top of page

Summilux 1.4/35 ASPH. FLE edition "LEICA60"

Updated: Aug 24, 2023

"กิ่งทองใบหยก"

Leica Summilux 1.4/35 ASPH. FLE limited edition ณ ตอนนี้ (ต้นปี 2019) มีการทำรุ่น Limited edition ออกมามากมาย (กระนั้นก็ยังน้อยกว่า Summicron) เท่าที่ลองนับคร่าว ๆ น่าจะประมาณ ๆ นี้ (อาจตกหล่นบางรุ่น มีอะไรเพิ่มเติมหลังไมค์บอกกล่าวกันได้ครับ)

*M10 Zagato

diff design/Aluminium

250 units

*M edition LEICA60

diff design/Stainless steel

600 units

*M edition LEICA60 prototype

diff design/Stainless steel hairline finished

24 units

*M edition LEICA100

diff design/Stainless steel

101 units

*M9 Titanium

diff design/Titanium

500 units

M (typ 240) India edition

standard/Orange font

black 35 units / silver 35 units

70th Korea

standard/Blackpaint/lens hood

70 units

MP ROC Centennial

standard/Gold logo engraved

100 units

M-P (typ 240) Marina Bay Sand

standard/White font & logo

18 units

M-P (typ 240) Grip Rolf Sachs

standard/Red font (feet)

79 units

M-P (typ 240) Panda

standard/Black font

30 units

พวกที่กาดอกจันนำหน้าไว้คือเลนส์ Summilux 1.4/35 ASPH. FLE ที่ได้รับการออกแบบหน้าตาให้แตกต่าง เฉพาะของ Edition นั้นๆ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนสี เปลี่ยนฮูด หรือลงสีตัวอักษรใหม่ ความน่าเก็บน่าสะสมของมันก็มาจากจุดนี้ล่ะครับมันเป็นหนึ่งใน edition ที่ Leica ตั้งใจทำจริง ๆ เลนส์ Summilux 1.4/35 ASPH. FLE ผมเคยเขียนรีวิวไว้แล้วครั้งหนึ่งตามนี้ครับ

ถ้าใครซื้อเลนส์รุนนี้แยกจากชุดกรุณาตรวจสอบอุปกรณ์ให้ครบถ้วน ตัวเลนส์ (ซื้อเลนส์ไม่มีเลนส์ก็แย่ละ) ฝาหน้าสเตนเลสแบบครอบ ฝาท้ายสเตนเลส แหวนปิดเกลียวสเตนเลส ฮูดสเตนเลสกลม ส่วนมากจะแยกมากันเท่านี้ครับ ฝาปิดบอดี้สเตนเลสและกล่องยักษ์ใหญ่มักจะติดไปกับตัวกล้อง

Summilux 1.4/35 ASPH. FLE ในเซ็ตของ LEICA60 ตัวนี้ แค่หยิบมาใช้ก็ฟินแล้วครับ เพราะว่าอันดับแรกเลยคือหนักครับ ก็คงหนักจากวัสดุที่เป็น Stainless steel แตกต่างจากรุ่นปกติที่เป็นอลูมิเนียม (Summilux 35 FLE รุ่นปกติไม่มีทองเหลืองแล้วครับเพราะน้ำหนักเลนส์รุ่นปกติมันก็มากถึง 320g แล้ว เลนส์รุ่นก่อน ๆ สีดำมักจะเป็นอลูมิเนียมส่วนในรุ่นสีเงินก็มักจะเป็นทองเหลือง เช่น 35 Summilux pre-FLE หรือ 35 Summicron ASPH.1 เป็นต้น) ส่วน 35 Summilux LEICA60 นี้จะหาสเป็คต่าง ๆ อ่านไม่มีเลย มีแต่ข้อความกึ่งโฆษณาและคุณสมบัติรวม ๆ อยู่ในเล่มคู่มือเล่มใหญ่ปกแข็งของชุด M60 เท่านั้น ซึ่งแม้แต่โครงสร้างของเลนส์ หรือวัสดุ ก็ไม่มีสเป็คบอกไว้แต่อย่างใด สุด ๆ จริง ๆ กับเรื่องความเร้นลับของกล้องยี่ห้อนี้ แบรนด์อื่น ๆ เค้าอวดสเป็คกันหมดเปลือก ไลก้านี่ไม่เคย ให้ผู้ใช้เถียงกันเองไปงั้น จะบอกว่าสเตนเลสเป็นวัสดุที่ทำงานตัด เจียร ขึ้นรูปยากมากนะครับ เพราะมีความแข็งสูงกว่าทองเหลือง หรืออลูมิเนียมมาก เครื่องมือที่ใช้ทำก็เสื่อมเร็ว ผมว่าไลก้าคงไม่กล้าทำออกมาได้อีกง่าย ๆ

ภาพเปรียบเทียบสูตรเลนส์ Double gauss กับ DG type (Erwin Puts, 2012)

ตามคู่มืออันน้อยนิด บอกข้อมูลที่พอเป็นประโยชน์ไว้หน่อยว่า เลนส์ตัวนี้มี Chromatic aberration (CA) ถ้าถ่ายเปิดกว้างในสถานการณ์แสงที่มีความเปรียบต่างสูง ซึ่งจะหายไปถ้า stop down ลงมาสัก 2 - 3 stop หรือให้ใช้ Ligthroom ไปเลยจ้า เรียกว่าเอาข้อเสียมาบอกกันไว้ก่อนเพราะเลนส์รุ่นเก่า ๆ ที่ยังเป็นแบบ Double - gauss design มันไม่มี CA เลยเนี่ยสิ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อีกอย่าง มันบอกว่ามีเลนส์ 9 ชิ้น (ไม่มีภาพ section โครงสร้างเลนส์ให้ดูเหมือนตัวปกติ) เลนส์ 5 ชิ้นทำจาก Highly refractive glass และส่วน 5 ชิ้นหลังเป็น Floating element เป็นที่มาของตัวย่อ FLE ที่แฟน ๆ เรียกกัน (ไลก้าไม่เคยใส่คำว่า FLE ลงไปในชื่อเลนส์ ยังคงเรียกว่า Leica Summilux-M 35mm f/1.4 ASPH. เฉย ๆ) เขาระบุไว้ว่าเจ้า FLE นี้จะช่วยเรื่องคอนทราสในกรณีที่ถ่ายใกล้ ที่เหลือก็บรรยายไปว่ามีวงแหวนหมุนได้กี่วง ปรับอะไรบ้าง สเกลระยะเป็นยังไง ใช้ฟิลเตอร์ E46 เลนส์ฮูดเป็นแบบไขเกลียว (ซึ่งไม่ได้ระบุเลยว่าเป็นทรงกลม วัสดุเป็นสเตนเลสหรืออะไรก็ปล่อยทิ้งไว้เป็นปริศนาทั้งสิ้น เฉียบ!)

ในส่วนท้ายเล่มมี MTF chart เอาไว้ดูครับ ผมเอามาเทียบกับคู่มือของ 35 Summilux FLE ตัวปกติพบว่ามันต่างกันตรงที่ตัว LEICA60 edition พิมพ์หยักของโค้งได้ละเอียดกว่าและเส้นประถี่กว่าครับ (ฮา) ค่าต่าง ๆ ของกราฟเหมือนกันทุกประการ เพราะฉะนั้นถ้าใครถามถึงความแตกต่างกันระหว่าตัวปกติกับตัว LEICA60 ในเชิงเทคนิคแล้วอ้างอิงจาก MTF chart ที่แปะมาในคู่มือ ก็จะบอกได้ว่าเหมือนกันครับ ก็เลยลองถ่ายภาพเองดีกว่า

เห็นความแตกต่างไหมครับ

ลองตัดสินกันด้วยสายตาเล่น ๆ ครับ สภาพแสงกับมุมอาจจะไม่เป๊ะนะครับ เพราะสองภาพนี้ถ่ายห่างกันเป็นปี แค่พยายามวางถ่ายให้ได้มุมเดิมเวลาใกล้ๆเดิม มันก็เชื่อถือได้ไม่มากนัก แต่กล้องรุ่นเดียวกันครับ ให้ลองดูกันเล่น ๆ เอาเองสำหรับลักษณะภาพและ CA ระหว่าง FLE รุ่นธรรมดา กับ FLE M60

ซูมขยายกันชัด ๆ กับ CA ครับ ค่อย ๆ อภิเชษฐ์กันไปนะครับ

ลักษณะภายนอกของเลนส์ตัวนี้สายมินิมอลคงจะชอบเพราะดีไซน์อกมาเรียบเนียนเป็นทรงกระบอกตลอดความยาวเลนส์ วงแหวนโฟกัส วงแหวนปรับ f ไม่มีโค้งเว้าจุกจิกตามเลนส์ปกติ (แหวนปรับ f หนาขึ้นจนมาชนระดับเดียวกับแหวนโฟกัส) มีเพียงแต่ Focus tap สเตนเลสเท่านั้นที่ยื่นออกมาสำหรับเกี่ยวนิ้ว ตอบรับกับดีไซน์ของกล้องที่เป็นมินิมอลมาก ๆ ตั้งแต่ไม่มีจอไปจนถึงไม่มีหูคล้องสาย 555 ประกบใช้ด้วยกันมันคือกิ่งทองใบหยกครับ เสียดายเพียงอย่างเดียวคือมันมีจุดแดง ซึ่งเป็นจุดแดงจุดเดียวในกล้องทั้งเซ็ตนี้ วิจารณ์กันเป็นส่วนตัวผมว่ามันไม่เข้ากับอะไรเลย รำคาญตา 555 ใช้กล้องใช้เลนส์รุ่นนี้ไม่ต้องหวังให้ใครเห็นว่าฉันใช้ไลก้าเลยนะ คนทั่วไปไม่รู้แน่นอนครับ ต้องเป็นสายลึกแบบคนเล่นไลก้าด้วยกันเท่านั้นถึงจะรู้เรื่อง อิ อิ

เลนส์ฮูดของตัวนี้เป็นสเตนเลสสตีลทรงกลม ไขเกลียว เจาะช่องไว้สำหรับมองผ่านวิวไฟน์เดอร์แล้วไม่บังเฟรมภาพไว้เป็น 4 ช่อง ข้อดีของการไขเกลียวคือทำให้ทราบตำแหน่งล๊อกชัดเจน การวางก้านรับฮูดและการเจาะช่องทำได้สมมาตร คนใช้งานสบายใจเพราะไม่มีการหมุนไปผิดตำแหน่ง ถ้าเป็นล๊อกแบบเขี้ยวหนีบเดิม ฮูดมันจะหมุนได้ แถมยังจะถูเลนส์ไปเรื่อย ๆ เสียด้วย ขณะนี้ (ต้นปี 2019) ฮูดยังมีอะไหล่ขายอยู่บ้างราคาใกล้ ๆ 400 บาทอเมริกัน

ความไม่เข้าใจอย่างหนึ่งของเลนส์ตัวนี้คือ มัน "ราคาถูกมาก" เมื่อเทียบกับเลนส์ที่แยกจากชุด Edition อื่น ๆ ที่มีการออกแบบเปลี่ยนแปลงหน้าตาเลนส์ใหม่ เช่น เลนส์จาก M9 titanium หรือจาก M10 Zagato ที่แยกขายกันราคาแพงมาก แต่เลนส์ของชุด LEICA60 ตัวนี้ วัสดุก็แตกต่างจากรุ่นปกติ หน้าตาก็แตกต่าง แต่ราคายังถือว่าถูกมากเมื่อเทียบว่าเป็น 35 Summilux limited ตัวอื่นๆ ครับ

ตัวอย่างภาพจาก Leica Summilux 1.4/35 ASPH. FLE edition "LEICA60" ครับ

สุดท้าย ว่ากันเรื่องคาแรกเตอร์ของภาพ ตกลงมันเหมือนกับ FLE รุ่นปกติเป๊ะ ๆ หรือมีอะไรต่างกัน หรือเป็นไปได้ว่าเลนส์ Hand made ของไลก้าทุกตัวมันมีลักษณะต่างกันเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ปล่อยให้เป็นความเร้นลับต่อไปเทอญ ผมเทียบให้เห็นได้เพียงเท่านี้ แล้วก็ซื้อสะสมกันต่อไป ทราบแต่ว่า กล้องรุ่นนี้ก็ต้องเลนส์ตัวนี้ถึงจะเหมาะสมกันที่สุด สวัสดี...

bottom of page