top of page

Leica M10

Updated: Aug 24, 2023

"10 ประเด็นกับ M10"

พูดถึง Leica จุดแดงก็ต้องเป็น Leica M นับว่าเป็นซีรี่ส์กล้องที่มีการจับตามองมากที่สุดซีรี่ส์หนึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ถ้าใครยังเรียงกันไม่ถูกว่า M ไหนมาก่อนกัน มันก็จะมีการนับรุ่นประหลาด ๆ นิดหน่อย ถ้าเรียงตามการวางจำหน่ายแล้วจะได้ราว ๆ นี้ FILM : M3 --> M2 --> M1 --> M4 --> M5 --> M4-2, M4P --> M6, M6TTL --> M7 --> MP --> DIGITAL : M8, M8.2 --> M9, M9P, M monochrom --> M(typ240), M-P(typ240), M(typ246) monochrom, M(typ262), M-D --> M10 เอาแค่รุ่นหลัก ๆ นะครับ ถ้านับพวก edition ต่าง ๆ คงไม่หวาดไหว

เข้าเรื่องกันว่า วันก่อนเดินผ่านร้าน FF เลยแวะไปทักทายพี่อ๋อยแกนิดหน่อยตามประสา จึงได้ Leica M10 มาเล่น กล้องมันเปิดตัวไปตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2560 โน่น นับจนวันนี้ก็ผ่านมาราวปีครึ่งแล้ว เพิ่งได้เคยลองเล่นกับเขาจริงจัง ครั้งแรกเลยที่ได้แตะ M10 คือวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 แล้วก็ลองเล่นไปนิด ๆ หน่อย ๆ พอหายอยาก คราวนี้จะมาลองเจาะลึกกันดู เน้นอารมณ์นะครับ ไม่เน้นข้อมูลที่หาอ่านได้กันเยอะแยะอยู่แล้ว ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ คิดเสียว่าเป็นอีกเสียงหนึ่งที่สะท้อนกลับมาให้ได้ยินได้ฟังกัน ผมลองแยกเป็นประเด็น ๆ ไว้ดังนี้

เห็นฮูดเทาบ้างเงินบ้างไม่ต้องตกใจนะครับ เลนส์รุ่นนี้ Anthracite มากับฮูดอลูมิเนียมสีเทา แต่ผมเอาฮูดของ 35 cron Safari สีเงินมาใส่แทน

  1. วัสดุ Leica M10 ตัวที่ผมได้มาเล่นน่าจะผ่านมาหลายมืออยู่ ความมันส์ของมันคือการถูกขัด ๆ ถู ๆ มาแล้ว ไม่ใช่ขัดขอบ ๆ ให้เห็นทองเหลือง (Brassing, Brass out) นะครับ แต่ขัดบาง ๆ มันทั้งตัวเลย 55 ทำให้ทั้งตัวเป็นสีดำด้าน ๆ ออกไปทางเทาเข้ม และบางส่วนเริ่มโผล่ให้เห็นสีเงิน ๆ ถึงตอนนี้ก็ต้องร้องอ้าว ๆ ๆ ๆ กันแล้วว่าทำไมเป็นสีเงิน ก็ในสเป็คของ M10 Top plate กับ Bottom plate มันเป็นทองเหลืองนี่นา ทำไมขัดมาแล้วเจอสีเงินดูไม่เซ็กซี่ เรื่องนี้ถูกคลายความสงสัยโดยพี่อ๋อย FF ในเบื้องต้น และไปหาอ่านเพิ่มเติมใน Rangefinder forum ได้ความมาว่า การทำสีลักษณะ Black chrome นั้น อย่าง Leica M10 วัสดุที่ใช้ทำเป็นทองเหลือง มันจะถูกเคลือบโดยทองแดงก่อน จากนั้นก็เป็นชั้นนิกเกิล (ที่เห็นเป็นสีเงิน) แล้วจึงทำสีดำทับ ซึ่งสีดำจะทำให้เงาหรือด้านแค่ไหนก็ได้ เพราะฉะนั้นตัวที่ผมเล่นอยู่นี้เจ้าของท่านกรุณาขัดสีดำออกไปจนจาง ๆ เริ่มเห็นเงิน ๆ บ้าง แต่ยังไม่ถึงชั้นทองเหลืองครับ ถ้าถึงมันคงประหลาด กล้องมีทั้งสีดำ สีเงิน สีทอง ไอ้กล้องแบบนี้ก็ดีอยู่เหมือนกัน คือมันดูเก่า ไม่เตะตาดี ถ้าห้อยคอไปไหน ๆ คนก็คงคิดว่า M4-2 เก่า ๆ (ไม่ยกตัวอย่าง M4 เฉย ๆ เพราะสีดำมันแพงมาก 555) ไม่มีใครคิดว่า M10 แน่นอน ยิ่งขนาดตัวเท่ากล้องฟิล์มด้วยแล้ว สบายใจ ใช้ได้ ส่วนถ้าจะว่ากันด้วยเรื่องขนาดของบอดี้ ใน forum ฝรั่งมันก็บ่นกันไปได้เรื่อย ว่าทำขนาดเล็กลงแล้วจับไม่ถนัดมั่งอะไรมั่ง แต่ส่วนตัวผมว่าขนาดนี่แหละเป็นจุดขายที่ M10 ตีโจทย์แตกมาก เพราะ M8 M9 M(typ240) มันมีขนาดใหญ่ขึ้นมาเรื่อย ๆ เสียจนเทอะทะไม่น่าดู ความงามและความพึงพอใจในของสักสิ่งหนึ่ง ผมขอให้ความเห็นว่าสัดส่วน (Proportion) มีความสำคัญมาก ความกว้าง ความสูง ความลึก มันต้องพอดีกัน มันถึงจะงาม แล้วสัดส่วนที่ M10 นำมาใช้คราวนี้คือนับย้อนไปโน่น ขนาดพอ ๆ กับพวกกล้องฟิล์มของ Leica ซึ่งเกิดมาในยุคที่งานออกแบบมีความพิถีพิถันเกี่ยวกับเรื่องรูปทรงและสัดส่วนมาก เทียบดูกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่วางจำหน่ายร่วมสมัยกันก็ได้ เมื่องานออกแบบมันลงตัวมันจึงไม่มีวันเก่า (Timeless) และขึ้นแท่น Classics จนฉีกแนวออกไปทำอย่างอื่นได้ยากจริง ๆ หลายคนอาจบอกว่ามันเป็นกับดักทางความสำเร็จอย่างหนึ่งก็ได้ เอาเป็นว่าตรงจุดนี้ผมชอบมากกว่า M(typ240) ก็แล้วกัน ขนาดของ M10 จะไปใกล้เคียงกับ M6TTL โดยประมาณนะครับ เพระาผมเอามาเทียบกับ MP(ฟิล์มนะครับ ไม่ใช่ M-P(typ 240)) แล้วพบว่า M10 สูงกว่า MP อยู่เล็กน้อย (ยังไม่คลาสสิกจริง) M10 ยาวกว่า MP ราว 1 มม. ส่วนความหนาแทบจะเท่ากันเลยครับ​

ขนาดของ Leica M10 เมื่อเทียบกับ Leica MP (ใส่ hand grip แล้วสูงพอ ๆ กัน)

  1. แป้นหมุน ISO ปรับได้ทีละ stop ตั้งแต่ A 100 200 400 800 1600 3200 6400 และ M แล้วยังสามารถปรับได้ทีละ 1/3 stop ในเมนู (ส่วนตัวชินกับการปรับ ISO ทีละ 1 stop มาแต่ไหนแต่ไร มีดิจิทัลกี่ตัวก็ปรับทีละ 1 stop หมด) สัญลักษณ์ M บนแป้น ISO นั้นเอาไว้ให้เลือกตั้งได้ว่า M จะแทน ISO เท่าไร กล้อง Leica M10 มันดัน ISO ไปได้ถึง 50,000 ครับ มันเกินการควบคุมด้วยกายภาพไปไกลแล้ว เลยต้องมาดีไซน์ให้มีตัว M เพื่อหาทางออกให้ ISO สูง ๆ ในภายหลังชัวร์ ๆ ถ้าต้องการกล้องที่เป็นตำนานจริง ๆ เวลาออกแบบแล้วเจอปัญหามันต้องย้อนกลับไปคิดใหม่เลยครับ ว่าจะเอายังไงไม่ใช่มาแก้ปัญหาปลายเหตุ ผมว่าดีไซน์มันก็เลยแปลก ๆ กันอยู่บ้าง แต่ก็มีข้อดีที่ปรับเอาของสำคัญทางการถ่ายภาพค่า F ค่า Shutter speed และ ISO มาอยู่เป็นกายภาพได้โดยไม่ต้องเข้าเมนู ทำให้กล้องมันดูเรียลขึ้นมาอีกหน่อย เดี๋ยวจะหาว่าไม่ชม

  2. ช่องมองภาพ (View finder) เป็นสิ่งหนึ่งที่สะดุดตา M10 ตั้งแต่แรกเห็นคือช่องมองมันมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างชัดเจน เสียดายที่อัตราขยายยังเป็น 0.73 อย่างผมชอบถ่ายเลนส์ระยะ 35mm เฟรมภาพของ 35mm มันเลยใหญ่ตามช่องมองไปด้วย มองสบายตาจริงแต่ต้องกวาดตาไปมาเยอะ แต่ถ้าคนใช้เลนส์ 50mm หรือ 75mm คงถ่ายสนุกมาก เรียกว่าเป็นสวรรค์ ตรงนี้ผมว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนและดีมาก กรณีนี้ผมว่าถ้าทำได้แบบ M6 ไปเลย คือมีอัตราขยายช่องมองภาพให้เลือกได้หลายแบบ (0.58, 0.72, 0.85) คงสนุกดี ขอแบบ a la carte นะครับ เปิดโปรแกรมให้ไวเลยครับไลก้า

  3. Battery ประเด็นที่ใคร ๆ ก็ต้องพูดถึงคือ Battery มันเล็กลง ใช้งานได้ไม่นานเท่า M(typ240) หลายคนอาจพอทำใจได้ แต่ถ้าใครมี M edition 60 หรือ M-D อยู่กับมือล่ะก็คงทำใจยาก เพราะพวกกล้องไร้จอ ผมชาร์ตแบตทีพกไปถ่ายบ้างไม่ถ่ายบ้างทุกวัน อยู่ได้เป็นเดือนครับ M10 นี่อะไร แป๊บ ๆ ก็หายทีละ 5% ๆ พอดูแบตมันลดเยอะ ๆ แล้วก็หงุดหงิดว่าวันพรุ่งนี้จะใช้พอไหม คืนนี้ต้องชาร์จหรือเปล่า อย่างไรก็ตามแบตเตอรี่ไม่ได้หมดเร็วจนน่าเกลียดนะครับ ใช้ได้สบาย ๆ อยู่ (ถ้าใช้ RF นะ) ถ้าจะให้ดีเผื่อไว้สำรองอีกก้อนจะอุ่นใจกว่า ส่วนผู้ใช้ EVF เคยเห็นข่าวว่าเครื่องจะร้อน สูบแบตหมดไว กันอยู่หลายราย ไม่รู้ว่าปัญหานี้เป็นเพราะอะไรกันแน่ ก็รอดูกันต่อไปครับ ผมใช้ LV กับเลนส์มือหมุนค่ายอื่นก็เครื่องอุ่น ๆ ขึ้นมาเช่นกันครับ

  4. เรื่องของ EVF ที่จำต้องซื้อเป็นอุปกรณ์เสริมมาต่อภายนอก บางคนก็ว่าไม่ดี ไม่ถูกใจ เพราะต่อแล้วไม่สวย (มันใหญ่มาก) ทำไมไม่ทำ Build in เป็น Hybrid แบบพวก Fujifilm X-pro กรณีนี้ผมมีความเห็นว่าไลก้าเป็นแบบนี้ดีแล้วครับ เราซื้อกล้องหาพิสัย (Range finder, RF) ก็ควรจะใช้ช่องมองแบบ RF ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และจุดเด่นที่สุดของมัน ถ้าทำช่องมอง Hybrid เมื่อไรล่ะก็ รับรองครับ คนกว่าครึ่งใช้ EVF แทนแน่นอน (แบบนั้นควรไปซื้อ SL) และเมื่อนั้นเอกลักษณ์ไลก้า M ก็จะอ่อนแอลงไปอีก ทำ EVF แยกดีแล้ว มี LV แบบให้ดูจอแบบนี้ดีแล้ว นอกจากจะรักษาเอกลักษณ์กล้อง RF เอาไว้ ยังแสดงถึงความยืดหยุ่นของการใช้เลนส์อื่น ๆ ที่ไม่สามารถหาโฟกัสในระบบ RF ได้ด้วย รวมถึงเลนส์บางตัวที่ไม่เคยวัดแสงได้ในกล้องไลก้าดิจิทัล ก็มาวัดแสงได้ใน M10 โหมด LV เช่น Leica Super Angulon 3.4/21 เป็นต้น อิ อิ วิ่งหากันขาขวิดแน่นอนครับงานนี้ และคราวนี้เลนส์ตัวโปรดอีกหนึ่งตัวในใจ Mamiya sekor 1.4/55 เม้าท์ M42 ก็จะได้กลับมามีความสุขด้วยกันอีกครั้งหลังจากนอนตู้ยาวหลายปี

ภาพจาก Leica M10 + Mamiya sekor 1.4/55

  1. ระบบการควบคุม คราวก่อนที่ได้ลองเล่นแป๊บเดียว เลยงง ๆ กับเมนูของมันนิดหน่อย แต่คราวนี้มีเวลาเล่นนานเลยพบว่าจริง ๆ แล้วถ้าเข้าใจมันง่ายมาก คือกดเมนูครั้งแรก มันจะเป็น Favorite menu ที่เราสามารถเลือกได้ว่าจะเอาอะไรมาใส่ไว้ในนี้บ้างเพื่อการใช้งานที่รวดเร็ว ส่วนรายการสุดท้ายจะเป็น Main menu ที่กดเข้าไปแล้วเป็นเมนูทั้งหมดของกล้อง (ซึ่งมีไม่มากเลยครับ) เมนูน้อย ๆ ใช้ง่ายดี ไม่ต้องวุ่นวาย ไม่มี profile สีให้เลือกกันแบบพวก DSLR ไม่มีแอพแต่งภาพ ไม่มีโหมดของจิ๋ว พาโนรามา หน้าเด้ง ฯลฯ กล้องมันบอกว่าแกถ่ายรูปของตรงหน้าแกไป แกไม่ต้องมาวุ่นวายกับเอฟเฟ็ค จะไปทำทีหลังฉันก็ถ่าย RAW ไว้ให้ได้ ส่วนจะเอาไปทำอะไรต่อฉันไม่ขอรับรู้ ก็ดีครับ แต่อยากได้แบบไร้จอไปเลยมากกว่า 555 ข้อที่ไม่ชอบใจคือมันขยายขนาดปุ่มจนรูปทรงเกือบเป็นจตุรัส ส่วนตัวผมว่าไม่ดีเลยมันดูราคาถูก ยอมเป็นปุ่มเรียว ๆ แบน ๆ แต่กดยากจะให้ลุคที่ไฮโซกว่า 555

  2. คุณภาพของภาพ เรื่องนี้ขอยาวหน่อย RAW file ของ M10 เป็นไฟล์ .DNG เหมือนกับ RAW ทุกรุ่นของไลก้านี่ล่ะครับ ภาพที่ได้จากไฟล์ RAW กับ JPG ตั้ง standard จบหลังกล้องทั้งหมด มีความแตกต่างกันพอสมควรทีเดียว ไฟล์ JPG กล้อง M10 ให้โปรไฟล์สีที่ต่างออกไปเหมือนมีการคุมโทนสีของทั้งภาพ สีที่ได้มีความสมจริงมากกว่าไฟล์ RAW ที่แต่ละสีมีอิสระในการแสดงตัวมากกว่า มีความสดมากกว่า ไฟล์ JPG นั้นมีการเพิ่มคอนทราสเข้าไปค่อนข้างมาก ส่วนมืดจะค่อนข้างจมและขาดรายละเอียด แต่ผมว่ายังจมน้อยกว่าไฟล์ JPG จาก M (typ240) ครับ ส่วนสว่างก็ขาดรายละเอียดไปพอสมควรเช่นกัน ดูจากด้านล่าง ซ้าย RAW(DNG) ขวา JPG ครับ

สำหรับคาแรกเตอร์ของภาพเทียบดูกับ M edition 60 คู่มือแล้ว ภาพจาก M10 มีความ “ใส” น้อยกว่าครับ เป็นไปได้ว่ามีการออกแบบให้เก็บ Dynamic range ให้ดีขึ้น การไล่โทนเลยต่างกันออกไป ความเด้งของภาพที่หลาย ๆ ท่านถวิลหาผมยกให้เรียงจากเด้งมากไปน้อยดังนี้ (เอาที่ผมเคยใช้เองนะครับ M9 ผมไม่เคยใช้ครับ แต่น่าจะเด้งดีเพราะเป็น CCD นะครับ) M8 > M60 > M10 > M(typ240) ส่วน RAW file นั้นมีความมหัศจรรย์น่าพึงพอใจมาก ไม่ต้องอธิบายเป็นตัวอักษรกันมากครับ ภาพด้านล่างนี้ผมถ่ายที่ ISO100 ย้อนแสงมาหน้ามืด เอามาดึงแสงใน Lightroom 5 stop ถ้วน ๆ ยังได้มาขนาดนี้ noise แทบไม่มี ดีเทลไม่หายเก็บรายละเอียดส่วนมืดได้ดีมากจริง ๆ ครับ ถ้าเทียบกับ Leica รุ่นก่อน ๆ หาก “ขุด” ไฟล์ขึ้นมามากเกินไปจะเริ่มเห็นสีเขียวที่ไม่พึงประสงค์แทรกเข้ามาในภาพครับ เรื่องการเก็บรายละเอียดส่วนมืดของ RAW ผมให้ M10 ผ่านแบบคะแนนเต็มเลยครับ

ดึงแสงใน Lightroom ขึ้นมา 5 stop ไฟล์ยังได้ขนาดนี้

  1. คุณภาพของภาพที่ High ISO กล้อง Leica M10 และ Leica SL เป็นซีรีส์แรก ๆ ที่สามารถผลักดัน ISO ไปได้สูง ๆ (ขณะที่ยี่ห้ออื่นไปกันนานแล้ว เดี๋ยวนี้ไปกันแล้วเป็นล้าน M10 มาได้ถึง 50000 ก็โอเคอะ) หลายสำนักรีวิว ผมพูดจริง ๆ ว่าอวยชัยให้พรกันมากไปหน่อยครับ ภาพถ่ายทดสอบ ISO สูง ๆ ไปถ่ายภาพในที่สว่าง ๆ noise ก็ไม่ค่อยเห็น banding ก็ไม่ค่อยเห็น อวยชัยให้พรกันไป ผมว่าไม่ใช่ละ รีวิวนี้ผมไม่ได้มาว่า M10 นะครับ แต่ต้องการแสดงให้ดูว่าในสถานการณ์ที่แสงน้อยจริง ๆ ที่เราต้องการใช้ ISO 50000 เราได้อะไรกลับมา ความน่าสนใจของภาพจาก M10 คือ noise มันเยอะนะครับ banding ก็มีนะครับ แต่ภาพมันคมครับ ภาพมันไม่เละเป็นวุ้น ๆ หรือมีสีปื้น ๆ มาทำให้ผิดเพี้ยนไป แล้วผมไม่รู้ว่า Leica มันทำอย่างไร ถ่าย RAW นะครับ noise ทั้งหมดที่เกิดขึ้นมันไม่มีจุดสีเลยครับ มีแต่จุดขาว สีในภาพไม่โดนรบกวนเลย ผมก็เพิ่งเคยได้ลองได้เห็นตัวแรกก็ M10 ตัวนี้นี่แหละครับ

ภาพกลางคืนที่ ISO 50000

  1. ดีไซน์ของ M10 ส่วนที่ผมชอบคือมันสงบเสงี่ยมเจียมตัวดี จุดแดงเล็กลง ไม่มีโลโก้ไลก้าแกะสลักอะไรกันมากมายบน top plate ไม่มีชื่อรุ่น M สลักไว้ด้านหน้ากล้อง แบบ M8 M9 M มีแค่คำว่า Leica M10 เล็ก ๆ สลักอยู่บนฮอตชู ผมว่าแค่นี้มันเจ๋งมากเลยครับ น้อย ๆ บางทีของมีค่าถ้าแสดงตัวมากไปก็ดูเกรดตกลงได้ง่าย ๆ เหมือนกับ M(typ240) ที่ขยายขนาดโลโก้จุดแดงใหญ่ขึ้นมา คนบ่นกันขรมเลย ผมก็คนนึงที่ไม่ชอบครับ ตัวที่เล่นในมืออยู่นี่ก็สนุกดีที่ท่านเจ้าของเค้าเปลี่ยนโลโก้มาเป็นจุดดำ แหม่ ถ้าได้แบบแผ่นโลหะดำไม่ต้องมีโลโก้เลยจะเด็ดมาก แล้วขนาดกล้องเท่านี้แหละครับที่เป็นคำตอบจริง ๆ ถือไปถือมาเข้ามือถนัดมือมากกำลังดีไม่เล็กไม่ใหญ่ ใช้คำว่า "รัก" ได้เลย

  2. เรื่องจุก ๆ จิก ๆ Leica M10 ไม่มีส่วนพลาสติกเอาไว้กันสายคล้องคอเสียดสีกับตัวกล้องนะครับ สายที่แถมมาจึงเป็นแบบใหม่ (แต่ไม่มีดีไซน์เอาเสียเลย) เป็นสายหนังบาง ๆ เส้นนึงครับ ดู ๆ แล้วก็สวยดี แต่ผมก็เก็บมันไว้อย่างเดิมแหละ มันไม่ได้โดดเด่นน่าใช้เหมือนสายแถมของไลก้ารุ่นก่อน ๆ ที่เคยเขียนถึงไว้ (http://paronya.wixsite.com/paronya/single-post/2018/05/04/Camera-strap) ส่วนเรื่องแฟลช ผมสารภาพว่าไม่ได้ลองเลยนะครับ เพราะแต่ไหนแต่ไรแทบไม่เคยใช้แฟลชถ่ายรูป ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันเท่าไร EVF ก็ยังไม่ได้ลองครับ มันแพง Grip ก็ยังไม่มีใส่ครับ มันแพง

สรุปแล้ว ผมคิดว่าถึงแม้ Leica M10 อาจยังไม่ใช่ตัวที่จะโด่งดังถึงขนาดเป็น Benchmark ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ส่วนหนึ่งผมว่ามันมีความขาด ๆ เกิน ๆ ของงานออกแบบอยู่บ้าง แต่ก็เห็นถึงความตั้งใจของคนออกแบบนะครับ จริง ๆ แล้ว M10 เป็นกล้องที่ดีมากตัวหนึ่งครับ ตอบสนองดีมาก เร็วขึ้นมาก ใช้งานได้สะดวกราบรื่น คนออกแบบคิดมาเยอะ พยายามแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เคยมี ผมได้เห็นความก้าวกระโดด “ทางการออกแบบ” ของกล้องจากรุ่นสู่รุ่นอีกครั้ง เน้นว่าทางการออกแบบนะครับ เรื่องเทคโนโลยีผมว่ามันค่อย ๆ ตีตื้นกันมาละ ทุกวันนี้สเป็คกล้องก็ "เกิน" ผู้ใช้ทั่วไปอยู่มาก ยอมรับเลยว่ากล้อง M ยุคดิจิทัลนี้กว่าจะออกมาได้แต่ละรุ่น มันคิดเยอะจริง ๆ ทำการบ้านเยอะจริง ๆ ครับ ลองผิดลองถูกมาจนล่าสุดเป็นตัวนี้ มันอภิเชษฐ์ไปแล้ว ฟินแล้ว แม้ว่า ณ เวลานี้เราอาจยังไม่เห็นคาแรกเตอร์ของมันเท่าไรเมื่อเทียบกับภาพจาก M8 M9 M60 แต่ไม่แน่นะครับ ประวัติศาสตร์มักจะถูกเขียนหลังจากช่วงเวลานั้นผ่านไปเสมอ ให้โอกาส M10 รอดูกันไปอีกสักนิดครับ นี่สำหรับผู้ถวิลหาคาแรกเตอร์ของภาพนะ แต่สำหรับผู้ใช้ Leica M(typ240) อยู่แล้วคิดว่ายังโอเคกับมัน ขอให้มาลอง M10 แล้วจะเสียเงิน เพราะดีกว่า 240 ทุกด้านจริง ๆ เว้นแค่แบตเตอรี่เท่านั้น

ส่วนถ้าถามกันอีกว่าควรจัดรุ่นนี้มาเล่นไหม อันนี้ผมตอบให้ได้ยาก เพราะมันเป็นกล้อง Leica ครับ ไม่ใช่เลนส์ Leica ถ้าชอบ ถ้าถูกใจเงินไม่ใช่ปัญหาก็จัดมาเล่นครับ หรือใครต้องเลือกระหว่าง M(typ240) กับ M10 ผมจะฟันให้ได้แบบไม่ลังเลว่าเอา M10 ครับ แต่ถ้า M9 หรือ M edition 60 คงต้องถามตัวเองหนัก ๆ ถึงคาแรกเตอร์ภาพ (ผมยืนยันว่า M60 ให้ภาพที่ใสกว่า M(typ240) อย่างชัดเจนครับถึงแม้ว่ามันจะระบุว่าเป็น typ240 เหมือนกันก็ตาม) หรือไม่อย่างนั้นอาจใจเย็น ๆ รออีกสัก 2 ปี ราคามันน่าจะปรับลงมาหน่อย ค่อยช้อนเล่นตอนนั้นก็ไม่เสียหาย เอาเงินไปเก็บเลนส์กันก่อนก็ได้ครับ สวัสดี

ตัวอย่างภาพจาก Leica M10 ครับ

สุดท้ายนี้มีของฝากสาย JPG ครับ ด้วยการปรับ parameter ต่าง ๆ ที่มีในกล้องแล้วลองถ่ายดูครับ เพื่อให้เห็นแนว ๆ ของภาพจากการปรับแต่งแบบต่าง ๆ เชิญครับ ผมตั้งชื่อไฟล์ไว้ตามค่าต่าง ๆ ลองโหลดไปดูกันนะครับ

bottom of page