top of page

Leica M Edition “LEICA 60” set

Updated: Aug 24, 2023

“กำเงินแล้วออกไปซื้อ”

สวัสดีครับ ผมคิดอยู่นานเหมือนกัน (ประมาณ 5 นาที) ว่ายังควรจะเอาเรื่อง M Edition “LEICA 60" (M60) ที่เปิดตัวในปี 2014 มาพูดคุยกันในปี 2018 อยู่ไหม เพราะเคยเขียนรีวิวแบบบ้าน ๆ กันไปรอบหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตามคราวนี้คงจะได้มารีวิวกันอย่างเต็มที่ เพราะคราวนี้ M Edition “LEICA 60” มันมาเป็นเซ็ต พร้อมเลนส์เข้าคู่ดู๋ดี๋เป็นที่เรียบร้อย กล้องรุ่นนี้ผมรักมาก ๆ ใครไม่เคยลองใช้ก็จะไม่รู้และคิดว่าใช้ยาก แต่บอกเลยว่าของมันเด็ดจริง M60 เป็น Edition ที่คนแกะกล่องมาใช้งานกันโครม ๆ และมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างกันว่าคุณภาพของภาพต่างกับ M(typ240) หรือแม้กระทั่งต่างกับ MD กล้องไร้จอที่คลอดตามออกมา ในบทความนี้มีชี้แจงแถลงไขกันครับ ว่าแตกต่างจาก M(typ240) แน่ ๆ และจะ “เด็ด” ต่างกันอย่างไร ใครไม่รักก็เกลียดครับ คนรักก็รักเลย จากกันไปยังไงก็ต้องวนกลับมา และที่แน่ ๆ ผมชอบความเจ๋งของกล้องรุ่นนี้อย่างหนึ่งคือเป็นกล้อง Leica ที่ห้อยคอไปไหนมาไหน มันแทบไม่มีคนรู้จักครับ 5555

ก่อนจะเข้าสู่เรื่องกล้องต้องขอบอกกล่าวกันสักนิดว่า ผมจะพยายามเขียนให้เหมือนเรานั่งคุยกันสบาย ๆ ให้มากที่สุดก็แล้วกันนะครับ คุณสมบัติเชิงเทคนิค ประสิทธิภาพ สเป็ค คงพูดกันบ้างแต่คงแค่แตะ ๆ ไว้ให้ทุกท่านไปหาอ่านกันต่อเองได้ และผมจะไม่พูดถึงประสิทธิภาพของกล้องยี่ห้อนี้ หรือไม่พยายามเปรียบเทียบกับกล้อง DSLR หรือกล้องโปรอื่น ๆ นะครับ ผมขอข้ามจุดนั้นไปเลย Leica มันสู้ไม่ได้หรอก ใครมาถามก็ไม่ตอบด้วย ให้ไปลองกันเอาเอง พูดไปก็ไม่เชื่อครับ “มีเงินไม่พอต้องโง่ด้วย” ผมได้ยินมาจนชินแล้ว 555 และคงไม่ลงไปพูดถึงมัน แต่เรามาเขียนคุยกันสบาย ๆ ว่าด้วยเรื่อง “รสนิยม” ดีกว่าครับ ใครดูใจ Leica อยู่ก็อ่านไปต่อกันได้เลยยย ช่วงปีหลัง ๆ มานี้ผมพบว่ามีคนให้ความสนใจกับกล้อง Leica มากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ได้ดูในระดับโลกนะครับ ดูแค่ประเทศไทยก็เห็นได้ชัดเจนแล้ว หนุ่ม ๆ สาว ๆ รุ่นใหม่ตลอดจนดารานักแสดงให้ความสนใจซื้อหามาใช้กันเยอะมาก ผมเองก็มาเล่นไม่กี่ปีนี้เองครับ แต่แค่ชอบลองชอบเขียน ยังไม่ได้รู้เรื่องมากเท่าไร สมัยก่อนผมเคยมองว่ากล้อง Leica มันเป็นแฟชั่น และเป็นเครื่องประดับอย่างหนึ่ง ครับ... มันใช้เพื่อฟังก์ชันนั้นจริง ๆ แต่อยากชี้ชวนกันว่าถ้าได้เป็นเจ้าของแล้ว ลองเล่นมันดูครับ “รสนิยม” ที่กล่าวไว้ผมหมายถึงคาแรกเตอร์ของภาพ มิติสี มิติภาพ โทน ไมโครคอนทราส โบเก้ และอีกสารพัด ปากกาแพงนอกจากเสียบโชว์ได้แล้วก็คงต้องเขียนดีด้วยนะครับ กล้องยี่ห้อนี้มันพิเศษและมีความแตกต่างจริง ๆ Leica เป็นกล้องที่ให้ภาพมาแบบ “ใช้ได้ทันที” Adobe Lightroom ที่แถมมาอย่างถูกต้องตามลิขสิทธิ์นั้นมีเอาไว้ปรับ Exposure ที่อาจจะถ่ายมาไม่แม่นเท่านั้นเองครับ (Dynamic range ของเซนเซอร์มันยังแคบกว่า Negative film อยู่แยะ) ขืนไปปรับแต่งโน่นนี่เยอะ เสียของหมดครับ เสียคาแรกเตอร์ไปเปล่า ๆ พี่ ๆ ที่เล่น Leica มาถึงจริง ๆ มีขนาดที่เอาภาพให้ดูแล้วทายชื่อเลนส์และเวอร์ชันกันถูก 100% เลยนะครับ เรื่องคาแรกเตอร์ภาพนี้ไม่ใช่แค่เรื่องแห่แหนกันตามกระแสแฟชั่น แต่มันมีความลึกซึ้งจริง ๆ ผมมักจะเปรียบเทียบกับการดื่มไวน์โลกเก่าเสมอ ๆ ถึงแม้รสชาติจะไม่ได้ดีที่สุดเสมอไป แต่เวลาเราดื่มไวน์โลกเก่า เราดื่มวัฒนธรรมครับ (ใครสักคนกล่าวไว้ในวงไวน์) จึงอยากจะชวนมาเล่น Leica กันด้วยเหตุผลนี้ด้วยนะครับ

ผมเชื่อว่าหลายท่านที่อาจยังไม่เคยได้ลองเล่น Leica อาจมีความเข้าใจ (ที่มักให้ข้อมูลกันไม่ถูกต้องนักตามกระทู้ต่าง ๆ) ว่าเลนส์ไลก้าดีมากเพราะคมมากและคมยันขอบ ตรงนี้ต้องขอชี้แจงแถลงไขไว้นิดนึง ผมเชื่อว่าพี่ ๆ น้อง ๆ ที่เล่นกล้อง Leica ด้วยกันก็น่าจะเห็นด้วย เลนส์ไลก้าไม่ใช่ทุกตัวที่คมและคมยันขอบนะครับ หลายตัวขอบก็นัว ๆ เลนส์รุ่นใหม่บางตัวก็ยังเป็น หลายตัวที่ใช้กับดิจิทัลก็ใช้ซอฟแวร์ช่วยแก้ไข ถ้าคนเข้าใจผิดแต่แรกแล้วมาลองทดสอบเชิงเทคนิคแล้วบางรุ่นดูจะสู้เลนส์ในตลาดไม่ได้ เดี๋ยวก็ได้เป็นเรื่องกันอีก จริง ๆ แล้วที่ว่าเลนส์ที่ว่ามันดีนั้น มันต้องดูว่ามันดีในช่วงเวลาไหน และยังดีได้ด้วยอีกหลายอย่าง เช่น

  • ความคม (บางตัว) นี่ก็คมจริง คมใจหาย เลนส์บางตัวอายุ 60 ปี แล้วยังคมจนตกใจ คมที่คมจากเลนส์จริง ๆ กับคมจากซอฟท์แวร์มันแตกต่างกันนะครับ

  • กำลังแยกขยาย เรื่องนี้พิเศษมากเพราะไลก้าเป็นยี่ห้อที่เอาเลนส์เก่ามาใช้กับดิจิทัลได้เลยกำลังแยกขยายมันสูงมากมาแต่ไหนแต่ไร (จำได้ว่าไลก้าเคยประกาศไว้ช่วงที่ออก M8 หรือ M9 ว่าไม่จำเป็นต้องเปิดไลน์เลนส์ใหม่สำหรับดิจิทัลเพราะกำลังแยกขยายมันเหลือเฟืออยู่แล้ว) ซึ่งกำลังแยกขยายก็ส่งผลต่อความคมกลาย ๆ ไปด้วยโดยเฉพาะเวลาถ่ายในฟิล์มหรือเซนเซอร์ที่มีความละเอียดสูง ขยายเข้ามาดูมันจะไม่นัว ๆ มันจะคมกริบ ๆ

  • การให้โทนและมิติของสี ความอิ่มตัวของสี ความตรงของสี ไม่เร่งสีมากเกินไป ฯลฯ

  • ไมโครคอนทราส 3Ds pop การแยกแยะความลึกความตื้น (ที่ไม่ใช่การเบลอหลัง)

  • อันนี้คงไม่ใช่ข้อดี แต่ต้องแจ้งไว้ คือเลนส์ไลก้ามีระยะชัด (Depth of field) หนากว่าเลนส์ยี่ห้ออื่น ๆ เช่นที่ f เท่ากัน Leica จะละลายหลังได้น้อยกว่า เป็นเพราะข้อจำกัดของขนาดในการออกแบบครับ รวมไปถึง Leica บางตัวให้โบเก้ขอบภาพเป็นวงรี ไม่ได้กลมเนียนแบบโบเก้ในอุดมคติทั่วทั้งภาพ ก็เพราะเลนส์ชิ้นหน้ามันมีขนาดเล็กนี่แหละครับ ถึงทำให้เกิดอาการแบบนี้

หลายตัวที่ดังและราคาแพง มันดังเพราะคาแรกเตอร์ภาพที่ได้มาครับ ไม่ใช่คุณภาพเชิงเทคนิคตาม MTF chart อะไรอย่างนั้น (บางตัวก็ดังเพราะหายากน่าสะสม นั่นเป็นเรื่องของนักสะสม ถ้าเราจะเอากล้องมาใช้งานต้องแยกแยะให้ออก อย่าไปตามกระแสสะสม มันคนละเรื่องครับ) สังเกตไหมครับ เราไม่ค่อยเห็นกล้อง Leica อยู่ในรีวิวของเว็บไซต์ที่ใช้มาตรฐานเชิงเทคนิคทดสอบ แต่เราจะพบรีวิวไลก้าในเว็บไซต์ที่เน้นประสบการณ์การใช้งาน อารมณ์ของผู้ใช้เองมากกว่า (เว็บไซต์นี้ก็เช่นกันนี่นะ) เอาล่ะ มาว่าถึง M60 กันดีกว่า

ย้อนรอยกันว่าในปี ค.ศ. 1954 Leica M3 ได้เปิดตัวสู่โลกมนุษย์ และเป็นการเริ่มต้นเวลาของ M mount และ Leica M อย่างเป็นทางการ M3 M2 M1 M4 MD MDa M5 M4-2 CL M4P MD-2 M6 M6ttl M7 MP M8 M8.2 M9 M9-P M(typ240) M-P และหลากหลายรุ่นเล็กรุ่นน้อยตลอดจน Edition ต่าง ๆ ของ M อีกมากมาย ล่วงเลยจนถึงปี ค.ศ. 2014 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 60 ปีของ Leica M ไลก้าจึงตั้งใจ (มาก) จัดทำ Leica M Edition “LEICA 60” มาเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวาระสำคัญนี้ รวมถึง Leica M Edition “LEICA 100” ที่เป็นเซ็ต 3 เลนส์ + M-A และ M Monochrom ราคาทะลุสองล้าน หักมุมว่าจริง ๆ มันก็ไม่ได้จะอะไรหรอกครับ มันก็จะขายของแหละ ขายรุ่น Limited มันขายได้แพงกว่า เจาะกลุ่มลูกค้าเฉพาะได้มากกว่า พอเห็นว่าวิธีนี้ประสบความสำเร็จก็เลยมี Edition ต่าง ๆ ออกมามากมาย ตั้งแต่สมัย Leica M ฟิล์มแล้ว มาเยอะเอามาก ๆ ตอน Leica M6 ตรงนี้ครับ! นักเล่นกล้องไลก้าทั้งหลาย โดยเฉพาะมือใหม่หน้าใหม่ ขอเล่าให้ฟังเรื่องกล้อง Special Edition ของไลก้าสักนิดก่อนเอาเงินไปเทให้มันครับ Leica Special Edition ไม่ใช่ว่าราคาจะแพงขึ้นพรวด ๆ เสมอไปนะครับ เท่าที่ผมเห็นเองกล้องรุ่นพิเศษ ๆ มันมี 2 แบบนะ คือ

1. เป็นกล้อง และ/หรือ เลนส์ ที่มีคนสั่งทำจำนวนจำกัด เป็น Edition สำหรับเหตุการณ์พิเศษ หรือสำหรับองค์กร อันนี้เห็นได้เยอะครับ ที่ทำแล้วดังก็มี แต่ที่ทำแล้วเงียบ ๆ ไป ไม่ค่อยมีคนให้ความสนใจหรือจำไม่ได้ก็มีนะครับ ขึ้นอยู่กับชื่อชั้นและการออกแบบของคนสั่งทำด้วย

2. เป็น Edition ที่ออกจาก Leica เอง เช่น พวก Safari, Olive, Titanium set ฯลฯ รวมไปถึงรุ่นที่ Leica อัญเชิญบุคคลต่าง ๆ มาออกแบบ หรือ Leica ทำให้เป็นที่ระลึกถึงบุคคลหรือองค์กร หลาย Edition ในหมวดนี้สามารถออกแบบหน้าตาของกล้องและเลนส์ให้แตกต่างออกไปจากปกติได้มาก ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนสีกล้อง เปลี่ยนสีหนัง หรือสลักลวดลาย ข้อความลงบนกล้องแบบ Program ala-carte และแน่นอนว่า M60 ก็เป็นหนึ่งใน Edtion ที่ออกมาจากไลก้าอย่างเป็นทางการด้วย

ส่วนตัวผมเองชอบ Edition แบบกลุ่มที่ 2 มากกว่า เพราะมันออกมาจากไลก้าเอง หรือมีความสัมพันธ์กับไลก้าโดยตรง ไม่ต้องมีความรู้สึกเหมือนว่าซื้อกล้อง Special Edition ของไลก้า แล้วต้องไปผูกไปพ่วงกับแบรนด์ใด หรือบุคคลใด ที่มา Collaboration ร่วมกับ Leica ใน Edition นั้น ๆ

เอ้า กลับมาสวย ๆ ต่อ Leica M60 ถูกออกแบบโดย Audi Design ซึ่งไลก้าใช้บริการความร่วมมือในการออกแบบอยู่บ้าง เช่น Leica T (น่าจะรวมไปถึง TL TL2 ด้วย เพราะดีไซน์เหมือนกัน) ซึ่ง Head of Volkswagen Group Design คนดูทิศทางกลยุทธ์การออกแบบในเครือของ VW ซึ่งรวมถึง Audi ด้วยก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คือ Walter de Silva ที่เคยฝากผลงานออกแบบไว้กับ Leica M9 Titanium นั่นเอง (อยากได้มาครอบครองกันตอนนี้ต้องกำเงินระดับ 7 หลักกันแล้ว) หาข้อมูลมาจาก Leica พบว่าเคสหนังที่แถมมาให้ในชุดก็เป็น Audi Design เช่นกัน แต่ไม่มีข้อมูลระบุว่า Packaging สุดอลังการนี้เป็นผลงานของ Audi ด้วยหรือไม่

M Edition “LEICA 60” ผลิตจำนวนจำกัด 600 ชุด ซึ่งจากเท่าที่ตาม ๆ ดูผมเดาว่ามีอยู่ในประเทศไทยอย่างน้อย ๆ ที่ไล่หมายเลขกันได้ก็เกิน 40 ชุดแล้วครับ คนไทยไม่ธรรมดาเลยครับ นอกจากนี้ยังมีติดปลายนวมให้คนหาตัว Prototyp มาสะสมกันได้อีก 24 ชุด ซึ่งตัว Prototyp นี่สำคัญนัก เพราะเลนส์ที่เป็นสเตนเลสถูกทำผิวขัดเงาแตกต่างจากตัว Limited production ชัดเจน ซึ่งในประเทศไทยก็มีคนได้ครอบครองไว้เช่นกัน

Leica M Edition “LEICA 60” และ “LEICA 100” ใช้ Stainless steel ทำกล้อง!!! ซึ่งวัสดุของกล้องและเลนส์รุ่นนี้ก็ยังเป็นส่วนที่ผมคาใจอยู่ไม่น้อย (อยู่วงการมีดพับมาก่อนก็แบบนี้) เพราะว่า Leica ไม่ยอมแพลม ๆ ออกมาให้เห็นเลยว่าเป็น Stainless steel ที่ใช้สูตรโลหะอะไร แข็ง/อ่อน เหนียว ทนสนิม แค่ไหนไม่มีใครู้เลยนะครับ ยกเว้นจะเอาไปเข้า Lab วิศวกรรมโลหการ ยิงเลเซอร์บนพื้นผิวให้สารประกอบต่าง ๆ มันบึ้มออกมา (ซึ่งผมไม่ให้ทำหรอกนะ 555) คำว่า Stainless steel จริง ๆ แล้วมันหมายถึงโลหะที่มีสารประกอบโครเมี่ยมมากกว่า 10.5% ซึ่งโครเมี่ยมดังกล่าวจะทำให้เกิดฟิล์มบาง ๆ จากโครเมี่ยมออกไซด์ CrO2 ป้องกันเนื้อเหล็กจากปฏิกิริยา Oxidation ที่จะทำให้เกิดสนิม (TSSDA, Thai Stainless Steel Development Association) แต่ Stainless steel ยังมีสูตรต่าง ๆ กันไปเยอะมาก ๆ มีตั้งแต่ราคาถูกข้างถนน ไปจนถึงเหล็กเทพทำมีดราคาเรือนหมื่น ซึ่งเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า Leica เลือกใช้เหล็กตัวไหน แต่ที่แน่ ๆ คือ Stainless steel นั้นมีความแข็งมากกว่าสังกะสี ทองเหลืองและอลูมิเนียมที่ไลก้ามักใช้อยู่เป็นประจำ ไลก้าใช้คำว่า – a material that is extremely difficult to work with – (http://en.leica-camera.com) การทำงานเจาะ กลึง ให้ได้รูปร่าง เครื่องมือที่ใช้จะเสื่อมเร็วกว่ามาก ทองเหลืองที่คนส่วนมากชมชอบเพราะกล้องทำสี Black paint พอลอกแล้วเห็นทองเหลืองมันเซ็กซี่ยิ่งนัก แต่จริง ๆ ทองเหลืองไม่แพงเลยครับ และเป็นโลหะที่อ่อนมากด้วย (แต่ก็เหนียว) ตกยุบ ชนบุบ ง่าย ๆ กันแบบนั้นเลยครับ บางคนก็ว่าไปว่าเป็นข้อดีตรงที่ตกปุ๊บมันซับแรงกระแทกได้ดีกว่าโลหะแข็ง ๆ อย่างกล้องรุ่นใหม่ ๆ ของไลก้า เช่น M10 ตัวโครงจะเป็น Magnesium alloy ส่วน Top & Bottom plate จะเป็นทองเหลืองครับ แต่ในกล้อง Leica M Edition “LEICA 60” นี้ Leica (https://en.web.leica-camera.com) ระบุไว้ว่า ใช้ Stainless steel ในส่วนประกอบที่เป็นโลหะต่าง ๆ “ในส่วนที่มองเห็น” เน้นว่าเท่าที่มองเห็นนะครับ ไส้ในมันก็คงสเป็คเดียวกับ M(typ240) นั่นแหละครับ (เดา) แต่ทำเปลือกนอกของกล้องและเลนส์ทั้งหมดด้วย Stainless steel อ่านมาถึงตรงนี้ อย่าคิดว่ากล้องห่วยนะครับ เพราะ

“Leica ไม่เคยทำกล้องและเลนส์รุ่นไหนด้วย Stainless steel มาก่อนปี 2014 และจนถึงวันนี้ M Edition “LEICA 60” และ Edition “LEICA 100" ก็ยังเป็นกล้องและเลนส์เพียง 2 รุ่นที่ทำด้วย Stainless steel”

แก้ไขข้อมูลจากการีวิวคราวก่อนครับ ว่า Summilux 1.4/35 รุ่น Stainless steel จริง ๆ แล้วมี 2 รุ่น คือ M60 และ M100 ครับ แต่หน้าตามันไม่เหมือนกัน ซึ่งเจ้า Edition “LEICA 100" ซึ่งประกอบด้วย Leica M Monochrom, Leica M-A, Summilux 1.4/28, Summilux 1.4/35, และ Summilux 1.4/50 ชุดนึงราคาก็ทะลุ 2 ล้านไปแล้วและแทบไม่เคยได้มีโอกาสเห็นตัวจริง ส่วน M60 คอยดูกันต่อไปได้เลยครับ (ตอนนี้ราคาน่ารักน่าคบมาก) เจ้า Stainless steel ที่ว่าทำเฉพาะส่วนที่มองเห็นนี่รวมไปถึง ฝาปิดกล้อง ฝาปิดท้ายเลนส์ ฝาปิดหน้าเลนส์ แหวนหน้าเลนส์ ฮูด และแผ่นปิดฮอตชูด้วยนะครับ เห็นอนาคต (โดยเฉพาะเลนส์) ไหมครับ บอกแล้วว่าไลก้าตั้งใจทำรุ่นนี้มาก อย่างกล้องใหม่ ๆ ที่กำลังมาแรงอย่างเช่น M10 Edition Zagato ก็ใช้กรอบนอกเป็นอลูมิเนียม (เกรดเดียวกับที่ทำรถเขาอะนะ) ครอบทับตัวกล้อง M10 ครับ ไม่มีใครมานั่ง Custom ในส่วนที่ลูกค้ามองไม่เห็นหรอกครับ เพราะว่าในขั้นตอนการผลิตยังต้องนึกถึงการทำและเก็บสต๊อกอะไหล่สำหรับการบำรุงรักษาในอนาคตด้วย

ลองดูจากคลิปนะครับ ไปแกะกล่องเล่าเรื่องกันมา เจ้า M60 นี่มาพร้อมกล่องที่ใหญ่อลังการมาก ๆ ที่สุดรุ่นหนึ่งที่เคยเห็นเลยครับ ผมเชื่อว่าไลก้าตั้งใจทำรุ่นนี้มาก ๆ กล่องนอกเป็นกล่องกระดาษเทา ๆ เปื่อยยุ่ยง่าย ขาดง่าย ตรงนี้ต้องระวังกันนิดนึง กล่องชั้นรองเป็นกระดาษสีเงินคาดแถบดำตามมาตรฐานกล่องไลก้าปัจจุบัน ระบุรหัส 10779 และ Number xxx/600 เขียนด้วยมือ 555 สองชั้นนอกนี้เป็นไฟต์บังคับ ทุกกล้องต้องมีแบบนี้แหละ แต่ของพิเศษมันอยู่ถัดจากนี้ลงไป...

เรื่องประสบการณ์ในการ Unboxing ไลก้าเขาถนัด อย่างแรกที่เจอหลังจากแง้มฝากล่องออกมา ก่อนจะไปถึงกล้องคือเคสครับ บรรจุอยู่ในหีบห่ออย่างดี เป็นเคสหนังวัวสี Anthracite grey พร้อมสายคล้องคอสีเดียวกัน เคสรุ่นนี้หุ้มกล้องแค่ด้านล่างกับด้านข้างนะครับ เปลือยหน้าเปลือยหลัง เวลาใช้เวลาแขวนก็ระวังกันนิดนึง แต่จากประสบการณ์ในการทำเคสใช้เอง และการเก็บรักษากล้องรุ่นนี้นะครับ วัสดุมันเป็นสเตนเลสที่สมควรจะถึกทนก็จริง แต่มันเคลือบผิวใสอีกชั้นนึงครับ ซึ่งชั้นเคลือบนี่แหละที่จะมีปัญหา (เช่นเดียวกับ M(typ 240) Titanium set) ถ้าใช้ ๆ ไป โดนมือไม้มาก ๆ เข้ามันมีสิทธิ์ลอกได้ครับ แต่ที่ลอกคือเคลือบใสเฉย ๆ ครับ ไม่ทำให้สีวัสดุเปลี่ยนแต่อย่างใด นอกจากนี้ ถ้าเกิดการเสียดสีมาก ๆ จากเคสอื่น ๆ หรือสายคล้องคอที่อาจไปถูโดนกันตอนเก็บ ซ้ำ ๆ ที่เดิมเป็นประจำ พื้นผิวบริเวณนั้นมันจะขึ้นเป็นเงา ๆ ครับ ซึ่งตรงนี้มันก็จะดูไม่ค่อยดีเท่าไรในด้านความงาม ดังนั้นเคสอื่นที่ไม่ใช่เคสแถมมากับเซ็ตของมัน ควรระมัดระวังนิดนึงครับ โดยเฉพาะเคสที่มีตะเข็บด้ายด้านใน ระวังมันจะถูกับกล้องครับ ทั้งนี้เคยเพื่อนสมาชิกกลุ่ม M60 ไปเยี่ยมเยือนถึงเยอรมัน ก็สามารถเคลมเรื่องลอกได้ฟรีนะครับ ถ้าส่งจากบ้านเราไปก็ต้องมีค่าเดินทางสัก (ไม่) หน่อย เคสที่มากับเซ็ตใส่แล้วจะทำให้กล้องดูใหญ่ขึ้นค่อนข้างมาก ตัว M60 ก็มีพื้นฐานมาจาก M(typ240) ซึ่งมันก็เป็น Leica M ที่ใหญ่มาก ๆ อยู่แล้ว และจากประสบการณ์ที่ตัวเองทำงานกระเป๋าหนัง เคสหนัง มาก่อน จะบอกให้ว่าด้านในของสายที่สัมผัสกับตัวเรา ที่มันเหมือนหนังกลับเนี่ย สะพายใช้งานเมืองไทยมันร้อนครับ เหงื่อจะสะสม ระวังเหม็นกันให้ดีครับ ตอนนี้ผมเองก็ยังตัดสินใจไม่ถูกว่าจะไปทิศทางใดกับเรื่องเคสของมันดี แต่แนวโน้มอาจจะลุยใช้ของ LEICA ในเซ็ตมันไปเลยมากกว่าทำเองแล้วครับ ลองดู อยากจะเชื่อว่ามันคงออกแบบมาอย่างดีแล้วแหละ

ดึงโฟมกล่องชั้นบนที่บรรจุเคสออกก็เจอของเด็ดละครับ กล่องหน้าตาราวกับไทม์แคปซูลที่เห็นด้านในคือ Presentation box กล่องที่แท้จริงของ M Edition “LEICA 60” ครับ กล่องนี้ออกแบบมาราวกับได้แรงบันดาลใจจากรูปทรงของกล้อง M อย่างไรอย่างนั้น วัสดุเป็นพลาสติกปิดผิวด้วยกระดาษสีเทา ด้านล่างของกล่องเป็นผิวกำมะหยี่กันลื่นครับ เปิดกล่องออกมาจะมีช่องด้านข้าง 2 ช่อง ใส่สายไฟบ้าน สายไฟรถ แท่นชาร์จ (M typ240) แบตเตอรี่ (M typ240) ทุกอย่างบรรจุมาในถุงผ้าสีดำสกรีนยี่ห้อไลก้าอีกชั้น แน่นอนที่สุดว่า เพื่อความไฮโซก็จะต้องมีถุงมือสีขาวปักอักษร Leica พิมพ์มาบนสติ๊กเกอร์แปะถุงว่า New York Artikel 7200 Gr.14 และผ้าเช็ดกล้องเช็ดเลนส์มาให้ด้วย ส่วนตรงกลางมีแผ่นบุนุ่มหุ้มกำมะหยี่สีเทาปิดไว้อีกชั้นหนึ่ง แนะนำให้สัมผัสตรงนี้ก่อนเพื่อความเคลิ้ม เพราะผิวสัมผัสดีมาก ก่อนจะเปิดสู่ชั้นถัดไป

เปิดแผ่นบุนุ่มหุ้มกำมะหยี่ออกมาก็จะพบกับกล้องและเลนส์เสียที กล้อง Leica M Edition “LEICA 60” นอนนิ่งสงบอยู่ตรงนั้น ปิดหน้ากล้องไว้ด้วยฝาสเตนเลส ล่างขวาเป็นเลนส์สเตนเลส 1ใน 4 ของไลก้า (ณ 2018) Leica Summilux 1.3/35 ASPH. FLE (ซึ่งมีข่าวเล่าลือกันมาอีกว่าให้ภาพไม่เหมือนกับ FLE รุ่นปกติทั่วไป อะไรมันจะเยอะขนาดนั้น) มาพร้อมกับฝาปิดหน้าเลนส์ ฝาปิดท้ายเลนส์ แหวนปิดเกลียวเลนส์ ทุกอย่างเป็นสเตนเลสครับ และแน่นอนล่างซ้ายเป็นฮูดสเตนเลส ทั้งเซ็ตมันมีเท่านี้ หนึ่งกล้อง หนึ่งเลนส์ จบแล้ว แต่แพ็คเกจอลังการจริง ๆ ชั้นที่วางกล้องและเลนส์นี้เป็นผิวกำมะหยี่ สามารถหิ้วออกมาได้ วางโชว์ได้เลย ด้านใต้ชั้นนี้จะมีคู่มือ สารพัดจะใบเซอร์พร้อมลายเซ็นผู้ตรวจสอบ และใบรับประกันของกล้องซ่อนอยู่ ซึ่งคู่มือก็ทำพิเศษเฉพาะของ Edition นี้จริง ๆ อย่างที่เคยแซวไว้ว่าพิมพ์ขาวดำทั้งหน้า มีแต้มแดงนิดเดียวทุกหน้า เย็บปกแข็ง สวยงามทีเดียวครับ แนะนำให้อ่านคู่มือก่อนใช้งานกันสักนิดก็ดี เห็นกล้องมันมีปุ่มน้อย ๆ แบบนั้น แต่มันมีฟังก์ชั่นอื่น ๆ กด (ด้วยวิธีพิเศษ) ได้ครับ ได้แก่ การตั้งวันที่-เวลา การเปิดชัตเตอร์ค้างไว้เพื่อทำความสะอาดเซนเซอร์

--------------------------------------------------------

หยิบกล้องกันขึ้นมา การจับถือมีความหวาดเสียวเล็กน้อยเพราะดีไซน์มัน Minimal มาก เป็น Pure form ขั้นสุดของ Leica M จะอาจจับถือยากไปสักนิด เข้ามือดีนะครับแต่กลัวหลุดมือเพราะมันแพง แต่ถ้าใสเคสของมันก็จบครับ ตัวกล้องจะใหญ่โตทีเดียว จับได้เต็มไม้เต็มมือมาก ซึ่งบางคนก็ชอบ บางคนก็ไม่ชอบ เพราะ Leica Digital มันค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ M8 M9 จนถึง M(typ240) คือความพีค คือรถถัง ก่อนที่เทคโนโลยีจะช่วยให้ขนาดกล้องลดลงมาเท่า M6TTL ในรุ่น M10 (2017) นี่เอง แต่สิ่งที่ผมชอบภาพลักษณ์ทางกายภาพของกล้องและเลนส์รุ่นนี้มาก ๆ คือมัน Low profile ครับ ไม่มีจุดแดง ไม่มีสีแดง สีเหลืองขึ้นมาเลย ทุกอย่างเป็นสี Stainless steel และ Anthracite อักษระดำ สลักคำว่า LEICA 60 ตัวเล็ก ๆ ไว้ด้านบน ไม่ได้เป็น Leica ตัวเขียนใหญ่โตเหมือนพวก MP ผมว่ามันเป็นตัว Limited ที่เจียมตัวและดูมีคลาสมาก ๆ ขอบสันทำได้คมคายกว่า Leica ตัวอื่น ๆ เพราะวัสดุเป็น Stainless steel นี่แหละครับ และผมชอบมากเวลาห้อยกล้องตัวนี้ คนที่จะเดินเข้ามาคุยด้วยคือ พี่น้องคอเดียวกันทั้งนั้น เพราะคนทั่วไปไม่มีใครรู้จักครับ

ช่องมองภาพ (Viewfinder) ของ M60 จะมีอัตราขยาย 0.68x เห็นภาพกว้างกว่า 0.72x ที่เป็นคลาสสิกนิดนึง เป็นผลดีต่อเลนส์ 35 มม.ที่มาในเซ็ตมากขึ้นหน่อยเพราะไม่ต้องกรอกตาควานหากรอบกันมากนัก ถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว Leica M10 มีช่องมองภาพที่ใหญ่กว่า สว่างกว่า สาย 50 มม.ได้เฮ เพราะถ่ายง่ายขึ้นมาก ขณะเดียวกัน สาย 35 มม. ส่วนตัวผมว่า M10 มองสบายแต่ถ่ายยากกว่าเพราะเฟรมไลน์ของ 35 มันกว้างไปใกล้ขอบแล้วช่องมองภาพใหญ่ขึ้น เราต้องกลอกตากันมาขึ้นครับ นั่นก็เป็นข้อดีของมันที่มี แต่ช่องมองภาพของ M10 ก็ต้องยอมรับว่ามันให้ความแม่นยำสูงจริง ๆ (ก็มันใหม่กว่า) M60 หากถ่ายใกล้ ๆ สัก 2 - 3 เมตร เผื่อ ๆ ด้านล่างไว้สักนิดนึงครับ การแก้ parallax มันยังไม่แม่นนัก ถ่ายคนเท้าขาดประจำ

เฟรมไลน์ของกล้องรุ่นนี้ไม่ต้องมีช่องรับแสงเพื่อสร้าง bright frame แบบ M3 - M9 อีกต่อไปแล้ว แต่ใช้การให้แสงสว่างด้วย LED แบบ M(typ240) แทน และมันดีมากตรงที่เมื่อแสงสว่างมากกรอบก็สว่างตาม เมื่อแสงสว่างน้อย กรอบก็สว่างน้อยตาม ไม่ให้มีอะไรมากวนใจนักถ่ายภาพอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ แน่นอน

เรื่องชัตเตอร์ คล้าย M(typ240) ครับ คือไม่มีการ recock แบบ M8 หรือ M9 แล้ว ถ่ายกรึ๊บเป็นอันจบ ก็สะดวกดีครับ แต่ถ้าเทียบกับ M10 แล้ว M10 ไวและเงียบกว่า (แน่นอน มันใหม่กว่า) แล้วยิ่งถ้าเป็น M10-P ล่ะก็ M60 จะกลายเป็นหนวกหูทันที เรื่องชัตเตอร์ของกล้องพวกนี้ส่วนตัวผมไม่ซีเรียส ถ่ายได้ไม่เจ๊ง (แบบ M8 ที่นึกจะเสียก็เสีย) ก็พอแล้ว ไม่ต้องมานั่งฟังเสียงชัตเตอร์กันแบบเว็บไซต์ชื่อดัง แล้วพวกเนิร์ดต้องมานั่งบลัฟกันว่ายี่ห้อไหนเสียงชัตเตอร์เพราะกว่ากัน ถึงตรงนี้หลายสำนักชอบเอาเรื่องการถ่ายภาพแนวสตรีทมาอ้างถึงว่าชัตเตอร์เสียงดังแล้วแบบที่ถูก (แอบ) ถ่ายจะรู้ตัว อันนี้ผมว่าถ้าไม่ได้อยู่ในห้องเงียบ ๆ นะครับ ถ้าแนวสตรีทหมายถึงสตรีทริมถนนจริง ๆ ชัตเตอร์แบบ Leica ทุกรุ่น คนถูกถ่ายไม่ได้ยินเสียงหรอกครับ เสียงรถ เสียงคน เสียงแม่ค้ามันกลบหมด

ระบบวัดแสงเรียบง่ายและคลาสสิก เฉลี่ยหนักกลางเท่านั้นเลือกไม่ได้ (Digital M ทุกรุ่น ถ้าใช้ระบบหาพิสัย (Range finder) จะวัดแสงได้แต่แบบนี้เท่านั้น ยกเว้นใช้ Live view จะมีแบบอื่นมาให้เลือก) ปรับตัวอยู่กับมันครับ ไม่ต้องเลือก ไม่ต้องวุ่นวาย แค่ถ่ายไปให้ชินก็อยู่มือแล้วครับ มีเยอะคิดเยอะ เอ้าจริง ๆ ไม่ได้พูดเล่น ถ้าใช้เป็นระบบความไวชัตเตอร์อัตโนมัติ หน้าจอกล้องจะแสดงค่าความไวชัตเตอร์ออกมาเป็นตัวเลขให้เห็น แต่ถ้าใช้ระบบแมนวล จะมีไฟ LED แสดงให้เห็น 3 ดวงแบบคลาสสิกที่สาวกไลก้าคุ้นเคยจาก M6ttl M7 MP อารมณ์แบบนั้นเลยครับ ใครนึกภาพไม่ออก ไปซื้อมาลองครับ... ปกติเวลาผมถ่ายด้วยระบบอัตโนมัติของกล้องรุ่นนี้ (มันมีพิเศษอย่างนึงคือด้วยความที่มัน Pure form มาก มันก็เลยไม่มีลูกกลิ้งที่ปกติเราท่านมักจะตั้งไว้เป็นค่าชดเชยแสง M60 ออโต้ คือ ออโต้อย่างเดียว ชดเชยแสงไม่ได้ ไม่เหมือน M-D ที่มีลูกกล้ิงมาให้) ผมจึงมักจะใช้วิธีหันกล้องไปวัดแสงในที่ที่คิดว่าพอดีไว้ แล้วกดครึ่งชัตเตอร์ค้างเพื่อล๊อคค่าแสง ก่อนจะจัดองค์ประกอบภาพแล้วถ่ายครับ ซึ่งก็ได้ผลค่อนข้างดี โดยที่ไม่ช้าจนเสียจังหวะจนเกินไป

เรื่องการใช้งานไม่มีอะไรซับซ้อนเลยครับ

  • ตั้ง ISO

  • ปรับค่า F (รูรับแสง)

  • ปรับความเร็วชัตเตอร์

จัดครบ 3 อย่างนี้เรียบร้อยเป็นอันถ่ายได้ (ถ้าไม่ชอบแบบแมนวลก็มีความเร็วชัตเตอร์อัตโนมัติให้ปรับตั้งตรงตัว A) วัดแสงด้วยระบบเฉลี่ยหนักกลางอย่างเดียวเลือกไม่ได้ ถ่ายมาเป็นไฟล์ Uncompress RAW อย่างเดียวเลือกไม่ได้ ระบบสมดุลแสงขาว (White balance) เป็นอันตัดไปเพราะถ่าย RAW มันไม่มีผล รู้แค่นี้ก็ถ่ายได้เลยครับ ไม่ต้องทำความเข้าใจกับการตั้งค่า Styles หรือ Scenes แล้วครับ กล้องยี่ห้อนี้มันถ่ายมาแล้วใช้ได้ทันที สวยเลย ไม่ต้องแต่งอะไรเพิ่มครับ Leica เคยอธิบายไว้ในแนวความคิดการออกแบบว่ากล้องรุ่นนี้ต้องการให้ผู้ใช้โฟกัสกับการถ่ายภาพอย่างเดียว ไม่ต้องมัวกังวลเรื่องอื่น หรือแม้แต่มัวมากดดูภาพที่ถ่ายไปแล้ว

เรื่องการไม่มีจอของกล้อง M60 นี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากตั้งแต่มีการเปิดตัวแล้ว ประเด็นนี้มันเป็นเรื่องของรสนิยมล้วน ๆ ถ้าอ่านเว็บไซต์จะได้ข้อมูลที่ค่อนข้างเป็นกลาง แต่ถ้าอ่านตามกระทู้ จะมีจำนวนไม่น้อยที่แสดงความเห็นออกไปในทางเย้ยหยันคนที่ซื้อกล้องดิจิทัลไร้จอทั้ง M60 และ M-D ในขณะที่ 2-3 ปีให้หลัง คนนิยมถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก จนหลายร้านต้องกลับมาขายฟิล์มอีกครั้ง ตลาดกล้องเก่ากล้องวินเทจก็คึกคักไม่แพ้กัน ลองอ่านคอนเซ็ปของผู้ออกแบบก่อน ลองเล่นด้วยตัวเองกันก่อนครับ เรื่องพวกนี้ไม่ชอบก็อย่าไปว่ากัน มันเป็นเรื่องส่วนบุคคล มันเป็นรสนิยม มันเป็น “อารมณ์” ครับ เหตุผลน่ะตามมาภายหลังทั้งส้ิน ตัวเลือกผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในท้องตลาดมีมากมายมายใครชอบอะไรก็เล่นไป เหมือนศิลปะนามธรรม อาจารย์ของผมท่านหนึ่งที่เป็นศิลปินแห่งชาติเคยกล่าวไว้ว่า เวลาดูงานศิลปะนามธรรมแค่บอกว่าชอบหรือไม่ชอบก็พอ แต่อย่าไปอธิบายถ้าเราไม่ได้เป็นคนวาดภาพนั้นด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นประเด็นเรื่อง M60 ไร้จอ ประเด็นที่จะพูดได้อย่างเป็นจริงและไม่มีวันผิดเลยเรื่องหนึ่งก็คือ กล้องจะประหยัดแบตเตอรี่เป็นอย่างมาก เรียกว่าถ่ายกันจนลืมไปเลยครับว่ากล้องต้องใส่แบตเตอรี่ เรื่องประสบการณ์การใช้งานกับกล้องไร้จอ ขอให้ทุกท่านหาโอกาสมาใช้เองด้วยดีกว่า แล้วจะถอนตัวไม่ขึ้น ขอบอกไว้ ณ ที่นี้เลย เล่าไว้คร่าว ๆ ว่าการมีจอแล้วปิดไม่ใช้ กับการรู้ว่ามันไม่เคยมีจออยู่ตรงนั้นมันคนละเรื่องกันเลยครับ ยิ่งเวลาไปเที่ยวจะยิ่งเห็นได้ชัด ยกกล้องมาถ่ายแชะแล้วยังมีเวลาดื่มด่ำกับบรรยากาศนั้น ๆ ต่ออีกสักหน่อยจนขณะ (Moment) นั้นมันสลายไป จะมี ห้วงเวลาใหม่ ๆ ขณะใหม่ ๆ ตามเข้ามาก็จะได้ไม่พลาด ซึ่งจะช้าจะเร็วขึ้นอยู่กับบริบทเหตุการณ์ แต่ที่แน่ ๆ การถ่ายรูปส่วนบุคคลโดยปราศจากความทรงจำกำกับ มันก็กลายเป็นแค่ไฟล์ขยะในคอมพิวเตอร์เท่านั้นเอง (ยกเว้นท่านจะนำมันไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ เช่น ขาย ฯลฯ) เพราะฉะนั้นกล้องดิจิทัลไร้จอ “ให้โอกาส” เราซึมซับครับ มากกว่านี้คือให้โอกาสเรามีปฏิสัมพันธ์กับคนข้าง ๆ มากกว่าสนใจแต่กล้องอีกด้วย (จอโทรศัพท์ก็คงเป็นด่านถัดไปที่ต้องแก้ไขกันให้ได้ คนจะได้กับมาเป็นคนที่มี “วิญญาณ” กันอีกครั้ง)

M60set @f1.4

เรื่องคุณภาพของภาพของกล้อง M60 นี้สามารถเล่าให้ฟังได้เลยแบบแทบไม่ต้องใช้ทดสอบกันแล้ว เพราะกล้อง M60 นี้เป็นกล้องที่อยู่ติดตัวผมไปทุกที่ ทุกวัน เป็นเวลามากกว่า 2 ปี รู้จักกันดีระดับนึง และกล้าที่จะพูดได้อย่างเต็มปากว่าภาพที่ได้มันมีความแตกต่างจาก M(typ240) ครับ จะด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบได้ แต่ไฟล์ภาพที่ได้จาก M60 นั้นมีความ “ใส” กว่า ใสในที่นี้คือส่วนที่ขาวก็จะขาวไปจนสุด ดำก็ดำไปจนสุดครับ คอนทราสของภาพมันดี ภาพกระจ่าง และช่วยส่งเสริมไมโครคอนทราสให้เกิดความป๊อบ แยกแยะความลึกตื้นได้อยู่ บ้างก็ว่าเป็นเพราะไม่มีจอ ความร้อนสะสมในระบบมีน้อย ปรับแต่งกล้องมาใหม่แล้ว ฯลฯ อันนี้ผมไม่ทราบจริง ๆ เพราะทุกคนก็ได้แต่เดาครับ ภาพมันใสและเด้ง ผมว่าเป็นรองก็แค่ M8 M9 ที่เป็น CCD เท่านั้น แต่ถ้าในตระกูล CMOS ด้วยกันผมว่า M60 กินเรียบ (อ่านมาจาก Overgaard ทราบมาว่า M-D “และ M60” ใช้เซนเซอร์ของ M(typ262) เพราะไม่มีฟังก์ชัน Live view และ Video) ซึ่งมันมีความน่าสนใจขึ้นมาอีกระดับแล้วเพราะบางท่านก็ยังว่ากันว่าภาพจาก M60 แตกต่างจาก M-D อีกเช่นกัน และใน Exif ก็ระบุว่า M60 คือ M(typ240) ก็ขอให้เรื่องนี้จงซับซ้อนไปเรื่อย ๆ และหาคำตอบไม่ได้ด้วยเทอญ... เอาเป็นว่าเราจะช่างมันไว้ก่อนแล้วใช้งานกล้องไปละกันนะครับ ส่วนในเรื่องความใสของภาพนั้น เอาเป็นว่าขนาด M10 ยังสู้ไม่ได้กล้าพูดเพราะลองกันมาแล้วครับ แต่ภาพไม่ใช่ของผมคงเอามาเผยแพร่ไม่ได้ (แต่ M10 จะชนะเรื่อง Dynamic range การขุดคุ้ยส่วนมืดจากภาพ ที่ทำได้ดีมากโดยที่ขุดแล้วสีไม่เพี้ยนด้วย (M60 ขุดมาก ๆ จะติดสีเขียวขึ้นมาครับ) ก็เข้าใจว่าด้วยความที่ M10 เก็บรายละเอียดส่วนมืดส่วนสว่างได้ดีมากมันจึงทำให้คอนทราสของภาพรวมลดลงหน่อย) นอกจากนี้ระบบสมดุลแสงขาวอัตโนมัติ (Auto white balance) ใน M60 มันดีกว่า M(typ240) มาก ๆ เพราะมันค่อนข้างตรง ไม่ติดเหลืองแล้วครับ ส่วนตัวผมว่าภาพที่ได้จาก M60 มีคาแรกเตอร์ที่แตกต่างจาก Leica CMOS โดยเฉพาะ M(typ240) และ M10 ตัวเนื้อภาพเองมันมีความน่าสนใจ แต่ด้วยความที่มันผลิตแค่ 600 ชุด และคนส่วนหนึ่งน่าจะซื้อไปเก็บสะสม (บางคนก็ซื้อ 2 ชุด 3 ชุด) คนที่มีโอกาสลองใช้ถ่ายภาพจริง ๆ ก็คงมีไม่มากนัก จึงไม่ค่อยมีใครพูดถึง แต่ผมก็จะพูดไว้ตรงนี้แหละครับ ถ้ามีโอกาสไปหาลองกันดู

M60set @f5.6

จริง ๆ เรื่องเลนส์อยากจะรีวิวอีกเหมือนกัน แต่ว่าบทความคราวนี้มันยาวมากแล้ว ขอยกไว้เป็นบทความถัด ๆ ไปที่จะมาขุด ๆ คุ้ย ๆ ดูกันเรื่องเลนส์ Leica Summilux 1.4/35 ASPH. FLE Edition “LEICA 60” แล้วทดลองใช้จริงกันให้ถึงใจว่าที่เจ้าของกล้อง M60 ว่ากันไว้หลายคนว่าภาพมัน “ต่าง” จากตัว FLE ปกติ มันเป็นอย่างไร ตอนนี้ชมตัวอย่างภาพจาก Leica M edition 60 Set กันก่อนครับ

เป็นที่น่าแปลกใจไม่น้อยว่า M edition “LEICA 60” ราคาไม่ได้พุ่งสูงมากเหมือนรุ่น อื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่เป็น Edition สำคัญของ Leica ครบรอบ M 60 ปี ไม่ใช่การเปลี่ยนสีเปลี่ยนหนังแล้วเรียก Limited แบบทั่วไป ลองเปรียบเทียบราคา Safari หรือราคา Edition Stealth ที่เป็น M(typ240) กับ Summicron 2/35 ASPH. ส่วนตัวผมว่า M60 ยังไงก็คุ้มค่ากว่า วัสดุมันเป็น Stainless steel นะ บอดี้ดีไซน์ใหม่หมดนะ มากับเลนส์ Summilux 1.4/35 ASPH. FLE ด้วยนะ ซึ่ง เฮ้ มันคืออะไรวะครับนี่ เพราะฉะนั้น ณ ปี 2018 ราคานี้ ตอนนี้ ใครหาได้หาเก็บไว้เลยครับ เหมาะสมที่สุดแล้ว เทียบดูกับ M(typ240) ธรรมดากับเลนส์รุ่นนี้ มือหนึ่งเหมือนกันราคาต่างกันไม่มากเลย แต่เอาจริง ๆ เรื่องราคาอย่าไปคิดมาก หลายคนมักมาถามผมว่าจะซื้ออะไรหรือเก็บอะไรดี ผมก็ตอบไม่ได้หรอกครับ ตอบได้แค่ซื้ออะไรที่มันเลิกผลิตแล้ว 555 ส่วนมากผมไม่ได้ซื้อเก็บ ผมซื้อใช้ อนาคตก็เป็นเรื่องของอนาคตจะขึ้นจะลงก็ช่างมันเถอะครับ เพื่อน ๆ พี่ ๆ ในวงการบางท่านและผมเองก็คิดเช่นกันคือ อย่าไปมองว่ามันเป็นการลงทุนที่จะต้องได้กำไรนำการตัดสินใจ เราซื้อมาใช้ ซื้อมาสะสม สร้างความสุขเป็นงานอดิเรกครับ ราคาจะขึ้นมากขึ้นน้อยอย่าไปซีเรียส ถ้าไม่อยากรู้สึกว่าเปลืองมากก็เอาอย่างนี้ คิดง่าย ๆ ว่าซื้อกล้องรุ่นธรรมดามาใช้ราคาอาจตกลงไปเรื่อย ๆ หลายคนมองว่าเป็นเสมือนค่าเช่าก็ fine นะครับ รีบเปลี่ยนก่อนราคาตกมาก หรือถ้าได้ใช้บ่อยหน่อยก็คุ้มค่า แต่ถ้าซื้อกล้องรุ่น Limited มาใช้อาจขายมือสองอาจได้ราคาเท่าที่ซื้อ ดีไม่ดีมีกำไรขึ้นมาอีก โดยเฉพาะเลนส์นี่ตัวดีนัก ผมจึงไม่ลังเลที่จะคว้าตัว Limited ไว้ใช้เมื่อราคามันโอเค แต่ก็ไม่ได้สะสมหรือเก็งกำไรแต่อย่างใด และที่ผมรักรุ่นนี้มาก ๆ เพราะยังเชื่อว่าอารมณ์ขณะถ่ายภาพ สำคัญกว่าประสิทธิภาพของกล้อง ภาพแนว Commercial อาจสวย เป๊ะ เตะตา แต่ภาพที่ถ่ายจากอารมณ์คนถ่าย มันส่งลงไปถึงภาพครับ มันมีความรู้สึกประทับอยู่กับภาพ พวกเก๋า ๆ หน่อย จะส่งพลังนั้นมาถึงคนดูภาพได้ อย่างพวกเรา ๆ ถ่ายรูปมาดูเองแล้วรู้สึกถึงขณะนั้นได้เองคนเดียว ผมว่าก็คุ้มค่ามากแล้วครับ... สวัสดี

bottom of page