top of page

Leica M6 TTL Die Letzten 999

Updated: Aug 24, 2023

กล้องฟิล์มที่ต้องมีกันสักตัวหนึ่ง

วันนี้มารีวิวกล้องกันครับ ซื้อของเก่าก็ต้องเอาเก่าที่ใหม่ ๆ หน่อย เอา M6 ทั้งทีก็ต้องเอา Leica M6 TTL Die Letzten 999 (Last 999) เรียกว่าเป็น 1 ใน 999 สุดท้ายในสายการผลิต M6 เลยครับ รับรองว่าเทียบกับ M6 ด้วยกันใหม่แน่ ๆ และตัวที่ได้มาก็สภาพใหม่แบบไม่มีร่องรอยแม้แต่การใส่สายคล้องคอเลยทีเดียว เก่าเก็บจริง ๆ ผมเลือกสีดำเพราะชอบเป็นการส่วนตัวและเอาวิว 0.58 มา หลายคนร้องยี้เพราะเป็นวิวที่ว่าขายยาก คนไม่นิยม มีคนประกาศขายกันเต็มเลยในอีเบย์ในขณะที่ 0.85 หายเรียบไม่มีขายเลย แต่ที่เอามาเพราะชอบและถนัดแต่ช่วง 35 มากที่สุด 0.58 มันให้กรอบเฟรมไลน์กำลังสบายตา วิวนี้ผลิต 333 ตัวในล๊อตสุดท้าย (คำว่าวิว 0.58 เดี๋ยวย่อหน้าถัด ๆ ไปคงต้องมาขยายความกันสักนิด) แต่สำหรับตัว Last 999 นี้ ถึงแม้ว่าจะมีระบุมาว่าเป็นตัวที่ xxx/999 present มาในกล่องไม้สวยหรู แต่ผมเองมีความรู้สึกว่าคนทั่วไปดูไม่ค่อยนิยมสนใจเก็บหรือให้คุณค่ากับตัวนี้เท่าใดนัก เอาจริง ๆ ผมว่าตัว Limited ที่เป็นพวก Black paint หรือสีอื่น ๆ มันดูน่าสนใจกว่าเยอะ (และแน่นอน ราคาแพงกว่ามาก) ตัว Last 999 นี้เหมือน Edition ที่ไม่ค่อยตั้งใจทำเท่าไร สีสันก็เป็นสีธรรมดา Silver chrome กับ Black chrome ตามมาตรฐานปกติ Top plate เป็น Zinc ไม่ใช่ทองเหลืองแบบพวก Black paint นะครับ คุณค่าความ Limited อย่างเดียวของรุ่นนี้อยู่ที่ด้านบนของกล้องคือตัวอักษร Leica LEICA M6 1984-2002 และรหัส xxx/999 ก็ดันเป็นตัวอักษรสกรีนซึ่งสามารถหลุดลอกหายไปได้หากมีการถูไถ เพราะฉะนั้นใช้ไปนาน ๆ จากตัว Limited อาจกลายเป็น M6 TTL ธรรมดา ๆ ตัวหนึ่งก็เป็นได้ (มันก็แค่ผลิตล็อตสุดท้าย ไม่ได้มีอะไรพิเศษนี่นะ) ต่างจากตัว Limited อื่น ๆ ที่ดูตั้งใจทำมาก ตัวอักษรทั้งหลายเป็นการสลักลงไปในเนื้อโลหะ บาง edition เปลี่ยนกระทั่งสีของ Frame counter plate บาง edition หูคล้องสายยังเป็น Black paint บางรุ่นจี๊ด ๆ ก็สีทองกันไปเลย แพลตินั่มกันไปเลย ถามว่าทำไมเอาตัวนี้มา ตอบง่าย ๆ ว่าก็ไอ้ตัว Limited อื่นที่จัดว่าถูกแล้วมันก็ยังแพงกว่าตัวนี้เกือบสองเท่า! ไม่ไหวจริง ๆ ครับ ถ้าราคามันจะไปขนาดนั้นผมอาจไปมอง MP ดีกว่า ขนาดเล็ก (เตี้ย) กว่า ช่องมองดีกว่า ใหม่กว่า ฯลฯ M6 TTL Die Letzten ตอนนี้ราคาใกล้เคียง M6 TTL ตัวปกติแล้วครับ อยากพิเศษนิด ๆ ก็เอามาเล่นกันได้ อย่างน้อยมันเป็นการรับประกันว่าเป็นกล้อง M6 ที่ใหม่ที่สุดละ เพราะผลิตเป็นล๊อตสุดท้าย ^_^

เรื่องการใช้งานไม่รู้จะรีวิวยังไง เพราะมันก็ใช้งานเหมือนกล้องหาพิสัยปกตินั่นแหละ การจับถือหนักแน่นตามประสา M ซึ่งผมว่า M ไหน ๆ ก็ไม่ค่อยต่างกันมาก (ยกเว้น M5 ฮ่ะๆๆ) จะมีรายละเอียดจุกจิกที่มันปรับมาจากรุ่นก่อน ๆ คือ การวัดแสงนั่นเอง M6 นับเป็นรุ่นที่ 2 ที่มีระบบวัดแสงแบบในตัว (รุ่นแรกคือ M5 ผลิตมาได้สักสี่ซ้าห้าปีก็เลิกไป เข็น M4-2 M4-P มาแก้เกมส์ตลาดแบบไม่มีวัดแสงมาแทน ก่อนมาออกรุ่น M6 ในปี 1984) ซึ่งมันต้องใส่แบต ขึ้นฟิล์ม และเปิดเครื่องจากแป้นหมุนความเร็วชัตเตอร์จึงจะเริ่มวัดแสงครับ ไม่ได้วัดแสงให้ตลอดเวลา ในทางกลับกันใครมาจาก M ดิจิทัลจะเจอบางทีเคยชินกับ M รุ่นใหม่ ๆ ที่ตั้งออโต้ไว้แล้วกดอย่างเดียว เผลอกด M6 ไป ป้าบ 10 บาท เสียฟรีเพราะยังไม่มีออโต้แบบ M7 ครับ (ซึ่งจริง ๆ เป็นเรื่องดีนะ เพราะยังไงเราก็ยังถ่ายภาพได้โดยระบบกลไกล้วน ๆ ได้โดยไม่ต้องเปิดเครื่อง) รุ่น M6 นี่มันมีวงจรของระบบวัดแสงเพิ่มเข้ามาทำให้มันสูงกว่า M อื่นราว ๆ 2 มม. ถ้าไม่วางเทียบกันอาจนึกไม่ออก แต่ถ้าเทียบกันแล้วก็ชัดเจนพอควร ไม่แปลกเลยว่าทำไมเราถึงรู้สึกว่า M6 มันใหญ่กว่า M3 M2 M4 นอกจากนี้ M6 ยังสูงมากกว่า MP ด้วยนะครับ

ตัวที่ได้มาเป็น M6 TTL แป้นหมุนความเร็วชัตเตอร์มันใหญ่ขึ้นกว่ารุ่น M6 Classics มาก เรียกว่าเป็นต้นแบบของ M รุ่นต่อ ๆ มาก็คงพอได้ ใหญ่จนมาถึงยุคดิจิทัลเลย ซึ่งผมว่าขนาดแป้นเท่านี้มันเหมาะมือมาก คือสามารถใช้มือไถ ๆ เลือกความเร็วชัตเตอร์ได้แบบลูกกลิ้งของพวกกล้อง SLR เลยครับ ง่ายดี เคยใช้ M1 M4 แป้นเล็ก ๆ มันหมุนไม่ถนัด

ส่วนที่พูดไว้ในย่อหน้าแรกว่าเป็นวิว 0.58 จะเล่าสู่กันฟังดังนี้ครับ ตัวเลขที่กำกับไว้บนช่องมองภาพ เช่น 0.58 / 0.72 / 0.85 คือกำลังขยายของช่องมองภาพครับ ที่มันเป็น 0.x ก็เพราะว่ามันทำให้กว้างขึ้นเมื่อเทียบว่าสายตาคนเป็น 1 ในทางกลับกันก็จะเป็นเทเล ดังเช่นเรามักจะได้เห็นในสเป็คการซูมของกล้องคอมแพ็คว่าซูมได้ 3X 6X 20X ก็ว่าไป ดังนั้น 0.58 ภาพจะไวด์กว่าตาเห็นมากที่สุด สามารถใส่เฟรมไลน์ได้เทียบเท่า เลนส์ 28mm ในขณะที่ 0.85 จะไวด์น้อยสุดในตัวอย่างที่ยกมาคือใส่เฟรมไลน์ได้กว้างสุดที่เทียบเท่าเลนส์ 35mm ที่ผมใช้คำว่าไวด์กับเทเล เพราะอัตราขยายของเลนส์ช่องมองภาพมันเหมือนเลนส์ไวด์จริง ๆ คือทัศนมิติมันเปลี่ยนไปด้วยครับภาพมันจะดูลึกกว่าความเป็นจริงมากขึ้นเป็นลำดับไปด้วย หวังว่าพอจะนึกกันออก วิว 0.58 ที่ผมใช้อยู่นี้จะให้เฟรมไลน์ของเลนส์ระยะ 28mm 35mm 50mm 75mm และ 90mm ครับ ซึ่งจริง ๆ แล้วเหมือนวิว 0.72 ทุกประการ แต่วิว 0.72 ที่ 28mm เฟรมไลน์จะชิดขอบมากกว่า ช่วงอื่น ๆ ก็ได้กรอบที่กว้างขึ้น บางคนก็ถนัดกว่าเพราะการโฟกัสด้วย RF มันน่าจะแม่นยำกว่า 0.58 ที่ช่วงเทเลครับ (ภาพที่เห็นมันใหญ่กว่า กรอบกว้างกว่า) ส่วนวิว 0.85 ที่ยกตัวอย่างมาและเป็นวิวยอดนิยมมาโดยตลอดในช่วงหลัง เพราะเป็นวิวที่มีอัตราขยายใช้ได้ครอบคลุมทั้งเลนส์ไวด์และเทเล โดยเสียช่วง 28mm ไปเริ่มที่ 35mm แต่เฟรมสามารถตีกรอบไปได้ไกลถึง 135mm การเล็งโฟกัสในช่วงเทเลจะทำได้ดีกว่าครับ Leica M6 TTL Die Letzten 999 ผลิตวิวมา 2 แบบคือ 0.58 จำนวน 333 ตัว และ 0.85 จำนวน 666 ตัว ผมจึงเลือก 0.58 เพราะอินเลิฟกับเลนส์ระยะ 35mm เป็นหลัก เพราะใส่กับ 0.58 แล้วเล็งง่าย เห็นบริบทโดยรอบ ไม่ต้องกวาดตาไปมาในช่องมองภาพเพราะเฟรมติดขอบมากเกินไป (ถ้าใช้ 35mm กับวิว 0.85) แต่ถ้ามันผลิต 0.72 ด้วยก็คงเอาอันนั้น คลาสสิก...

การมาเล่นกล้องฟิล์มบ้างมันก็สนุกดีครับ ได้คุยกับคนใหม่ ๆ เยอะ และได้ยินได้ฟังอะไรใหม่ ๆ แบบที่นึกในใจว่า... เออจริงว่ะ อีกเยอะเหมือนกัน เช่น หลายคนที่เล่นกล้องฟิล์มเก่า มักจะไปเล็งเอา M3 หรือ M2 เพราะส่วนประกอบทั้งหมดเป็นโลหะ (M4 เป็นรุ่นที่ Leica ใช้ชิ้นส่วนพลาสติกเข้ามาร่วมด้วยเป็นครั้งแรก กลัวไม่ทน) มีโอกาสได้คุยกับร้านขายกล้องขายฟิล์มบางร้านก็บอกว่า M4 มันก็ออกมาไม่รู้กี่สิบปีแล้ว ผมก็ไม่เคยเห็นว่ามันจะพังสักเท่าไรเลย ส่วนมากที่พัง ๆ กันมาก็เพราะเก็บอย่างเดียว ไม่ยอมเอาออกมาใช้เสียมากกว่า คนที่ใช้จริง ๆ จัง ๆ ลุยไปเลยก็ไม่เห็นมันจะพังสักราย หลายท่านในวงการก็ให้ทัศนเรื่องสีปูดที่เป็นกับ M6 ไว้ว่า ถ้าเอาไปใช้งานมันก็หยุดปูด ถ้าเก็บอย่างเดียวเดี๋ยวก็มา หรือแม้แต่เทคนิคการล้างฟิล์มขาวดำอีกมากมาย ได้ลองฟิล์มหลากหลายแบบ (สมัยก่อนที่ถ่ายอยู่กับกล้อง Nikon F80 กล้อง Voigtlander หรือช่วงที่ลองกล้อง M1 ก็ใช้แต่ขาวดำ ILFORD Delta 400 เพราะคุ้นมือดีเลยไม่ได้เอาอย่างอื่นมาลองเท่าไร) คราวนี้ได้ลองหลายแบบขึ้นก็สนุกดี จนดีครับ

อันที่จริงกล้อง Leica M6 นี้ก็เป็นกล้องที่ได้แต่เมียง ๆ มอง ๆ ตั้งแต่สมัยยังเรียนหนังสือ แต่ไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะซื้อเลยเพราะว่ามันแพงมาก สมัยเรียนอยู่ไม่มีปัญญา เรียนจบมาใหม่ ๆ ก็มาได้ Voigtlander R3M ใช้มาเรื่อยและช่วงนั้นก็สนุกกับดิจิทัลมากกว่าเลยไม่ได้คิดถึงมัน จนมาได้ M6 ตัวนี้ แต่ตอนนี้ก็ชักเริ่มอยากได้ MP มากกว่าเสียแล้ว 555 เพราะใช้ ๆ M6 ไป ก็พบว่า Range finder ของมันมีแฟลร์มาก ถ่ายในบางสภาพแสงแทบจะหาโฟกัสกันไม่ได้เลย มุมที่มองเข้าไปก็ต้องเป๊ะพอสมควร ไม่งั้นกรอบ Range finder มองไม่เห็น มันก็เป็นข้อจำกัดที่น่ารำคาญของเจ้า M6 ไป แต่ก็จำไม่ได้ว่าตอนใช้ M4 หรือ M1 เคยมีปัญหานี้ เราก็ใช้มันมาได้เรื่อย ๆ

สรุปว่า M6 TTL กล้องฟิล์มจากไลก้า ก็สนุกดีครับ ไม่รู้จะรีวิวอะไรได้มากกว่านี้ ถ้าไม่คิดอะไรนะ ถ่ายฟิล์มเนี่ย บอดี้มันไม่สำคัญเท่าเลนส์กับฟิล์มครับ บังเอิญว่าพอเข้าสู่ยุคดิจิทัลแล้วเซนเซอร์มันติดมากับบอดี้ บอดี้มันจึงสำคัญนัก สำหรับฟิล์มถ้าบอดี้โอเคระดับที่แสงไม่รั่วมันก็ใช้ได้เหมือน ๆ กันหมดสำหรับนักถ่ายภาพระดับแค่อย่างเรา ๆ จะให้ใช้ Bessa หรือพวก SLR แทนก็ไม่ค่อยต่างกัน ถ้าฟิล์มและเลนส์เดียวกันครับ เดี๋ยวนี้เราก็ไม่ได้เอากล้องฟิล์มไปออกสงครามกันแบบช่างภาพระดับตำนานสมัยก่อนแล้ว เรื่องความถึกทนของบอดี้ผมว่าแทบไม่ต้องพูดกันเลยครับ มันจะชอบกันก็ตรงฟิลลิ่งเนี่ยแหละมากที่สุด บางคนชอบน้ำหนัก บางคนชอบระบบกลไก บางคนชอบสัมผัสเย็น ๆ ของโลหะ บางคนชอบเสียงชัตเตอร์ ผมเจอมาหมดแล้ว ก็ว่ากันไปตามชอบครับ บางคนจบที่ M6 ลงตัวที่สุดแล้ว พอใจแล้ว บางคนต้องไปจบที่ MP ถึงจะครบเครื่องสมบูรณ์แบบ บางคนเลือกดิบ ๆ ไม่สนวัดแสงก็ไปเล่นตัวเก่า ๆ ลงไป หรือไม่ก็ต้อง MA ตัวล่าสุดครับ

ทิ้งท้ายเอาไว้กันสงสัยสำหรับเจ้าของ M6 กันนิดนึง ฝาหลังกล้องจะมีวงให้ปรับค่า ISO สำหรับฟิล์มที่ใช้ แล้วกล้องจะส่งสัญญาณไฟฟ้าผ่านขั้วสัมผัสเอาไปใช้ในการคำนวณการวัดแสงเอง หลายท่านคงมีคำถามว่า แถวบนที่บอกอุณหภูมิคืออะไร ไอ้ 9 องศา ถึง 39 องศา จริง ๆ แล้วไม่มีอะไรซับซ้อนครับ มันเป็นแค่อีกหน่วยหนึ่งที่เอาไว้ใช้เรียกความไวแสงของฟิล์มครับ เรา ๆ อาจคุ้นเคยกับ ISO หรือ ASA แต่หน่วยที่บอกเป็นองศาคือหน่วย DIN ครับ ทางเยอรมันเขาเป็นคนคิดมาตรฐานนี้ เลยต้องใส่มาสักหน่อย เวลาปรับตั้งก็ไม่ต้องสนใจครับ ดูแค่ ISO อย่างเดียว ไม่มีปัญหาอะไรครับ สวัสดี

bottom of page