่องราวอะไรพวกนี้ แต่อีกใจก็อยากได้นาฬิกาที่ใส่แล้วมีความ Unique ไม่ค่อยเหมือนใครอยู่ดี พอมีความติสก็มักมีปัญหาแบบนี้แหละครับ ของลิมิเตดมันเลยขายได้ นอกเหนือไปกว่าการซื้อเก็บเพื่อเก็งกำไร

เปิดเฉลยหักมุมกันตรงนี้ก่อนเลยว่าสุดท้ายผมได้ Tudor North flag มาครับ เหนือความคาดหมายเซียนนาฬิกา แต่สุดท้ายมันแล้วแต่ความชอบของแต่ละคนจริง ๆ ครับ ส่วนหัวข้อในรายละเอียดต่าง ๆ ที่ผมใช้พิจารณาก็คงมีประมาณนี้

ตกลงเรื่อง Ceramic ที่อยากได้ว่ายังไง

ก็ไม่ได้อย่างที่อยากน่ะสิครับ North flag ขอบมันเป็น Ceramic เหมือนกันนะครับ แต่ด้านบนมันปิดด้วย Stainless steel จะปิดไว้ให้เป็นรอยเพื่ออะไรก็ไม่ทราบได้นะครับ อาจเพื่อให้เซรามิกสีดำมาช่วยลดความหนาของนาฬิกาก็เป็นได้ แต่ช่างมันละครับ วินาทีนี้มีเซรามิกก็เหมือนไม่มี

เครื่อง ETA vs เครื่อง In house มหากาพย์ ใจเย็น ๆ อย่าเถียงกัน

ทำความเข้าใจกันตรงนี้ก่อนเลยนะครับจะได้ไม่ดราม่า เครื่อง In house ไม่ได้แปลว่าดีเสมอไปส่วนเครื่อง ETA ก็ไม่ได้แปลว่าไม่ดีนะครับ มันดีเลยแหละ แถมด้วยการพิสูจน์ผ่านการเวลามาแล้วหลายต่อหลายสิบปี มันดีครับ ทนดี Service ง่าย อะไหล่เยอะ ช่างที่ไหนก็ทำได้ Tag heuer เรือนเก่าของผมเป็น Calibre 5 (จริง ๆ มันโมดิฟายมาจาก ETA 2824 นั่นแหละ แล้วมาตั้งชื่อของตัวเอง หลายยี่ห้อทำแบบนี้นะครับ อย่าเข้าใจผิดว่าเป็นเครื่อง In house นะครับ เช็คจาก http://www.watchbase.com ได้ บางยี่ห้อไม่โมดิฟายต่อเลย เอา ETA นั่นแหละมาขัดผิวตกแต่งให้สวยงามเท่านั้น เช่น ยี่ห้อ Stowa ที่สั่งทำนาฬิกาได้ ก็มี Option ให้เลือกว่าจะขัดตกแต่งหรือไม่ ในเครื่องรุ่นเดียวกัน) แต่เครื่อง In house ที่ผมให้ความสำคัญกับมันคือ ส่วนตัวผมว่ามันเจ๋งที่บริษัทนาฬิกาจะทำเครื่องเอง ทำตัวเรือนเอง มันดูมีคุณค่าของมัน ซึ่งจริง ๆ ก็มีหลายยี่ห้อ ที่เจ๋ง ๆ ราคาถูก ๆ ก็มีนะครับ เคยเห็น Seiko 5 automatic กันไหมครับ Calibre ตระกูล 7s ทำเอง In house แม่เจ้านาฬิกาเรือนนี้ราคาสองพันกว่าบาท หรืออย่าง Damasko ที่โฆษณาไว้ว่าเหล็กมันเจ๋งมันดีเพราะมันทำเหล็กเอง มันยังทำเครื่อง In house ทั้งหมดด้วยตัวเองอีกด้วยนะครับ เป็นรหัส A35 ซึ่งราคาขายนี่ตีเป็นเงินไทยก็เกินแสน ในขณะที่รุ่นที่ใช้เครื่อง ETA ราคาอยู่ราว ๆ สี่หมื่น (แต่ที่ผมไม่เลือกยี่ห้อนี้คือ ถ้าใช้ในไทยแล้วมันต้อง Service จะเอาไปส่งที่ไหน (ฟระ) แล้วมันยังเป็นบริษัทเล็ก ๆ อยู่ ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปอีกนานแค่ไหน อันนี้ไม่ได้แช่ง ของมันดูดีจริงครับ แต่มันยังไม่ใหญ่พอที่จะสร้างความมั่นใจได้) สุดท้ายผมเลือกเครื่อง In house ตัวแรกของ Tudor เพราะถึงแม้จะเปิดตัวใหม่มาได้ไม่นาน (2015) แต่อย่างน้อยก็อยู่ในตลาดมาแล้ว 4 ปีโดยไม่มีปัญหา และ Tudor กับ Rolex มันมีความใกล้ชิดกันมาก ๆ ส่องดูสถาปัตยกรรมของเครื่องยังค่อนข้างคล้ายกัน ลักษณะ Bridge ที่จับตัว Balance wheel กับ Hair spring ก็เหมือนกัน ฯลฯ เปิดตัวมาสำรองพลังงานได้ 70 ชั่วโมง ในขณะที่ Rolex เปิดตัวพวก Calibre 3235 ใหม่ในปีถัดมา สำรองพลังงานได้ 70 ชั่วโมงเท่ากัน ผมว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญครับ แล้วผมว่า Tudor ถึงแม้จะไม่ดัง (คนปกติไม่รู้จัก) แต่มันก็อยู่ในวงการนาฬิกามา 70 กว่าปีแล้ว มันไม่เจ๊งง่าย ๆ หรอก แถมด้วยปีหลัง ๆ มานี่เริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นอีกด้วย หลายสำนักเขียนวิเคราะห์กันไว้ว่าการเปลี่ยนจากเครื่อง ETA ที่เคยใช้มาตลอดมาเป็นเครื่อง In house ของ Tudor ในครั้งนี้ ทำให้ Tudor ขยับเข้าใกล้ Rolex เข้าไปอีกขั้น (แต่ก็ยังคงสถานะเป็นแบรนด์น้องที่มีผู้ก่อตั้งคนเดียวกันเหมือนเดิมนั่นแหละ)

เคสเปิดหลัง โชว์เครื่อง

เป็นเรื่องที่ค่อนข้างไร้สาระสำหรับหลาย ๆ คน เพราะใส่นาฬิกาอยู่กับข้อมือใครจะไปสนใจดูเครื่อง แต่ส่วนตัวผมชอบครับ ผมว่ามันสวยดี ถึงแม้ว่า North flag ตัวนี้จะไม่ได้ขัดตกแต่งเพื่อความสวยงามอะไรเลย เครื่องทำผิวพ่นทราย Rotor ขัดหยาบ ๆ เป็นรัศมี แค่นั้น จบแล้ว แต่มันก็ดิบ ๆ ดีครับ และ Tudor รุ่นนี้เป็นรุ่นแรกและรุ่นเดียวในขณะนี้ (ปี 2019) ที่เปิดหลังโชว์เครื่องที่เป็นเครื่อง In house แท้ ๆ รุ่นแรกของแบรนด์ รหัส MT5621 ที่เปิดตัวในปี 2015 ครับ มันเป็นรุ่นที่เป็น milestone ในประวัติศาสตร์ของ Tudor แต่แป๊ก ไม่ดัง(ว่ะ)ครับ คนไปเก็บ Blackbay นาฬิกาดำน้ำกันหมด สวัสดี...

Jewels

เรื่องนี้คลาสสิกมาก ผมได้ความรู้จากรุ่นพี่อาจารย์ด้วยกันที่ท่านอยู่ในวงการนาฬิกามานาน ได้ชี้ให้ผมดูเรื่องโน้นเรื่องนี้ และเล่ารายละเอียดเกร็ดความรู้มากมาย จดจำกันไม่หวาดไหว กว่าจะเลือกนาฬิกาได้เรือนนึง แทบจะเหมือนเรียนจบปริญญาโท บรรยายได้ว่าในเครื่องนาฬิกาทั้งหลายนี่ สังเกตดูจะมีเม็ด ๆ สีชมพู ๆ นั่นไม่ได้เอาไว้สวย ๆ นะครับ มันคือทับทิมสังเคราะห์เม็ดกลม ๆ ใช้เพื่อช่วยหล่อลื่น ลดการเสียดสีของกลไกครับ ดังนั้นเครื่องที่มี Jewels เยอะ ๆ ไม่ใช่ว่าจะดี แหม มีอัญมณีเพียบเลย ไม่ใช่นะครับ สิ่งนี้แสดงถึงการออกแบบเครื่องว่ามีจุดที่ต้องมีการหล่อลื่นและ Service เยอะครับ กลายเป็นว่ายิ่ง Jewels เยอะอาจจะไม่ดีก็ได้ครับ

COSC / Superlative Chronometer / Master Chronometer etc. สุดแท้จะเรียก/จะตั้งมาตรฐาน

มาตรฐาน Chronometer หรือ COSC เป็นมาตรฐานการวัดความเที่ยงตรงของนาฬิกาโดยยอมให้มีความคลาดเคลื่อนได้วันละไม่เกิน -4/+6 วินาทีครับ ซึ่งว่ากันว่า (อันนี้เซลล์ของ Tudor ว่ามา) มีนาฬิกาในท้องตลาดราว ๆ 3% เท่านั้นที่ได้มาตรฐานนี้ ผมคิดว่าคงเป็นไปได้ ถ้านับรวมนาฬิากาทั้งหมดจริง ๆ นะ นาฬิกาเด็ก นาฬิกาตลาดนัด บลา ๆ ก็คงได้ แต่นาฬิกาในช่วงราคาราวนี้ก็เห็นผ่าน COSC กันแทบทั้งนั้น แถมด้วยว่าบางยี่ห้อยังสร้างมาตรฐานใหม่ของตัวเองสูง ๆ ขึ้นไปอีก เช่น Patek Phillippe ว่ากันถึง -1/+2 วินาทีต่อวัน Rolex จะใช้คำว่า Superlative Chronometer ซึ่งจะการันตีความเที่ยงตรง -2/+2 วินาทีต่อวัน Omega ผ่าน COSC แล้วไปผ่าน METAS ต่อ ใช้คำว่า Master Chronometer การันตีความเที่ยงตรงถึง 0/+5 ต่อวัน พ่วงด้วยการันตีทนสนามแม่เหล็ก 15,000 gauss (ซึ่งจะว่ากันต่อไป) ส่วน MT5621 เครื่อง In house ตัวแรกของ Tudor ก็ผ่าน COSC เช่นกัน พ่วงด้วยการันตีความเที่ยงตรง -2/+4 วินาทีต่อวัน สูงกว่ามาตรฐานของ COSC เสียหน่อย ซึ่งเอามาลองใช้เองจับเองก็พบว่า MT5621 ตัวที่ใช้อยู่ก็เที่ยงตรงมาก ๆ (สองครั้งคือเที่ยงวันและเที่ยงคืน ท่ดครับ) เที่ยงตรงได้ในระดับ +0.2 วินาทีต่อวันทีเดียว (ใช้ไปนาน ๆ มันก็อาจมีการเพี้ยนได้อยู่ครับ) นอกจากนี้ลักษณะการวางนาฬิกาก็ทำให้การเดินคลาดเคลื่อนต่างกันด้วย เขาเรียกว่าสเน่ห์ของกลไกรึเปล่านะ ผมสังเกตว่าเวลากลางวันใส่เดินปกตินาฬิกาจะเดินช้าไป -1.5 วินาที ส่วนตอนกลางคืนวางหงายเอาไว้ นาฬิกาจะกลับมาเดินเร็ว +1.7 วินาที ซึ่งผสมกลางคืนกลางวันแล้วมันก็เที่ยงตรงอย่างที่ว่า อันนี้เป็นความสนุกอะไรบ้า ๆ บอ ๆ ของคนเห่อนาฬิกาไปอีกอย่าง

Free sprung vs Regulator

เครื่อง ETA ส่วนมากที่ใช้กัน Hair spring จะมีด้านหนึ่งที่ยึดเอาไว้ และใช้วิธีการปรับความยาวของสปริงเพื่อปรับความถี่ในการหมุนที่ส่งผลต่อการเดินช้าเร็วของนาฬิกา ซึ่งระบบนี้ใช้ไปนาน ๆ ต้อง Service สักที เพราะจะเกิดความคลาดเคลื่อนได้ แต่ก็ปรับตั้งง่ายแค่เปิดฝาหลังมา หมุน +/- ก็จบแล้ว ส่วนระบบ Free sprung นั้น สปริงจะไม่มีการยึดตายตัว และจะไม่มีการปรับที่ความยาวของสปริงอีกต่อไป แต่จะเป็นการปรับด้วยการถ่วงน้ำหนักที่ Balance wheel ซึ่งปรับยากมาก แต่ข้อดีคือมีความเที่ยงตรงสูงกว่า อ่า อธิบายด้วยตัวอักษรยากจริง ๆ นาฬิกาที่ใช้ระบบ Free sprung นี้ก็พวกยี่ห้อดัง ๆ แพง ๆ ทั้งหลายดังที่กล่าวมาข้างต้นนั่นล่ะครับ ทีนี้แต่ละเจ้าก็แข่งกันหาวิธีการที่จะทำให้สปริงนี้หมุนไปหมุนมาให้ได้สมดุลที่สุด เพื่อลดความคลาดเคลื่อน จดสิทธิบัตรกันโครม ๆ ก็แล้วแต่จะหาข้อมูลมาพิจารณากันครับ ความรู้ผมแค่หางอึ่ง

Antimagnetic / เรื่องของ Hair spring

Tudor มันมีความลึกลับเรื่อง Spec อยู่พอสมควร เพราะมันอาจเป็นประเด็นที่มีความ Sensitive ภายในเครือหรือไม่อย่างไรสุดจะเดา แต่ผมไม่เคยหาสเป็คได้ว่า Tudor North flag หรือรุ่นอื่น ๆ สามารถทนสนามแม่เหล็กได้ประมาณกี่ gauss เคยเห็นแต่ Rolex Milgauss ที่โฆษณาเรื่องราวของการกันสนามแม่เหล็กที่นักวิทยาศาสตร์เขาใส่กันว่ามีการใช้เคสอ่อนเป็นกรงฟาราเดย์กันเครื่องไว้อีกชั้นหนึ่งสามารถกันได้ถึง 1,000 gauss นั่นแหละครับ สมัยก่อนก็เป็นจุดขายกันได้แล้ว ซึ่งจริง ๆ สิ่งที่จะพังเพราะสนามแม่เหล็กก็คือ Hair spring หรือ Balance spring ครับ ที่เห็นเป็นสปริงขด ๆ กลม ๆ หมุนซ้ายหมุนขวาในเครื่องนั่นแหละครับ ถ้ามัน magnetized แล้วมันจะติดกัน ทำให้นาฬิกาเดินไม่เป็นปกติ ดังนั้นไม่กี่ปีให้หลังมานี้ Omega จัดไป ใช้ Silicon (Si14) ซึ่งมันไม่มีปัญหาอะไรกับแม่เหล็ก เลยโฆษณาได้เต็มที่เลยว่าทนสนามแม่เหล็กได้ 15,000 gauss หมื่นห้านี่ไม่ใช่ธรรมดามันคือ 1.5 Tesla เลยนะครับ เครื่องเอกซเรย์ MRI ปัจจุบันใชักันอยู่ 3 Tesla แถมสมบัติความทนต่อสนามแม่เหล็กนี่ยังถูกบรรจุลงไปเป็น 1 ในมาตรฐานของ METAS ที่ใช้ทดสอบเครื่องรุ่นใหม่ ๆ ของ Omega ที่แปะว่า Master Chronometer นั่นแหละครับ Tudor ผมไม่ทราบสเป็คตรงนี้จริง ๆ ให้ Ad โทรไปถามข้อมูลให้ก็ไม่ทราบ แต่ที่รู้แน่ ๆ คือ MT5621 ใน North flag ใช้ Silicon Hair spring ครับ จบนะ... North flag มันเลยกล้าเปิดหลังโชว์เครื่องได้แบบไม่กลัวแม่เหล็ก (เหมือน Omega รุ่นที่เป็น Master Chronometer ก็โชว์เครื่องกันแทบทั้งนั้นเลย อย่าง Seamaster 300m ตัว 2018 ใช้ Calibre 8800 ก็เป็นรุ่นแรกในตระกูลนี้ที่โชว์เครื่องด้านหลัง) มาทางฝั่ง Rolex ปัจจุบันนาฬิกาผู้ชายยังใช้ Parachrome hair spring อยู่ครับ คือกันสนามแม่เหล็กได้บ้าง แต่มันก็ยังมีคุณสมบัติของโลหะอยู่ดีนั่นแหละ มาถึงตรงนี้ ผบ.ก็จะถามว่า เธอจะใส่นาฬิกาไปลุยสนามแม่เหล็กที่ไหน อย่าไร้สาระ จบ แถมให้อีกนิดว่า Rolex มีการใช้ Silicon hair spring เช่นกัน แต่ใช้เฉพาะรุ่นผู้หญิง Calibre 2236 อะไรทำนองนั้นครับ

Power reserve complication

มันเป็นการยากที่จะหานาฬิกาดี ๆ ในราคาเท่านี้แล้วมี Complication อื่น ๆ นอกเหนือไปจากวันที่ แต่ Tudor North flag ก็จัด Power reserve indicator มาให้ นัยว่าสำรองพลังงานได้ยาวนานถึง 70 ชั่วโมงแล้ว ก็ต้องโชว์ ต้องมีตัวบอกหน่อยว่าตอนนี้พลังงานเหลืออยู่เท่าไร ส่วนตัวผมว่า Power reserve indicator ที่มีให้มามันสะดวกมาก ๆ เวลาจะวางนาฬิกาทิ้งไว้นาน ๆ เช่น วันศุกร์เลิกงาน จะทิ้งนาฬิกาไว้เสาร์-อาทิตย์ ก็สามารถเช็คดูได้ว่ามีพลังงานสะสมเหลือพอหรือไม่ แล้วสามารถขึ้นลานไว้ได้เลย ลานเต็มแล้วก็ยังรู้จาก Indicator ตัวนี้เช่นกัน การสำรองพลังงานได้ 70 ชั่วโมงผมว่าเป็นจุดขายที่ดี ใช้งานจริงสะดวกมากครับ เพราะเสาร์อาทิตย์เราอาจใส่นาฬิกาเรือนอื่น วางเรือนนี้ทิ้งไว้ วันจันทร์มาหยิบใส่ก็ยังไม่หยุดเดิน ต่างจากเครื่องทั่ว ๆ ไปที่สำรองพลังงานได้ราว 40 - 50 ชั่วโมง วางไว้เย็นวันศุกร์ ไม่ถึงเช้าวันจันทร์ก็ลานหมดไปเสียก่อน ต้องมาตั้งเวลาใหม่กันทุกครั้ง

การออกแบบ Power reserve indicator ของ Tudor North flag มันก็เด็ดขาดแบบกล้าทำจริง ๆ ผมเชื่อว่านาฬิกาแพง ๆ แบรนด์ติดตลาดอื่น ๆ คงไม่ทำแบบนี้แน่ คือเข็มที่บอกระดับพลังงานของมันไม่ใช่เข็มจริงครับ มันเป็นการระบายสีลงไปบนจานกลม ๆ แล้วไอ้จานนี่แหละครับมันจะหมุนไปตามระดับพลังงานที่เหลือ ข้อดีของมันคือมันจะช่วยให้ไม่ต้องออกแบบหน้าปัดให้มีความหนามากไปกว่านี้ หรือไม่ต้องทำ “หลุม” ลดระดับลงไปสำหรับเข็มเล็กแบบที่หลาย ๆ ยี่ห้อชอบทำกัน แต่ข้อเสียของมันคือมันอาจทำให้นาฬิกาดูไม่หรูหรา

เขาว่ากันว่า Tudor North flag คือ Tool watch เป็นไปได้เหรอ นาฬิการาคาแสนกว่าถูกระบุว่าเป็น Tool

ครับ มันเป็นไปตามนั้น Tool watch คือนาฬิกาแบบที่ซื้อมาใส่ครับ ไม่ได้ซื้อมาเก็บสะสม ใช้งานได้ดี อ่านค่าง่าย ไม่ติดภาพลักษณ์หรูหราเกินใช้งาน ผมว่าเจ๋ง Tudor มันก็ทำนาฬิกาลักษณะนี้มานานแล้ว ไม่ใช่บุคลิกที่หรูหราสวยเวอร์ซื้อเก็บอย่างเดียว แต่นาฬิกา Tudor มันมีเท่าที่จำเป็น หน้าปัดชัดเจน คอนทราสสูง ตัวอักษร/หลักชั่วโมงใหญ่ Dial สีดำด้านไม่สะท้อนแสง ไม่มีลวดลาย วันที่สีขาวตัดกับหน้าปัดดำอ่านค่าง่าย ดัชนีการสำรองพลังงาน และมันก็มีแค่นั้นครับจบ และก็ใช้ไป

ส่วนเรื่องรูปลักษณ์ความสวยงาม อันนี่แล้วแต่ความชอบส่วนตัวของแต่ละท่านเลยจริง ๆ ครับ บางทีคนอื่นไม่ชอบแต่เราชอบ บุคลิกของนาฬิกามันเข้ากับบุคลิกของคนใส่ไหม กรณีที่มองตอนแรกไม่ชอบแต่พอเอามาลองทาบแล้วนาฬิกามันเรียกหาก็มีให้เห็นเยอะแยะไปครับ คงจะได้เห็นผมรีวิวนาฬิกากันอีกอย่างน้อยก็น่าจะอีกสัก 10 ปีครับ เพราะผมไม่เล่นนาฬิกานะครับ (บอกตัวเองท่องไว้ ๆ) ขออภัยอีกครั้งที่ไม่ใช่เรื่องกล้อง Leica แค่อยากเขียนเก็บเอาไว้กันตัวเองลืมครับ สวัสดี...

bottom of page