top of page

Leica M1

Updated: Aug 24, 2023


เรื่องนี้สนุกปากอยากเขียนมาก เพราะกระแสหนุ่มสาว ๆ ที่หันมาใช้กล้องฟิล์มถ่ายภาพมันมีมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ยังคิดว่าฮิตกันประเดี๋ยวประด๋าวแล้วจะเลิกไป แต่ปรากฏว่าเวลาผ่านไปเป็นสิบปีแล้วมนตร์เสน่ห์ของฟิล์มก็ยังคงขลัง ตลอดเวลามักจะมีคำถามมาถามผมกันอยู่เรื่อยว่าซื้อกล้องฟิล์มอะไรดี ซึ่งถ้าตอบกันหมดในนี้ก็คงจะยาวมาก เพราะกล้องมันก็มีมากมายเหลือเกิน แต่เอาหลัก ๆ ถ้าไม่นับรูปแบบของกล้องแล้ว ผมก็มักจะเชียร์ให้ซื้ออะไรที่เป็นระบบกลไกไม่ต้องพึ่งไฟฟ้า (เอาแบบแบตหมดยังกดถ่ายได้) เพราะจะอยู่คู่กับเราทนทานกว่า ซ่อมก็ง่ายสบายใจ สบายกระเป๋ามากกว่า

ล่าสุดมีอยู่รายหนึ่ง สนใจกล้องฟิล์มประเภท Range finder ซึ่งเจ้าตัวก็ดูไว้หลายยี่ห้อ และเหมือน ๆ จะตกลงปลงใจกับ Voigtlander Bessa R ซึ่งจริง ๆ ก็เป็นกล้อง Range finder ยี่ห้อหนึ่งที่ดีมากในตลาดปัจจุบัน ฟังก์ชั่นครบ และใช้งานประเภท "เอาจริง" หวังผลได้ แต่ใจลึก ๆ ผมก็ยังแอบเชียร์กล้องที่มันมันส์ ๆ กว่านั้นให้เขาพิจารณา (ซึ่งคนส่วนมากพอเห็นสเป็คแล้วถอยกรูดแน่นอน) นั่นคือ Leica M1 กล้องฟิล์มรุ่นประหยัดของ Leica M ซึ่งไม่มีตัวหาพิสัย (หาโฟกัสไม่ได้) และไม่มีตัววัดแสง แต่ผู้ใช้งานจะได้อรรถรสในการใช้กล้องถ่ายภาพแบบ "คนจริง" ที่จะได้รับรู้ความดิบและความละเมียดละไมในเวลาเดียวกัน (ถ้าจะเอา Hardcore กว่า M1 ก็ต้องไปเล่นพวก MD, MDa, MD-2 อะไรพวกนั้น ไม่มีช่องมองภาพกันเลยทีเดียว แต่อย่าไปเล่น M-D นะครับ แทนที่จะหมดค่ากล้องสองหมื่น จะกลายเป็น 2 แสนเอาง่าย ๆ) อัพเดทสุดท้าย เจ้าตัวกัดฟันไปได้ Leica M4 เรียบร้อย อันนั้นสบายใจ จบได้ ยันลูก ยันหลาน

แต่ไหน ๆ ก็ไหน ๆ คงต้องพูดถึง Leica M1 เสียแล้ว M1 ดูเหมือนเป็นกล้อง M นอกกระแส ไม่ดัง ไม่ค่อยมีใครสนใจ ไม่มีใครนึกถึง ผลิตมาน้อยไม่ถึงหมื่นตัว ราคาขายในท้องตลาดสูสีหรือถูกกว่า Leica MDa เสียนิดหน่อยด้วย ถือว่าถูกว่า Leica M3 และ M2 อยู่เป็นครึ่ง ซึ่งหน้าตา M1 จะละม้ายไปทาง M2 มากกว่า ความแข็งแกร่ง วัสดุ ระบบกลไก มาตรฐานเดียวกัน ในราคาที่ถูกกว่า Voigtlander Bessa R2,3,4 (ฝาหลังยังเป็นพลาสติก) มือหนึ่งหลายพันบาท ทำไมมันถึงจะไม่น่าสนใจล่ะครับ

Leica M1 ตัวนี้ผมได้เป็นมือสองมา ตาม Serial number นั้นน่าจะผลิตในปี ค.ศ.1962 ก็สัก 50 กว่าปีมานี่เอ๊ง งานประกอบ วัสดุก็ตามมาตรฐานเขาเลยครับ ถึก แน่น อย่างกะรถถัง 555

M1-M60

แต่กล้องดิจิทัลส่วนตัวปัจจุบันผมใช้ Leica M edition 60 เป็นกล้องคู่มือ ก็มีคนค่อนขอดกันแล้วว่าใช้ไปได้ยังไงกล้องโฟกัสมือหมุน แถมไม่มีจอหลังใช้เช็ครูปอีกต่างหาก แต่บางทีพอคนมันถูกอาร์ตติสกินหมดหัวแล้ว ถึงแม้ว่ามี M60 มันก็ยังอยากจะถ่ายกล้องที่ไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าบ้าง ไปไหนก็ถ่ายได้ ขำ ๆ มัน ๆ แมนวลแล้ว วินเทจแล้ว ก็ต้องไปให้สุดนะฮะ เอาแบบไม่มีวัดแสง ไม่มีตัวหาพิสัยนี่แหละดี

หลายคนอาจกลัวกับข้อจำกัดที่ Leica M1 มันมีแต่ช่องมองภาพที่หาพิสัยไม่ได้ (ไม่มี Range finder) แล้วถ่ายภาพไม่ได้ โฟกัสไม่ถูก จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ค่อยเป็นปัญหากับนักถ่ายภาพรุ่นเก่า ๆ โดยเฉพาะนักถ่ายภาพแนว snap หรือ street ที่ต้องการความเร็วในการได้ภาพเลยครับ แปลกดีที่การถ่ายภาพสมัยนี้หลายคนไปให้ความสำคัญกับอาการหน้าชัด-หลังเบลอ และสำคัญผิดไปว่ายิ่งหลังเบลอยิ่งสวย (จริง ๆ แล้วเอาไว้อวดกันรึเปล่าว่ามีปัญญาซื้อเลนส์ f กว้าง ๆ ราคาแพง ๆ) การถ่ายภาพสมัยก่อนที่จะมีกล้องหาพิสัย หรือกล้องสะท้อนเลนส์เดี่ยว หรือแม้แต่กล้องโฟกัสอัตโนมัติ เวลาถ่ายก็โฟกัสก็กะเอาตามสเกลของเลนส์กันทั้งนั้น ภาพก็มีโอกาสเสียน้อยกว่า จึงไม่เป็นปัญหากับคนถ่ายภาพมากนัก รวมถึงเทคโนโลยีสมัยก่อนไม่มีอะไรอำนวยความสะดวกมากมายขนาดนี้ ความเก๋าของนักถ่ายภาพจึงมีความจำเป็น ซึ่งวิธีหนึ่งที่ใช้หาโฟกัสได้ดีในการถ่ายภาพคือการใช้เทคนิค Zone focusing หรือ Hyper focusing

*** เทคนิค Hyper focusing นี้ นักถ่ายภาพรุ่นใหม่ ๆ รู้ไว้ไม่เสียหลาย อารมณ์รีบ ๆ หรือต้องการ snap ในโมเม้นท์นั้น ๆ ให้ได้ทันเวลา วิธีนี้ใช้งานได้ดีกว่าออโต้โฟกัสแน่นอน เริ่มจากปรับเป็นโฟกัสมือแล้วสังเกตเลนส์ตัวเองก่อนเลย ว่ามีแถบบอกสเกลหรือไม่ ถ้ามีก็สนุกล่ะครับ การ Hyper focusing จริง ๆ ก็คือการเผื่อโฟกัสไว้ก่อนนั่นเองครับ จะเห็นผลชัดเจนตอนที่หรี่รูรับแสงลงไป เช่น f5.6 f8 หรือ f11 ให้เราสังเกตขีดบริเวณส่วนฐานของเลนส์ (ด้านที่ใกล้ตัวกล้อง) จะมีขีดสีเหมือนกันสองข้างซ้ายขวาเป็นคู่ ๆ หรือมีขีดโดยมีตัวเลขกำกับ เช่น 4 5.6 8 11 16 เป็นต้น ยกตัวอย่างการเตรียมโฟกัสเผื่อไว้ก่อนคือ สมมติว่าเราใช้ f8 หลังจากที่เราหมุนเลือกรูรับแสงที่ต้องการแล้ว เราก็หมุนวงแหวนโฟกัสให้ตำแหน่ง infinity มาอยู่ ณ ขีดตัวเลข 8 (ค่า f ที่ใช้) หรือขีดสีที่ตรงกับ f ที่เราเลือกใช้ แล้วพิจารณาที่ขีดตัวเลขเดียวกันหรือสีเดียวกันทางด้านซ้ายจะพบว่ามันจะไปตรงกับระยะใดระยะหนึ่งบนวงแหวนโฟกัส (ดูภาพด้านล่างประกอบ) เช่น หากเราใช้เลนส์ทางยาวโฟกัส 35mm เลือกที่ f8 เมื่อหมุนจุด infinity ไปอยู่ที่เลข 8 ทางขวามือแล้ว ทางซ้ายมือที่ขีดเลข 8 จะสามารถอ่านค่าได้ 2 กว่า ๆ นั่นแปลว่า หากเราใช้ f8 ในการถ่ายภาพ ภาพจะมีความคมชัดตั้งแต่ระยะ 2 เมตรกว่า ๆ ไปจนถึงระยะอนันต์... จบ

คราวนี้เราก็จะได้กล้องสำหรับถ่ายสตรีทที่โฟกัสเร็วที่สุดในโลก (เพราะหมุนเตรียมไว้ก่อนแล้ว) ไม่ต้องดิ้นรนหากล้องราคาแพง ๆ เลนส์แพง ๆ เพื่อให้ได้การโฟกัสที่รวดเร็ว นี่แหละ ดิบ เถื่อน อารมณ์เรโทรมาเต็มที่ แต่ชัดหมดทั้งภาพไม่มีหน้าชัดหลังเบลอนะฮะ 55

เราจึงต้องทำความเข้าใจกันสักหน่อยว่า ภาพที่สวยนั้นไม่ใช่ภาพที่หลังเบลอเสมอไป ความสวยงามในภาพถ่ายมันอีกเยอะ อีกยาว ซึ่งคงไม่ขอกล่าวในที่นี้ เดี๋ยวว่ากันไม่จบ แต่ละตำราก็แตกต่างกันไป แถมรู้เรื่องความงามมากเข้า ๆ เกิดอยากจะแหกกฏขึ้นมาแล้วเป็นความสวยงามขึ้นมาอีกก็เยอะแยะไป ส่วนคาแรกเตอร์ของภาพก็ยิ่งมีอะไรอีกเย๊อะะะะะ เยอะแบบเพ่งกันตาเหล่ ไม่ใช่แค่ว่ายิ่งหลังเบลอยิ่งดี ความคมมากคมน้อย ความฟุ้ง โบเก้ สีสัน คอนทราส ไมโครคอนทราส ความรู้สึกถึงสามมิติ ขอบมืด โคม่า ฯลฯ ซึ่งของเหล่านี้เรามักพูดถึงกันในเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณด้วยการใช้กราฟวัดเอา เหมือนการเลือกซื้อเลนส์รุ่นใหม่ (สังเกตว่าเลนส์รุ่นใหม่ราคาแพงมากบางรุ่น เช่น Nikkor 58 f1.4G มีผลการทดสอบบางอย่างสู้รุ่นถูกกว่าไม่ได้ หรือเรามักจะหาผลทดสอบอะไรพวกนี้จากเลนส์ Leica ไม่เจอ) เลนส์พวกนี้มันเล่นเอาคาแรกเตอร์ จะถ่ายภาพให้คมชัดไปถึงไหนกัน ถ้ามันคมแล้วแข็ง บอกเล่าเรื่องราวไม่ได้อรรถรส

*** อีกส่วนหนึ่งที่นักถ่ายสภาพสมัยใหม่โดยเฉพาะสายสตรีทน่าจะฝึก ๆ กันไว้คือเรื่อง Ultimate exposure computer ตามอ่านกันเองได้ที่ http://www.fredparker.com/ultexp1.htm#Introduction กล่าวง่าย ๆ คือเป็นการคำนวณ (จริง ๆ ก็กะเอา) สภาพแสงด้วยตนเองตามสภาพแวดล้อมแบบต่าง ๆ โดยกะประมาณในหน่วยของ ev ซึ่งมีตั้งแต่ -6 ถึง 23 ไล่ไปตามที่ตา Fred Parker บอกไว้นั่น ซึ่งผู้ถ่ายภาพก็สามารถสร้างค่าความสัมพันธ์ของ F stop Shutter speed และ ISO ได้หลากหลายตามความต้องการในการจะเก็บแสงแต่ละ ev คือถ้าบรรลุเรื่องนี้ก็ไม่ต้องกลัวถ่าย ๆ ไปแบตหมด วัดแสงไม่ได้ก็ไม่ได้เป็นปัญหา ลุยได้ทุกที่ที่มีฟิล์ม 5555 (ความยากมันตรงหาฟิล์มนี่แหละ หาเต้ารับชาร์จไฟยังง่ายกว่าเยอะ)

ถ้านักถ่ายภาพบรรลุสองคัมภีร์นี้แล้วก็จะไม่มีปัญหาในการถ่ายภาพจาก Leica M1 เลยครับ เชียร์ว่าถ้าใครเบี้ยน้อยหอยน้อย อยากได้กล้องที่ไม่จำเป็นต้องสะดวกสบายทุกอย่าง แต่อยากลองเอากล้องมาเล่นมันส์ ๆ ดิบ ๆ อยากได้ฟิลลิ่งกล้องดี ๆ แน่น ๆ อยากพัฒนาสกิลการถ่ายภาพของตัวเอง เชียร์ครับ ขายต่อไม่เจ็บตัว ดีไม่ดีถ้าคนทั่วไปให้ความสำคัญในการสะสมขึ้นมาก็มีสิทธิ์ราคาขึ้นได้ครับ ของอย่างนี้ไม่แน่ไม่นอน เก็บไว้ กอดไว้ ส่งถึงลูก ถึงหลานครับ

เพิ่มเติมภาพตัวอย่างจากฟิล์มม้วนแรก (เพิ่งได้ล้างจากร้านที่ล้างสแกนห่วยทีสุดในโลกแถวสยาม) ส่วนมากประกบกับ Summaron 3.5/35 และใช้วิธี Ultimate Exposure c ครับ

bottom of page