top of page

Voigtlander Heliar 3.5/50 V4 Vintage line

Updated: Aug 24, 2023

"โทนดีราคาไม่แรง"

เลนส์ตัวนี้เหมือนเป็นเลนส์นอกกระแส หารีวิวดูก็ยากมากแต่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยครับ

ในโลกปัจจุบันที่เลนส์แต่ละตัวแข่งกันเรื่องความไว (เปิดรูรับแสงได้กว้าง เบลอหลังได้มาก) เลนส์ที่ f แคบ ๆ จะถูกมองว่าเป็นเลนส์ราคาถูกสำหรับผู้เริ่มต้นเท่านั้น ในยุคของ DSLR และ Mirrorless เราแทบไม่เห็นเลนส์ช่วงเดี่ยวที่ f แคบกว่า 2 ทำมาขายอีกต่อไป (ยกเว้นพวกเลนส์เฉพาะทาง) เราพบว่าเลนส์ Nikkor 1.8/50 G ก็ให้คุณภาพของภาพดีมาก ๆ แล้วในราคาไม่กี่พันบาท แต่ Voigtlander กล้าออกเลนส์ 3.5/50 มือหมุนเม้าท์ M มาในราคาหมื่นกลาง ๆ มันมีอะไรดีที่จะทำให้มันขายได้กันแน่

สูตรเลนส์ Helair นี้คิดค้นขึ้นมานานแล้วโดย Dr. Hans Harting ซึ่งจดสิทธิบัตรในเยอรมันปี 1901 แต่เลนส์เวอร์ชัน f3.5 นี้ออกแบบไว้ในปี 1925 ครับ เลนส์ตัวนี้ได้ชื่อว่า Vintage line ก็เพราะเอาสูตรเลนส์เก่าแก่ตั้งเกือบร้อยปีที่แล้วมาทำใหม่นี่แหละครับ (จริง ๆ ภายหลัง Cosina Voigtlander ก็ดีไซน์เลนส์สูตร Heliar ออกมาอีกหลายต่อหลายตัว ผมเองมี 2/50 ที่มากับชุด R3M 250 Jahre อยู่ตัวหนึ่ง วันหลังจะเอามาลองเทียบกันดู) Voigtlander Heliar 3.5/50 V4 ตัวนี้เป็น Leica M mount ครับ เลนส์ตัวนี้ถูกเอามาทำใหม่ใน optic เดิมหลายต่อหลายรอบแล้ว คุ้ย ๆ ในเว็บ Cameraquest ได้ดังนี้

  1. V1 ออกเมื่อปี 2001 ฉลองครบรอบ 101 ปี เลนส์ Heliar ซึ่งทำมาขายเป็นคู่กับกล้อง Bessa T ผลิตแค่ 101 ชุดเท่านั้น ตัวเลนส์เป็นแบบ Collapsible สีเงิน

  2. V2 ผลิตออกมาปี 2005 เป็นแบบ Rigid สีดำสลับเงิน ใช้กับกล้องเม้า Nikon range finder หรือ Bessa R2S ผลิตออกมาทั้งหมด 600 ตัว

  3. V3 ผลิตเมื่อปี 2009 เป็นปีฉลองครบรอบ 50 ปี Cosina และ 10 ปี Cosina-Voigtlander หน้าตาแทบจะเหมือน V1 เป๊ะ แต่ตัวเลนส์เป็นนิกเกิล ซึ่งไม่ได้เห็นเลนส์ในวัสดุนี้มานานมากแล้ว ผลิตออกมาทั้งหมด 600 ตัว ผมเองมีโอกาสได้หยิบ ๆ จับ ๆ ตัวจริงอยู่เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้ซื้อเก็บไว้ เพราะตอนนั้นยังสนุกแต่กับเลนส์ f กว้าง ๆ เลนส์ตัวนี้เลยไม่เคยอยู่ในสายตาเลย

  4. V4 วางตลาดปี 2017 ที่ผ่านมานี้เอง รุ่นนี้เป็น Leica M mount ตัวเลนส์แบบ Rigid ยืดหดไม่ได้ หน้าตาคล้าย V2 และผลิตเป็น Mass product แล้ว ไม่ได้เป็น Limited edition อีกต่อไป

จะเห็นว่า Voigtlander หากินกับเลนส์ตัวนี้มานานมากและดูเหมือนจะเก็บกินได้เรื่อย ๆ จากความ Vintage ของมัน หยิบกล้องมาถ่ายแล้ว เฮ้! รู้สึกว่าถ่ายด้วยเลนส์ที่คิดค้นมาเป็น 100 ปี นี่เหมือนจะไม่ธรรมดา ซึ่งคุณภาพของมันพอได้ลองใช้ก็นับว่าดีจริง ๆ ครับ เลนส์ตัวนี้ทำมาน้ำหนักเบามากแค่ 187 กรัม เพราะชิ้นเลนส์มันเล็กเหลือเกิน หน้าเลนส์กว้างแค่ 27 ซม. เลิกหวังเรื่องฟิลเตอร์ไปได้เลย ตัวกระบอกเลนส์รูปทรงคล้ายเจดีย์สอบเทไปแคบที่ด้านหน้าดูแปลกตา 3.5/50 ตัวนี้ถ่ายใกล้สุดได้ 70 ซม. ครับ มีไดอะแฟรม 10 เบลด พอเอามาติดกล้องไลก้าแล้วเบาหายไปเลยครับ ถึงแม้เลนส์จะมีน้ำหนักเบาแต่งานประกอบก็เรียบร้อยดีมาก วงแหวนต่าง ๆ แน่นหนาแต่ไหลลื่นไม่ติดขัด ติดอยู่อย่างเดียวคือวงแหวนปรับ f ไม่มีคลิ๊ก อันนี้ไม่ถูกใจเพราะต้องละสายตามาเช็คดูบ่อย ๆ เลนส์มาพร้อมกับฮูดแบบเกลียวและฝาปิดหน้าเลนส์ที่ครอบฮูดไปด้วยเลยตามภาพด้านบน เรียบร้อยดี จบดี

มาว่ากันเรื่องภาพสักหน่อย ออกตัวก่อนว่าพูดไปตามประสาคนชอบถ่ายภาพนะครับ เทคนิคศัพท์แสงอาจไม่ได้รู้มากในเชิงทฤษฎี เท่าที่ลองเล่น Voigtlander Heliar 3.5/50 เอาไปลงสนามมาวันหนึ่งเต็ม ๆ ตั้งแต่เช้ายันเย็น เลนส์ตัวนี้เป็นเลนส์ที่ให้มิติได้ดีมาก รายละเอียดส่วนมืดและส่วนสว่างเก็บได้ดีมาก โทนของภาพก็ดีมาก สีสันดูอิ่มแน่นแต่อาจให้สีที่เพี้ยน ๆ ไปบ้างเล็กน้อย ทุกอย่างดีมากจนเกือบจะเป็นเทพเว้นแต่ละลายหลังไม่ได้ อย่างไรก็ตามในบางสถานการณ์จะเจอแฟลร์มาทำให้สูญเสียความเปรียบต่างของภาพไปได้บ้าง แต่ก็เป็นบางมุมที่ผู้ใช้งานต้องเรียนรู้กันต่อไป แต่โดยรวมแล้วถือว่าเป็นเลนส์ที่ให้โทนของภาพดีมาก ๆ ถ้าใครหลุดจากวงจร f เปิดกว้างละลายหลังมาได้ก็ให้มาลองเลนส์ตัวนี้ดูครับ ผมว่าด้วยสูตรเลนส์มันมีแค่ 5 ชิ้น 3 กลุ่ม ภาพมันใสดีจริง ๆ สีสันและโทนของภาพตอนเจอแดดดี ๆ ได้แบบนี้ไม่ธรรมดาเลยนะครับ

ลองสังเกตภาพดอกชบาสีแดงด้านล่างนี้ครับ สีแจ๊ด ๆ กลางแดดขนาดนี้ ยังไม่มีหลุด เก็บเนื้อของสีไว้ได้ ไม่ปล่อยแปร๊ดหายไปโอเวอร์หายไป ผมว่ามันเป็นอย่างนึงที่พิเศษมาก ๆ

เรื่องความคม ผมสามารถพูดได้เต็มปากเลยว่า "เลนส์ตัวนี้เป็นเลนส์ที่คมที่สุดเท่าที่เคยได้ลองเล่นมา" คมตั้งแต่ f กว้างสุดเลยครับ ชกกัน 35 Summicron ASPH. ยังมีร่วงเลยครับ ไฟล์ในคอมพ์กดซูมแล้วซูมอีก ยิ่งซูมยิ่งฟิน ^_^ คมดีแต่เนื้อภาพก็ยังเนียนเป็นธรรมชาติดี ไม่แข็ง

ถ้าจะพูดถึงเรื่อง Bokeh สักหน่อยก็คงดี ถึงแม้ว่าจะเป็นเลนส์ f แคบ จัดโบเก้ไม่ค่อยจะขึ้นสักเท่าไร แต่ถ้าถ่ายของใกล้ ๆ ก็ยังพอได้เห็นอยู่ ลักษณะโบเก้มีความหมุนวนอยู่นะครับ เพราะเลนส์ชิ้นหน้ามีขนาดเล็ก (ใครอยากได้โบเก้วน ๆ ลองตัดกระดาษแข็งเจาะรูเล็ก ๆ มาแปะหน้าเลนส์ดูได้) ตัววงโบเก้เองมีลักษณะของขอบสว่างอยู่นิดหน่อย แต่ก็ใกล้เคียงอุดมคติมากแล้ว อย่างไรก็ตามข้อดีของเลนส์เก่า ๆ คือไม่มีลวดลายวง ๆ ก้นหอยในวงโบเก้แบบพวกเลนส์สมัยใหม่ที่ใช้ชิ้นเลนส์ Asherical ชอบเป็นกันนะ

พูดถึงความเป็น 3D pop ไม่ใช่เลนส์ไลก้า แล้วจะมีให้ได้มั้ย ตอบได้ว่าบางจังหวะก็โผล่ขึ้นมาให้เห็นได้เหมือนกันแบบในภาพต่อไปนี้ครับ เพราะความคมมากแบบเก็บทุกเม็ด ไมโครคอนทราสดี ผมเองก็ไม่แน่ใจว่ามันมาจากชิ้นเลนส์ที่มีน้อยด้วยหรือไม่ จึงส่งผลให้คาแรกเตอร์มันออกมาแบบนี้

สรุปว่าน่าสอยน่าสนมั้ย ประเด็นนี้คงตอบยาก แล้วแต่คน ถ้าอยากได้ภาพหน้าชัดหลังเบลอคงต้องผ่านไปเลยครับไปเอาตัวอื่นที่ f กว้าง ๆ ดีกว่าตัวนี้ไม่ใช่คาแรกเตอร์แบบนั้นแน่ ๆ แต่ถ้าหลุดพ้นจากวังวนหลังเบลอแล้วต้องการโทนของภาพดี ๆ การไล่ความมืดความสว่างดี ๆ ความคมระดับสุดยอด ลองพิจารณาดูครับ ลองเล่นแล้วจะรู้สึกว่ามันราคาไม่แพงเลย ถึงแม้ว่าจะเป็น f3.5 ก็ตาม

สุดท้ายท้ายสุด ขอฝากภาพพวกนี้ให้ดูสี ดูคอนทราส ดูความคมกันเป็นตัวอย่างไว้สักหน่อยครับ ทุกภาพไม่ได้ปรับอย่างอื่นเลยนะครับ ปรับแต่ exposure นิดหน่อยได้ให้ความสว่างตามต้องการ

bottom of page