"ใครงบน้อย สอยตัวนี้"
ทยอยเขียนทยอยลงกันไปนะครับ สำหรับเลนส์ตัวนี้ได้มาลองเล่นต้องออกตัวก่อนว่าเป็นเลนส์เก่าที่มีฝ้าขึ้นขอบ ๆ เลนส์นะครับ แต่ตรงกลางยัง
ใสอยู่ ตัวอย่างรูปภาพจะใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิงสำหรับเลนส์ตัวนี้ไม่ได้นะครับ
Leica Elmar 2.8/50 หน้าตาคล้าย ๆ แบบนี้มี 2 Version นะครับ มีของเก่าดั้งเดิม V1 1957-1962(L39)/1957-1972(M) และ V2 1994-2007
ตัวนี้ได้มาเป็นเม้าท์ M ตรวจสอบ Serial number แล้วผลิตเมื่อปี 1958 (โห) มาลองดูกันว่าเลนส์อายุ 60 ปีตัวนี้มีดีอะไรครับ
อ้างอิงสเป็คจากตา Erwin Puts เหมือนเคย
เลนส์มีแค่ 4 ชิ้น แบ่งเป็น 3 กลุ่ม (OMG แบบนี้แหละเลนส์แบบคำนวณกันแท้ ๆ สมัยก่อนเทคโนโลยีโค้ทติ้งไม่ค่อยดีนัก การออกแบบเลนส์ให้มีน้อยชิ้นจะช่วยป้องกันการเกิดแฟลร์จากแสงที่ผ่านเลนส์แต่ละชิ้น นับเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ผมชอบเลนส์พวกนี้มากกว่าเลนส์รุ่นใหม่ ๆ ที่อัดแก้วกันเข้าไปเป็นสิบ ๆ ชิ้น แล้วใช้โค้ทติ้งแก้ปัญหาเอาเยอะเลย)
โฟกัสใกล้สุด 1 เมตร
น้ำหนัก 220 กรัม
หน้าเลนส์ 39 mm
จริง ๆ แล้วรุ่นนี้ตา Erwin Puts กล่าวไว้ว่ามันเป็นเลนส์ที่ได้รับการออกแบบพัฒนามาจากเลนส์ Elmar 3.5/50 รุ่นนี้ใช้แก้ว Lanthanum นะแจ๊ะ แต่ก็นับเป็นเลนส์ราคาถูกที่เป็นที่นิยมของเหล่าช่างภาพไลก้ามือใหม่ หรือมือสมัครเล่นในสมัยนั้น ตอนหาอ่านรีวิวเกี่ยวกับ Leica M1 (ซึ่งเป็นรุ่นประหยัด) ก็มักพบว่าใช้กับเลนส์ตัวนี้เป็นคู่กัน เลยต้องมีเก็บไว้เข้าคู่ดู๋ดี๋
เลนส์ตัวนี้เป็นแบบ Collapsible ครับ คือสามารถพับยืดหดได้ สะดวกมากเวลาพกพา (ตอนแรกแอบเสียว ๆ เพราะระยะที่หดเข้าไปมันจวนเจียนกับม่านชัตเตอร์เหลือเกิน แต่ก็ไม่เป็นไรครับ เพราะระยะของ M มันก็เท่ากันทุกตัวแหละ) ตอนใช้ก็ดึงให้ยืดออกมาจนสุดแล้วหมุนตามเข็มนาฬิกาเพื่อล็อกให้เข้าที่ก็ถ่ายได้เลยครับ แหวนโฟกัสมีตุ่มล็อกที่ระยะอนันต์ไว้ให้ แต่ตัวนี้เวลาหมุนโฟกัสที เลนส์จะหมุนไปทั้งหมด หน้าเลนส์ก็หมุนตามไปด้วย เป็นสิ่งที่ไม่ได้เห็นในเลนส์รุ่นใหม่ ๆ แล้วครับ เพราะช่วงหนึ่งมันจะทำให้การหมุนใช้ Circular Polarizing Filter ยาก เลนส์ใหม่ ๆ เลยออกแบบมาให้หน้าเลนส์ไม่หมุนตามกันหมดแล้ว (ถ้าเล่นกล้องมาก่อนสักสิบปีที่แล้วจะพบในเลนส์รุ่นถูก ๆ อยู่ครับ) พอเลนส์หมุนไปหมดทั้งยวงแล้วทีนี้สิ่งที่ยากอีกอย่างคือการดูว่าตอนนี้หน้าเลนส์เปิดอยู่ที่ f เท่าไรครับ เพราะว่ามันหมุนตามไปด้วย แต่การหมุนโฟกัสลื่นมากครับ นุ่มนวลและลื่นจนตกใจเลย
แผ่นไดอะแฟรม (Blade) เลนส์เก่านี่มันก็ช่างกระไรเลย ใส่มาให้ 15 เบลด no compromised สงสัยกลัวไม่กลม เรื่องจำนวนเบลดนี่ก็สนุกครับ สมัยเล่น Canon Nikon พวกนี้จะมีจำนวนเบลดเลขคู่เลขคี่ ส่งผลต่อจำนวนแฉกของดาว (Sun star) เวลาถ่ายที่ f แคบ ๆ ครับ ถ้าเบลดเลขคู่ ดาวที่ได้ก็มีแฉกเท่ากับจำนวนเบลด แต่ถ้าเบลดเลขคี่ ดาวที่ได้จะมีแฉกมากเป็นสองเท่า อันนี้แล้วแต่คนชอบ วิถีไอ้สองค่ายนี้ก็ไม่เหมือนกัน ^_^ (ห้ามดราม่าเพราะผมใช้ทั้งสองยี่ห้อ 55) แต่ ๆ Elmar 2.8/50 นี้มี 15 เบลด อย่าคิดว่าจะได้ดาว 30 แฉกนะครับ เพราะแฉกมันเยอะเกิน แบ่งแสงไปไม่ถูกเลยไม่มีแฉกซะเลย จบข่าว
คุณภาพของภาพ ที่กว้างสุดคมพอประมาณ ภาพพอใช้ได้ ไม่ถึงกับคมกริบ คอนทราสต่ำ
ลองดูคาแรกเตอร์การเบลอฉากหลังครับ
ลองดูแฟลร์ครับ ภาพนี้ย้อนแสงตรง ๆ มาเต็ม เต็มภาพเลย 555 เลนส์เก่าก็แบบนี้ครับ เคยลอง Summicron 2/50 rigid ก็เจอแบบนี้ ภาพงี้หวานกันไปเลย แต่ข้อสังเกตอยู่ที่ขอบด้านบนครับ ไม่มีแฟลร์ตัดเป็นกรอบเส้นตรงเลย ไม่รู้เกิดจากอะไร (ผมไม่มีฮูดลองใส่ถ่ายเปรียบเทียบนะครับ)
และนี่เป็นภาพตัวอย่างจากรุ่นนี้ครับ (ทุกภาพเปิดกว้างงง) สังเกตดูว่าบางมุมที่ถ่าย บางสภาพแสงคอนทราสจะต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนขาวดำ จะบอกว่างานดีครับ เลนส์มันคอนทราสต่ำ แปลงเป็นขาวดำแล้วได้เนื้อ ได้โทนส่วนมืดส่วนสว่างครบดี เลนส์เก่า ๆ ของไลก้าถ่ายแนวดีได้ดีมากแทบทั้งนั้น (ภาพนี้แอบใส่เกรนเข้าไปหน่อย ได้อารมณ์พอควร)
ถามว่าตัวนี้น่าซื้อมั้ย เอาเป็นว่าถ้าชอบภาพแบบเก่า ๆ คอนทราสน้อย คมพอประมาณที่ f กว้างสุด งบจำกัด ก็ซื้อหามาเล่นกันได้ครับ ราคายังไม่แพง ถ้ามีงบประมาณอีกนิดไปเล่นพวก Summicron ก็จะได้อะไรที่เป๊ะกว่า คมกว่า หรือถ้าอยากได้รูปทรงคลาสสิกขอให้ไปหา Elmar 2.8/50 V2 จะได้คุณภาพที่ดีกว่ามาก (Erwin Puts กล่าวว่า Amazingly good) เพราะเป็นตัวดีไซน์ใหม่ (เปิดตัวครั้งแรกเป็นตัว Limited คู่กับ M6J) แยกได้ไม่ยาก font V2 มันเป็นเหลี่ยม แต่ถ้าใครถามหาความคม ความเด้ง คอนทราสแบบไลก้ารุ่นใหม่ ๆ ก็ข้ามรุ่นนี้ไปได้เลยครับ บายย
เอาจริง ๆ ว่าเล่นกล้องไลก้าเยอรมันมันก็เหมือนดื่มไวน์โลกเก่าฝรั่งเศสอะไรแบบนี้ครับ เลนส์เก่าถึงแม้ว่าจะไม่สมบูรณ์แบบ ประสิทธิภาพไม่ดีเท่ากับเลนส์ปัจจุบันค่ายอื่น ๆ ที่ราคาถูกกว่ากันมาก ๆ แต่เราได้มองโลกผ่านสายตาของคนยุค 50's นะครับ เหมือนดื่มไวน์ฝรั่งเศสเราไม่ได้ดื่มที่รสชาติของไวน์ แต่เราดื่มวัฒนธรรม มันก็มาแนวเดียวกันครับ ถ้าใครมองผ่านอาจจะเฉย ๆ อาจจะรู้สึกแพง เปลือง ไม่เล่น ไม่ซื้อ แต่ถ้าใครอิน เลนส์เก่าเท่าไรแพงเท่าไรก็ซื้อ มันกลายเป็นแบบนั้นไปแล้ว อย่างผมถือว่าเป็นโชคดีจริง ๆ เบี้ยน้อยหอยน้อยแต่มีโอกาสได้ยืม ได้เอาเลนส์ต่าง ๆ มาเล่นก็เอามาเล่าสู่กันฟังนะครับ อาจไม่ค่อยสาระเท่าไร (แบบนั้นไปหารีวิวที่อื่นอ่านได้ครับ) ผมถ่ายไปเรื่อย วิจารณ์ไปตามอารมณ์ตามความรู้สึกของการถ่ายภาพ ก็ขอให้เป็นอีกทางเลือกของการตัดสินใจก็แล้วกันครับ
อยากลองสัมผัสวัฒนธรรมการถ่ายภาพสไตล์เยอรมันกันบ้างรึยังครับ ^_^