top of page

Leica Summicron 2/35 ASPH titanium

Updated: Aug 24, 2023


"ก่อน 6 bits มันมีอะไรดี"

หลายคนอาจสงสัยว่าเคยเขียนถึง Summicron 2/35 ASPH มาแล้ว จะมาเขียนถึงรุ่นเดียวกันแต่เป็นตัว Titanium (11609) อีกทำไม ในเมื่อ Leica ก็ระบุเอาไว้ว่าออพติคทุกอย่างเหมือนกัน แค่ทำ Finishing เป็นสี Titanium (ไม่ใช่ Titanium แท้ ๆ วัสดุจริงเป็นทองเหลือง หนัก 340g เท่ากับรุ่นสีเงิน) ผลิตขึ้นมาจำนวนจำกัด 1,000 ตัว เมื่อปี ค.ศ.2000 ซึ่งโดยหลักการแล้วมันไม่ควรจะมีอะไรแตกต่างกัน แต่ถ่ายภาพออกมาดูแล้วมันต่าง ซะงั้น!!!

จากภาพที่เห็น ฟิลลิ่งในการจับถือไม่ต่างกับรุ่นปกติเลยครับ (ต่างก็แย่ละ มันเหมือนกันหมด) ความหนืดของโฟกัส เท่าที่ได้ลองเล่นรุ่นนี้มาหลายตัวผมว่าหนืดไปหน่อย Summilux 1.4/35 ASPH FLE ยังลื่นกว่า แต่ตัวนี้นอกจากสีที่แตกต่างแล้วยังเจ๋งตรงฮูดครับ เพราะเป็น Vented Round Hood สีไทเทเนี่ยมด้วย แต่ในความแตกต่างก็มีความเซ็งแน่นอน เพราะสีตัวเลขตัวอักษรที่ทำบนผิวสีไทเทเนี่ยมนั้นหลุดลอกง่ายมาก รวมถึงสีดำที่พ่นไว้ด้านในฮูดด้วย ลอกระยับ ลอกกันเละ แบบต้องทำใจ (เชื่อเถอะเพราะเคยใช้ Summilux 1.4/35 pre-ASPH titanium มาก่อน T_T) แต่ก็ไม่เข็ด เพราะสีสันมันเข้ากั้นเข้ากันกับ M60 สุดเลิฟ เป็นตัวเลือกเล่น ๆ นอกเหนือจากเลนส์คิทที่ราคาใกล้สามแสนเข้าไปทุกที

ต้องยอมรับเลยว่ากล้องไล่กานี่เป็นกล้องที่แปลก เป็นยี่ห้อที่เราต้องพยายามทำความเข้าใจ จนดูเหมือนจะเข้าใจ แต่สุดท้ายก็ไม่เข้าใจมันอยู่ดี ครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องของคุณภาพ อีกครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องของคาแรกเตอร์และความเชื่อ บางคนว่าเลนส์รุ่นเดียวกันนี้ผลิตคนละล็อต หรือคนละ Edition ก็ให้ภาพที่แตกต่างกัน ตอนนี้ผมคงเข้าไม่ถึงครับ แต่หวังว่าอีกหน่อยคงรู้เรื่องมากกว่านี้ แค่ตอนนี้เอาภาพจากกล้องไลก้าไปให้คนทั่ว ๆ ไปดู อธิบายถึงความเป็น 3Ds pop ไมโครคอนทราส ความอิ่มของสีสัน แล้วให้ดูเปรียบเทียบกับภาพจากยี่ห้ออื่น ยังไม่ค่อยมีใครดูออกเลยครับ พวกงานอดิเรกก็แบบนี้ ยิ่งเล่นยิ่งลึก คนนอกก็ยิ่งเข้าใจยากมากขึ้น ๆ

แต่ที่แน่ ๆ คราวนี้ได้ลองถ่าย Leica Summicron 2/35 ASPH titanium แล้วเห็นว่าภาพมันแตกต่างกับ Version ปกตินิดหน่อยแต่ต้องเอามาเล่าสู่กันฟังอีกรอบ จริง ๆ แล้วก็ต้องมาสารภาพกันตรง ๆ ว่ามันเป็นความผิดของผมเองแหละครับที่ไม่ได้ทดสอบทุกด้านให้รอบคอบ ซึ่งเดา ๆ กันเอาเองจากการปรึกษาเพื่อน ๆ พี่ ๆ ทั้งในวงการไลก้าและวงการกล้องอื่น ๆ ว่าความแตกต่างที่เห็นจากภาพคราวนี้น่าจะเป็นเรื่องของ 6 bits ครับ เพราะตัว Summicron Titanium นี้ออกมานานละ สมัยนั้นยังไม่มี 6 bits ไลก้าดิจิทัล M ก็ยังไม่มี เอามาใส่กล้องดิจิทัลมันเลยไม่รู้จักเลนส์ ถ่ายมาอย่างไรได้อย่างนั้น (เหมือนฟิล์ม) ขณะที่ตัวก่อนหน้านี้ที่เคยลองมี 6 bits กล้องมีข้อมูลของเลนส์ฝังใน EXIF ไฟล์ พอโยนเข้า Lightroom กดตูมเดียวแก้ไขภาพมาให้เรียบร้อย ทั้ง Distortion ขอบภาพ ขอบมืด ฯลฯ ที่นี้ภาพ สวยเลย สมบูรณ์เลย เสน่ห์หายเลย เข้าใจว่าความรู้สึกต่างมันก็มาจากเหตุนี้ แหะ ๆ

ที่เอามาลงนี่นอกเหนือจากความสนุกที่ได้ลองเลนส์ (อีก) แล้ว ก็ขอฝากภาพให้ลองดูเปรียบเทียบกันดูเป็นการแก้ต่างให้กับ Summicron 2/35 ASPH. ที่เคยรีวิวเสียเปิดเปิงไปคราวที่แล้วว่า ถ้าไม่ทำการแก้ไขภาพด้วย Lightroom แล้ว เนื้อ ๆ มันก็มีมาบ้างแต่มาแบบเลนส์สมัยใหม่นะ (สูตรมันเป็นแบบ DG type แล้ว) ขอบภาพที่ F กว้างสุดมีความคลาดน้อย ๆ ไม่แข็งเปรี๊ยะ สมบูรณ์แบบหุ่นยนต์เหมือนคราวก่อนที่เคยลองนั่นเอง ก็ต้องขอกราบขออภัยมิตรรักแฟนเพลงมา ณ ที่นี้ ลองชมตัวอย่างภาพกันได้ตามอัธยาศัยครับ อย่างไรก็ตาม Summicron 2/35 ASPH. นี่ก็ถือว่าเป็นเลนส์คมจัดคอนทราสจริง ตั้งแต่ wide open เช่นเคยครับ เชิงเทคนิคเป็นเยี่ยม เรื่องนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ ไม่เถียงเลย และเห็นความเป๊ะได้ชัดเจนมาก ๆ จะหวังภาพฝันแบบ Summilux ล่ะตัวนี้ไม่มีให้ ถ้าจะเอาคาแรกเตอร์ก็ต้องมองตัวเก่ากว่านี้ลงไปครับ คราวนี้เขียนไม่เยอะนะครับ อายครับ สวัสดี...

ปล.แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันคือการ "เดา" ว่าเป็นผลจาก 6 bits และการแก้ไขภาพของ LR ซึ่งอาจใช่หรือไม่ใช่ก็ได้ เลนส์อาจต่างกันจริง ๆ หรือเป็นเพราะฮูดต่างกัน ฟิลเตอ์ที่คราวที่แล้วเป็น B+W คราวนี้เป็น Leica ฯลฯ ก็อีกหลายปัจจัย คงไม่กล้าสรุปครับ ^^

bottom of page