top of page

Steel Rim VS ASPH. FLE

Updated: Aug 24, 2023

เป็นเรื่องแล้ว มวยคู่เอก ชกข้ามรุ่น เปรียบได้ดังปู่ชกกับหลาน ระหว่าง Leica Summilux 1.4/35 V.1 Steel Rim (1961) ฝ่ายแดง กับ Leica Summilux 1.4/35 ASPH. FLE (2010) ฝ่ายน้ำเงิน อายุอานามต่างกัน 49 ปี งานนี้ใครจะอยู่ ใครจะไป

ตาย ๆ เอามาเล่นมือไม้สั่น เซ็ตนี้ถอยรถได้ 1 คัน (ไม่ใช่ eco car ด้วยนะ ซื้อได้ระดับ Mazda 3 รุ่นล่าง ๆ)

 

ก่อนชกต้องประกาศ ขอบพระคุณน้าเดช (Ithidech Sukitjavanich) ที่ให้หยิบยืมเลนส์ Summilux 1.4/35 Steel Rim

หนึ่งในตำนานของ Leica มาลองกันครับ ลำพังตัวเองคงไม่มีปัญญา

 

แนะนำฝ่ายแดงและฝ่ายน้ำเงิน

ฝ่ายแดง

เก่าแต่เก๋า เล็ก เบา เก๋าเกมส์ เทคนิคแพรวพราว หลากหลายคาแรกเตอร์ มี Steel Rim V1 เป็นหัวหน้า แล้วปล่อยลูกน้อง pre-asph V2 มาครองตลาดมากว่า 30 ปี โดยไม่เปลี่ยนรุ่น

น้ำหนัก Steel Rim 245g (pre-asph รุ่น Classic หนัก 195g)

เลนส์ 7 ชิ้น 5 กลุ่ม

Double - gauss design

LANTHANUM glass

E41 filter

made in Canada (1961 - 1966) ผลิตทั้งหมด 2,000 ตัวโดยประมาณ

ฝ่ายน้ำเงิน

ผู้ท้าชิงบรรลังก์ สด ใหม่ อุดช่องโหว่มาอย่างดี ต่อยหนัก รักจริง

น้ำหนัก 320g

เลนส์ 9 ชิ้น 5 กลุ่ม

DG-type design

1 Aspherical surface

E46 filter

made in Germany (2010 - present)

ออกตัวก่อนว่าชกกันแบบมวยวัดเลยนะครับ ไม่ได้ใช้ขาตั้ง ไม่ได้ใช้ชาร์ต ไม่ใช้การควบคุมตัวแปรอะไรมากมาย ชกกันหมัดลุ่น ๆ ไม่มีนวม ไม่มีกรรมการ ตัดสินด้วยอารมณ์ล้วน ๆ ห้ามดราม่า 555555555

 

เอ้า ไม่ต้องพูดพร่ำทำเพลง ยกแรกภาพสี ชกเลย!

ใครอยากดูภาพใหญ่หน่อย คลิ๊กขวาที่ภาพแล้วเปิดใน tab ใหม่นะครับ

เซ็ตเรือนไทยนี่ต้องขออภัยเล็กน้อย ตัว ASPH. FLE โฟกัสไม่เข้าเป๊ะ ๆ (กล้องมันไม่มีจอ) เลยดูว่าความคมมันลดลงไปบ้าง

สังเกตดู 2 เรื่องครับ คือ 1 ขอบภาพ ตามที่ขยายเป็นภาพใบไม้ไว้ข้าง ๆ และการเก็บรายละเอียดในส่วนสว่างของภาพครับ

 

มา ๆ ยกที่สองต่อเลย ไม่ต้องให้น้ำ เดี๋ยวราขึ้น ภาพขาวดำ ชกเลย!

ภาพขาวดำทั้งหมดใส่ BW filter orange ใน Lightroom ครับ

ที่ f1.4 Steel Rim ฟุ้งฝัน มีความ Glow สาว ๆ ชื่นชอบ สิวหาย ริ้วรอยหาย ในขณะที่ ASPH.FLE คมเป๊ะ คนแก่ก็ฟ้องว่าแก่ คนมีสิวก็ฟ้องว่าสิว

ที่ f5.6 เริ่มแยกไม่ออกละ

อีกสองภาพ ถ่าย outdoor หน่อยจะชัดเจน

Steel Rim มี COMA มาตูมเลย ภาพฟุ้งมาก แต่คอนทราสต่ำ เปิดรายละเอียดส่วนมืดได้ดีมาก

ASPH. FLE คงคอนทราสเยอะตามคาแรกเตอร์เลนส์รุ่นใหม่ คมดี แต่รายละเอียดส่วนมืดหาย ตรงนี้แหละที่เป็นประเด็นของคอขาวดำ

จริง ๆ เรื่องของภาพขาวดำ นอกเหนือจากความครบถ้วนของโทนภาพ ยังเกี่ยวข้องกับสีที่เลนส์แต่ละตัว render ออกมาให้ด้วย เมื่อแปลงไฟล์เป็นขาวดำแล้วจะเก็บรายละเอียด โทน มิติ ได้ดีขนาดไหน ซึ่งสีสันแต่ละสีมันจะมี Value เป็นของตัวเอง (เวลาแปลงเป็นขาวดำแล้วมันจะสว่างขนาดไหน) ซึ่งผมขออนุญาตยังไม่พูดถึงนะครับ เพราะรู้ตัวว่าสายตายังไม่เชี่ยวชาญมากเพียงพอ (เคยเกริ่น ๆ ไว้ในฟังในเรื่องของ Summaron 3.5/35 มาทีนึงแล้ว)

 

ผลการชก

ฝ่ายแดง : Steel Rim***

- พริ้วไหว พลิกแพลง คาแรกเตอร์ได้ตามสถานการณ์ เมื่อเปิด f กว้างสุด ฟุ้งแต่ยังคม อยากได้ภาพฟุ้งฝันจัดให้ได้แบบ ASPH. FLE มองตาปริบ ๆ (เพราะถูกสร้างมาให้สมบูรณ์ทางเทคนิคมากกว่าทางอารมณ์) หรี่มาที่ f2 นี่ Steel Rim คอนทราสมาเลย คมมาเลย แต่ขอบภาพยังเบลอมากอยู่ และจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ จนเริ่มสมบูรณ์แบบที่ f5.6 ที่ f แคบ ๆ ช่วง ๆ นี้ คาแรกเตอร์เปลี่ยนเลย คมมาก คอนทราสดีมาก เรียกว่าถ้าไม่ใช่คนคุ้นเคยกับการถ่ายภาพแทบจะแยกไม่ออกระหว่าง Steel Rim กับ ASPH. FLE ทีเดียว

- คอนทราสต่ำ ๆ สีสันแบบเลนส์เก่า ทำให้ภาพขาวดำนั้นดูมีเสน่ห์อย่างไม่น่าเชื่อ

- คาแรกเตอร์ภาพส่วนสว่างรายละเอียดจะนวล ๆ หายไปบ้าง แต่ส่วนมืดกลับทำได้ดี สายขุด Shadow น่าจะชอบ

- มีคาแรกเตอร์ Leica Glow เป็นหมัดน๊อค ตัวนี้เป็นตำนานเล่าขาน ความเรืองของวัตถุในภาพมันคงเป็นผลรวม ๆ ของ Single coated และ COMA กลายเป็นเสน่ห์ของภาพ Leica ที่หลายคนยังคิดถึง

- เลนส์แวมไพร์ แพ้แสง แต่ถ้าหามุมดี ๆ ก็ไม่มีปัญหา (นี่ไง ทำไมช่างภาพเก่า ๆ มันถึงเก่ง)

- CA free ที่ wide open หาความคลาดสีไม่เจอเลยครับ ถ่ายปุ๊บใช้ได้เลยไม่มีอะไรให้น่ารำคาญ

- เล็ก สั้น เบา

ฝ่ายน้ำเงิน : ASPH. FLE

- สิ่งที่ชกสวนสู้ได้คือ หมัดหนัก ๆ เรื่องคุณภาพเชิงเทคนิค เรื่องความคมและคอนทราสที่ wide open คมมาเลย เด้งมาเลย (ถึงแม้ว่าคอนทราสจะต่ำกว่า f อื่น ๆ บ้างก็ตาม) พอ f2.8 ทุกอย่างก็สมบูรณ์แบบ ยาว ๆ ไป

- การเก็บรายละเอียดส่วนสว่างทำได้ดีกว่า Steel Rim อย่างเห็นได้ชัด ภาพมีเนื้อ ส่วนสว่างไม่ขาวเวอร์ แต่ส่วนมืดกลับจมหาย ยิ่งถ่ายในสภาพแสงที่มีความเปรียบต่างสูงจะจัดการไฟล์ได้ยาก ขุดยาก ขุดไม่ค่อยขึ้น

- ละลายหลังได้มากกว่า Steel Rim นิดนึง ถ้าสังเกตจะเห็นโบเก้วงใหญ่กว่าเล็กน้อย

- สู้แสง แฟลร์น้อย ทุกสภาพมาเหอะ ไม่กลัว ตัวเดียวไว้ใจได้ (โดยเฉพาะกับกล้องฟิล์ม M60 หรือ M-D ที่ไม่มีจอ)

- CA พบได้ที่ wide open ถึงแก้ได้ในซอฟท์แวร์ แต่ก็น่ารำคาญใจอยู่ดี 55 แต่พอ Stop down ก็หายไปในทันใด

- ใหญ่ ยาว หนัก (เมื่อเทียบกับ Steel Rim)

ตัดสิน

ตัดสินยากมาก เพราะเป็นเลนส์คนละคาแรกเตอร์ เรื่องประสิทธิภาพเชิงเทคนิค ASPH. FLE ชนะไปโดยไม่มีข้อสงสัยโดยเฉพาะส่วนของ wide open แต่อย่างที่เคยบอกครับว่าประสิทธิภาพเชิงเทคนิคที่ดีที่สุด ไม่ได้แปลว่าผู้ใช้จะพอใจที่สุด แต่ถ้าเอาตัวแปรเรื่องความเก่า (oldie) ความหายาก (rare) และค่าคงที่ (k) ของความหลากหลายในการใช้งาน ตามสูตรตำตุงที่มั่วขึ้นมาเอง

Value = (((Efficiency x Character) x k) x oldie) ยกกำลังด้วย rare

จะเห็นได้ว่าพอเข้าสูตรแล้ว ผมยกให้ Steel Rim ชนะไปครับ มันเป็นเลนส์ที่ยืดหยุ่น ถ่ายได้หลายคาแรกเตอร์ ฟุ้งฝันก็ได้ คมก็ได้ รายละเอียดครบ คอนทราสไม่หนักเกินไป ที่สำคัญคือ สะสมได้ ผลิตจำนวนน้อย วัสดุแก้วหายาก แถมด้วยมีศักดิ์ศรีเป็น Summilux รุ่นแรกของ Leica ของเก่า ของโบราณที่คุณภาพยังดีมาก ๆ อยู่ ถ้าเงินถึง ซื้อเก็บครับ อนาคตไกลกว่า ASPH. FLE ฟันธงได้เลย เพราะ FLE มันยังอยู่ในไลน์การผลิต จะซื้อเมื่อไรก็ซื้อได้ มีเงินเก็บของเก่าของหายากก่อนครับ อีกหน่อยเข้าตาจนขายไปก็กำไรงาม ไม่ต้องเชื่อผมนะ จะได้ไม่มาโทษกัน 555

***เรื่องของ Steel Rim ยังมีประเด็นไม่จบอีกครับ เพราะตัวก่อนหน้านี้ผมใช้ Summilux 1.4/35 pre-asph titanium มาก่อน ปรากฏว่าผมแยกไม่ค่อยออกระหว่าง 35 Steel RIM กับตัว 35 Classics เลยครับ ดังสังเกตจากภาพ wide open ของมือเชือดชื่อดังในวงการ จะหาความแตกต่างยากมาก แต่ราคาสองตัวนี้ต่างกัน 7 - 8 เท่า ก็ขอให้สังเกตในสูตรตำตุงกันอีกทีว่า คำว่า rare มันเป็นการยกกำลังครับ 555

ภาพนี้เทียบกันครับ Summilux 1.4/35 Steel Rim -- Summilux 1.4/35 pre-ASPH. -- Summilux 1.4/35 ASPH. FLE ที่ f1.4 ครับ สองภาพแรกแยกกันไม่ออก บรึ๋ย

bottom of page