top of page

Digital - Film

Updated: Aug 24, 2023

สวัสดีครับ พอดีวันหนึ่งผมมีโอกาสได้ลองถ่ายภาพทั้งดิจิทัลและฟิล์มในสถานการณ์เดียวกัน เลยเอามาลงเทียบกันให้ดูอารมณ์สักหน่อยครับ

Leica M10 + Leica Summicron 2/35 ASPH. Anthracite

Leica MP + Voigtlander Heliar 3.5/50 V4 + Kodak Portra 800 + LERT's

Tone

ผมไม่ได้ทดสอบจริงจังโดยใช้เลนส์ตัวเดียวกันนะครับ แค่ถ่ายรูปเล่นแล้วเห็นก็อยากจะเอาภาพมาลงให้ดูว่าจริง ๆ แล้วกล้องดิจิทัลมันให้คุณภาพที่ดีมากมายจริง ๆ แต่มันมีอะไรบางอย่างก็ไม่รู้ ที่ฟิล์มมีแต่ดิจิทัลไม่มี คือโทนที่บ่งอารมณ์ของภาพน่ะนะครับ ฟิล์มแต่ละรุ่นก็ให้ภาพต่างกัน (ตอนนี้กำลังไล่ลองอยู่ แล้วจะเอาภาพมาเทียบกันให้ดูครับ) ผู้รู้บางท่านนำเสนอไว้ว่าสามารถเลือกโทนสีของภาพตามสีกล่องฟิล์มได้เลยครับ 555 นอกจากนี้ความคลาสสิกของฟิล์มที่ผมเห็นเองอย่างหนึ่งคือ มันเลือกเลนส์ด้วยครับ จริง ๆ เลนส์ Voigtlander ตัวที่เอามาถ่ายนี้ ตอนใช้กับดิจิทัล ให้โทนและสีสันอิ่มระดับ Stunning เลยนะ แต่พอมาใช้กับฟิล์มแล้วหงอย ๆ เลนส์ไลก้าสมัยก่อนบางตัว พี่ ๆ ในวงการจึงมักรีวิวิห้อยท้ายกันไว้ว่า ถ่ายดิจิทัลก็สวย ฟิล์มก็สวย เป็นต้น (เรื่องนี้ก็ขอติดไว้ก่อนอีกเรื่อง เอาไว้จะเทียบกันให้ดู ^_^) ส่วนถ้าเป็นภาพขาวดำ เลนส์ที่ให้คอนทราสต่ำ ๆ มักจะมีภาษีดีในการถ่ายขาวดำกับกล้องดิจิทัลเพราะสามารถเก็บรายละเอียดส่วนมืดส่วนสว่างได้มาก แต่กับฟิล์มนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ เพราะเราต้องเลือกฟิล์มให้เหมาะสมกับเลนส์ด้วย เอาเลนส์คอนทราสหนัก ๆ มาใส่ฟิล์มคอนทราสสูงก็ไปกันใหญ่ หรือเอาเลนส์คอนทราสต่ำมาใส่ฟิล์มคอนทราสต่ำก็จืดชืดกันไป อันนี้เป็นศิลปะ ต้องไปค้นคว้าทดลองกันเองครับ ผมยังลองไม่หมด (และคงลองได้ไม่หมดด้วย) ไม่กล้าพูด ผมก็ยังคงอยู่ระหว่างการเดินทาง แล้วนี่ยังไม่พูดเรื่องฟิลเตอร์สีอีกนะ ยังขี้เกียจจะพิมพ์ครับ 55 เรื่องฟิล์มกับเลนส์ ผมว่ามันต้องผสมกับสไตล์การถ่ายภาพของแต่ละคนด้วย ถ้า Match กันเมื่อไรก็ได้เรื่อง

บางคนว่าเอาดิจิทัลมาแต่งให้เหมือนฟิล์มได้ แต่เอาฟิล์มมาแต่งให้เหมือนดิจิทัลไม่ได้นะเออ

ซ้าย MP ขวา M10 ครับ

WB

เคยคุยกับเพื่อนผู้รู้ (ก็ขอเอามาแชร์กัน ณ ที่นี้) กล้องดิจิทัลมีระบบ White Balance เอาไว้ชี้ทางให้ Sensor เก็บสีช่วงไหนมาบ้าง (ถ้าถ่าย RAW ก็ไม่ต้องปรับ เพราะเก็บมาหมด ค่อยมาเลือกภายหลัง แต่เข้าใจว่า RAW ที่เห็นว่าเป็นภาพนั่นมันก็ Process มาระดับนึงแล้ว) ส่วนฟิล์มไม่มีให้ปรับเอง เพราะจริง ๆ แล้วเขาทำมาในฟิล์มแล้วว่าจะให้เนื้อฟิล์มเก็บสีช่วงไหน อย่างไรก็ตามใครถ่ายฟิล์มมาจะพบว่าในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ผลลัพธ์ของภาพก็ออกมาแตกต่างกันได้แบบสุดขั้วเช่นกัน บางครั้งในร่มจะได้ภาพสีเหลืองมาก แต่ออกมาในสวนได้ภาพสีอมเขียวเสียอย่างนั้น นั่นเป็นเพราะฟิล์มรับแสงที่วัตถุแต่ละชนิดสะท้อนออกมาครับ ตอนแรกที่ผมถ่ายฟิล์มก็งง ๆ จนเพื่อนไขความกระจ่างให้ว่า ถ่ายฟิล์มในที่ต้นไม้เยอะ ๆ ภาพจะสีอมเขียวเพราะมีสีเขียวของต้นไม้เข้ามาด้วย ไอ้เราก็สอนเรื่องต้นไม้อยู่จึงค่อยบรรลุว่า ใบไม้ที่เราเห็นเป็นสีเขียวเพราะต้นไม้ใช้ช่วงแสงสีแดงและสีม่วงในกระบวนการสังเคราะห์แสง และสะท้อนสีเขียว (ที่ต้อนไม้ไม่เอา) ออกมาให้ตาเราเห็น ดังนั้นไอ้สีเขียวนี้มันก็เข้าไปสถิตอยู่ในฟิล์มของเราด้วยนั่นเอง ดังนั้นการเลือกฟิล์ม เลือกสถานที่ สถานการณ์ที่ถ่ายภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ช่างภาพสมัยก่อนจึงเก่งจริง ๆ เพราะข้อจำกัดทางสถานการณ์เยอะ การวางแผนเลือกฟิล์ม เลือกเลนส์ "โคตร" สำคัญเลย สมัยนั้นกระบวนการ post process ก็มีนะแต่น้ำหนักยังน้อยกว่าปัจจุบันนัก เราจึงได้เห็นช่างภาพห้อยกล้องหลายตัวที่ใส่ฟิล์มต่างกัน บางท่านถ่ายไปครึ่งม้วนก็หมุนเอาออกแล้วใส่ฟิล์มใหม่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน แน่นอนมันเปลืองมาก แต่ก็แสดงถึงความเป็นมืออาชีพมากเช่นกัน

Kodak Portra 800 ม้วนเดียวกัน แต่คนละสภาพแวดล้อม

ทิ้งท้ายไว้ส่วนตัวอีกเรื่องเกี่ยวกับฟิล์ม ผมมีความรู้สึกว่าเครื่องสแกนฟิล์มในปัจจุบัน ไม่มีตัวไหนทำได้ "ถึง" ระดับที่ฟิล์มเป็นเลยครับ เหมือนพวกเครื่องเสียงอนาลอกเนอะ พอเอามาแปลงเป็นยุคดิจิทัลแล้วมันตัดข้อมูลที่ไม่สำคัญ (ที่คิดว่าหูคนไม่ได้ยิน) ออก แต่หูของคนเรามันก็ไม่เท่ากันนะครับ ฟังยังไงก็ไม่เหมือน ความ "ถึง" ที่ว่านี้ ผมมีความเห็นว่าฟิล์มมันเก็บแสงได้ตั้งหลายสต็อป แต่เวลาภาพที่สแกนจากฟิล์ม ไม่ว่าร้านไหน ๆ ก็จะได้ช่วงแสงแคบ ๆ ช่วงเดียวเหมือนกันหมดเลย คอนทราสจะสูงกว่าเอาไฟล์จากกล้องดิจิทัลมาทำเองเสียด้วยซ้ำ อันนี้ผมไม่เข้าใจว่าทำไมสแกนให้เก็บช่วงแสงกว้าง ๆ กว่านี้ไม่ได้? ความรู้อาจไม่ถึงนะครับ แค่ตั้งข้อสังเกตเอาไว้บอกกล่าวกันก็แล้วกัน ^_^ เอาไว้คงต้องหาเครื่องสแกนฟิล์มดี ๆ มาเล่นเองเสียบ้างจะได้กระจ่างกันไป

bottom of page