"ออกไปถ่ายภาพกันครับ"
วันนี้สาระ มาว่ากันเรื่องการถ่ายภาพแทนการรีวิวอุปกรณ์กันบ้างครับ เว็บไซต์นี้จะได้มีเนื้อหาที่ลุ่มลึกมากขึ้นกันอีกหน่อย พูดถึงป่าเปลี่ยนสี ใบไม้เปลี่ยนสี หลาย ๆ ท่านอาจนึกถึงต่างประเทศในเขตอบอุ่น หรือเขตหนาว ซึ่งจะมีฤดูใบไม้ร่วงชัดเจน มีความสวยงามจนดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศได้ มันเป็นเพราะอะไรกัน
“ตรงนี้ขอแทรกวิชาการกันนิดนึง คือที่ใบไม้มันเปลี่ยนสีก็เพราะว่า ต้นไม้รับรู้ได้ว่าอุณหภูมิกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง อัตราการหายใจ (Respiration rate ซึ่งสัมพันธ์กับการสังเคราะห์แสง) ของต้นไม้จะเริ่มต่ำลงจนอุณหภูมิต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส ต้นไม้จะหยุดการเจริญเติบโต (Manaker, G. H., 1996) และเข้าสู่สภาวะการพักตัว (Dormancy) และต้นไม้จะดึงรงควัตถุสีเขียวที่ทุกท่านรู้จักกันดีในนาม Chlorophyll กลับเข้าไปเก็บไว้ในลำต้นเพราะเป็นสารสำคัญสำหรับการสังเคราะห์แสง คงเหลือแต่พวก Anthocyanin และ Carotene สีแดงและสีส้มไว้ที่ใบ ซึ่งพร้อมที่จะหลุดร่วงลงไป เพราะหากต้นไม้ยังคงดื้อดึงเก็บใบเอาไว้ พออุณหภูมิต่ำจนเป็นน้ำแข็ง ทำให้น้ำในเซลล์เปลี่ยนสถานะและแน่นอนมันเปลี่ยนปริมาตรด้วย เซลล์ในใบไม้ก็จะแตกตายอยู่ดี (เซลล์พืชมีผนังเซลล์ เซลล์สัตว์ไม่มี) เพราะเหตุนี้เราจึงได้เห็นป่าเปลี่ยนสีสวย ๆ งาม ๆ กัน”
แต่รู้กันหรือไม่ครับว่าป่าไม้เมืองไทยก็มีป่าเปลี่ยนสีที่สวยงามไม่แพ้เมืองนอกเช่นกัน เพียงแต่เราอาจจะยังไม่ได้ไปค้นหาทำความรู้จักกับมันมากเพียงพอ (ทุกภาพที่นำมาแสดงถ่ายในประเทศไทยทั้งหมดครับ) หลายท่านอาจเข้าใจว่าป่าไม้ในประเทศไทยส่วนมากเป็นแบบไม่ผลัดใบ (Evergreen forest) แต่ผิดถนัดครับ ป่าไม่ผลัดใบในเมืองไทยอาจมีหลายชนิด แต่ป่าที่คลุมพื้นที่ส่วนมากนั้นกลับเป็นป่าผลัดใบ (Deciduous forest) และแม้แต่ในป่าไม่ผลัดใบก็ยังมีต้นไม้ผลัดใบแทรกอยู่ ต้นไม้ผลัดใบในเมืองไทยส่วนหนึ่งทางแถบภาคเหนือหรือตามภูเขาสูงจะมีการผลัดใบอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเช่นเดียวกับไม้เมืองนอก แต่ความเป็นไปได้อีกส่วนหนึ่งต้นไม้ที่ผลัดใบของไทยมีปัจจัยมาจากน้ำและอุณหภูมิ “สูง” พอหลังจากฤดูฝน ผ่านฤดูหนาว น้ำก็เริ่มน้อย ชาวบ้านเรียกฤดูแล้ง และประเทศไทยมีอุณหภูมิสูง ต้นไม้ทั้งหลายจะมีอัตราการหายใจสูงขึ้นเป็น 2 เท่าในอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 10 องศาเซลเซียส เหตุนี้เองทำให้ต้นไม้ต้องใช้น้ำมากขึ้นแปรผันตามกัน แต่เมื่อน้ำไม่เป็นใจ ต้นไม้ก็อาจเหี่ยวตายได้ (เหมือนเราตัดผักออกมาวางไว้เฉย ๆ มันยังมีการหายใจ สังเคราะห์แสง คายน้ำ แต่ไม่มีรากจะดูดน้ำ มันก็เหี่ยว) ด้วยเหตุนี้ต้นไม้จึงมีกลไกป้องกันตัวคือการทิ้งใบและเข้าสูงสภาพวะการพักตัวเช่นกัน เมืองไทยจึงมีป่าเปลี่ยนสีให้เห็นเช่นเดียวกับเมืองนอก
ถ้าใครได้ตระเวนเที่ยวธรรมชาติมาก ๆ คงเคยเห็น สีแดงทั้งต้น สีเหลืองทั้งต้น มีแน่นอนครับ ผมเคยคิดว่าถ้าเราจับจุดเด่น ๆ ในธรรมชาติของเราแบบนี้มาประยุกต์ใช้ให้มันแดงทั้งดง เหลืองทั้งป่า มันก็คงจะได้ผลดีต่อการท่องเที่ยวไม่น้อย ทุกวันนี้เราปลูกต้นไม้แต่เราขี้เกียจบริหารจัดการกวาดใบร่วงกันไงครับ (ใบที่กวาดทิ้งก็ทรัพยากรทั้งนั้น) แต่กลับอยากดูฤดูใบไม้ร่วงสวย ๆ ก็งง ๆ ดีเหมือนกัน
พี่ติ๊ก เจษฎาภรณ์ เคยบอกผมผ่านบทเพลงนำรายการของแกในวันหยุดว่า “ออกไปมองฟ้าและน้ำที่กว้างใหญ่ ให้ได้กลิ่นดินที่ลมนั้นพัดเข้ามา” ผมเลยอยากจะเชิญชวนไว้ ณ ที่นี้ว่า ออกไปเที่ยวเมืองไทยกันครับ มีอะไรให้ศึกษาอีกมาก ไปแบบตัวเล็ก ๆ ไปเปิดใจคนไม่รู้ ความรู้ที่ได้รับกลับมามันจะเยอะจนแบกไม่ไหว ธรรมในธรรมชาติที่ได้รับกลับมาจะช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่วุ่นวายหัวใจได้อย่างไม่น่าเชื่อ อย่าไปโดยคาดหวัง อย่าไปแบบเอาสบาย นั่งบนดินก็ได้ กินข้าวบนใบตองก็ได้ ไม่ต้องมีกาแฟทุกเช้าบ้างก็ได้ครับ นั่งอ่านนั่งดูรูปไม่บรรลุ ต้องออกไปเอง อักไม่นานก็ใกล้จะหมดฝนแล้ว หนาวนี้ แล้งนี้ เจอกันทั่วประเทศ ไปดูป่าเปลี่ยนสีด้วยกันครับ สวัสดี