top of page

Summilux vs. Distagon

Updated: Aug 24, 2023

"ทำใจดี ๆ ไว้นะครับ"

สวัสดีช่วงวันหยุดสงกรานต์ครับ

ผมเชื่อเหลือเกินว่าทุกท่านที่เล่นกล้องไลก้า ต้องเคยได้ลองเลนส์ยี่ห้อคาร์ล ไซส์ (Carl Zeiss) หรือรุ่นหลัง ๆ เรียกแค่ Zeiss เฉย ๆ มาก่อนแน่นอน ด้วยคุณภาพที่มีชื่อมานาน มีเลนส์หลากหลายเม้าท์ให้เลือกรวมไปถึงซีรีส์ ZM ที่เป็นเม้าท์ Leica M และราคาที่ค่อนข้างเป็นมิตรกว่าไลก้าพอสมควร คนที่เริ่มเล่นไลก้าแล้วยังไม่ติดยี่ห้อ ผมว่าต้องมีผ่านมือกัน ผมเองก็เคยมี ZM 2/50 Planar T* มาก่อนสมัยเพิ่งเปิดตัวเข้าสู่วงการประกบกับกล้อง Leica M8 (เอาไว้จะเอาภาพมาลงให้ดูกันครับ) และหวิด ๆ จะได้สอย ZM 2.8/35 C Biogon T* จากต่างประเทศ (ไม่มีนำเข้ามาขายในประเทศไทย) ด้วยว่าความคมและ 3Ds Pop ที่เห็นจากรีวิวต่าง ๆ ของมันเย้ายวนมาก (แต่สุดท้ายก็มาเอา Summarit 2.5/35 อยู่ดี 55)

ที่ f5.6 Summilux ซ้าย Distagon ขวา

Carl Zeiss เป็นแบรนด์ที่ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพ และความคมของเลนส์มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ตอนผมเป็นเด็กยังเคยได้ยินว่า Carl Zeiss เป็นเลนส์ที่ได้ชื่อว่าคมที่สุดในโลก ทราบมาว่าสมัยก่อนก็ฟัดกันกับ Leica ตุ้บตั้บ แต่อาภัพเพราะดันมีโรงงานไปตั้งอยู่เยอรมันตะวันออก หลังสงครามโลกครั้งที่สองเลยหงอยไป กลายเป็น Carl Zeiss Jena ทั้งสูตรเลนส์ เทคนิคต่าง ๆ ไปโผล่อยู่กับเลนส์ค่ายสหภาพโซเวียต (สมัยนั้น) เสียเยอะ ส่วนฝั่งตะวันตกผุด Carl Zeiss AG ที่ยังผลิตของดี ๆ อยู่ ซึ่งเจ้านี้ก็พยายามกางแขนกางขาหาพันธมิตรในการทำตลาดมาตั้งแต่ไหนแต่ไร Zeiss ร่วมกับ Yashica มาก่อน Leica ร่วมกับ Minolta และ โทรศัพท์ Nokia แปะเลนส์ Zeiss มาก่อน Huawei แปะเลนส์ Leica มาไม่รู้กี่ปีต่อกี่ปี ปัจจุบันนี้เลนส์ Zeiss ก็ถือได้ว่าอยู่รอดได้อย่างสง่างามนะครับ ส่วนหนึ่งไปร่วมอยู่กับเลนส์ของทาง Sony ซึ่งก็ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง และอีกส่วนหนึ่ง Zeiss ก็ยังเดินหน้าผลิตเลนส์มือหมุนสำหรับ mount ต่าง ๆ ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเม้าท์ Leica M (ZM) ซึ่งตั้งแต่ไหนแต่ไรก็มีตัวเลือกออกมาค่อนข้างมากพอสมควร

เอาล่ะเข้าเรื่อง เลนส์ที่ได้มาลองเล่นครั้งนี้ ไม่ใช่เลนส์ใหม่ ออกวางตลาดมานานแล้ว แต่เพิ่งมีโอกาสได้หยิบจับ เพราะมีอาจารย์ท่านหนึ่งมาถามเลยเกิดสนใจขึ้นมาจริง ๆ ประกอบกับร้านกล้องตราต้นไม้ให้โอกาสหยิบยืมมาทดสอบดู ไม่ใช่อื่นไกล มันคือคือเลนส์ที่ได้ชื่อว่าเป็น 35mm ที่คุณภาพดีสุด ๆ ตัวหนึ่งในปัจจุบัน มันคือ Zeiss Distagon T* 1.4/35 ZM มาในราคาเกือบ ๆ หกหมื่นบาท หลายคนอาจร้องยี้เพราะเสียเงินหกหมื่นได้เลนส์มือหมุนมาตัวนึง แต่ถ้าคิดว่าโลกนี้ยังมีคนเสียเงินแสนเจ็ดแลก Leica Summilux 1.4/35 ASPH. FLE มา Zeiss ก็ถือว่าถูกและเป็นเลนส์ Best Value ขึ้นมาทันที

ที่ f1.4 Summilux ซ้าย Distagon ขวา

*** คราวนี้ขอกล้าทำ อาจเป็นรีวิวฆ่าตัวตาย อาจมีคนมาดักกระโดดถีบผมก็ได้นะ แต่ผมจะเอา Zeiss Distagon T* 1.4/35 ZM มาชกกับ Leica Summilux 1.4/35 ASPH. FLE แบบหมัดต่อหมัด ตามสไตล์ ‘จารย์ อย่างเราก็แล้วกันครับ ***

เปรียบมวย

ฝ่าย (จุด) น้ำเงิน

Zeiss Distagon T* 1.4/35 ZM

โครงสร้างเลนส์ 10 ชิ้น 7 กลุ่ม

โฟกัสใกล้สุด 0.70 ม.

น้ำหนัก 381 g

หน้าเลนส์ 49 มม.

ฝ่าย (จุด) แดง

Leica Summilux 1.4/35 ASPH. FLE

โครงสร้างเลนส์ 9 ชิ้น 5 กลุ่ม

โฟกัสใกล้สุด 0.70 ม.

น้ำหนัก 320 g

หน้าเลนส์ 46 มม.

ที่ f1.4 Summilux ซ้าย Distagon ขวา

พิจารณาจากโครงสร้างเลนส์ของทั้งสองตัวนี้แล้วมีความใกล้เคียงกันมากพอควรนะครับ ชิ้นหน้าชิ้นท้ายเป็นเลนส์เว้ากันทั้งหมด โครงสร้างการเรียงแต่ละกลุ่มก็มีความคล้ายกันครับ ถึงชิ้นเลนส์จะไม่เท่ากันก็ตาม ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้าน Optics แต่เห็นโครงสร้างของทั้งคู่แล้วก็รู้สึกว่ามันมาจากแนวคิดที่ใกล้เคียงกันครับ ลองนึกดูว่าแค่จับเลนส์ชิ้นที่ 1 (หน้าเลนส์ ชิ้นที่โดนแสงก่อนอันดับแรก) และชิ้นที่ 2 ของ Distagon มารวมกันเป็นเลนส์เดียวแบบ Summilux เลนส์กลุ่มที่เหลือ ลักษณะแทบจะเหมือนกันทั้งหมดเลยครับ แถมด้วย Zeiss ก็มี FLE (Floating elements) เช่นเดียวกับ Leica ตัวนี้ด้วย (ข้อมูลจาก www.zeiss.com)

Distagon มีชิ้นเลนส์ที่มี Aspherical surface 2 ชิ้น ในขณะที่ Summilux มี 1 ชิ้น

หน้าตาท่าทาง

เท่าที่ได้สัมผัสได้ลองใช้นะครับ โครงสร้าง วัสดุ ความแข็งแรง ผมว่าไม่หนีกันรถถังทั้งคู่ครับ แต่งานนี้ Zeiss ทำเลนส์ออกมาใหญ่กว่า Leica อยู่พอสมควรจนบางคนรู้สึกว่ามันเกะกะ แต่ Zeiss มันเจ๋งตรงที่เป็น Internal focus ครับ เวลาหมุนหาโฟกัสกระบอกเลนส์ไม่ยืดหด ต่างจาก Leica ที่มีการยืดหดของเลนส์ให้เห็นตามปกติของมัน อันนี้บางท่านก็ว่าฝุ่นเอยอะไรเอยจะเข้าไปติดในซอกหลืบที่มันยืดหดได้ง่ายเป็นที่รำคาญใจ

Distagon ยาว 65 มม. Summilux ยาว 46 มม. ต่างกัน 19 มม.

Distagon อ้วน 60 มม. (ส่วนที่อ้วนสุด 63 มม.) Summilux อ้วน 56 มม. ต่างกัน 4 มม.

ดูตัวเลขแล้วอาจรู้สึกว่าน้อยนะครับแต่ขนาดที่ต่างกัน 19 มม. กับ 4 มม. นี่เรื่องใหญ่ เรื่องนี้ผมมักสอนลูกศิษย์ผมอยู่เสมอ ๆ งานออกแบบยิ่งสเกลเล็กเท่าไรความอ่อนไหวต่อขนาดในการรับรู้ของคนก็จะยิ่งมากเท่านั้น การมีคลองกว้าง 6 เมตรกับ 8 เมตรในงานภูมิสถาปัตยกรรมภายนอกอาคารผู้ใช้งานอาจไม่ค่อยรู้สึกแตกต่างเท่าใด แต่งานออกแบบภายในอาคารก็เริ่มเห็นการถกเถียงกันแล้วว่าจะเอาความสูงโต๊ะรับประทานอาหารมาตรฐานยุโรปหรืออเมริกาดี (ต่างกัน 3 ซม.) วงการรถยนต์ก็เช่นกัน มิติความกว้างภายในต่างกันไม่กี่มิลลิเมตร ส่งผลต่อการอวยชัยให้พรของสำนักต่าง ๆ ต่อความโล่งสบายในห้องโดยสารทันที ประสาอะไรกับกล้องถ่ายภาพที่เราต้องหยิบจับมันทุกวัน ถ้านึกกันไม่ออกให้ลองจับ Leica M (typ 240) กับ Leica M10 เทียบกันดูครับ สองรุ่นนี้มีความหนาต่างกันแค่ 4 มม. แต่ความรู้สึกว่ากล้องใหญ่เล็กแตกต่างกันค่อนข้างมาก เอาล่ะครับงานนี้ ในการใช้งานจริง ด้วยความใหญ่ยาวดังปรากฏ โอกาสที่ Distagon จะถูกตราหน้าว่าเป็นเลนส์ใหญ่ เทอะทะ ก็เป็นไปได้ง่าย ๆ แถมยังไปบดบังภาพบางส่วนในช่องมองภาพเสียด้วย

ส่วนเรื่องงานประกอบ ผมว่าสองตัวนี้หายห่วง ดูแน่นหนาแข็งแรงดีทั้งคู่ครับ โลหะทั้งดุ้น ตัวที่ผมได้มาลองนี้วงแหวนโฟกัสของ Distagon จะให้ความรู้สึกหนืดกว่าพอควร และในการใช้งานจริงมันเลื่อนโฟกัสให้เข้าเป้าได้ยากกว่า Summilux

คุณภาพของภาพ

มาถึงส่วนสำคัญที่ทำให้ นักถ่ายภาพผู้ไม่ “ยึดติด” ได้เฮ คือคุณภาพของภาพครับ อย่างที่เกริ่นแล้ว ผมรู้สึกว่าเลนส์สองตัวนี้โครงสร้างคล้ายกันมาก ภาพที่ถ่ายออกมาก็คล้ายกันมาก ๆ เช่นกันครับ (เดาถูกเดาผิด หักปากกาเซียนกันมาหลายคน) วินาทีนี้บอกเลยว่าไม่มีมวยคู่ข้ามค่ายคู่ไหนที่จะชกกันได้มันส์ขนาดนี้อีกแล้วครับ

ที่ f1.4 Summilux ซ้าย Distagon ขวา​

สำหรับคนทั่วไปที่มองหาเลนส์ 35mm f1.4 M mount สุดยอดคุณภาพดี ดูภาพรวมนี้แล้วกำเงินออกไปซื้อ Distagon ได้ทันทีครับ ดูเผิน ๆ ไม่ต่าง ไม่ต่างเลยจริง ๆ ในราคาที่ถูกกว่ากันหลายเท่า แต่ถ้าใครซีเรียส ตามมาอ่านกันต่อครับ

ในภาพรวมนั้นคุณภาพของภาพแทบไม่ต่างกัน การไล่โทนความสว่าง คุณภาพการเบลอหลัง ต้องใช้คำว่าแทบจะเหมือนกัน เว้นแต่ภาพที่ออกมาบางภาพ Summilux จะให้โทนอุ่นกว่า Distagon ในขณะบางภาพก็ยังออกมาได้เท่า ๆ กันครับ อันนี้อาจเป็นที่ AWB กล้องแกว่งได้ด้วยส่วนหนึ่งเพราะกล้องผมมันปรับให้ Fixed สมดุลแสงขาวไม่ได้ครับ มันมีแต่ AWB อย่างเดียว แต่หลังจากที่ถ่ายเทียบกันหลาย ๆ ภาพช็อตแล้ว ภาพจาก Summilux มีแนวโน้มที่จะให้ภาพโทนอุ่นกว่าครับ

ที่ f1.4 Summilux ซ้าย Distagon ขวา​

คอนทราสต์โดยรวมของภาพ Summilux ให้ได้มากกว่า มิติความแตกต่างระหว่างส่วนมืดและส่วนสว่างทำได้ชัดเจน ความสว่างสามารถทอดตัวไปได้ไกลในขณะที่ยังรักษารายละเอียดได้ ในขณะเดียวกันส่วนมืดก็ชัดเจนว่ามืดแต่ไม่เสียรายละเอียดในนั้น (บรรยายเสียเหมือนรีวิวเครื่องเสียง) ส่งผลให้ภาพจาก Summilux มีความ “ใส” กว่า Distagon ที่เก็บรายละเอียดได้หมดแต่โทนของภาพมากองกันอยู่ที่ย่านกลางเสียมาก แต่ ๆ ๆ ๆ ย้ำว่าของแบบนี้ คนทั่ว ๆ ไปดูไม่ออกครับ ต้องเป็นคนบ้าตาทิพย์ นั่งเพ่งกันสักนิดนึง

"ความเถื่อนของหมัดเด็ดมันอยู่ที่การซูม"

ที่ f1.4 นี่สำคัญนัก

f นี้ หลายท่านกล่าวว่าซื้อเลนส์ 1.4 มาแล้วก็ต้องถ่ายที่ 1.4 สิฟะ จะไป stop downหวังคุณภ่งคุณภาพอะไร เร่เข้ามาครับ มาโดนกับสองตัวนี้หน่อย ดูกันไปหลาย ๆ ภาพนะครับ เดี๋ยวบรรลุ

- ถึงแม้ว่า Distagon จะมีขนาดฟิลเตอร์ถึง 49 มม. ในขณะที่ Summilux ใช้ขนาด 46 มม. แต่ขอบมืด (Vignette) ของ Distagon มีมากกว่าครับ

- ในขณะที่ความคม พูดได้เต็มปากว่า Distagon ให้ภาพที่คมกว่า Summilux ทั้งกลางภาพและขอบภาพ ซี๊ดเลย ถูกกว่า 3 เท่า (ถูกกว่าตัว Leica 60 โน่น 5 เท่า) แต่ได้ภาพคมกว่า เฉียบ! โดยที่ขอบ ๆ ภาพ Summilux จะมีความเบลอ ๆ ฟุ้ง ๆ วน ๆ กว่านิดหน่อย แต่ความคมกลางภาพเห็นชัดเจนครับว่า Summilux ด้อยกว่า Distagon ซึ่งเป็นเลนส์ที่ให้ดีเทลสูงมาก แสดงความคมชัดรายละเอียดระดับรูขุมขน ทั้ง ๆ ที่เป็นเลนส์ระยะ 35 มม. เป็นเลนส์มุมกว้าง สามารถพูดได้ว่ารายละเอียดน่าทึ่งครับ ในสภาพแสงแรง ๆ Summilux ยังมีอาการฟุ้งหน่อย ๆ ด้วยครับ (สาวกจุดแดงที่ยังบ่นกันว่า FLE มันคมเกินไป ไปชอบ pre-FLE หรือ AA หรือแม้แต่ pre-ASPH. กัน ซึ่งเป็นเรื่องของความชื่นชอบ Character ภาพอันนั้นไม่ว่ากัน แต่ถ้ามาเจอความคมของ Distagon แล้วจะนั่งอึ้งทึ่งเสียวแบบผม) ซึ่งความคมนี้ Summilux ก็ค่อย ๆ ตีตื้นขึ้นมาเรื่อย ๆ ตามจำนวน stop down กว่าจะมาทันกันก็โน่น f8 ที่เหลือไม่ค่อยมีอะไรต่างกันแล้วครับ (แสดงให้ดูภาพตามค่า f ต่าง ๆ ในตารางท้ายสุดนะครับ)

ที่ f1.4 Summilux ซ้าย Distagon ขวา​

สรุปกันเลยนะครับ Distagon ใหญ่กว่า ถูกกว่า คมกว่า ขอบมืดมากกว่า โทนเย็นกว่าหน่อย ได้จุดน้ำเงิน

Summilux เล็กกว่า แพงกว่า ภาพรวมใสกว่า โทรอุ่นกว่าหน่อย ได้จุดแดง

ก็สุดแท้แต่ท่านทั้งหลายจะเลือกนำไปใช้อย่างไรให้สมประโยชน์กับตัวท่านมากที่สุดครับ ผมว่ารีวิวนี้คงไม่กระทบกระเทือนจุดแดงในความเป็น Brand Royalty (ไม่งั้นพวก Limited คงขายกันไม่ออกแน่) จะมีก็แต่ผู้เขียนรีวิวโดนไล่เตะก็เท่านั้น แต่บทความนี้น่าจะเป็นการเปิดทางเลือกให้นักถ่ายภาพจริงจังใจเปิดกว้างที่อยากได้เลนส์คุณภาพสูงในราคาที่คุ้มค่ามากกว่า... เที่ยวสงกรานต์ให้สนุก แล้วกลับมาเอาเงินปาใส่ร้านกล้องกันครับ สวัสดี

Summilux ซ้าย Distagon ขวา​ ที่ f1.4 f5.6 f8 และ f16 พร้อมภาพขยายตามลำดับ

ปล. หลังจากที่คุยกับเพื่อนผู้รู้ @Jeff Meechai ไม่รู้จะต้องมียกสองกับเรื่อง Relative Sharpness และยังมีความคมในแต่ละย่านของสี Cutting ของชิ้นแก้วที่มาทำเลนส์ในแต่ละล็อตอีก มันชักจะลึกซึ้งไปใหญ่ ถ่ายภาพบ้าน ๆ มาให้ส่องเทียบกันแบบนี้ไปก่อนก็แล้วกันครับ

bottom of page