top of page

Leica Noctilux 1/50 V.2

Updated: Apr 9

"เปิดโลกใหม่"

สวัสดีครับ มาทักทายกันครั้งนี้เพราะได้มีโอกาสก้าวขึ้นมาเล่นเลนส์ระยะ 50mm แบบอาวุธหนักครับ หลังจากได้ลองรีวิว Voigtlander Heliar 3.5/50 สุดคม และ Leica Elmar 2.8/50 สุดดราม่า ไปคร่าวก่อน ๆ คราวนี้ก็ต้องมาถึงตัวโหดอย่าง Leica Noctilux 1/50 V.2 กันบ้างครับ ออกตัวก่อนเช่นเคยว่ายังไม่ค่อยมีประสบการณ์เกี่ยวกับเลนส์ 50mm ของ Leica มากนัก แต่ก็ถือเสียว่าเอาความเห็นและการใช้งานมาแชร์กันให้อ่านเล่นนะครับ เพลิน ๆ ผิดถูกประการใด พี่ ๆ เพื่อน ๆ ทักทายมาแก้ไขกันได้ครับ สวัสดี

เอ้า ยังไม่จบ เพิ่งเริ่มครับ หลายคน (รวมถึงผมด้วย) น่าจะรู้สึกสยอง ๆ เล็กน้อยที่จะเอาเงินระดับ (อะแฮ่ม ต้องเซนเซอร์ราคา) ไปทุ่มซื้อเลนส์ 50 mm ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเลนส์กลุ่มที่สว่างที่สุด (f กว้างที่สุด) แถมยังเก่าอีกต่างหาก ทำไมถึงเลือกซื้อ อาจรู้สึกว่าไม่คุ้มค่า แพงเกินไป ฯลฯ จริง ๆ เราเปิดอกคุยกันเลยครับ ผมว่าใครที่ก้าวเข้ามาเล่นยี่ห้อนี้แล้วเรื่องความคุ้มค่าคุ้มราคาประเภท Top value lenses คงเลิกพูดถึงกันไปแล้วครับ เราน่าจะเป็นผู้แสวงหาอะไรบางอย่างจากภาพเหมือนกัน ๆ อะไรบางอย่างที่พิเศษ มีความเป็นปัจเจกในแนวทางแต่ละคน และคุณภาพไม่ต่ำต้อยนัก เลนส์ไลก้าถึงแม้ว่าราคามันจะแพง แต่ราคามันไม่ตกครับ ถึงจะตกก็ตกน้อย ช่วงหลัง ๆ พอคนเริ่มเล่นกันเยอะ ๆ อาจมีราคาผันผวนในตลาดบ้าง แต่ก็มีขึ้นมีลงครับ อย่างน้อยที่สุดถ้าเทียบกับยี่ห้ออื่น ก็ขาดทุนน้อยกว่าแน่นอน (คิดเป็นร้อยละนะครับ อย่าคิดเป็นบาท) เพราะเลนส์ Nikkor 50 f1.2 มือหมุนมือสองราคาก็อยู่ระดับหมื่นต้น ๆ หรือ Voigtlander 50 f1.1 ก็หมื่นต้น ๆ เท่านั้นเอง แล้วทำไมต้องมาเล่นไลก้าราคาหลายแสนล่ะครับพี่น้องครับ (อ้าวเผลอบอกราคาไปเสียแล้ว)

อย่างหนึ่งที่ผมพบจากเลนส์ตัวนี้ที่รู้สึกว่ามีความแตกต่างจากเลนส์ยี่ห้ออื่น ๆ ชัดเจนคือ โทนสี คอนทราส และความคมที่ Wide open ครับ แต่ก่อนจะไปขุดคุ้ยกันเรื่องนั้น อีกประเด็นที่เพิ่มคุณค่าให้เลนส์สายนี้เป็นอย่างมากคือประวัติศาสตร์ของมันครับ เอาจริง ๆ แล้วพวกตระกูล Noctilux ของไลก้า สำหรับท่านที่ยังไม่คุ้นเคย มันไม่ได้เริ่มต้นที่ V1 นะครับ แต่มันมีการแยกตาม Major change ของมันมาก่อนดังชี้แจงเป็นข้อ ๆ นี้ครับ

1. f1.2

Leica Noctilux 1.2/50

1966 - 1975

11820

F กว้างสุด 1.2

ระยะ 50mm

โครงสร้าง 6 ชิ้น 4 กลุ่ม มี Aspherical 2 surfaces

โฟกัสใกล้สุด 1 เมตร

น้ำหนัก 450g

2. f1

Leica Noctilux 1/50

1975 - 2008

11821, 11822

F กว้างสุด 1

ระยะ 50mm

โครงสร้าง 7 ชิ้น 6 กลุ่ม

โฟกัสใกล้สุด 1 เมตร

V1-V3 หนัก 580g

V4 หนัก 630g

*ทุกเวอร์ชัน มีแต่อลูมิเนียมทำสีดำล้วนครับ

เนื่องจากผมยังใหม่ในวงการ 50mm เลยขอไปสัมภาษณ์เสี่ยอ๋อยแห่ง FF เปรียบเทียบกับข้อมูลใน Leica Chronicle ของ Erwin Puts ซึ่งแกให้การไว้ว่าดังนี้

2.1 1st version E58 เป็นเวอร์ชันแรกที่ออก

2.2 2nd version E60 ใช้ฮูดแบบเขี้ยวล็อค ปรับขนาดฟิลเตอร์เป็น 60mm แก้ไขเรื่องขอบมืด (Vignette) ของเลนส์

2.3 3rd version ปรับดีไซน์ Hood ใหม่เป็นแบบ Clip on ทุกอย่างคงเดิม

2.4 4th version เปลี่ยนเป็น Build in hood และแก้ไขเรื่องการ Coating ของเลนส์ ซึ่ง V4 นี่ก็เป็นที่ถูกอกถูกใจนักสะสมกันอยู่เหมือนกัน และเจ้า V4 นี้จะมี 100 ตัวสุดท้ายเป็น Special edition (Leica เล่นมุขนี้บ่อยเหมือนกัน)

3. f0.95

Leica Noctilux 0.95/50

2008 - ปัจจุบัน

F กว้างสุด 0.95

ระยะ 50mm

โครงสร้าง 8 ชิ้น 5 กลุ่ม

โฟกัสใกล้สุด 1 เมตร

น้ำหนัก 700g

Build in Hood

ถ้าอยากเห็นหน้าตาก็ไปหาดูตามเว็บต่าง ๆ ได้ครับ อย่างของตา Overgaard ก็มีหน้าตาแต่ละรุ่นให้ดู ว่าไปแล้วจะพบว่า Noctilux 1/50 V.2 ที่ผมถืออยู่นี้ก็ผลิตมาโบราณนานโขอยู่ ผลิตในปี ค.ศ. 1982 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของ V.2 และเป็นปีแรกของไลน์การผลิต V.3 ครับ เลนส์ตัวนี้ made in Canada ครับ ได้ยินว่า Canada อย่างเพิ่งรีบดูถูกดูแคลนว่าไม่ใช่เยอรมันฉันจะไม่เอานะครับ จะบอกว่าเลนส์ที่ผลิตจาก Canada ดัง ๆ มีหลายตัวเลย ไม่ว่าจะเป็น Summilux 1.4/35 V.1 Steel rim หรือ V.2 (ผลิตในเยอรมันแค่ล็อตหลัง ๆ) หรือเจ้า Summilux 1.4/75 V.1 V.2 ก็ผลิตใน Canada ทั้งนั้นครับ

เลนส์ตัวนี้มาในรูปทรงกระบอกอ้วน ๆ เพราะมันต้อง f1 นี่นะ งานประกอบแน่นหนาได้คุณภาพดีไม่มีห่วง เรื่องน้ำหนักเป็นไม้เบื่อไม้เมากับ Noct อยู่แล้วซึ่งผมก็ว่ามันมากไปหน่อย (แต่ยังเบากว่าตัวล่าสุดเยอะอยู่) มากเกินที่จะห้อยคอแล้วรู้สึกสบาย ๆ กล้องมันจะเทน้ำหนักไปข้างหน้า ทำให้ภาระของสายคล้องสายสะพายมากขึ้น พกไปเดินสตรีทสบาย ๆ คงไม่ไหว วงแหวน f คลิ๊กชัดเจน วงแหวนโฟกัสไม่มี focus tab นะครับเพราะที่ f1 Depth มันบางมาก ผมว่าเอามือจับแล้วหมุนจะค่อนข้างปรับละเอียดได้เที่ยงตรงมากกว่า ฮูดรุ่นนี้เป็นพลาสติก โดยมีเขี้ยวโลหะฝังอยู่บนตัวเลนส์เอาไว้หมุนฮูดเข้าไปเกี่ยวแล้วล็อคไว้ เวลาจะปลดล็อคก็กดลงนิดหนึ่งแล้วหมุนฮูดออกได้ ง่าย ๆ แบบนี้ครับ แต่ข้อเสียก็คือเวลาไม่ใส่ฮูดมันจะมีเขี้ยวโลหะโผล่คาอยู่เป็นที่รำคาญตาได้เหมือนกัน

วัดสายตากันครับ ภาพรวม กลางภาพ ขอบภาพ ที่ f1

เรื่องความคมไอ้ตัวสุดท้าย f0.95 ASPH. นี่แหละที่เอาเรื่องมาก ๆ นอกจากจะคมแล้ว มันยังขุดเอาคอนทราสเล็ก ๆ น้อย ๆ ขึ้นมาด้วย ทำให้เวลาถ่ายคนหลายท่านอาจไม่แฮปปี้เท่าไร สิวฝ้าริ้วรอยหรือทาแป้งไม่เรียบมันฟ้องเยอะแยะไปหมด เป็นที่มาของคำว่าคมเกินไป (จนทำให้ผู้ใช้งานอีกหลาย ๆ ค่ายค้อนกันตาคว่ำตาหงายว่ามันมีคำแบบนี้ด้วยหรือ พูดเกินจริงไปรึเปล่า) แต่เจ้าพวกตัวเก่า ๆ ลงไปนี่แหละสำคัญนัก สิ่งหนึ่งที่เชื่อใจไลก้าได้มาตั้งแต่ไหนแต่แต่ไรเลยคือยี่ห้อนี้ไม่เคยทำเลนส์กระจอกครับ มันแพงและมันก็ต้องดีด้วย ถึงจะขายได้ การเปิดถ่ายภาพที่ f กว้างสุด หลายยี่ห้อจะฟุ้ง จะเสียความคม เสียคอนทราส จนบางรุ่นถึงกับใช้งานหวังผลกันไม่ได้ แต่ Noct 1/50 V.2 ตัวที่ผมลองนี้ทำได้ดีตั้งแต่ f1 ครับ กลางภาพ ไม่นัว ไม่ตุ่น ฟุ้งนิดหน่อย (แต่ยังคม) ในบางสภาพแสง ถ้าโฟกัสเข้าที่ ภาพคมชัด คอนทราสดีใช้งานได้เลย ยิ่งถ้าคนถ่ายภาพเป็นและเลือกสภาพแสงได้เหมาะสม ไม่ใช่สักแต่กด ๆ ทิ้งขว้าง (แบบผม) ภาพจะดีไม่มีผิดหวังตั้งแต่ wide open แน่นอนครับ กดลองดูครั้งเดียวก็เห็นความแตกต่างเลย แล้วความคมกลางภาพที่ f กว้างสุดนี่ ไม่ใช่ไม่คมนะครับ มันคมครับ แต่ภาพมันไม่รู้สึกว่าถูกบีบเค้นเอา Details เหมือนเลนส์ไลก้ารุ่นใหม่ ๆ มันคมดูสบายเป็นธรรมชาติ โดยที่กำลังแยกขยายยังสูงลิ่ว ขยายมามาดูก็ยังฟินกันได้อยู่ครับ ส่วน Noctilux ตัวแรก 50mm f1.2 ยังไม่เคยลองนะครับ ใครจะไปซื้อไหว เลนส์ตัวละล้านกว่า... มาว่ากันเรื่องขอบภาพของ Noct V.2 ต่อ ภาพที่ wide open ขอบภาพมีโคม่าเข้ามารบกวนพอสมควรครับ ซึ่งจะหายไปเมื่อหรี่ค่ารูรับแสงให้มากขึ้นตามลำดับ ผมขอแสดงภาพรวม ขยายกลางภาพ และขยายขอบภาพ ของแต่ละ f ไล่ไปดังนี้ครับ

f1

f1.4

f2

f2.8

f4

f5.6

f8

f11

f16

เรื่องขอบมืด ถึงจะเคลมว่าพัฒนามาจาก V.1 แล้ว แต่ก็ยังมีให้เห็นอยู่ค่อนข้างชัดเจนครับ เลนส์สว่างมากแต่ต้องทำตัวเล็กก็เป็นแบบนี้ แต่เรื่องขอบมืดนี่ก็แปลก เลนส์สว่าง ๆ รุ่นใหม่ ๆ ของไลก้าก็ยังมีขอบมืดอยู่ เหมือนตั้งใจจะอนุรักษ์มันไว้ ในขณะที่เลนส์ที่เอาดีเชิงเทคนิคจากค่ายอื่น ๆ พยายามกำจัดทิ้งกันทุกหนทาง ซึ่งผมเคยเขียนไว้ในหลายบทความก่อนหน้านี้แล้วว่าเลนส์ที่มีขอบมืด วัดด้วยคะแนนทางเทคนิคมันคงสู้ไม่ได้ แค่คาแรกเตอร์และอารมณ์ของภาพมันมาแน่ ๆ ถ้าขอบมืดในเลนส์มุมกว้างอาจเป็นอุปสรรคในการถ่ายภาพ แต่ถ้าเป็นระยะ 50 ขึ้นไป ถ่ายโดยมีตัวแบบเป็นจุดเด่นชัดเจน ขอบมืดนี่แหละครับ จะช่วยเสริมให้แบบเด่น และมีความดราม่าในภาพได้ง่ายขึ้นเยอะทีเดียว Noct 1/50 V.2 นี้ขอบมืดจะมีมากที่ f1 และ f1.4 พอหรี่รูรับแสงลงมาที่ f2 ขอบมืดก็หายไปมากอย่างมีนัยสำคัญ และจะหายไปอย่างหมดจดที่ f5.6 ครับ

ภาพขอบมืดของ Noctilux 1/50 V.2 ที่ f1 ครับ

ขอบมืดแล้วก็ต้องขอบม่วงครับ มีมาให้เห็นได้บ้างในบางสถานการณ์ที่แสงมีความเปรียบต่างสูง เท่าที่สังเกตเห็นไม่ได้มาเป็นขอบคม ๆ นะครับ แต่นวลมา ม่วงหนา ๆ จาง ๆ ครับ ถือว่าน้อยแต่ก็ยังมีครับ นอกจากที่ f กว้างแล้ว ที่ f แคบ ๆ อย่าง f11 และ f16 บางสถานการณ์ก็เห็นสีม่วงแทรกเข้ามาเป็นปื้น ๆ ตรงกลางภาพได้เหมือนกัน ลองสังเกตกันดูจากภาพนะครับ

ภาพเปรียบเทียบขอบม่วงที่ f กว้างสุดของ Leica Noctilux 1/50 V.2 (ซ้าย) และ Voigtlander Nokton 1.1/50 (ขวา)

ภาพปื้น ๆ สีม่วงของ Noctilux 1/50 V.2 ที่ f แคบ ๆ (สังเกตที่กลางภาพ)

L1004440-16

สีสันครับ เลนส์ตัวนี้ผมว่าชอบแดดและแสงไฟ ประสบการณ์ส่วนตัวเท่าที่ลองเล่นมาผมว่าถ่ายภาพช่วงแดดเย็น ๆ จะเด็ดที่สุดครับ ยิ่งถ้าจัดย้อนแสงในบางมุมจะได้แฟลร์ที่ทำให้โทนภาพเปลี่ยนไปได้อารมณ์อีกแบบ หรือถ่ายไฟกลางคืนก็ให้สีสันได้ดีครับ แต่จะยกเว้นในบางสภาพแสงที่อยู่ในร่มเงาภาพจะติดโทนเขียวกับฟ้าค่อนข้างมากไปหน่อย

ภาพเปรียบเทียบถ่ายภาพในแสงบ่าย ๆ เย็น ๆ ที่ f กว้างสุดของ Leica Noctilux 1/50 V.2 (ซ้าย) และ Voigtlander Nokton 1.1/50 (ขวา) จะเห็นชัดเจนเลยว่าคาแรกเตอร์ของภาพแตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องคอนทราสและความอิ่มของสี

ตัวอย่างภาพย้อนแสงยามเย็น และภาพกลางคืนจาก Noctilux 1/50 V.2 ครับ

โบเก้ที่เลนส์ตัวนี้จัดให้ แน่นอนว่าลูกใหญ่ แต่ไม่ได้ใหญ่เสมอกันทั้งภาพ ขอบภาพโบเก้จะถูกบีบจนเหมือนสามเหลี่ยมเล็ก ๆ และมีอาการหมุนเล็กน้อย เพราะข้อจำกัดของเลนส์ชิ้นหน้าที่ทำไม่ได้ใหญ่โตมาก ตัวโบเก้เองก็ไม่ได้มีลักษณะในอุดมคติเท่าใดนักเพราะมีขอบสว่าง โดยขอบสว่างด้านในจะสว่างมากกว่าเหมือนเกล็ดปลาหันเข้าสู่กลางภาพ การเบลอหลังจะไม่นวลเนียนแบบเลนส์สมัยใหม่ และอย่างที่ว่าจะเบลอหลังได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับเลนส์ f1 จากค่ายอื่น เพราะขนาดของเลนส์ไลก้าเป็นตัวจำกัดนั่นเอง แต่การเบลอหลังที่ไม่นวลเนียนนี่แหละครับ จะทำให้เกิด Uniqueness ที่ทำให้เลนส์แต่ละตัวมีคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกัน

สรุป ๆ ว่านี่เป็นครั้งแรกที่มี Noct ในมือ และเอาเป็นว่า Noctilux 1/50 V.2 บอกได้เลยครับว่า “เหลือเฟือ” กับการใช้งานและ น่าจะเป็นตัวที่คุ้มราคาที่สุดแล้วใน 4 Version ของ f1 ครับ ยิ่งช่วงนี้ราคา Noct ค่อนข้างน่ารัก เมื่อเทียบกับช่วงสักสิบปีที่แล้ว ที่เจ้า 0.95 มันขาดตลาด ราคาพุ่งสูงขึ้นไปเยอะมาก ดอยกันเป็นแถว ตอนนี้มีรถขายรถครับ ซื้อเลนส์ดีกว่า 555 แล้วมาเปิดโลกใหม่กับ Noct ด้วยกันครับ

ปิดท้ายด้วยตัวอย่างภาพจากเลนส์ตัวนี้ จับคู่กับ Leica M60 กันดูครับ

bottom of page