top of page

Rolleiflex 3.5F

Updated: Aug 24, 2023

"กล้องที่ต้องมีเก็บอย่างน้อยสักตัวหนึ่ง"

สวัสดีครับ วันนี้ขออนุญาตใช้พื้นที่บอกเล่าเรื่องราวรีวิวประสบการณ์กล้องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับไลก้าสักหน่อย แต่ผมคิดว่านักสะสมกล้องทั้งหลายคงต้องมองหามาเก็บกอดไว้กันสักอย่างน้อยคนละตัวเป็นแน่... วันนี้เราจะมาพูดคุยกันถึงกล้อง Rolleiflex 3.5F กันครับ เจ้ากล้องตัวนี้เป็นกล้องระบบ TLR (Twin-lens reflect) ปกติวัยรุ่นสมัยนี้ (รวมถึงผมด้วยนะ) มักจะเติบโตและคุ้ยเคยมากับกล้อง SLR (Single-lens reflect) ซึ่งเป็นกล้องที่มีกระจกสะท้อนภาพวาง 45 องศา สะท้อนภาพขึ้นไปด้านบน และกลับภาพให้ดูง่ายขึ้นด้วยปริซึม 5 เหลี่ยม ที่เราเห็นเป็นกระโหลกกล้องน่ะนะครับ เวลาถ่ายภาพก็ยกกระจกขึ้นแล้วเปิดม่านชัตเตอร์ จนเราได้ยินเสียดีดกระจกเพี๊ยะ ๆ นั่นแหละครับ แต่ทีนี้ในยุคก่อนหน้าจะมี SLR มันยังเป็นตลาดของ TLR และ RF (Range finder) ครับ ซึ่ง RF เรารู้จักกันดี ใช้ช่องมองสองช่องสร้างภาพเหลื่อมเพื่อหาพิสัย (ระยะ) ให้ตรงกับระยะโฟกัสของเลนส์แล้วถ่ายภาพ โดยกล้องจะเปิดม่านชัตเตอร์ (จะเป็นผ้าหรือเหล็กก็แล้วแต่) เหมือน ๆ กับกล้องปัจจุบัน โดยสมัยก่อนจะมีม่านแนวนอนกับแนวตั้ง ก็ว่ากันไปครับ ส่วนกล้อง TLR นี้จะเป็นกล้องที่มีสองเลนส์ครับ เลนส์ด้านบนจะเป็นเลนส์ที่รับภาพเพื่อสะท้อนกระจกให้ผู้ถ่ายมองด้านบน ภาพจะออกมากลับด้านซ้าย-ขวา ใช้สำหรับจัดองค์ประกอบและโฟกัสภาพครับ ส่วนเลนส์ตัวล่างจะเป็นเลนส์ถ่ายภาพจริง ตัวที่ผมได้มาเล่นนี้ควบคุมโดยชัตเตอร์แบบ Leaf shutter ครับ ซึ่งแตกต่างจากชัตเตอร์ที่เราคุ้นเคยครับ คือเป็นชัตเตอร์เปิดปิดในลักษณะวงกลมเหมือนแผ่นไดอะแฟรมปรับค่า f นั่นแหละครับ

ปกติผมไม่เคยจับ TLR เล่นหรอกครับ ไม่เคยชายตามองเลยด้วย เพราะรู้สึกว่าถ่ายยาก และมีน้ำหนักค่อนข้างมาก เคยแต่คุยกับคนโน้นคนนี้ว่ารุ่นไหนน่าเก็บน่าเล่น หลายคนอาจไป Rolleiflex 2.8GX หรือรุ่นพิเศษต่าง ๆ แต่เท่าที่เคยหาข้อมูลมาทำให้ใจพุ่งเป้าไปที่ Rolleiflex 3.5F เสียมากกว่า เพราะชัตเตอร์แตกต่างกันทั้งแหล่งผลิต (ดันจำไม่ได้ว่าที่ไหนกับที่ไหน) และ 3.5 ชัตเตอร์มีความนุ่มนวลกว่า ในขณะที่โครงสร้างต่าง ๆ เข้มข้นหนักแน่นเหมือนกันในราคาที่น่ารักน่าคบ อยู่ในระดับห้าหลักช่วงต้น ไม่ใช่ห้าหลักปลายหรือหกหลัก ก็มอง ๆ มาเรื่อยครับ พอดี๊พอดีมีของเข้ามาสภาพใหม่ ทำงานเต็มระบบ ใครจะพลาด โทรหาเพื่อนเลย รับไหม รับครับ จัดไป เลยขอเอามาลองมาเล่นเพื่อเล่าสู่กันฟัง ณ ที่นี้ครับ

กล้อง Rolleiflex เป็นกล้องที่มีระบบกลไกอยู่ในระดับสุดยอดจริง ๆ ครับ (ผม)เห็นควรให้เป็น Mile stone อันหนึ่งในประวัติศาสตร์การถ่ายภาพนะครับ ถ้าใครยังไม่เคยลองเล่น ก็ขอให้ไปหยิบไปจับดูครับ มันที่สุดจริง ๆ ตั้งแต่กล้องยันเคส ขอเล่าแบบเจาะลึกกันไปเป็นข้อ ๆ เลยนะครับ

Rolleiflex 3.5F K4F

  1. เอาเรื่องเคสก่อนครับ เคสหนังที่ไม่เคยเห็นเคสกล้องระดับ 135 รุ่นไหน ประณีต พิถีพิถัน และอุดมด้วยเทคนิคขนาดนี้มาก่อน มีชิ้นส่วนปกป้องส่วนต่าง ๆ ของกล้องครบถ้วน ฝาเปิด เปิดออกแล้วมีสปริงดึงกลับพับไว้เอง ไม่เกะกะเวลาถ่าย หรือสามารถถอดฝาส่วนหน้าออกได้โดยการดึงสลัก (เวลาปิดเคสสลักนี้จะติดกับเคสโดยอัตโนมัติ)

  1. ด้านบนของเคสก็มีสลักเกี่ยวกับบริเวณหูคล้องสายของกล้อง ไม่ให้เคสอ้าออกครับ

  1. สายคล้องคอมีกลไกใส่และปลดล็อกได้ง่ายมาก ๆ และสามารถใช้สายเส้นเดียวกันกับเคส หรือห้อยกับตัวกล้องโดยตรงก็ได้

  1. ภายใต้แผ่นพลาสติก Diffusor สีขาว เปิดมาจะเจอเซลล์วัดแสงครับ ความน่าสนใจของระบบวัดแสงกล้องรุ่นนี้คือมันไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ครับ เซลล์วัดแสงเป็น Selenium เข็มวัดแสงดูด้านข้างซ้ายติดอยู่กับวงปรับโฟกัส เหนือจากวงปรับ ASA/DIN (ISO) และชดเชยแสงในวงเดียวกัน

  1. ด้านขวาเป็นที่สถิตย์ของก้านหมุนขึ้นฟิล์มครับ มันจะคลาสสิกก็ตรงนี้ แต่อย่าคิดว่าถ่ายแล้วจะได้หมุนเล่นเท่ห์ ๆ นะครับ มันหมุนแค่ครึ่งรอบต่อภาพเท่านั้นแหละครับ ก้านเหล็กพับเก็บได้ การออกแบบที่พิถีพิถันอาบซึมอยู่ในทุกอณู

  1. การเปิดฝาเลนส์ ถ้าใครไม่คุ้นเคยก็ทำเอาไปไม่เป็นกันได้เหมือนกันนะครับ มันต้องพลิกฝาล่างขึ้นก่อน แล้วจึงหมุนเอาฝาบนออก สุดยอดการออกแบบอีกแล้ว ยอมแพ้ คารวะ

  1. ว่าแล้วลองส่องดูครับ ต้องเปิดฝาบนออกมา บานพับกลไกนุ่มนวลมาก ถือระดับเอวก้มมองคลาสสิกมาก ๆ ครับ เวลาโฟกัสก็เขี่ยเอาแว่นขยายออกมาส่องได้ นอกจากนี้ยังพับฝาด้านหน้าลงมาเป็นกระจกสะท้อนภาพเอาไว้ส่องแนบกับตาได้อีกต่างหาก

  1. หากยังไม่สะใจกับช่องมองภาพ สไลด์มันออกทั้งชิ้นเลยครับ มีช่องมองภาพแบบอื่นเปลี่ยนได้ หรือจะเปิดฝาออกมาเปลี่ยน Focusing screen ก็ได้

  1. จับมามองจ้องตากันหน่อย ได้กลิ่นของ Art Deco แรงมาก ๆ (ถ้าใครนึกไม่ออกให้นึกถึงตึกเอมไพร์สเตท ตึกไครสเลอร์ รางวัลออสการ์ ก็อทแฮมซิตี้ เกรทแกสบี้ อะไรทำนองนั้น แต่ถ้าพวกเรียนอาร์ตมาคงเข้าใจกันดี) ซึ่งการออกแบบสัดส่วนต่าง ๆ มันพิถีพิถันจริง ๆ ครับ จากตรงนี้ด้านล่างจะมีปุ่มชัตเตอร์ (มีแกนหมุนเพื่อล็อกได้ แม่เจ้า) อีกด้านเป็นซิงค์แฟลช

  1. เลนส์สำหรับถ่ายภาพเป็น Carl Zeiss Planar 3.5/75mm แต่ด้วยความที่ฟิล์ม 120 มันใหญ่มาก ถ่ายมาจริงจะเทียบได้ราว ๆ 40mm ของกล้องฟูลเฟรม 135 ซึ่งกำลังดีครับ เหมือนได้ถ่ายเลนส์ไวด์แต่มิติแน่นแบบเลนส์พอร์ตเทรต ส่วนเลนส์ตัวบนเป็น Heidosmat 2.8/75mm เอาไว้โฟกัส และจัดองค์ประกอบภาพครับ ที่มันสว่างกว่าด้านล่างก็ดี โฟกัสจะได้ง่าย ๆ หน่อย ชัดเจนดี (แต่กระนั้นก็มีภาพหลุดโฟกัสอยู่เนือง ๆ)

  2. ด้านหลังไม่รู้จะใส่อะไร พี่ก็ใส่ตารางวัดแสง การตั้งค่า F กับความไวชัตเตอร์ เทียบกับ EV (ถ้าใครอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม แนะนำให้ไปหาอ่านเรื่อง Ultimate Exposure Computer) ถ้าบรรลุแล้วก็จะถอดแบตเตอรี่ถ่ายภาพแบบไม่วัดแสงได้สบาย ๆ

  1. อยากจะย้ำอีกครั้งว่ากล้องตัวนี้ ระบบกลไกมันสำคัญนัก การปรับค่า f (จากวงด้านหน้าของกล้อง อีกวงหนึ่งจะเป็นความไวชัตเตอร์) ปรับค่า f แล้วจะมีกลไกแสดงระยะชัดลึกให้เห็นบริเวณวงปรับโฟกัสด้วย เห็นครั้งแรกนี่ถึงกับขนลุก

  1. การโฟกัสจะเป็นการเลื่อนเลนส์ทั้งสองชุด (ที่จริงควรจะเรียกแผงหน้าของกล้องทั้งแผงนั่นแหละครับ) เข้า - ออก เพื่อปรับระยะโฟกัส เรียบง่ายตรงไปตรงมา แต่กลไกคิดยังไงก็คิดไม่ออกว่ามันทำได้อย่างไร เคยหาภาพเปลือย (กล้อง TLR) ดู ด้านในสยองมาก ช่างปัจจุบันจะมีสักกี่คนที่ดูแลรักษามันได้กันหนอ

  1. มาดูเรื่องการใส่ฟิล์มกันบ้างดีกว่าครับ มันมีขั้นตอนอยู่นิดหน่อย จริง ๆ ไม่ยาก แต่ถ้าพลาดล่ะก็ ฟิล์มม้วนนึงถ่ายได้ 12 ภาพ ราคาสามร้อยกว่าบาท ฮัลเลลูย่าครับ

  • ขั้นแรกเปิดสลักกลไกด้านล่างของกล้อง โอ๊ย กล้องอะไรมีขาเหล็กสำหรับวางด้วย คนดีไซน์สมองมันทำด้วยอะไรครับ

  • เปิดฝาขึ้นมาดังโพล๊ะ ไม่ต้องตกใจ มันซีลดี 555 กล้องตัวนี้มีกระจกใสติดมาด้วย (จริง ๆ ไม่ต้องมีก็ได้ครับ มันขึงฟิล์มได้ตึงดีของมันอยู่แล้ว) กระบวนการนี้ตรวจสอบให้มีแกนเปล่าอยู่ด้านบน ถ้าไม่มีก็หามาใส่ไว้ครับ ไม่ต้องไปหาไหนไกล ถ่ายฟิล์มเก่าหมดแล้วมันจะเหลือแกนเปล่าไว้ด้านล่าง ดึงสลักถอดมาเปลี่ยนครับ

  • แกะฟิล์มเลยครับ รออะไร ผมมันพวกมือใหม่กับ 120 ฟิล์มมันมาเป็นม้วนกระดาษเลยแปลกและดูเสียวดีครับใช้วิธีม้วน ๆ ๆ ทบ ๆ กันไม่ให้โดนแสง กว่าจะเข้าฟิล์มได้ยาวครับ

  • เอาฟิล์มใส่แทนแกนด้านล่าง (แกนมันจะมากับฟิล์มอยู่แล้ว) แล้วลากมาจิ้มใส่ร่องของแกนบน อันนี้ปกติครับ เหมือนพวก 135 แต่ขึ้นตอนนี้สำคัญมากว่าจะต้องสอดเข้าใต้แกนเหล็กก่อน 1 อันครับ ถ้าไม่สอดอันนี้ หมุนฟรีหมดม้วนเลยนะครับ

  • หมุนก้านครับ ให้เส้น Start ที่เห็นเป็นลูกศร มาอยู่ในตำแหน่งขอบตามภาพ (จะบนหรือล่างก็ได้นะครับ ถ่ายได้ 12 ภาพเหมือนกัน ลองมาทั้ง 2 แบบละ)

  • แล้วปิดฝา หมุนก้านครับ ถ้าฟิล์มเข้ามันจะหยุดเองอัตโนมัติ ไม่รู้ทำได้ไง พอหยุดแล้วให้หมุนย้อนกลับครับ มันจะขึงฟิล์มให้ตึง แล้วมันจะสุดเอง (ราว ๆ ครึ่งรอบ) จากนั้นก็เริ่มถ่ายภาพแรกได้เลยครับ

  1. ฟิล์มที่นำมาทดลองกันคราวนี้ก็เป็นสองตัวยอดนิยมครับ Fujifilm Pro400H และ Kodak Portra160 เชิญทัศนา... --- Fujifilm Pro400H

--- Kodak Portra160

  1. ครั้งแรกกับ 120 TLR ผมว่าภาพที่ได้ออกมามีความน่าสนใจตรงที่เป็นฟอร์แมต 1:1 ครับ ไม่ต้องสนใจว่าจะเอารูปตั้งรูปนอน เรียกว่าเป็น IG ฟิล์มกันเลยทีเดียว ภาพออกมามิติแน่นตามเลนส์ 75mm แต่ยืนถ่ายได้ใกล้แบบ 35mm เกรนเนียนเพราะฟิล์มใหญ่ ไอ้ภาพจากฟิล์มนี่วิจารณ์ไม่ถูกจริง ๆ ครับ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่สิ่งที่ได้จากกล้องตัวนี้คือ ประสบการณ์ถ่ายภาพที่แปลกใหม่ (จริง ๆ มันเก่า) และสนุกดีครับ TLR จัดเป็นกล้องอีกชนิดหนึ่งที่นักสะสมต้องมี อย่างน้อยก็สักตัวนึง ซื้อมาดอมดมกลไกของมันนี่ก็ฟินมาก ๆ แล้วครับ

bottom of page