top of page

"Case" Study

Updated: Aug 24, 2023

สวัสดีครับ วันนี้มาว่ากันเรื่อง Half case ของกล้องกันหน่อยครับ (โดยเฉพาะ Case ของ M edition "LEICA 60")

ด้วยความชอบและความนึกสนุก เมื่อหลายปีก่อนผมมีโอกาสได้ไปเรียนทำกระเป๋าหนังอยู่คอร์สหนึ่ง หลัง ๆ มานี้จึงชอบที่จะทำข้าวของ ทั้งกระเป๋า กระเป๋าสตางค์ ใช้เอง โดยเฉพาะ Half case ของกล้อง อันที่จริงแล้วก็มีกล้องรุ่นเดียวที่ผมทำเคสเองใส่ให้มันก็คือ Leica M60 เพราะมันผลิตน้อย ไม่ค่อยมีคนทำเคสออกมาขายกันสักเท่าไร วันนี้ก็เลยอยากมาชวนคุยกันถึงเรื่องเคสกล้องกันบ้าง เพราะหลังจากที่ได้ลองทำเองก็ได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง จึงอยากมาเล่าสู่กันฟังครับ

การทำเคสกล้องของผมก็ทำไปแบบลูกทุ่ง ๆ นะครับ ลองคิดเองออกแบบดู ลองทำดู อยากลองทำอะไรก็ทำและไม่เคยทำแม่แบบเก็บไว้เลย เพราะอยากที่จะศึกษาและทำใหม่ไปเรื่อย ๆ ไม่ยึดติด เคสทุกอันที่เคยทำมา (นับถึงตอนนี้ของ M60 มี 4 อันแล้ว) จึงไม่มีอันไหนเหมือนกันหรือใกล้เคียงเลย เคสแต่ละอันก็จะมีจุดดีจุดด้อยแตกต่างกัน รวมไปถึงจุดที่ทำพลาดตรงนั้นตรงนี้ ซึ่งผมมองว่ามันเสน่ห์ของงาน Custom made และทำให้เรารู้สึกว่างานทุกงานของเรามันมีเรื่องราว เป็นบทเรียนให้งานในอนาคตเสมอ ๆ ผมจึงไม่เคยคิดจะขายงานของผมเลย ชอบทำเอาไว้ดูและใช้งานมันมากกว่า

หลายท่านอาจคิดว่าประโยชน์ของ Half case คือ การช่วยปกป้องกล้องสุดที่รักจากการกระแทกและเป็นรอย (เริ่มแรกที่ทำเคสก็เพราะประเด็นนี้ Original Case มันโป๊เปลือยไปหน่อย เกรงว่ากล้องจะเป็นรอยเสียหมด) และช่วยในเรื่องการจับถือให้ดีขึ้น แต่เรื่องของเรื่องมันไม่ใช่แค่นั้นน่ะสิครับ ประโยชน์หนัก ๆ ของ Half case ที่ผมเห็นเลยก็คือ เป็นหน้าเป็นตาของกล้องและผู้ถือกล้องครับ อ๊ะ อ๊ะ อย่าดราม่าหาว่าจะมาอวดร่ำอวดรวยอะไรกันนะครับ เพียงแต่จะบอกว่ามูลค่าของภาพลักษณ์และความพึงพอใจมันมีราคาสูงมากกว่าราคาของสินค้ามากครับ เคสของ M60 ผมเคยเห็นขายกันตั้งแต่ไทยทำอันละไม่กี่พัน ของตา Luigi ที่ราคาหมื่นกว่าบาท ไปจนถึงแพงสุดที่เคยเห็นคือห้าหมื่นกว่าบาทนะครับ ทั้ง ๆ ที่ฟังก์ชันพื้นฐานเหมือนกัน แต่ฟังก์ชันแท้จริงที่แฝงอยู่มันต่างกันมากครับ ผมคิดว่าหนึ่งในวิธีการหลุดพ้นจากเรื่องแบรนด์ ราคา และค่านิยม คือ งาน Custom made ครับ ทำเองเลย ทำให้ไม่เหมือนใคร และทำให้ไม่เหมือนที่ตัวเองเคยทำด้วย พอมันมี Uniqueness ปุ๊บ ก็หลุดพ้นจากเรื่องดังกล่าวได้ทันที มันเป็นความภาคภูมิใจอีกแบบหนึ่งซึ่งทดแทนด้วยการตีราคาไม่ได้ครับ

อย่างเคสตัวล่าสุดที่ผมทำเอามาเป็น “Case” study กันนี้ก็เริ่มมาจากหนังวัวที่เหลือจากการเย็บกระเป๋าให้ภรรยาครับ ตอนนั้นไปหาซื้อหนังฟอกฝาด Import อย่างดีเลย มี Certificate ด้วย -- หนังฟอกฝาดคือการฟอกด้วยวิธีธรรมชาติ ไม่มีสารเคมี ไม่ทำสีครับ หนังที่ซื้อมาใหม่ ๆ จะสีเนื้ออ่อน ๆ มากค่อนไปทางสีขาว แต่หนังประเภทนี้มันคลาสสิกนัก มันดูแลยาก เป็นรอยง่าย แต่ใช้ไปนาน ๆ เข้าเอาแนวเซอร์จะเริ่มสีเข้มขึ้น ๆ และหนังจะมันเงาสวยขึ้นครับ ตัวอย่างใกล้ตัวของหนังประเภทนี้คือหูหิ้วของกระเป๋า Louis Vuitton นั่นเองครับ -- ทำกระเป๋าให้ภรรยาเสร็จแล้วหนังมันเหลือ เลยได้เอามาทำเคสกล้องกันบ้าง

  • เคสพวกนี้ปัจจัยแรกคือต้องปกป้องกล้องเราได้ และมีความแข็งแรงครับ ถ้าผมไม่ได้เป็นคนเย็บหนังเองจะไม่รู้เลย เพราะตอนหัดทำแรก ๆ ก็ไปลองรื้อเคสโนเนมถูก ๆ แบบไม่กี่ร้อยบาทมาดูว่าเขาขึ้นรูปกันยังไง ขอโทษนะครับ เงินที่เราจ่ายไปได้โครงด้านในของเคสเป็นกระป๋องน้ำอัดลมครับ แล้วปิดทับด้วยหนังบาง ๆ เพื่อให้เคสเป็นโครงที่พอจะดัดให้เข้ากับกล้องได้ เราก็ได้แต่คิดว่าแบบนี้เรายังจะเชื่ออะไรกันได้อีก รอยตะเข็บต่าง ๆ ส่วนมากเป็นการตกแต่งครับ ทุกอย่างอยู่ได้ด้วยการแปะกาวยางเท่านั้นเอง (เรื่องนี้พอได้ทำเองจริง ๆ ก็ปฏิเสธไม่ได้ครับ ด้านในของเคสยังไงก็ต้องติดกาว เพราะตะเข็บด้ายมันจะขูดกับกล้องทำให้เนื้อเหล็กเป็นผิวมัน ๆ ครับ หรือตะเข็บบางอันก็มีการเย็บเดินเส้นไว้เพื่อความสวยงามเฉย ๆ ก็มี) จากตรงนี้ เคสที่ผมทำเองทุกอันจะใช้หนังล้วน ๆ ไม่มีวัสดุอื่นเลยนอกจากหนังและจะเย็บแผ่นปิดด้านล่างกับตัวเคสเสมอ ไม่มีการแปะกาวอย่างเดียวเด็ดขาด แผ่นด้านล่างที่ต้องทำหลายชั้นเพื่อให้เป็นรูปสำหรับไขยึดเคสกับกล้อง ก็เป็นหนังแบบเดียวกันล้วน ๆ ไม่มียัดไส้ คนอื่นไม่รู้แต่เราฟินเอง อีกจุดหนึ่งที่จำเป็นต้องเย็บให้แน่นหนาก็คือหูคล้องสายครับ ยิ่งผิวสัมผัสกันมากก็ยิ่งทนทาน พอเย็บเข้าไปด้วยกันก็หายห่วง เพราะฉะนั้น จะโยนจะเหวี่ยงเคสผมก็จะไม่มีวันขาดออกจากกันเด็ดขาด ส่วนการเย็บตกแต่งก็ต้องมีบ้างตามปกติ

  • ด้านในผมเลือกที่จะใช้หนังแพะที่มีความหนาขึ้นมาอีกนิดครับ เคสก่อนหน้านี้เคยใช้หนังหมูและพบว่ามันมีความบางมากเกินไป ปกป้องกล้องจากความนูนของตะเข็บไม่ได้ กล้องเป็นรอยกดทับและผิวขึ้นเป็นมัน ตะเข็บเราเย็บด้วยมือเอง ไม่ได้ใช้จักร (เรียกว่าเป็นงาน Hand craft ถ้าใช้จักรเย็บจะเรียกได้แค่ว่าเป็นงาน Hand made) ด้ายเลยมีความใหญ่กว่างานเย็บจักรจึงค่อนข้างจัดการยาก

  • สายคล้องคอเคสนี้ผมเลือกที่จะ fixed ไปเลยเพราะหาสายคล้องที่มีสีเข้ากันได้ยาก (เพราะสีมันจะเข้มขึ้นเรื่อย ๆ) เลยต้องทนถึกหน่อย สายคล้องคอยาว 1 เมตร ต้องใช้ด้ายยาว 4 เมตร ค่อย ๆ สอด ค่อย ๆ สาวกันทีละรูก็เหนื่อยและเสียเวลาใช้ได้ แต่ผลลัพธ์ออกมาก็ค่อนข้างฟิน กรณีนี้เรียกว่าสายเด่นกว่าเคส สายหนังใหม่ ๆ นี่แข็งเลย แข็งกว่าสายเคสในเซ็ตเยอะมาก แต่ใช้นาน ๆ ไปก็จะนิ่มลงเอง สายนี้ผมใช้ดีเทลแบบสายกระเป๋าสาว ๆ (ใบที่ทำให้ภรรยาก็เป็นสายแบบเดียวกัน) ส่วนตัวผมว่าสายคล้องคอ หนังควรหนาอย่างน้อยสองชั้นนะครับ เห็นบางคนซื้อมาห้อยคอเป็นหนังแผ่นเดียวผมก็เสียวแทน (จริง ๆ หนังดี ๆ มันเอาอยู่ครับ ไม่ขาดหรอก แต่จะย้วยไหม เสียวไหมก็อีกเรื่องหนึ่งนะครับ)

  • การจบตะเข็บผมเลือกใช้การเผาด้ายแล้วอัดติดลงไปกับตะเข็บเลย ยอมที่จะไม่ค่อยสวย ไม่เนี๊ยบหน่อย แต่ไม่ลุ่ยแน่ ๆ เพราะการเก็บด้ายแบบปกติคือเย็บย้อนกลับมานิดหน่อยแล้วตัดด้ายชนตะเข็บไปเฉย ๆ มันก็อยู่นะครับ แต่ผมแค่อยากชัวร์เท่านั้นเอง

ประโยชน์เด่นของเคสที่ค่อนข้างมิดชิดที่ใช้กับ Leica M60 แบบเด่นมาก ไม่พูดถึงไม่ได้แล้วคือ มันลดการสั่นและเสียงของชัตเตอร์ได้แบบมีนัยยะสำคัญมากครับ กดชัตเตอร์ไปแทบไม่รู้สึกถึงความสั่นของกล้องเลย ต่างกับเคสที่แถมมาในเซ็ตเป็นอย่างมาก ใครเดินเจอผมมาขอลองกดกันได้ครับ ความรู้สึกแตกต่างจริง ๆ

การทำของพวกนี้แต่ละอันมันจะมีข้อชอบ ข้อไม่ชอบอยู่ ผมว่ามันเป็นเสน่ห์ (ที่เรารู้คนเดียว) และเป็นความผูกพันกับงานดีครับ เคสตัวนี้ก็ยังไม่ถูกใจมากยังสวยได้อีกเยอะ ตอนนี้ยังสีครีมอมชมพูกระเทยมาก เดี๋ยวเอาไว้เก่า ๆ ก่อนหนังเข้มเมื่อไรจะถ่ายภาพมาอัพเดทให้ชมกันครับ ส่วนใครนึกสนุกก็ไปลองทำกันดูครับ ไม่ยากนัก ใช้สกิลทางงานฝีมือกันนิดนึง... สวัสดี

bottom of page