top of page

Heliar APO-Summicron Rigid 2/50 titanium black paint V4

Updated: Aug 24, 2023

สวัสดีครับ จั่วหัวเสียอ่านไม่รู้เรื่อง มารอบนี้ได้รับภารกิจอันยิ่งใหญ่(มาก) สืบเนื่องมาจากผมเป็นคนถ่ายภาพมาสาย 35mm โดยตลอด (มี Voigtlander Heliar 3.5/50 ติดกระเป๋าอยู่ตัวเดียวเพราะรู้สึกว่าถูกและดี จึงไม่ได้คิดจะหาตัวอื่น ๆ มาแทน) จึงมีพี่ ๆ แนะนำและป้ายยาให้มาลองช่วง 50 เล่นดูบ้าง ถึงขนาดให้หยิบยืมเลนส์ระดับตำนานมาทดลองกันเลยทีเดียว ต้องขอขอบพระคุณพี่ใหญ่ใจดี พี่หมอ @Pun Sanchai และแอดมินกลุ่ม Leica M60 ใจดี @Ithidech Sukitjavanich ที่ให้ผมได้มีโอกาสทดลองเลนส์มหาเทพ 50mm อย่าง Leica APO-Summicron 2/50 ASPH. FLE titanium และ Leica Summicron 2/50 V2 rigid original black paint สองตัวนี้ถ้าไม่ใช่ระดับสาวกอาจไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้าใครอยู่ในวงการเห็นคนห้อยสองตัวนี้มาก็เตรียมกราบไหว้ถวายน้ำแดงกันได้เลยครับ มันเป็นของหาไม่ง่าย อืม... เรียกว่าหายากไปเลยก็ได้ครับ และโอกาสนี้เพื่อความดราม่าที่ซับซ้อนมากขึ้น ผมเลยหยอด Voigtlander Heliar 3.5/50 V4 Vintage line มวยรองบ่อนราคาถูก ของตัวเองเข้าไปเปรียบเทียบด้วยอีกตัว จะได้รู้กันไปว่าเลนส์ที่ราคามันต่างกัน 30 เท่า 50 เท่า มันมีอะไรต่างกันบ้าง

แนะนำตัวพอสังเขปดังนี้

50 Rigid

Leica Summicron 2/50 V2 rigid original black paint ตัวนี้ข้อมูลไม่แน่ชัดไม่กล้าเขียน แต่หายากสุด ๆ และเป็นที่หมายปองของนักสะสมทั่วโลก

Rigid ทำตลาดอยู่ในช่วง 1956 - 1968

โครงสร้าง 7 ชิ้น 6 กลุ่ม (4 ใน 7 เป็น LaK9)

โฟกัสใกล้สุด 1 เมตร

น้ำหนัก 285 กรัม

ฟิลเตอร์ E39

50 APO

Leica APO-Summicron 2/50 ASPH. FLE titanium (มากับ M-P (typ 240) titanium ผลิตเพียง 333 ชุด)

(หนังสือของ Erwin putt ใส่ FLE พ่วงมาด้วย เพราะมันมี floating elements อยู่ส่วนท้ายครับ)

รุ่นปกติวางตลาดปี 2012

titanium set วางตลาดปี 2016

โครงสร้าง 8 ชิ้น 5 กลุ่ม (มี ASPH. 1 surface)

โฟกัสใกล้สุด 0.7 เมตร

น้ำหนัก 300 กรัม

ฟิลเตอร์ E39

50 Voigt

Voigtlander Heliar 3.5/50 V4 Vintage line

วางตลาดปี 2017

โครงสร้าง 5 ชิ้น 3 กลุ่ม

โฟกัสใกล้สุด 0.7 เมตร

น้ำหนัก 187 กรัม

ฟิลเตอร์ 27mm

จะว่าไปแล้วเลนส์ 3 ตัวนี้ก็ดูไม่น่าจะเอามาเทียบกันได้เท่าไร เพราะถ้าให้หลับตาจิ้มก็คงจะบอกกันได้ว่าเจ้า 50 APO คงจะนำมาเป็นที่หนึ่ง ถ้าเอา 50 APO มาเทียบกับ 50 summicron V4 BIH อาจจะมองเห็นอะไรได้มากกว่า แต่ก็นั่นแหละครับ โอกาสมันมาแบบนี้ ผมก็ขอจัดรายการชกกันไปตามนี้ก็แล้วกัน ภายหลังท่านแอดมินมากระซิบว่า เจ้า 50 APO นั่น Peter Karbe เอาเจ้าตัว Rigid มาตั้งต้นในการออกแบบนะ Rigid มันเจ๋งกว่าเห็น ๆ ฮ่ะ ๆ ๆ

แรกรับเลนส์มา ในความคิดแรกของผมเลยก็คืออยากลองเจ้า APO นี่แหละครับ เพราะแค่ตัวธรรมดาราคามันก็เลยสองแสนไปแล้ว (ส่วนเจ้า 50 Rigid ค่อนข้างเฉย ๆ เพราะเคยรีวิวกันไปแล้วครั้งหนึ่ง) 50 APO เป็นเลนส์ที่ไม่เคยคิดจะเล่นมาก่อนเลย อย่างที่ทราบ ราคามันสูงมาก จนคิดว่าลองไปก็คงไม่ได้หามาใช้ครับ ถ้าจะเปรียบเทียบก็ต้องเปรียบว่าเจ้า 50 APO ตัวนี้มันเหมือนซูเปอร์คาร์ แพง แรง เทคโนโลยีทันสมัย ไม่มีการประนีประนอม ยิ่งตัวนี้เป็น titanium (ซึ่งเป็น Ti แท้ ๆ แล้ว ไม่ใช่แค่ทำสี Titanium เหมือนสมัยก่อน ราคานี่กระโดดขึ้นไปกว่าปกติอีกเป็นแสนๆ ส่วน 50 Rigid คงเหมือนรถเก่า รถคลาสสิกยิ่งแปะ Original black paint ดีกรีความหายากนี่กระฉูดครับ ราคาแพงกว่าเจ้าซูเปอร์คาร์รุ่นพิเศษไปเกือบสองเท่า ประสิทธิภาพไม่ต้องพูดถึง รถเคยแรงเมื่อ 60 ปีก่อน มาวิ่งปัจจุบันก็เต่าครับ แต่ในแง่ของนักสะสม มันตื่นเต้นมากที่ได้เห็นและได้จับตัวจริง ๆ คาแรกเตอร์ของการขับขี่มันชัดเจน เมื่อฝั่ง Leica เปรียบได้กับรถแรง รถหรู รถคลาสสิกหายากแล้ว ฝั่ง Voigtlander คงจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากรถญี่ปุ่น (แน่ล่ะยี่ห้อเยอรมันแต่ถูกซื้อไปโดย Cosina) ถึงแม้ว่าจะใช้สูตรเลนส์เก่า แต่ยังดีมากในปัจจุบัน เป็นรถที่ขับดี แรงใช้ได้ แต่ราคาถูกสุด ๆ (กรุณาอย่าเทียบกับเลนส์ค่ายเหลืองค่ายแดง เพราะว่าราคาเท่านี้ สองเจ้านั้นคงได้ f1.4 ไปละลายหลังเล่นกันสบายใจ นี่อะไร ได้มือหมุน f3.5 แต่ ๆ รอดูภาพกันก่อนนะครับ)

50 Voigt ตัวนี้ผมได้มานานและก็ใช้มาเรื่อย ๆ ใช้บ้างเก็บบ้าง (ส่วนใหญ่จะใช้ 35mm) และผมก็พอใจกับมันมากจนเรียกว่าจะเป็นตัวจบของ 50 กลาย ๆ ไปแล้วก็ยังได้ เพราะถ้าไม่ซีเรียสเรื่องหน้าชัดหลังเบลอเสียอย่าง เลนส์ตัวนี้มันให้โทนดี รายละเอียดดี คมดีมาก ทุกอย่างเหมือนจะดีไปหมด แต่พอมาคราวนี้ เอามาเปรียบเทียบกับ 50 APO แล้วทุกอย่างมันก็ฟ้องครับ APO ดีกว่าไปอีกระดับจริง ๆ บางท่านอาจได้อ่านรีวิว (ผมก็เคยอ่านมาก่อนจะเขียนเรื่อง 50 Voigt ตัวนี้) ที่ว่าโทนของ 50 Voigt ตัวนี้เทียบได้กับ 50 APO เพียงแค่ไม่มี f2 เท่านั้นเอง ตอนนี้ผมจะบอกว่าผมได้ลอง 50 APO แล้วครับ ขอยืนยันว่าคำพูดเหล่านั้น “ไม่เป็นความจริง” 50 Voigt ดีมาก ๆ ครับ เทียบกับเลนส์อื่น ๆ ในช่วงเดียวกัน มันดีกว่าเกือบหมดครับ ณ ตอนนั้นมันรู้สึกว่าแทบจะสมบูรณ์แบบจริง ๆ เมื่อเทียบกับเลนส์ 50mm ในท้องตลาดทั่ว ๆ ไป แต่ไม่ใช่การเอามาเทียบกับ 50 APO ครับ เจ้า APO นี่มันแสดงให้เห็นว่าเหนือฟ้ายังมีฟ้า และยังมีสตราโทสเฟียร์ มีโซสเฟียร์ เทอร์โมสเฟียร์ เอกโซสเฟียร์ แล้วถึงจะเป็น 50 APO ครับ ใครยังไม่ได้ลองขอแนะนำให้ลองครับจะได้เห็นว่าที่เราว่าคมแล้วคมกว่ามันเป็นยังไง ดีเทลดีแล้วดีเทลที่ดีกว่ามันเป็นยังไง มันเปิดโลกครับ แต่ข้อเสียก็คือกลับไปมองภาพเก่า ๆ มันดูไม่สวยเสียแล้ว เหมือนพวกเล่นเครื่องเสียงครับ ถ้าลองได้ฟังจากของดีกว่าแล้ว กลับมาฟังของที่มีอยู่มันกลับไม่เพราะไปเสียอย่างนั้น

เกริ่นมาจนแทบสรุป ยังไม่เห็นหน้าค่าตากันเลยสักภาพ จัดไปตามนี้ครับ

.

.

.

เปิดรูรับแสงกว้างสุดของทุกตัวครับ

ครอบเข้ามาให้ดูหน้ากันชัด ๆ ครับ ดีเทล โทน คอนทราส ฯลฯ

วิเคราะห์กันสักนิดหน่อย

50 Rigid มีคาแรกเตอร์ที่แตกต่างออกไปจากอีก 2 ตัวมาก เพราะที่ f กว้างสุดจะให้ความฟุ้งความนัว ๆ เข้ามาปนด้วยครับ (ตัวนี้เหมือนจะฟุ้ง ๆ กว่าตัวที่เคยทดสอบไว้เมื่อปี 2016 อาจเป็นเพราะหลุดโฟกัสนิด ๆ ก็เป็นไปได้ครับ เพราะส่วนที่คมมันก็คม แต่ตรงที่อยากให้คมมันดันไม่คมน่ะนะ) โทนภาพอมสีเขียวค่อนข้างชัดเจน จั่วกันไว้แล้วว่าเป็นเลนส์เก่า เล่นเอาสะสม เล่นเอาคาแรกเตอร์ แต่สารรูปแบบนี้เป็นภาพขาวดำน่าจะมีความเด็ดใช้ได้ครับ อีกอย่างที่จะแอบบอกคือ เลนส์ตัวนี้สาว ๆ น่าจะชอบครับ เพราะที่ f กว้างสุดมันไม่ฟ้องดีเทลระดับขุดคุ้ยแบบอีกสองตัว แต่อย่าหรี่ f นะครับ คมเป็นเรื่องเช่นกัน

50 APO บอกได้ว่าใกล้เคียงกับคำว่าสมบูรณ์แบบมากตั้งแต่รูรับแสงกว้างสุด เพราะโทน สีสันตรง ไม่เร่งสี คอนทราส ดีเทล การเก็บรายละเอียดส่วนมืดและสว่าง ขอบมืด ทุกอย่างทำได้ดีครับ หาที่ติไม่ได้ แต่อยากให้ทุกท่านสังเกตกันตรงนี้ครับ การเก็บไดนามิกเรนจ์ (ส่วนมืดส่วนสว่างของภาพ) เลนส์ไลก้าทำได้ดีกว่า Voigtlander ชัดเจนและมีความเสมอต้นเสมอปลายมานานกว่า 60 ปีนะครับ เพราะทั้งตัว Rigid และ APO คอนทราสของภาพอยู่ในโทนที่ใกล้เคียงกันทีเดียว

50 Voigt เอาให้หลาย ๆ คนดูบางคนชอบ บางคนไม่ชอบ ข้อจำกัดที่เห็นของมันนอกเหนือจากการทำ f กว้างสุดได้แค่ 3.5 คือมันเป็นเลนส์ที่มีคอนทราสค่อนข้างสูงครับ เอามาถ่ายคนในบางสภาพแสงจะเห็นว่าเกลี่ยแสงบนผิวได้ดีสู้ฝั่งไลก้าไม่ได้ ส่วนสว่างมีโอเวอร์หายไปบ้าง ส่วนมืดก็จมไปบ้าง สีจัดจ้านเกินจริงไปบ้าง แต่โทนทั้งหมดของภาพก็ยังถือว่าทำมาได้ดีครับ ถ้าถ่ายธรรมชาตินี่ผมว่าเด็ดมาก ๆ ครับ อีกอย่างหนึ่งที่เห็นจาก 50 Voigt คือ ทั้ง ๆ ที่มีเลนส์แค่ 5 ชิ้น 3 กลุ่ม แต่มันกินแสงมากกว่าเลนส์ Leica ประมาณ 0.5 stop ครับ (เทียบที่ f เดียวกัน) แปลกดีเหมือนกัน แถมมาด้วย CA ขอบม่วงในสถานการณ์ที่มีความเปรียบต่างสูง ซึ่งเราไม่มีทางได้เห็นจาก Leica อีกสองรุ่นที่นำมาทดสอบครับ เขียนมาแบบนี้อย่าคิดว่าห่วยจนเอาไปปาหัวหมานะครับ ย้ำว่าเลนส์มันดีมากครับ เพียงแค่มันเจอของดีกว่า ให้ภาพเป็นผู้ตัดสินก็แล้วกันครับ

ชุดแรก wide open ครับ

ครอปกลางภาพ

ครอปมุมขวาบนของภาพ

ชุด 2 f8 ครับ

ครอปกลางภาพ

ครอปมุมขวาบนของภาพ

ภาพชุดนี้เป็นการเปรียบเทียบกันทั้งรูรับแสงกว้างสุดของเลนส์แต่ละตัว กับรูรับแสงยอดนิยม f8 พ่อทุกสถาบัน พบว่า 50 APO เมื่อหรี่รูรับแสงลงจะให้คอนทราสลดลงครับ ไม่ได้เป็นภาพนี้ภาพเดียว ภาพอื่น ๆ ก็ออกมาในลักษณะเดียวกัน คุยกับเพื่อนผู้รู้อย่าง @Jeff Meechai ก็สันนิษฐานไว้ว่าเป็นเพราะ ASPH. รึเปล่า เมื่อหรี่รูรับแสงลงแสงไม่ได้ผ่านเลนส์ทั้งชิ้น อาจไม่โดนบริเวณที่เป็น ASPH. ขอบ ๆ เลนส์ ทำให้ภาพโดยรวมมีความเปลี่ยนแปลงไปบ้าง อย่างไรก็ตามคอนทราสไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญจะภาพล่มภาพเจ๊งนะครับ โดยรวมก็ยังคุมโทนได้ดีอยู่ถ้าไม่มองแบบจับผิดจริง ๆ ก็ไม่รู้แน่นอนครับ บังเอิญสายตาผมมันหาเรื่อง ในทางกลับกัน 50 Voigt จะเพิ่มคอนทราสที่กลางภาพให้มากขึ้นไปอีก ซึ่งดูแปลกดี ผมไม่ทราบต้นสายปลายเหตุของปรากฏการณ์เหล่านี้เหมือนกัน

*หรือผมเดาเอาเองว่า จริง ๆ แล้ว APO. พอขอบภาพหายมืดไปแล้วแสงเท่ากันทั้งภาพเลยวัดแสงออกมาได้แบบนั้น และ Voigt พอขอบภาพสว่างขึ้น วัดแสงถ่ายออกมาเลยทำให้กลางภาพดูมืดลงกันแน่

การถ่ายวัตถุแบบนี้ 50 Voigt จะค่อนข้างเสียเปรียบเพราะเลนส์ให้คอนทราสสูง (เกินไป) 50 Rigid และ 50 APO เก็บรายละเอียดของภาพได้ดีกว่ามาก เช่นเดียวกับการถ่ายภาพคนครับ ส่วนโทนของภาพ 50 Rigid และ 50 APO ทำได้ใกล้เคียงกันครับ เผลอ ๆ ถ้าให้ดูเป็นภาพเล็ก ห้ามกดซูม ผมว่าถึงกับแยกไม่ออกได้เหมือนกัน

wide open ที่ระยะอนันต์ครับ

ครอปมุมขวาล่างของภาพ

f4 ครับ

ครอปมุมขวาล่างของภาพ

f8 ครับ

ครอปมุมขวาล่างของภาพ

ครอปมุมขวาล่างของภาพที่ f16 เพื่อดู Diffraction ครับ

ภาพตึกเหล่านี้จะครอปขอบมุมขวาล่างมาวัดกันนะครับ

ที่ f กว้างสุดเลนส์ทั้ง 3 ตัวมีขอบมืดค่อนข้างชัดเจนครับ แต่ 50 APO จะสามารถเคลียร์ขอบมืดได้เร็ว ที่ f4 ภาพก็ใสเคลียร์ทั่วภาพแล้ว ในขณะที่ 50 Rigid ยังมีขอบมืดให้เห็นบ้าง และ 50 Voigt ยังงมอยู่ในภวังค์ (ก็ f มันเริ่มที่ 3.5 อยากให้ใสเคลียร์คงต้องหมุนไปราว 5.6 ครับ สำหรับ Voigt ตัวนี้คือสมบูรณ์แบบที่นี่)

นอกจากนี้ยังมีของประหลาดโผล่ออกมา สังเกตตรงช่องระบายอากาศของอาคารมุมขวาล่างนะครับ มันจะมีสีแปลก ๆ โผล่ขึ้นมา ปรึกษากับเพื่อนผู้รู้ @Jeff meechai สันนิษฐานว่าเป็นแสง Polarize ที่มีเข้ามาครับ ซึ่งปรากฏการณ์สีประหลาดนี้ 50 APO จัดมาให้ตั้งแต่ f2 ในขณะที่ 50 Rigid ยังมัวแต่หวานซึ้งเบลอขอบอยู่ ส่วน 50 Voigt มีโผล่มาให้เห็นเหมือนกันแต่ด้วยความที่คมไม่เท่า APO สีที่ว่าเลยไม่เด่นชัดนัก แต่พอปรับไปที่ f8 ทุกเลนส์ก็มีสีประหลาดที่ว่านี้โผล่ออกมาอย่างเสมอภาคครับ ก็เป็นเรื่องน่าสังเกตที่แปลกดี คงต้องไปหาความรู้เพิ่มเติมครับ

ที่ f16 อัดไปแคบสุดเพื่อดู Diffraction (เลนส์ที่ปรับรูรับแสงแคบมาก ๆ ความคมชัดจะลดลงนะครับ เพราะแสงมันเลี้ยวเบนผ่านช่องแคบ ๆ โดยปกติเลนส์ทั่วไปตั้งแต่โบราณกาลเรามักจะยกให้ f8 เป็นช่วงที่เลนส์ให้ภาพที่มีคุณภาพสูงสุด หลายครั้งเลนส์ถูก ๆ ใส่ f8 เข้าไปก็สามารถหวดกับเลนส์แพง ๆ ได้คุณภาพพอ ๆ กัน) ในการนี้ 50 Rigid สามารถรักษาความคมได้มากที่สุดใน 3 ตัวครับ APO กับ Voigt ความคมชัดจะลดลงไปบ้าง แต่ผมเชื่อว่าทุกท่านที่ดูภาพผ่านทางเว็บไซต์นี้จะมองไม่เห็นครับ เพราะตอนทดสอบดูนี่ต้องเอาไฟล์ออริจินัลมาขยายๆๆๆๆๆ ครับ

ว่ากันเรื่องความเด้งของภาพ

เอ้าแสงมา เลยลองไว้สักภาพหนึ่ง เลนส์ 3 ตัวนี้ภาพรวมผมว่าทำให้ภาพโดดเด้งดูเป็นสามมิติได้ดีไม่แพ้กันนะครับ ลองเปรียบเทียบกันดูได้ ความเด้งนี่มันสำคัญนัก ใครมีกล้องยี่ห้ออื่นลองถ่ายดูเลยครับ ภาพที่ได้ส่วนมากค่อนข้างจะแบนไม่เห็นความลึกตื้นเป็น 3 มิติแบบ Leica ซึ่งเอฟเฟกต์แบบนี้ครองใจนักถ่ายภาพมานาน (ปัจจุบันมี กล้อง Sigma เลนส์ Zeiss บางตัว และเลนส์ Nikon ตระกูล Nano บางตัว ให้ภาพที่รู้สึกเป็น 3Ds pop ได้เหมือนกัน) ซึ่งเลนส์ Voigtlander น้อยตัวมาก ๆ นะครับที่จะให้ความรู้สึก “เด้ง” แบบนี้ ตอนแรกเห็นภาพถ่ายจาก 50 Voigt แล้วอึ้ง นึกว่าจะได้หักปากกาเซียนกันเสียแล้ว เพราะความเด้งและโทนภาพใกล้เคียงกับ Leica มาก ๆ ผลสุดท้ายเมื่อซูมเข้ามา 50 Voigt ก็ต้องพ่ายแพ้ไปเพราะเมื่อเจอความเปรียบต่างของแสงสูง 50 Voigt จะเป็นตัวเดียวที่มีขอบม่วง (Chromatic aberration) ครับ 50 Rigid หายห่วง เลนส์สูตรเก่า ๆ ของไลก้าเชื่อขนมกินได้ว่าแทบจะไม่มีขอบม่วง (จะมีปรากฏในเลนส์ระยะหลังที่ใช้สูตรแบบ DG type) ส่วน 50 APO ก็หายห่วง ด้วยราคาขนาดนี้ไม่มีของแถมที่ไม่พึงประสงค์มาด้วยแน่นอน

ว่ากันเรื่องความคม

ความคมคายของภาพ ต้องขอตัด 50 Rigid ออกไปก่อนเพราะคาดว่าตัวที่ได้มาลองนี้ผมมีปัญหาเรื่องโฟกัสไม่ค่อยตรง แต่ตัวสีเงินปกติที่เคยลองมาก็ถือว่าคมดี เพียงพอต่อการใช้งานปัจจุบันสบาย ๆ ขอบภาพมีการดรอปบ้างตามปกติของเลนส์ยุคนี้ ส่วนที่ถ่ายมา 50 APO และ 50 Voigt จะบอกว่าอย่าดูแคลนของถูกอย่าง Voigtlander นะครับ ที่กลางภาพคมเปรี้ยะไม่แพ้ APO คมมากทั้งคู่ มันกินกันไม่ลง แต่ขอบภาพ Voigt ก็ร่วงครับ APO กวาดเรียบ คมยันขอบตั้งแค่ f2 ครับ อย่างไรก็ตามภาพของ Voigt บางคนก็จะชอบเพราะมันมีขอบมืด ขอบดรอปลงหน่อย ภาพมันก็ดูดราม่าไม่ Perfect ดีเหมือนกัน

ซื้อไม่ซื้อ

เลนส์ 3 ตัวนี้ไม่รู้จะแนะนำอย่างไรดีเหมือนกัน เอาเป็นว่า 1. ถ้าจะเอาเป็นของสะสมมีมูลค่า เก็บยาว ๆ เป็นมรดกให้ลูกให้หลาน มีเงินถุงเงินถังก็ Leica Summicron 2/50 rigid original black paint ครับ ไปหาซื้อให้ได้ก็แล้วกันครับ เช็ค Serial number กันดี ๆ นะครับ มันมี black paint สเกล feet เป็นสีแดง กับ Black chrome สเกลเป็นสีเหลืองนะครับ วงแหวนโฟกัสลอกแล้วเป็นสีเงินไม่ต้องตกใจนะครับเรื่องปกติ ส่วนอื่นมันเป็นทองเหลือง มันจะมีของที่ส่งไป repaint ให้เป็นสีดำก็มีครับ แนะนำว่ามือใหม่อย่าเพิ่งเล่นของ rare มาก ๆ ดีเทลมันเยอะ ขอให้เวียนว่ายตายเกิดในวงการสักพักก่อนค่อยว่ากันครับ ส่วนพี่ ๆ มือเก่า ๆ ก็คงไม่ต้องบอกอะไรกันมาก ท่าน ๆ ทราบกันดีอยู่แล้ว นอกจากนี้ตัว Leica APO-Summicron 2/50 ASPH. titanium ก็เก็บได้นะครับ มันผลิตมาแค่ 333 ตัวเท่านั้นเอง เก็บไปใช้ไปมีฟามสุข

50 Rigid เป็นเลนส์ถ่ายได้อารมณ์อยู่นะครับ คมดี (ขอให้ไปดูรีวิวเก่า ๆ ที่มันเข้าเป้า คลิ๊กที่นี่) ขาวดำดีอยู่ มีเนื้อมีหนัง ภาพมันมีความดราม่าของเลนส์เก่าอยู่ในตัว ถ้าอยากเล่นเอาคาแรกเตอร์ก็มาหยิบตัวธรรมดาสีเงินไปได้ เลนส์เก่ามากแล้วแต่คุณภาพไม่เก่าตาม ตอนนี้ราคาขึ้นเอา ๆ เพราะนักถ่ายภาพหน้าใหม่ ใคร ๆ ก็ต้องอยากได้เลนส์สามัญประจำบ้านของไลก้าเอาไว้ครอบครองทั้งสิ้น

2. ถ้าจะมาสายคุณภาพแบบไม่ประนีประนอม คมจากขอบถึงขอบ ปราศจากความคลาด ดีเทลยอดเยี่ยม และมีเงินถุงเงินถัง ไปเลยครับท่านพร้อมแล้วสำหรับ Leica APO-Summicron 2/50 ASPH. รุ่นธรรมดาก็ได้ครับ ถึงจะมีข้อสังเกตเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เลนส์ตัวนี้ให้ภาพที่ใกล้กับความสมบูรณ์แบบมาก ๆ ระมัดระวังอย่างเดียว ถ้าเห็นเลนส์สีแดง ๆ อย่าไปจับเล่นนะครับ มัน "โคตร" แพง 555

3. ถ้าเป็นอย่างผม ไม่เน้นช่วง 50mm ถนัดช่วงอื่น แต่อยากเอา 50 ดี ๆ สักตัวหนึ่งติดกล้องในราคามือหนึ่งที่ 15,000 บาทเท่านั้น ก็มาลอง Voigtlander Heliar 3.5/50 V4 Vintage line ครับ คุณภาพด้อยกว่าหน่อย แต่ถูกกว่ามาก ถ้าใครจะซื้อมาถ่ายเอาภาพก็แนะนำครับ ถึงแม้ว่า f จะไม่กว้างเหมือนเลนส์พิมพ์นิยมแต่ถ่ายมาได้ภาพดี ๆ แน่นอน ส่วนคนที่จะซื้อมาห้อยคอออกงานก็ข้ามไปได้เลยครับ

สวัสดี

bottom of page