top of page

พิธีลอยเรือชาวเล

Updated: Aug 24, 2023

บทความสั้น ๆ นี้เคยตีพิมพ์ในวารสาร "สาระ+รูป" ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงขอนำเอาบทความนั้นมาลงไว้ให้อ่านเล่นกัน คิดถึงสมัยนั้นที่อยู่ ๆ ก็นั่งรถบัสลงใต้ไปเกาะลันตา กินนอนกับเพื่อนใหม่ และติดตามดูการทำพิธีของชาวเลอยู่ตั้งแต่ต้นจนจบ คิดถึงวันเหล่านั้นจริง ๆ

พิธีลอยเรือชาวเล

ชาวเลแต่เดิมเป็นชนเผ่าเร่ร่อนอาศัยอยู่ตามชายฝั่ง และเกาะแก่งต่างๆในทะเลอันดามัน ทางตอนใต้ของประเทศไทย ปัจจุบันเกาะลันตาใหญ่เหลือชาวเลอยู่เพียงสองหมู่บ้านคือ หมู่บ้านคลองดาว และหมู่บ้านสังกาอู้ ทั้งสองหมู่บ้านนี้เป็นชาวเลกลุ่มอูรักลาโว้ย ซึ่งตั้งหลักแหล่งบนบกอย่างถาวร มีการประกอบอาชีพอื่นๆนอกเหนือจากการประมง และพูดภาษาไทยกันแล้ว แต่กระนั้นทั้งสองหมู่บ้านก็ยังรักษ์ไว้ซึ่งพิธีกรรมดั้งเดิมของตน นั่นคือ “พิธีลอยเรือชาวเล” พิธีลอยเรือชาวเลจะจัดเป็นประจำปีละสองครั้งคือช่วง สิบห้าค่ำเดือนหก และสิบห้าค่ำเดือนสิบเอ็ด เป็นงานพิธีที่จัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลโดยเชื่อว่าเรือจะนำพาความทุกข์ความโศกออกไปจากหมู่บ้านนั่นเอง การจัดงานลอยเรือชาวเลของที่นี่ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้เอิกเกริกเช่นเทศกาลอื่นๆเพื่อการท่องเที่ยว แต่จะจัดกันเองเฉพาะคนวงใน มีนักท่องเที่ยวเพียงบางส่วนที่รู้จักมาก่อนแล้วตั้งใจมาโดยเฉพาะ แต่ส่วนมากจะเป็นนักท่องเที่ยวที่ผ่านมาแล้วมาร่วมสนุกด้วยเท่านั้น ซึ่งชาวเลที่นี่ทั้งสองหมู่บ้านก็มีน้ำใจโอบอ้อมอารีมิได้กีดกันบุคคลภายนอกแต่อย่างใด ซ้ำยังเชื้อเชิญให้เข้ามาร่วมรื่นเริงสนุกสนานอย่างเป็นกันเอง สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศทุกผู้ทุกคนไป งานประเพณีลอยเรือชาวเลนี้หลายๆท่านอาจนึกถึงแค่พิธีการลอยเรือเท่านั้น แต่งานลอยเรือชาวเลที่จริงแล้วจัดงานกันถึงสามวันสามคืนเลยทีเดียว โดยหมู่บ้านคลองดาว และหมู่บ้านสังกาอู้จะจัดงานพิธีเหลื่อมกันหนึ่งวันเพื่อให้อีกหมู่บ้านหนึ่งมาช่วยงานกันได้ เนื่องจากชาวเลบนเกาะลันตาใหญ่ทุกวันนี้เหลือเพียงไม่กี่ร้อยคนเท่านั้น... วันแรก:

ชาวเลผู้ชายเริ่มทำการต่อเรือที่จะใช้ในพิธีกรรมโดยใช้ไม้ตีนเป็ดร่วมกับไม้ระกำ เพราะเนื้อไม้อ่อนสามารถทำงานได้ง่าย การต่อเรือในแต่ละปีจะมีผู้ที่รับหน้าที่ต่อเรือหมุนเวียนสลับกันไปไม่ซ้ำกัน จากภาพที่เห็นเป็นชาวเลจากหมู่บ้านคลองดาวกำลังเริ่มขึ้นโครงเรือ โดยเริ่มจากกระดูกงู โขนหัวเรือ และโขนท้ายเรือซึ่งทำจากไม้ตีนเป็ดก่อน หลังจากนั้นจึงทำส่วนอื่นๆจากไม้ระกำและตะปูไม้ไผ่

วันแรก:

เวลาบ่ายคล้อยเหล่าผู้ชายต้องพักงานต่อเรือเอาไว้ก่อน เพื่อจะไปสมทบกับชาวเลคนอื่นๆในพิธีบวงสรวง งานพิธีนี้จัดอยู่บนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งชาวเลถือว่าเป็นพื้นที่ดั้งเดิมของบรรพบุรุษ ชาวเลทุกคนจะมาชุมนุมกันที่นี่ นำข้าวตอก ขนมแป้งสีๆ มาบวงสรวงทำพิธี เฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่มีการสวดมนตร์ในภาษาของเขา หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันนำขนมกลับไปรับประทานที่บ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล ในคืนนั้นการต่อเรือยังคงดำเนินต่อไปจนถึงเช้า พวกเรารับหน้าที่ซื้อเหล้ายาปลาปิ้งเข้าไปให้คนต่อเรือได้เฮฮา ลืมความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ากัน

วันที่สอง:

ล่วงเข้าช่วงบ่ายแล้วที่ชาวเลจะเริ่มจัดขบวนนำเรือที่ตกแต่งประดับประดาอย่างประณีตบรรจงด้วยข้าวตอกดอกไม้ ทิวธง และงานแกะสลักรูปคนและสัตว์ต่างๆ แห่แหนไปตามถนนจากสถานที่ต่อเรือไปยังสถานที่ประกอบพิธีลอยเรือ คิดเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร เวลานี้ชาวเลทุกคนต่างสนุกสนานกันเต็มที่ มีการแต่งตัวทำผมสีสันฉูดฉาดสวยงาม เต้นระบำรำฟ้อนกันไปตลอดทาง สิ่งที่ขาดไม่ได้ตลอดการแห่เรือคือเหล้าขาว เบียร์ และยาเส้น ที่ไม่เคยขาดตกบกพร่องเลย (ภาพจากขบวนแห่เรือหมู่บ้านสังกาอู้)

วันที่สอง: หลังจากแห่แหนเรือพิธีไปจนถึงสถานที่ที่จะลอยเรือแล้ว งานรื่นเริงของหนุ่มๆสาวๆ (รวมถึงผู้เฒ่าผู้แก่บางท่าน) ก็เริ่มขึ้น มีการจัดตั้งร้านรวงต่างๆ เวทีและเครื่องเสียงขนาดยักษ์เปิดเพลงสมัยใหม่ทั้งไทยและสากล พี่น้องชาวเลก็เต้นรำกันอย่างเต็มที่ นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการซึมซับอิทธิพลทางวัฒนธรรมเมืองที่ชัดเจน เครื่องเสียงขนาดใหญ่ และบทเพลงสมัยใหม่ที่มีจังหวะเร้าใจย่อมดึงดูดความสนใจของผู้คนได้มากกว่าเพลงพื้นบ้านเป็นธรรมดา

วันที่สอง: ตกกลางคืน การละเล่นเต้นรำบนเวทียังคงดำเนินต่อไป แต่ตอนกลางคืนมีการจัดเวทีเล็กๆอีกแห่งหนึ่ง เป็นเวทีสำหรับประกอบพิธีกรรม ผู้เฒ่าผู้แก่ร้องรับขับขานเพลงพื้นบ้านภาษาชาวเล เครื่องดนตรีนั้น มีเพียงรำมะนา และฆ้องเท่านั้น การร้องเล่นแบบดั้งเดิมนี้ หากหมดคนรุ่นนี้แล้วก็คงจะหมดไปเพราะไม่มีคนสืบทอดหรือถ้ายังคงอยู่ก็เพี้ยนไปหมด เพราะคนรุ่นใหม่ๆหันมาพูดภาษาไทยกันหมดแล้ว การร้องเพลงแบบดั้งเดิมจึงเปรียบเสมือนการที่เราสวดมนตร์โดยไม่รู้ความหมายนั่นเอง หากไม่มีการอนุรักษ์ให้ดีงานพิธีลอยเรือในอนาคต คงเหมือนงานสังสรรค์เพียงเท่านั้น

วันที่สอง:

การละเล่น และพิธีกรรมยังคงดำเนินเรื่อยไปจนถึงเช้า ยิ่งเดินถ่ายรูปในงานยิ่งให้รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงในชุมชนชาวเล การประชันกันของเสียงระหว่างเวทีดั้งเดิมและเวทีสมัยใหม่ยังอื้ออึงอยู่ในโสตประสาท ความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมยิ่งแสดงให้พวกเราเห็นได้อย่างแจ่มชัด พวกเราเดินดูเดินถ่ายรูปกันไม่นานนักก็จำต้องกลับกันก่อนเพื่อพักผ่อนออมแรงเอาไว้สำหรับงานลอยเรือในวันรุ่งขึ้น มาทราบในภายหลังว่ากลางดึก เมื่อน้ำทะเลขึ้นถึงระดับสูงสุด ยังมีพิธีสาดน้ำ ซึ่งชาวเลจะแบ่งออกเป็นสองพวก พวกหนึ่งลงไปอยู่ในทะเลพร้อมภาชนะสำหรับตักน้ำ เมื่อคลื่นซัดขึ้นมาสูงก็จะตักน้ำขึ้นมาสาดอีกพวกหนึ่งซึ่งกำลังหลอกล่ออยู่บนฝั่ง วันที่สาม:

พวกเราตื่นกันตั้งแต่ตีห้า รีบออกไปรอดูพิธีลอยเรือที่หมู่บ้านสังกาอู้อย่างใจจดใจจ่อ ปรากฏว่าไปถึงฟ้ายังไม่ทันสว่างดี บรรยากาศต่างๆแทบจะเหมือนตอนกลางคืนที่ผ่านมา แต่เวทีเต้นรำของหนุ่มสาวนั้นเลิกราไปแล้ว คงยินแว่วแต่เพลงพื้นบ้านกับผู้เฒ่าผู้แก่ที่อดทนเสียยิ่งกว่าใครๆ คงเป็นเพราะศรัทธาที่ทำให้ท่านมีพลังได้มากขนาดนี้ ระหว่างที่ร้องเพลงพื้นบ้าน ชาวเลคนอื่นๆ ฟ้อนรำกันรอบๆเรือ มีการนำข้าวตอกมาอธิษฐานแล้วโปรยใส่เรือนัยว่าให้ปัดเป่าความทุกข์ออกไป ผู้เป็นแม่ก็นำข้าวตอกมาถูตัวลูกๆก่อนจะนำไปใส่ในเรือ ด้วยเหตุผลเช่นเดียวกัน

วันที่สาม: ได้เวลาฟ้าสาง หนุ่มๆก็แบกเรือขึ้นบ่าเดินมุ่งหน้าไปยังทะเล ชาวเลที่เหลือก็พากันออกมาส่ง มายืนดู บทเพลงพิธีกรรมทั้งหลายหยุดลงแล้ว เหลือแต่ความเงียบสงบและแสงรำไรของเช้าวันใหม่ หนุ่มๆต้องแบกเรือที่ท่าทางจะหนักเอาเรื่อง เป็นระยะทางกว่าร้อยเมตรกว่าจะถึงทะเลเพราะน้ำลงเต็มที่ในช่วงเช้า ถึงกระนั้นผมเองยังต้องแทบวิ่งตามเพื่อจะถ่ายภาพให้ทันเพราะเขาเดินกันเร็วมากๆ จากนั้นหนุ่มๆชาวเลก็แบกเรือลุยน้ำลงไปเลยครับ การลอยเรือชาวเลนี้มีความเชื่ออยู่ว่าหากลอยไปแล้วเรือถูกพัดกลับเข้ามาหาฝั่งอีก แสดงว่าความทุกข์โศกจะย้อนกลับมาสู่หมู่บ้านอีกครั้ง พอหนุ่มๆแบกเรือลุยทะเลไปลึกได้ที่พวกเขาก็จัดแจงนำเรือพิธีลงในเรือหางยาวอีกทีหนึ่งเพื่อจะนำไปลอยให้ไกลๆ จะได้ไม่ถูกคลื่นซัดย้อนกลับมาหาฝั่งได้ในภายหลัง เป็นอันสิ้นสุดพิธีกรรมในส่วนนี้

จากนี้พิธีกรรมยังคงดำเนินต่อไปอีก หลังจากลอยเรือแล้วชาวเลยังมีพิธีกรรมต่อเนื่องในวันเดียวกัน โดยในช่วงบ่ายเหล่าผู้ชายจะไปตัดไม้พังแหรและใบกระพ้อเพื่อทำไม้กันผีจำนวนเจ็ดต้น ไม้เหล่านี้นี้เป็นตัวแทนเทพเจ้าที่ชาวเลเคารพนับถือ จะทำพิธีปักไม้กันผีเรียงกันบนเนินทรายหรือบริเวณที่ตั้งของเรือ แต่เป็นที่น่าเสียดายเหลือเกินที่การเดินทางของพวกเราคงต้องจบลงที่ขั้นตอนการลอยเรือเท่านั้น บันทึกการเดินทางในครั้งนี้อาจจะยังไม่สมบูรณ์พร้อมนัก แต่อย่างน้อยมันก็คงทำให้ท่านผู้อ่านได้รู้จัก สัมผัส และเข้าใจประเพณีลอยเรือของชาวเลมากขึ้น เราจำใจอำลาชาวเลและงานพิธีออกมาอย่างน่าเสียดาย แต่ประสบการณ์ และมิตรภาพที่ได้รับจากเกาะลันตาในครั้งนี้ จะยังคงประทับตราตรึงอยู่ในใจมิรู้เลือน

พิธีลอยเรือชาวเลนี้ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกมาก ซึ่งแต่ละขั้นตอนยังแฝงด้วยความหมายที่ลึกซึ้ง รวมถึงวัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่ออื่นๆที่น่าสนใจ บทความสั้นๆนี้เป็นตัวแทนประสบการณ์ตรงที่ได้สัมผัส สังเกต และพูดคุยกับชาวเลบางท่านเพียงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น หากในเชิงลึกยังมีการศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับชาวเรืออีกหลายชิ้น ที่สามารถศึกษาต่อยอดได้ อาทิ

อาภรณ์ อุกฤษณ์. พิธีลอยเรือ : ภาพสะท้อนสังคมและวัฒนธรรมของชาวเล กรณีศึกษาชุมชนบ้านหัวแหลม เกาะลันตา จังหวัดกระบี่. วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา ภาควิชามานุษยวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๓๒.

สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ชีวิตพวกเราชาวอูรักลาโว้ย แหลมตุ๊กแก เกาะสิเหร่ ภูเก็ต. กรุงเทพมหานคร : โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๙.

bottom of page