top of page

Leica Summilux 1.4/35 ASPH. FLE

Updated: Aug 24, 2023

"แก้ CA ได้จะสมบูรณ์แบบ"

ก่อนจะไปรีวิวเล่าถึงเจ้าตัว FLE คงต้องเกริ่นนำเรื่องเลนส์ระยะ 35mm ในตระกูล Summilux ของ Leica เสียหน่อย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ของผู้อ่านทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ ว่า 35mm Summilux มันมีมาแล้วกี่รุ่นอย่างไรบ้าง

  1. Summilux 1.4/35 Steel Rim พี่ใหญ่รุ่นแรก ระดับตำนาน ใช้แก้ว Lanthanum หายาก ผลิตน้อยราว ๆ 2,000 ตัว ราคาสูงลิบ และยังไหลไปเรื่อย ๆ

  2. Summilux 1.4/35 pre-ASPH. หรือบางคนเรียกว่า Summilux Classic มีระยะเวลาการผลิตยาวนานมากกว่า 30 ปี เป็นอีกตำนานที่ราคาถูก (ตัวนี้เป็นอีกตัวที่ต้องเขียน แล้วจะวิ่งรี่ไปหามาเก็บกัน)

  3. Summilux 1.4/35 Aspherical (AA) หรือ Double ASPH พิเศษคือมี Aspherical 2 surfaces สมัยนั้น ขัดมือครับ ราคาสูง และผลิตมาไม่มากนัก ราวๆ 2,000 ตัว ราคาไม่ต้องห่วง สูงลิบ และยังไหลไปเรื่อย ๆ

  4. Summilux 1.4/35 ASPH. pre-FLE ปรับใหม่ มี Asperical 1 surface แต่ดันมีปัญหา Focus shift ภายหลังจากรุ่นใหม่ออกมาหลายคนพบว่ามันให้ภาพที่คมแต่นุ่มนวลกว่ารุ่น FLE ราคาจึงดีดตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ยังมีอนาคต ไหลไปได้อีก ซื้อได้ครับ 555

  5. Summilux 1.4/35 ASPH. FLE (ตัวที่รีวิวนี้) ไลก้าปรับแก้อาการ Focus shiftใส่ Floating Elements เข้ามา ผลิตออกมาค่อนข้างเยอะละ ขายดี แต่คน "เล่น" จริง ๆ ยังไม่ค่อยเก็บ เพราะหาง่ายยยยย (ไม่ได้แปลว่าถูก)

ทีนี้พอโดนมาแล้วก็ต้องมาเล่าสู่กันฟังหน่อยครับ กับเลนส์ยุคปัจจุบันของกล้องไล่กา Summilux 1.4/35 ASPH. FLE ตัวนี้เป็นตัวที่กำลังทำตลาดอยู่ในปัจจุบัน โดยปรับปรุงมาจากตัว ASPH. ก่อนหน้า ถ้าหาข้อมูลกันมาดี ๆ จะพบว่าเลนส์สองรุ่นมีการวางสูตรเลนส์เหมือนกัน คือมี 9 ชิ้น 5 กลุ่ม 1 Aspherical surface และเป็นสูตรตามสไตล์ของเลนส์รุ่นใหม่ ๆ ของไลก้า (ผมคุ้นเคยแต่กับพวกระยะ 35 มม. นะครับ) ที่มีเลนส์ชิ้นหน้าและชิ้นหลังเป็นเลนส์เว้า (DG type เป็นสูตรเลนส์รุ่นใหม่ ๆ ของไลก้าที่ใช้กัน -(+--+)- (Erwin Puts, 2012)) หากคุ้นเคยกับเลนส์เก่า ๆ หรือแม้แต่เลนส์ค่ายอื่น ๆ มาดูจะรู้สึกแปลกตาว่าเลนส์มันเว้าหน้าเว้าหลัง แต่ดูจากการออกแบบแล้วยังมีความคล้ายคลึงกับแบบ Double - gauss design คลาสสิกของไลก้าอยู่เหมือนกัน เพราะเลนส์ส่วนหน้ากับส่วนหลังเกือบ ๆ จะสมมาตรกัน

ภาพจากคู่มือในกล่องครับ (สูตรเลนส์เทียบกับเลนส์จริง และ MTF chart)

ถึงแม้ว่าเลนส์ ASPH. ทั้งสองรุ่น (ไม่นับ Double Aspherical (AA)) นะครับ เลนส์สองรุ่นหลังนี้มีสูตรเลนส์เหมือนกัน แต่เขาว่ากันกว่าตัว Summilux ASPH. กับ ASPH. FLE มีความแตกต่างกันทางด้านลักษณะของภาพอยู่เหมือนกัน อันนี้ไม่ทราบ เพราะไม่เคยลอง ไว้ต้องหาโอกาสหาเลนส์ ตัว ASPH. และ/หรือ Aspherical (AA) ที่มี 2 Aspherical surface มาลองถ่ายดูบ้างก็น่าจะพอบอกได้ วันนี้คงมาว่ากันเรื่องตัว FLE อย่างเดียวกันก่อนก็แล้วกัน ข้อมูลความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของคาแรกเตอร์ภาพเมื่อเทียบกับตัวเก่า หาอ่านเอากันได้ตามเว็บบอร์ดตามรีวิวทั่วไปได้ไปก่อนแหละครับ

ตั้งแต่เข้าวงการกล้องไล่กามาผมมีโอกาสได้ครอบครองเลนส์ช่วง 35 มม. มาบ้าง (อาจไม่กี่ตัว แต่ก็หลายตัวอยู่เพราะเน้นแต่ช่วงนี้) ตั้งแต่ พวกใกล้เคียง 35 คือ Summicron-c 2/40 และพวก 35 มม. คือ Summaron 3.5/35, Summarit 2.5/35, Summicron 2/35, Summilux 1.4/35 pre-ASPH., และ Summilux 1.4/35 ASPH. FLE ซึ่งทำให้เห็น "คาแรกเตอร์" ของเลนส์แต่ละตัวพอสมควร (ต้องออกตัวว่าไม่สามารถมองเห็นรายละเอียดได้มากเท่าพี่ ๆ ในวงการ เพราะแต่ละคนมีกันเยอะเหลือเกิน อาจไม่ครบถ้วน ก็ถือว่าเป็นความเห็นอีกมุมมองหนึ่งของผมก็แล้วกันครับ) เลนส์ที่เคยผ่านมือมามีทั้งแบบขายไปไม่เสียดาย และขายไปแล้วแต่ยังคิดถึง อิ อิ เอาไว้มีเวลาจะเอามาเขียนเปรียบมวยกันสนุก ๆ ต่อไปครับ วันนี้มาว่ากันเรื่องเจ้า FLE ก่อน ^_^

เลนส์ 35 Summilux ASPH. ที่ออกมาใหม่ทั้งสามรุ่น (Aspherical (AA), ASPH., และ ASPH. FLE) มีขนาดใหญ่มากกว่า Summilux pre-Asph อย่างรู้สึกได้อยู่ครับ บังวิวไฟน์เดอร์พอสมควร จนฮูดต้องมีการเจาะรูให้มองทะลุได้ เพราะตัว Classics มันเล็ก เบา สั้น จนทำให้หลาย ๆ คนติดใจ ประกอบกับ optic ที่ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่ แถมได้คาแรกเตอร์ Leica Glow มาเต็ม รุ่นนี้อยู่ในไลน์การผลิตยาวนานกว่า 30 ปี สำหรับตัว Summilux FLE นั้น ช่วงตลอดกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาไลก้ายังคงมาตรฐานงานประกอบ​ (มือ) ได้อย่างคงเส้นคงวาครับ เลนส์มีความแน่น เนี๊ยบ และความนุ่มนวลของกลไกอย่างดี คงมีแต่วงแหวนโฟกัสที่ "หนัก" กว่า Summilux Classics ไม่รู้ทำไม อ่านมาจากตา Steve Huff แกเดาว่ามันต้องขับเคลื่อนชุดเลนส์ส่วนท้ายที่เป็น Floating Elements (FLE) ด้วย เลยทำให้หนัก แต่ความนุ่มนวลก็ใช้ได้อยู่ครับ ตัวที่ผมได้มาเป็นสีเงิน ซึ่งมาเริ่มผลิตในภายหลัง (ปี 2014) ด้วยน้ำหนักเลนส์ที่ค่อนข้างมากอยู่แล้ว (มั้ง) 320g เลนส์สีเงินรุ่นนี้จึงเป็น Aluminium ครับ ไม่ใช่ทองเหลืองเหมือน Summicron สีเงิน หรือ Summilux pre-FLE สีเงิน (แอบเสียดายนิดหน่อย อยากมีทองเหลืองอะไรกะเค้าบ้าง แต่ก็ดี ไม่หนัก)

จากภาพด้านบน จะเห็นว่าเลนส์เปล่า ๆ ไม่ใส่อะไรเลยจะเห็นเกลียวไม่สวยไม่โอเค พอใส่แหวนครอบแล้วเอ้อ สวยดี ใช้ได้ แต่พอใส่ฟิลเตอร์เข้าไปอีกทีไม่สวยเลย 555 หน้าเลนส์ยื่นออกมาไม่น่าดู ต้องใส่ฮูดครับ น่าจะดูลงตัวที่สุดละ (อันนี้แล้วแต่คนชอบ)

เรื่อง Hood แถมมาในเซ็ตครับ ผมเคยใช้ Summarit 2.5/35 มาก่อน อันนั้นฮูดกับฝาปิดยางต้องซื้อแยกครับ เกือบห้าพันเลยนะ โหดเอาเรื่องอยู่ (ยี่ห้อนี้ก็แบบนี้ หลายคนบอกมัน Over price แต่เราก็ซื้อกันอยู่นั่นแล) ตอนที่ผมใช้ Summarit ซึ่งมีฮูดโลหะหมุนเกลียวเช่นเดียวกัน แต่ผมกลับรำคาญมาก เพราะฮูดมันคลายง่ายมาก ตอนหลังเจอมือสองอีกตัวพี่แกหยอดน้ำยาล๊อคเกลียวมา เฮ้ยเดี๋ยวๆ กะไม่ให้ถอดเลยใช่มะ... แต่กับ Summilux FLE ตัวนี้ไม่เป็นครับ การออกแบบฮูดดีทีเดียวเพราะหมุนฝืดเข้าไปแล้วอยู่กับที่ค่อนข้างแน่นหนาดี บนตัวเลนส์จะมียางรองคล้าย ๆ O-ring รองตรงเกลียวใส่ฮูด ทำให้ตอนไขจดสุดยางมันดันเกลียวให้ฝืดและล็อคแน่นได้ ไม่มีคลาย (แต่ไม่รู้ว่าระยะยาวจะเป็นเหมือนกันหรือไม่นะครับ) ในกล่องจะให้แหวนอลูมิเนียมมาอีกอันหนึ่ง เผื่อเวลาไม่อยากใส่ฮูดแล้วก็หมุนแหวนตัวนี้เข้าไปปิดเกลียวเพื่อความสวยงามเรียบร้อยของเลนส์ครับ (ผมเก็บแหวนนี่ยาวแน่นอน ยังไงใส่ฮูดไว้ก็อุ่นใจกว่า 555) ว่ากันถึงเรื่องฮูดหน่อย พอมาเป็นตัว FLE แล้วฮูดดีไซน์เป็นเกลียว เป็นฮูดโลหะ ดีเลิศประเสริฐศรีมากครับ เพราะว่ามันไม่ใหญ่โตเกะกะ เหมือนพวก Aspherical รุ่นก่อน ๆ ดูลงตัวกว่าเยอะครับ กล้องไม่ดูใหญ่เทอะทะเกินไป (ต้องขอบ่นตามประสาคนที่ใช้ Summilux classics มาก่อน 555) ฝาปิดหน้ากล้องเป็นยางสีเหลี่ยม อันนี้ชอบดีไซน์มากครับ ชอบมาตั้งแต่สมัยใช้ Summarit แล้ว เพราะถ่ายเสร็จก็สไลด์ปิด ฟรั่บ! สะดวกและเท่ห์มากครับ (บางคนกลัวหล่นหาย แต่ผมกล้ารับรองได้เลยว่า หล่นหายยากกว่าฝาปิดฮูดของ Summicron 2/35 แน่นอนครับ รายนั้นเกาะแค่ข้าง ๆ เลนส์ หลุดง่ายมาก แล้วไม่ใช่อะไร หลุดทีซื้อใหม่เป็นพันครับ 555)

การใช้งานเลนส์รุ่นนี้ การจับถือไม่ได้เป็นปัญหาอะไรครับ เพียงแต่รู้สึกว่ากล้องจะหนักแน่นกว่าตอนที่ใช้ Summilux Classics หน่อย เพราะน้ำหนักมันมากขึ้นจาก 200g เป็น 320g จริง ๆ มันก็ไม่ได้มากมายหรอก ขีดเดียวทำเป็นสะดีดสะดิ้ง แต่มันก็แค่รู้สึกได้... อ่ะ อ่ะ ไม่บ่นก็ได้ เดี๋ยวจะหาว่าพวกเล่นกล้องไล่กามันเรื่องเยอะ เซนซิทีฟ ผมลองถือลองถ่ายเล่นก็สนุกดีตามประสาครับ โฟกัสใกล้สุดได้ 0.70 เมตร หลายคนอาจกังวลว่าเอ๊ะ ใช้ f1.4 จะหลุดโฟกัสบ่อยไหม ชัดตื้นแบบนี้หาโฟกัสจากระบบ Range finder (RF) ต้องยากแน่ ๆ เลย แต่จริง ๆ แล้วเรื่องโฟกัสไม่ถึงกับยากมากครับมีหลุดบ้างอะไรบ้างตามประสา และจะแอบบอกว่างง ๆ กับมันนิดหน่อยเหมือนกันว่าถ้าเทียบกับเลนส์ยี่ห้ออื่น ๆ แล้ว เลนส์ไลก้ามันมีความชัดลึกมากกว่าชาวบ้านที่ f1.4 ข้อดีคือหลุดโฟกัสยาก ข้อเสียคือเบลอหลังได้น้อย (อ้าว เฮ้ย แล้วมันยังไง เราไม่ได้ซื้อเลนส์มาเพื่อเบลอหลังหรอกเรอะ) บางเว็บไซต์ที่อ่าน ๆ มาถึงกับใช้คำว่า Cheating เลยนะครับ ผมว่ามันคไม่ได้จะกงจะโกงอะไรหรอก ผมเข้าใจ (เอาเอง) ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อจำกัดที่เลนส์มีขนาดเล็กครับ ชิ้นแก้วเล็ก หลังก็กระจุยไม่มาก

ภาพนี้ โฟกัสใกล้สุดที่ 0.70 เมตร ย้อนแสงการควบคุมแฟลร์ก็ใช้ได้นะครับ (ภาพนี้ใส่ฟิลเตอร์ไว้ด้วย) ถ้าเป็น Summilux Classics ล่ะก็แฟลร์ระเบิดไปละ เลนส์ตัวนี้ให้ภาพที่น่าสนใจทีเดียวครับ

เรื่องคุณภาพของภาพ หายห่วง ถ้าไม่หายห่วงก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้วใช่ไหมครับ ขายราคานี้ ถึงแม้ว่ามันจะแพงแต่เชื่อขนมกินได้หน่อยว่าคงไม่ใช่แพงเพราะค่าแบรนด์อย่างเดียวหรอก คุณภาพมันก็ต้องมาด้วย ไม่อย่างนั้นจะยืนอยู่ในวงการกล้องถ่ายภาพมาแสนนานแถมวางตัวเองอยู่ระดับบน ๆ แบบนี้ได้อย่างไร (บางคนอาจพูดว่าคุณภาพที่ได้เพิ่มขึ้นมามันไม่คุ้มกับราคาที่เพิ่มขึ้น อันนี้ก็ค่อยเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ) คาแรกเตอร์ภาพของเลนส์ตัวนี้ แน่นอนครับว่าลักษณะภาพค่อนข้างสมัยใหม่ ภาพที่ได้คม คอนทราสหนัก ไมโครคอนทราสดี เป็น 3D pop ได้ แต่ที่ใช้คำว่าค่อนข้างสมัยใหม่เพราะเมื่อเปิดกว้างสุดที่ f1.4 ภาพมีคอนทราสต่ำกว่า f อื่น ๆ (นิดนึง) ครับ แต่คมนะครับ (คมเรียกว่าใช้ได้เลยก็แล้วกัน แบบเปิดกว้างสุดถ่ายหวังผลได้ คอนทราสต่ำไม่ได้แย่ แค่มันต่างออกไป) ที่ f 1.4 แถมด้วยขอบมืดพองาม (ดีกว่าตัว Classics มาก) ใครมาจากวงการ DSLR แล้วมาเจอขอบมืดเยอะ ๆ อาจร้องยี้ แต่บางคนก็ชอบครับ บางคนว่าไอ้ขอบมืด (วินเยท Vignette) นี้มันช่วยคาแรกเตอร์ของภาพ ช่วยขับให้ตัวแบบเด่นมากขึ้น บางคนถึงกับเติมขอบมืดกันใน LR อย่างที่เห็น ๆ กัน อันนี้นานาจิตตัง ว่ากันไม่ได้ เชิงอารมณ์อาจได้แต่ในเชิงเทคนิคเขาไม่ชอบ หรี่ลงมา f2 ก็น้อยลงอย่างเห็นได้ชัดแล้ว f2.8 f4 ก็ลดลงเป็นลำดับ จนหายไปราว ๆ 5.6 ผมคงไม่ได้ถ่ายฉากขาว ถ่ายกำแพงมาดูกันนะครับ เราไม่ได้ซื้อกล้องมาทำแบบนั้น เราก็ถ่ายกันในชีวิตประจำวัน แล้วดูอารมณ์ ดูภาพ ดูความพอใจกันดีกว่า หลายอย่างบนโลกมนุษย์ใบนี้มัน Prooved แล้วว่าของที่ดีที่สุดในเชิงเทคนิค ไม่ใช่ของที่น่าพอใจที่สุดเสมอไป (ถ้านึกไม่ออกแนะนำให้หารีวิว เลนส์ค่ายอื่น อย่าง Nikkor 58 f1.4 N มาลองอ่านเปรียบเทียบดูเล่น ๆ ครับ เมื่อวงการ DSLR ที่เคยพูดกันแต่เทคนิค พูดกันแต่กราฟ MTF ต้องหันมาพูดถึงเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก และคาแรกเตอร์ของภาพกันบ้าง)

ลองภาพขาวดำครับ ที่ 1.4 คอนทราสต่ำหน่อย แต่ก็ยังเป็นคาแรกเตอร์สมัยใหม่

ลองภาพขาวดำกันบ้าง คอนทราสที่ 1.4 มันต่ำแต่มันก็ยังถือว่าสูงเมื่อเทียบกับเลนส์รุ่นคลาสสิกทั้งหลาย ความรู้สึกถึง "เนื้อ" ภาพ มันเลยหายไป ไม่เหมือนเลนส์เก่า ๆ (ความรู้สึกส่วนตัวล้วน ๆ 555)

วนไปพูดเรื่องขอบมืดตั้งนาน คอนทราสต่ำจริงที่ f1.4 นั่นแปลว่า... ช่ายยย ภาพขาวดำมันก็ควรจะดีตาม รายละเอียดส่วนมืดส่วนสว่างจะเก็บได้ครอบคลุมมากกว่า (คอนทราสไม่ต่ำเท่าตัว Classics แน่ ๆ ครับ ยังถือว่าเป็นเลนส์ที่มีคอนทราสสูงอยู่ แค่ที่ 1.4 มันต่ำกว่า f อื่น ๆ ในตัวเดียวกัน) คอนทราสจะมาเต็มตั้งแต่ f2 เป็นต้นไปครับ เลนส์ตัวนี้ที่ f1.4 ต้องพูดกันเยอะหน่อย เพราะนอกจากขอบมืด คอนทราสแล้ว เรายังเจอโคม่า (Coma) และความคลาดสี (Chromatic Aberration) ด้วย ไอ้ตัวโคม่านี่บางคนชอบเพราะสร้างคาแรกเตอร์ของภาพได้ดี บางคนไม่ชอบเพราะมันลดความคมชัด ลดคุณภาพของภาพลงไป ส่วนความคลาดสีนี่น่ารำคาญ ส่วนที่คอนทราสต่างกันเยอะ ๆ มักจะเจอขอบม่วงโผล่มาให้เห็นเป็นประจำ ถ้าพวกสายแต่งภาพ LR กดปุ่มเดียวก็หาย แต่สายถ่ายฟิลลิ่ง กดเปรี้ยง ได้อย่างไรเอาอย่างนั้นอาจเซ็งได้นิดหน่อย (แต่เชื่อว่าคนถ่ายที่เก๋า ๆ แบบถ่ายแล้วเอาเลย คงทราบข้อจำกัดและหามุมหลีกเลี่ยงเรื่องพวกนี้ได้เป็นอย่างดี) เรื่องโคม่า ขอบม่วงนี่ ทำให้คิดถึงตัว Summicron 2/35 ASPH. ตัวนั้นนี่แน่นอน เป็นเลนส์ที่ใกล้เคียงกับคำว่าสมบูรณ์แบบมาก ใครต้องการคม ชัด เป๊ะ สีสันดี ครบ ๆ ซื้อหามาใช้กันได้เลย ราคาไม่แพง (เมื่อเทียบกับ Summilux) ส่วนพวก Lux เขาเล่นเอาคาแรกเตอร์กัน ถ้าใครอยากได้แต่ตัดสินใจไม่ถูก ไปลองเล่นที่ร้านก่อนครับ

ดูกันชัด ๆ กับ CA ของ Summilux FLE ครับ

ซูมมาชัด ๆ CA มีทั้ง Back ทั้ง Front

CA กันชัด ๆ อีกภาพ

อย่างไรก็ตามเลนส์ยี่ห้อนี้มันแปลกอย่างนึงตรงที่ ถ่ายภาพมา กล้องและเลนส์มันช่วยจัดการคาแรกเตอร์ภาพให้เราได้อย่างประหลาด ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ถ้าใครไม่ได้เป็นพวกถ่ายภาพจริงจังอาจดูไม่ออก และไม่สนใจ แต่ผมเชื่อเหลือเกินว่า ถ้าคนชอบกล้อง ชอบถ่ายภาพ สักวันหนึ่งมันจะต้องมาจนถึงยี่ห้อนี้แน่ ๆ ครับ 555 (และอาจเลยไป ยังมีโลกของแพง beyond ไลก้าอีกมากมายครับ แต่ถ้ามาไม่ถึงจุดนี้จะยังมองไม่เห็น 555)

สรุป ๆ กันสักหน่อยครับ เลนส์ดีมั้ย... ดี แต่ใหญ่เกินงามสำหรับ 35 ไปหน่อยฮะ จะเอาพกง่ายพกเนียนคงค่อนข้างเกะกะ ไม่คอมแพ็คเหมือนรุ่นเก่า ๆ แต่เรื่องคุณภาพของภาพไม่ต้องพูดถึง ผมถือว่าดีมาก คม เป๊ะ แต่มี CA น่ารำคาญนิดหน่อย ถามว่าถ้าจะซื้อดีมั้ย ตอบไม่คิดว่าให้ซื้อเลยครับ เบื่อค่อยขาย 555 เอางี้ ๆ ถ้าใครชอบคาแรกเตอร์กล้องไลก้าใหม่ ๆ แบบดิจิทัล แบบคอนทราสสูง เด้ง 3Ds pop ก็ซื้อมาใช้ได้แต่ถ้าอยากได้แบบประหยัดงบไปครึ่งนึงก็ให้ซื้อ Summicron 2/35 ASPH. เลยครับ 555 แต่ถ้าใครอยากได้ความพิเศษที่ f1.4 ที่มันได้มิติแบบไม่เหมือนใคร แบบต้องมองกันด้วย Aesthetics ล้วน ๆ ก็มารับตัวนี้ไปเลยครับ Summilux 1.4/35 ASPH. FLE ถ้าอยากได้ภาพสมบูรณ์แบบก็แค่หรี่ f ลงเท่านั้น แต่ถ้าใครอยากภาพได้แบบเลนส์เก่า ๆ อยากได้ความคลาสสิก ไปเลยครับ ผมเชียร์ Leica Summilux 1.4/35 pre-asph ครับ ตัวนี้ดีมาก ๆ คาแรกเตอร์หลากหลาย หรี่ f ลงมาถึงสัก 5.6 เทียบกับ FLE คนไม่คุ้นเคยเริ่มแยกไม่ออกกันแล้วเลยครับ แถมมาในราคาที่ถูกกว่า FLE ประมาณ 3 เท่า

bottom of page