top of page

Leica Summilux 1.4/35 ASPH. pre-FLE titanium

Updated: Aug 24, 2023

"เลนส์เจ้าปัญหากับมรรคาอาร์ตติส"

Leica Summilux 1.4/35 ASPH. pre-FLE titanium

Summilux 35 mm ตัวนี้มีเรื่องน่าบ่นที่คนบ่นกันเยอะจริง ๆ ครับ ข้อดีมีอยู่ข้อเดียวเองมั้ง แต่ก็ได้มาลองเล่นกันก็เพราะข้อดีของมันนี่แหละครับ จั่วหัวมาก็แทบเลิกอ่านกันแล้ว แต่เลนส์ตัวนี้มีดีครับ ขนาดที่แอดมินกลุ่ม M60 ยังกล่าวไว้ว่าถ้าผมมี 35 mm ได้ตัวเดียว ผมเลือกที่จะมีตัวนี้ ว่ากันมาอย่างนี้เลยทีเดียว

ไล่เรียงกันเผื่อลืมครับว่า Summilux 35 ของไลก้ามีรุ่นใดออกมาแล้วบ้าง

  1. Summilux 1.4/35 Steel Rim พี่ใหญ่รุ่นแรก ระดับตำนาน ใช้แก้ว Lanthanum หายาก ผลิตน้อยราว ๆ 2,000 ตัว ราคาสูงลิบ และยังไหลไปเรื่อย

  2. Summilux 1.4/35 pre-ASPH. หรือบางคนเรียกว่า Summilux Classic มีระยะเวลาการผลิตยาวนานมากกว่า 30 ปี เป็นอีกตำนานที่ราคาถูก (ราคาเริ่มขึ้นแล้วนะครับ รีบหน่อย)

  3. Summilux 1.4/35 Aspherical (AA) หรือ Double ASPH พิเศษคือมี Aspherical 2 surfaces สมัยนั้น ขัดมือครับ ราคาสูง และผลิตมาไม่มากนัก ราวๆ 2,000 ตัว ราคาไม่ต้องห่วง สูงลิบ ๆ และยังไหลไปเรื่อย ๆ

  4. Summilux 1.4/35 ASPH. pre-FLE (ตัวที่รีวิวนี้) ปรับใหม่ มี Asperical 1 surface แต่ดันมีปัญหา Focus shift ภายหลังจากรุ่นใหม่ออกมาหลายคนพบว่ามันให้ภาพที่คมแต่นุ่มนวลกว่ารุ่น FLE ราคาจึงดีดตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ยังมีอนาคต ไหลไปได้อีก ซื้อได้ครับ 555

  5. Summilux 1.4/35 ASPH. FLE ไลก้าปรับแก้อาการ Focus shiftใส่ Floating Elements เข้ามา เรียกว่าสมบูรณ์แบบที่สุดละ ยังอยู่ในสายการผลิต ขายดี แต่คน "เล่น" จริง ๆ ยังไม่ค่อยเก็บ เพราะหาง่ายยยยย (ไม่ได้แปลว่าถูก)

เลนส์ตัว pre-FLE นี้ผลิตอยู่ในช่วงปี 1994 - 2009 (ตัวในมือนี้ผลิตปี 1996) 35 pre-FLE เข้ามาแทนที่ตัว AA (Double aspherical) ซึ่งใช้วิธีการผลิตที่แพงมาก จึงผลิตออกมาในช่วงสั้น ๆ 1989 - 1994 ผลิตมาราว ๆ ไม่เกิน 2,000 ตัวเท่านั้น (บางตำราว่าไม่เกิน 1,500 ตัว) จริง ๆ ต้องขอบคุณ Lothar Kolsh ที่ย้ายที่ทำงานมาจาก Zeiss พร้อมเทคโนโลยีที่นำมาถ่ายทอดการทำผิว Aspherical แบบ Blank-pressed type ซึ่งประหยัดต้นทุนมากกว่า ทำให้ไลก้าต้องออกแบบปรับปรุงชิ้นเลนส์ใหม่แทนตัว AA สุดท้ายได้ออกมาเป็นตัว pre-FLE ซึ่งมีผิว Aspherical ชิ้นเดียว

ในเล่มตา Erwin puts กล่าวไว้ว่ามันให้ภาพใกล้เคียงกับ AA ครับ (ตอนนี้มีโอกาสได้ลอง AA แล้ว ตอนหน้าจะเอามาเปรียบมวย ชกกันให้เห็นชัด ๆ ไปเลย ขออุบไว้ก่อนนะครับ)

สูตรเลนส์ทั้งตัว AA, pre-FLE, และ FLE คือ 9 ชิ้น 5 กลุ่มแบบ DG-type เหมือนกัน หน้าเลนส์ E46 เหมือนกัน แต่ภาพที่ได้ออกมาแตกต่างกันหมด (สำหรับคนจริงจัง แต่ถ้าให้ดูทีละภาพแล้วให้บอกชื่อเลนส์ คนทั่วไปไม่มีใครทายถูกหรอกครับ)

Summilux 1.4/35 ASPH. pre-FLE รุ่น Titanium ตัวนี้ไม่ได้เป็นรุ่นพิเศษหรือ Limited อะไรขนาดนั้น มันผลิตมาเพื่อให้กล้องสี Titanium ได้มีเลนส์สีสวย ๆ ไว้ใช้เข้ากันเฉย ๆ แต่จริง ๆ ก็ผลิตไม่มากครับ ไม่น่าเกิน 2,000 ตัวเช่นกัน ราคาขายมือสอง ณ เวลานี้ยังไม่แพงมาก แพงกว่าสีดำนิดหน่อย แต่ถูกกว่าสีเงินมาก ๆ ครับ

ขอพูดถึงข้อเสียจุกจิกของมันสักหน่อยครับ ก่อนจะชม เดี๋ยวจะหาว่าหลับหูหลับตาอวยชัยให้พรจุดแดงกันไปเรื่อย ผมเขียน Blog นี่เพราะชอบยี่ห้อนี้มันแน่นอนอยู่แล้วครับ แต่ก็จะพยายามบอกเล่าให้มันครบทุกด้านกันไปก็แล้วกัน

  1. ข้อแรกเลย มันเป็นเคลือบสี titanium (ก็ไม่เอาสีอื่นมาเองนี่นา) สีตัวอักษรที่ใช้ enamel paint มันลอกง่ายมากเหมือนเคย

  2. ฮูดใหญ่ ซับซ้อน คนใช้ไม่เป็นมีทำหักได้แน่นอน แล้วฮูดมันก็ช่างทำสีได้ไม่เข้ากันเล้ย (เรื่องนี้ต้องชมฮูดของตัว FLE สวยลงตัวดีมาก) จริง ๆ พวก Vented round hood ของเก่าก็เท่ห์มาก ๆ ครับ มีไอ้ตัวนี้กับซีรี่ส์ช่วงนี้แหละ ฮูดใหญ่ ๆ เทอะทะอลังการ ผมไม่ชอบ

  3. มี flare นะครับ ถ้าย้อนแสงบางมุม ใส่ hood แล้วก็ยังมีมานะครับ

  4. มี CA เหมือนกันนะครับ ไม่ใช่จะปลอด CA แบบพวก double gauss design

  5. มี Focus Shift ค่าาาา อันนี้ต้องคุยกันยาวว่ามันเป็นอาการแปลกประหลาด ปกติเราจะเคยได้ยินแต่ front focus (ภาพมาชัดเอาข้างหน้าจากจุดที่ตั้งใจโฟกัส) กับ back focus (ภาพไปชัดข้างหลังจากจุดที่ตั้งใจโฟกัส) แต่ focus shift นี่ต่างออกไปครับ สมมติว่าที่ f1.4 โฟกัสเข้าเป๊ะ แต่พอหรี่ f ลงไปแล้วกลับโฟกัสเคลื่อนไปไม่เข้าเป้าไปเสียอย่างนั้น อย่างตัวนี้ที่เป็นคือ เมื่อเปิดรูรับแสงกว้างสุดภาพจะ front focus นิด ๆ แต่เมื่อเปิดรูปรับแสงให้แคบลง เห็นผลชัดเจนราว f4 ภาพจะเป็น back focus ครับ คือแบบ จะแก้ยังไงล่ะพี่น้อง เอาเข้าไป

มิติของภาพ ความหวานของสีสัน

หลายคนที่ใช้ตัวนี้อยู่ถึงกระโดดไปคว้าตัว FLE ทันทีที่มันออกมา เพราะมันมี floating elements ที่ตั้งใจออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้โดยเฉพาะ แล้วทำไมราคาของตัว pre-FLE มือสองถึงแทบจะชนกับ FLE อยู่แล้ว แล้วทำไมคนมี FLE อยู่แล้วถึงถอยกลับมาเล่นตัวนี้ มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ นอกเหนือจากความหายากและเลนส์เลิกผลิตแล้ว อีกปัจจัยซึ่งเป็นข้อดีหนัก ๆ ของเลนส์รุ่นนี้คือ “สีสัน” ครับ แอดมินกลุ่ม Leica M60 ใน facebook เคยกล่าวไว้ว่าสีสันมันหวานจับใจ ถ้ามีตัวเดียวผมเลือกตัวนี้ ถ่ายฟิล์มก็สวย ดิจิทัลก็สวย ผมได้มาลองเองก็จริงดังว่านะครับ อธิบายยากตัว FLE มันจะคอนทราสสูง คม ชัด คุณภาพดี สีเป๊ะ (คล้าย ASPH. ของตระกูล Summicron อะไรแบบนั้น แต่จะต่างไปตรงที่ f1.4 มันให้ภาพที่มีความพิเศษกว่า) ส่วนเจ้าตัว pre-FLE เนี่ย อธิบายยากหน่อยครับ เลนส์มันให้สีสันแบบหวานสวย ไม่ใช่สีแบบตรงเป๊ะ ๆ เพื่อนผมช่วยวิเคราะห์ให้ถึงเรื่องมิติของสี การไล่โทนสว่างถึงมืดในแต่ละสี เป็นฉาก ๆ ไป สารภาพว่าผมไม่รู้เรื่องครับ ฮ่า ๆ รู้แต่ว่ามิติของภาพมันแปลกตาดี เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนตัวใหม่ ๆ ของไลก้า และสีสันก็หวานอย่างที่ว่าจริง ๆ

ภาพจากเลนส์ตัวนี้ เรื่องความคมไม่ต้องพูดถึงกันแล้ว จะคมมากคมน้อยก็เท่านั้น สีสันของเลนส์จะออกโทนอุ่นกว่าตัวอื่นที่เคย ๆ ลองหน่อยนึง ผมว่าสีช่วงโทนอุ่นของมันนี่แหละทำให้สวยและหวานครับ (บอกแล้วว่าอธิบายยาก) ตัวเลนส์เก็บรายละเอียดส่วนมืดและส่วนสว่างได้กว้างกว่าเลนส์รุ่นใหม่ ๆ (เก็บได้กว้างกว่า AA ด้วยครับ) ภาพ โดยเฉพาะภาพคนจะไล่สีผิว โทนผิวสวยครับ มันออกขาวอมชมพูววว ถ้าดูสภาพแสงดี ๆ จะเก็บรายละเอียดได้ครบไม่มีขาวเวอร์ ไม่มีดำจนรู้สึกว่าคอนทราสมันหนักเกินไป แต่ข้อเสียที่บางคนไม่ชอบก็เพราะมันอาจทำให้ภาพดูไม่ค่อยเด้ง โดดเด่นมากนักหากตากล้องไม่ใช้สภาพแสงมาช่วย ภาพมันก็จะนวลหวานไปอย่างนั้น และคาแรกเตอร์ตรงนี้นี่เอง (ถึงจะต่างจาก AA ไม่มากนัก) ทำให้มันต่างกับ FLE พอสมควร จึงทำให้เลนส์รุ่นนี้มีเอกลักษณ์ และมีเสน่ห์ แบบคนที่ไม่อิน ไม่เข้าถึง จะนึกไม่ออกและหาว่าเพ้อเจ้อไปได้ง่าย ๆ

ภาพที่ f1.4 ขอบมืด (Vignette) มากมายเห็นได้ชัดเจน ถ้ามาสายประสิทธิภาพสายเทคนิคก็เลิกคุยกันไปเลย โยนทิ้งแน่นอน แต่ภาพมันมีคาแรกเตอร์นะจะบอกให้ พอหรี่รูรับแสงลงมาไม่ต้องพูดถึง เลนส์เก็บรายละเอียดได้ดีมากตามมาตรฐานของมันอยู่แล้วครับ

ภาพขาวดำจากตัวนี้จะดูดีกว่าพวกเลนส์คาแรกเตอร์ใหม่ที่คอนทราสสูงเกือบทั้งนั้น เนื้อหนังจากภาพมันมี ไม่ใช่มีแต่คอนทราสแรง ๆ ไลฟ์ ๆ อะไรกันแบบนั้น (บางคนชอบ ไม่ว่ากัน) ผมชอบภาพขาวดำแบบนี้ แบบที่มีโทนกลาง เก็บรายละเอียดส่วนมืดส่วนสว่างได้ดี ภาพมีความนวล ไม่แข็งกร้าวครับ

เอาจริง ๆ ผมเริ่มถ่ายภาพมาช่วงปลาย ๆ ของกล้องฟิล์ม จนวันนี้ 14-15 ปี เคยรับงานถ่ายรูป เคยใช้กล้องแทบจะทุกยี่ห้อ ก็เพิ่งมาประจักษ์เมื่อไม่นานมานี้ มันเป็นสุนทรียภาพที่ต้องใช้ความละเมียดละไมมากกว่าการวางองค์ประกอบของภาพไปอีกไกล แรก ๆ ที่มาเล่นยี่ห้อนี้ ดูภาพตามกลุ่มต่าง ๆ แล้ว สารภาพเลยว่ายังคิดเหยียดหยามว่าคนใช้ไลก้าถ่ายภาพมาไม่เห็นสวย (ไม่ได้สวยแบบภาพตลาด ภาพที่ติดตาคนดูทั่วไป) แต่พอศึกษามากขึ้น ๆ ก็จะพบว่า ภาพที่เขาถ่ายมานั้น ใช้เลนส์อะไร กล้องอะไรถ่าย แล้วจริง ๆ ในภาพนั้นน่ะ เขาอยากให้เรา “ดู” อะไร เรื่องนี้ยากและสนุกครับ

ความนุ่มนวลยังมีให้เห็น

วันฟ้าหม่นก็ให้คอนทราสความหวานประมาณนี้

เล่นกับแสงดีๆ ก็สร้างคอนทราสได้มาก

บอลสีภายใต้แสงฟลูออเรสเซนต์

เลนส์ตัวนี้ถึงแม้ว่าจะไม่สมบูรณ์แบบเหมือน FLE ที่ไม่มีอะไรจะตินอกจาก CA (ขอบม่วง) แต่มันก็เป็นเลนส์ที่ให้ภาพได้สวย มีความหวานจนแทบจะลืมการถ่ายแบบขาวดำ (ซึ่งก็ทำได้ดี) ไปเลย ที่ f1.4 สวยงาม มีความพิเศษ หวังผลได้ ไม่เหมือน pre-ASPH. ที่มีความ Glow ค่อนข้างเยอะ อาจต้องลุ้นนิดหน่อยว่าใช้ได้หรือเน่า (ยิ่งกล้องแบบไม่มีจอหลังยิ่งยาก) ใครมีเงินเหลือก็ซื้อมาเก็บไว้ครับ ภาพคล้ายตัว AA ในตำนาน มาในราคาที่ถูกกว่า 4 เท่า ลุยครับ

คราวหน้าจะเป็นการชกกันระหว่างเลนส์ตัวนี้กับสุดยอดเลนส์ในตำนานอย่าง Summilux 1.4/35 AA โปรดติดตาม

bottom of page