top of page

Leica M edition 60

Updated: Aug 24, 2023

หลังจากได้ทดลองใช้อยู่กินร่วมกันมานานเกือบปี วันนี้คงได้พูดถึงกล้องคู่มือ Leica M edition 60 เสียหน่อย Leica ออกกล้องรุ่นนี้ในปี 2012 เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปีกล้องถ่ายภาพตระกูล M โดยรุ่นนี้จะผลิตจำนวนจำกัดเพียง 600 ชุดเท่านั้น แต่ภายหลังได้ออกรุ่น M-D ตามมาภายใต้แนวความคิดที่กล้องจะไม่มีจอภาพแสดงผล ทำให้เหล่าผู้ใช้ M edition 60 (M60) เคือง ๆ กันไปบ้างที่ความยูนีคของกล้องตัวเองลดลงไปนิดนึง กล้องตัวนี้ผมได้มาแต่บอดี้อย่างเดียว เลนส์ Summilux 1.4/35 asph FLE ที่เป็นสเตนเลสสตีลรุ่นเดียวของ Leica นี่ผมยอมแพ้เลยครับ สู้ไม่ไหวจริง ๆ ถ้าใครจะเก็บเก็งกำไรเก็บเลนส์เลยครับ ดีที่สุด ไม่มีอิเล็กทรอนิกส์ ไม่เคยมีออโต้โฟกัส เสื่อมช้า ราคาขึ้นอย่างเดียว กล้องที่เป็นดิจิทัลนับวันมีแต่ราคาลงครับ ถึงจะลงช้ากว่ายี่ห้ออื่น ๆ ก็ตาม ส่วนภาพด้านล่างนี่พอเปลี่ยนมาใช้บอดี้กล้องสีแปลกเลยต้องหาเลนส์สีที่เข้ากับกล้องมาใช้ให้มันลำบากกันไปอีกนะ

อันนี้สำหรับรีวิวเรื่อง Leica M ก่อนหน้านี้นะครับ เรื่องคาแรกเตอร์ภาพ ไฟล์แต่ละรุ่นจะเขียน ๆ ไว้หมดละ

Leica M edition 60 + Leica Summilux 1.4/35 pre-asph titanium

เอาเป็นว่างานนี้เราเริ่มจากแกะกล่องกันก่อนเลยละกันครับ เพราะ Leica เก่งกับการสร้างประสบการณ์ในการแกะกล่องสร้าง First Impression มาก ขนาดกล่องยังต้องโฆษณาว่า Handmade เพื่อ? ก็แล้วแต่ละกันนะ ได้มากล่องใหญ่เท่าบ้านมัดเชือกฟางหิ้วเดินมาจาก MBK ยังดีที่ไม่โดนใครตีหัวชิงไป

กล่องนอก

กล่องนอกนี่ต้องระวัง ค่อย ๆ แกะอย่าใจร้อน กระดาษยุ่ยง่ายมาก

กล่องใน

เห็นกล่องในแล้วชื่นใจ ภายในประกอบด้วย ตัวกล้อง เลนส์และฮูด(ไม่ได้ถอยมาด้วย) Half case ที่ชาร์จ สายชาร์จไฟบ้าน ไฟรถ คู่มือ ผ้า และถุงมือ

Half case ที่แถมมากับกล้อง

Half case เป็นหนังแท้ ใส่มาในถุงอีกที เป็นสิ่งแรกที่เปิดกล่องมาแล้วเจอครับ ตัวงานทำได้เนี๊ยบ เรียบร้อยดี ไม่มีอะไรให้ติหรือกังวล

กล่องชั้นในที่ว่า Handmade

มีกล่องชั้นในอีกชั้น ซึ่งจะเป็นกล่องจริง ๆ ที่บรรจุตัวกล้องและเลนส์

แง้มละนะ

แง้มฝากล่องในออกมา จะเจอแผ่นบุฟองน้ำ หุ้มกำมะหยี่ ป้องกันกล้องไว้ก่อน ผิวสัมผัสดีมาก ท่าทางจะลงทุนกับกล่องไปเยอะ (ใช่สิ ตัดจอ LCD หลังกล้องออกนิ ก็ต้องคืนกำไรให้ลูกค้ากันบ้าง)

ผ้าและถุงมือ

แถมผ้า และถุงมือ (จำยี่ห้อไม่ได้ละ แต่ต้องมีปักว่า Leica) มาให้ด้วย สายไฟ ข้าวของทุกอย่างถูกบรรจุไว้ในถุงเล็ก ๆ อีกชั้นนึงเสมอ เก็บไว้ด้านข้างของกล่อง

คู่มือปกแข็งพยายามหรูมากที่พิมพ์ทั้งหน้าเป็นขาว-ดำทั้งหมด แล้วมีสีแดงอยู่จิ๊ดเดียว เปลืองโดยใช่เหตุมาก ๆ 55

และแล้วก็กล้อง ตัวแค่นี้ กล่องเท่าบ้าน

ตัวกล้อง M60 (รหัส 10779) ออกแบบโดย Audi ซึ่งออกแบบมาได้เรียบง่ายอย่างได้ใจมาก ๆ มี 3 ปุ่ม 3 หมุน ปุ่มชัตเตอร์ ปุ่มอเนกประสงค์ ปุ่มถอดเอาเลนส์ออก หมุนปรับ ISO หมุนปรับความเร็วชัตเตอร์ และหมุนเปิด/ปิดเครื่อง (Leica M ปรับค่า F ที่วงแหวนของเลนส์จึงไม่ได้นับ) มีแค่นั้นจริง ๆ ส่วนแบตเตอรี่ใช้รุ่นเดียวกับ M (typ 240) คือรหัส 14499 ความจุ 1,800 mAh มียางกันฝุ่นและความชื้นนุ่ม ๆ บุอยู่บริเวณช่องใส่แบตเตอรี่กับเมมโมรี่การ์ด และเกลียวเม้าท์ขาตั้งกล้องที่ติดอยู่กับตัวกล้องเลยไม่ได้ติดอยู่แค่ฝาล่าง จุดนี้ทำดีขึ้นกว่า M8 M9 ที่ผ่าน ๆ มา (อันที่จริงใน exif ของไฟล์ภาพของ M60 จะขึ้นว่าเป็นรุ่น M typ 240 ซึ่งเป็นพื้นฐานของรุ่นนี้ครับ)

ที่สำคัญและแตกต่างจาก Leica M อื่น ๆ คือตัวกล้องผลิตจากสเตนเลสสตีล ที่จี๊ดหนัก ๆ คือแผ่นปิด Hotshoe รวมไปถึงฝาปิดตัวบอดี้ก็เป็นสเตนเลสสตีลเช่นกัน ส่วนจับถือของตัวกล้องหุ้มด้วยหนังลูกวัวปั๊มลายทำสี Antracite grey โดยรวมหนัก แน่น หนา ปึ๊กดี ถึงไม่มีจอหลังก็ไม่รู้สึกว่ามันจะเบาหรือจะกลวงเลย (ไม่รู้เอาอะไรยัดไว้ข้างในบ้าง 55) เสียดายว่าตัวบอดี้ไม่ได้บอกรหัสว่าเป็นสเตนเลสประเภทไหน เลยไม่รู้ความแข็งแกร่งที่แท้จริง แต่ที่แน่ ๆ คือตัวกล้องสามารถทำขอบมุมได้คมคายกว่ารุ่นอื่น ๆ ที่ใช้ทองเหลืองมาก ถึงกล้องจะแข็งแรงแค่ไหนแต่เชื่อว่าผู้ใช้กล้องรุ่นนี้คงไม่ทำตกเล่น ทิ้งขว้าง ทดสอบความสมบุกสมบันแน่ ๆ ดูเหมือนว่าผู้ใช้ Leica ระยะหลังจะกลายเป็นกลุ่มคนรวยและนักสะสม หาได้น้อยคนที่จะนำกล้องไปบุกบั่นถ่ายภาพอย่างจริงจังเหมือนสมัยก่อน หลายคนอาจเก็บกล้องเซ็ตนี้ไว้ในตู้เพื่อเป็นของสะสมเสียแน่ ๆ เห็นมีแต่ประเทศไทยที่มีกลุ่มผู้ใช้กล้องรุ่นนี้ถ่ายภาพกันอย่างครึกครื้น แล้วเพราะอะไร? เพราะเสน่ห์ของกล้องรุ่นนี้ไงครับ มันมีเสน่ห์ที่มันไม่มีจอหลัง ถ่ายแล้วไม่เห็นภาพ รีวิวไม่ได้ เก็บไปเปิดดูที่บ้านอย่างเดียว อารมณ์มันมา ฟิลลิ่งมันมา ความอาร์ตติสมันมา และด้วยความที่มันไม่มีจอนี่เอง ทำให้มันประหยัดแบตเตอรี่อย่างถึงที่สุด ชาร์จ 1 ครั้ง ใช้กันลืมเลยครับ (คาดกว่ารุ่น M-D ก็น่าจะประหยัดพอ ๆ กัน) กล้องตัวนี้ สรุปกับตัวกล้องง่าย ๆ คือ เรียบ หรู แนว แต่ถ้าไม่รักจริงก็อยู่ด้วยกันไม่ได้

M60 + Summarit 2.5/35 ลองเล่นในทริปแรก ๆ

คนเล่นกล้องยี่ห้อนี้มักจะพูดถึงลักษณะของภาพบางอย่างที่คนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ยาก คนเล่นกล้องและเลนส์มือใหม่เราก็มักจะดูกันที่สเป็ค MTF chart ความคม คุณภาพของขอบภาพ ขอบมืด การละลายฉากหลัง สีสันที่ได้จากกล้องและเลนส์ ฯลฯ เป็นหลัก แต่พอเล่นกล้องถ่ายภาพกันไปสักระยะจะเริ่มเห็นภาพที่ได้มามีความซับซ้อนขึ้น การสังเกตสังกาจะดูกันไปถึง ความใสของภาพ ความเป็น 3D Pop ไมโครคอนทราส คาแรกเตอร์ของเลนส์แต่ละตัว (จะขอบมืดขอบเบลอก็ช่างมัน มันมีคาแรกเตอร์ ว่ากันไป) อารมณ์ของภาพ ฯลฯ ซึ่งอย่างหลัง ๆ บางครั้งก็ชักไม่แน่ใจว่าจริงหรือไม่จริง บางทียังเคยคิดว่าหาเลนส์ห่วย ๆ มารีวิวให้มันเจ๋งก็คงได้ หลายคนดูไม่ออกดูไม่เป็นก็โหนตามกระแสความฮิตของเลนส์ไป ถ้าใครจะเข้าวงการแนวนี้ก็หาภาพดูกันเถอะครับ เราชอบแบบไหนก็ใช้แบบนั้น เล่นเลนส์เก่า เลนส์แนว ก็เหมือนดื่มไวน์ หรือเสพย์ศิลปะนามธรรมนั่นแหละ เอาที่ตัวเองชอบก็พอ บางครั้งก็ไม่ต้องหาเหตุผลมาอธิบายให้ยืดยาว หรือมาเถียงกับคนอื่น ๆ ก็ได้

ผมเคยเขียนว่าคาแรกเตอร์ของภาพส่วนมากลูกค้ามโนกันไป ก็มโนกันจริง ๆ นั่นแหละ ยังยืนยันคำเดิม แต่มโนบนพื้นฐานลักษณะความเป็นจริงของภาพที่ได้จากเลนส์และกล้องครับ บางครั้งเลนส์มันให้ภาพฟุ้งภาพฝันซึ่งมันอาจเป็นข้อจำกัดของเทคโนโลยีหรือการโค้ทผิวเลนส์ขณะนั้น ก็ยังมีคนนิยมชมชอบ ทำให้เลนส์ฮิตและขายได้ราคาแพง ๆ ในขณะเดียวกันก็มีคนไม่ชอบ หรือคนทำกล้องทำเลนส์สมัยนี้ก็พยายามทำให้เลนส์ดีขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งความคม สีสัน คอนทราส ก็มีคนชอบคนนิยม แต่ก็ยังมีคนไม่ชอบด้วยเหตุผลที่ว่ามันคมเกินไป แข็งเกินไปอยู่ดี นานาจิตตังครับ วิทยาศาสตร์กับศิลปะมันอธิบายกันและกันไม่ค่อยได้

M60 + Summilux 1.4/35 pre-asph titanium ที่ f1.4 ฟุ้งแต่คมพอตัว

M60 + Summilux 1.4/35 pre-asph titanium ที่ F8 พ่อทุกสถาบัน

พาให้อ่านออกทะเลไปยืดยาวเพียงแค่จะบอกว่าเลนส์ประจำการ (ของผม) ที่ติดกล้อง M60 เป็นประจำตอนนี้คือ Leica Summilux 1.4/35 pre-asph titanium (บางคนเรียก Summilux 1.4/35 classic) ซึ่งเป็นเลนส์เก่า แบบเก๊าเก่า ผลิตช่วงปี 1961 – 1995 (Ken Rockwell, 2009) ซึ่งคงออพติคเดิมมาอย่างสม่ำเสมอ เรียกว่าเป็นบิดาของ 35 f1.4 (จากคำพูดพี่อ๋อย FF) ก็คงได้ จริง ๆ อาจไม่ได้เป็นบิดาแต่อาจเป็นคุณอาแทน เพราะตัวแรกจริง ๆ สูตรออพติคเหมือนกันแต่วัสดุแก้วที่ใช้ทำเลนส์ต่างกันคือรุ่นที่เราเรียกกันติดปากว่า Steel rim ซึ่งหายากและแพงมาก ๆ ส่วนผมที่ชอบเลนส์รุ่นนี้เพราะมันเก่าแต่มันเก๋า มีหลากหลายคาแรกเตอร์ในตัวเอง และที่สำคัญราคาไม่แพง (ไม่แพงของ Leica อะนะ แต่แค่แยกฮูดไปขายก็ได้ตังค์กลับมาหมื่นละ) เลนส์รุ่นนี้ให้ภาพฟุ้ง (แต่คม) ที่ F กว้าง ๆ ที่หลาย ๆ คนเรียก Leica Glow สิ่งนี้มีให้เห็นแน่นอนในตัวนี้ครับ ในขณะที่หรี่ F แคบลงจะได้รับความคมและคอนทราสดี ๆ แบบเลนส์สมัยใหม่ มันเลยถ่ายได้สนุกทุกสถานการณ์ แต่ยังไงต้องทำใจกันไว้นะครับ เพราะเลนส์รุ่นนี้ที่ F กว้าง คุณภาพขอบภาพแย่มาก และขอบมืด (Vignette) เยอะมากจริง ๆ รวมถึงสิ่งที่หลายคนกลัวคือแฟลร์ (Flare) ครับ อันนี้บอกแล้วว่าแล้วแต่คนใช้ ไปลองเล่นลองใช้กันดูเองนะครับ ข้อดีของเลนส์ตัวนี้อีกอย่างคือ เล็ก เบา และให้ความบิดเบี้ยว (Distortion) ต่ำครับ ถึงไม่มี 6 bit ให้กล้องอ่านเก็บไว้แก้ไขในโปรไฟล์ของซอฟต์แวร์ก็แทบจะไม่ต้องแก้ไขอะไรกันเลย ไปลองหามาเล่นกันครับ แล้วจะพบเสน่ห์ของมันที่ผมชวนมโนกันอยู่นี่แหละ Summilux Classic ตัวนี้เหมือนม้าพยศ เดาใจยาก รูปดีก็ดีไปเลย รูปเลวก็เกินจะบรรยาย ต้องใช้เวลาเรียนรู้ ปราบพยศกันพอควร ซึ่งถ้าอยู่มือแล้วก็จะงัดไม้ตายออกมาใช้ได้ไม่ยาก ส่วนเลนส์อีกตัวที่ชวนมโน คือ Leica Summarit 2.5/35 ครับ หลายคนอาจยี้ หลายคนอาจไม่ฟิน เพราะเป็นเลนส์ราคาประหยัดจาก Leica แต่เดี๋ยวนะครับ เท่าที่ใช้เลนส์ช่วง 35 ของ Leica มาผมชอบตัวนี้ที่สุด มันคมตั้งแต่ F กว้างสุด และมันทำให้เกิด 3D pop อันเลื่องชื่อของ Leica ได้ง่ายมาก ๆ ถ้ามีโอกาสต้องลองหามาใช้กันสักตัวนะครับ มันเหมือนม้ามืดนอกกระแสที่คนมองข้าม แต่อยู่ก็วิ่งแซงตัวอื่นเข้าเส้นชัยหมดเฉย ส่วน Leica Summicron 2/35 asph. มันเด็ดจริง คมจริง คุณภาพดีจริง แต่สำหรับความเห็นส่วนตัว ผมว่ามันถ่ายเล่นไปสักพักแล้วทำให้เบื่อเร็วไปหน่อย เหมือนเป็นม้าฝีเท้าดี ฝึกมาอย่างดีไม่มีพยศ แล้วจะบอกว่าเลนส์ Leica นี่จะซื้อก็ซื้อเลยครับ ยิ่งรอยิ่งแพง ยิ่งเลนส์นอกกระแสเดี๋ยวสักวันมันจะขึ้น 555 เคยลองกับ Summicron-c 2/40 มาแล้ว ถึงแม้ว่าปัจจุบันราคายังไม่แพงเท่าไรแต่ก็แพงขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะแล้วครับ ในยุคการมาถึงของกล้อง Mirrorless ที่ใส่เลนส์ได้แทบจะทุกอย่างบนโลกมนุษย์ใบนี้ ประกอบกับกระแสการรีวิวว่าให้คาแรกเตอร์คล้าย Summicron 2/35 v4 KOB ราคาขึ้นเลย ส่วนตัว KOB จริงราคาก็ไปไกลมาก ไกลมากกกกกกกกกกกกกก

M60 + Summarit 2.5/35 3D pop มาง่ายเหลือเกิน

M60 + Summicron 2/35 asph. คม เป๊ะ คุณภาพดี

M60 + Summilux 1.4/35 pre-asph ฟุ้งอย่างมีคาแรกเตอร์ 55

ภาพที่ได้จากกล้องตัวนี้หลายคนบอกว่ามัน “ใส” กว่า M240 ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ แต่ส่วนตัวผมเองยังไม่รู้สึกขนาดนั้นนะครับ (ตาอาจจะยังไม่ถึง) ภาพอาจจะดูป๊อบได้ง่ายกว่า แต่สิ่งที่คิดว่าต่างคือ White Balance ที่น่าจะจัดการได้ดีขึ้น (มโนไปเองอีกป่าวหว่า เรา) สมัยตอนที่ใช้ Leica X2 (ซึ่งตอนนี้นึกถึงก็ยังชอบมาก) ผมชอบใช้แต่ไฟล์ JPG เพราะ X2 เป็นกล้องที่ให้สีสันของ JPG ตรงกับตาเห็นที่สุดตัวหนึ่งเท่าที่เคยใช้มาเลย ลองถ่าย RAW แล้วปรากฏว่าสีสดมาเลย อารมณ์โซนี่มาเลย เลยไม่ชอบสักเท่าไร แต่มาเล่น M60 ไฟต์บังคับ ไฟล์ RAW อย่างเดียว จึงได้ยุ่งกับไฟล์ RAW ของ Leica อย่างจำใจ ซึ่งปรากฏว่า เห้ย ดีนะเนี่ย ไฟล์มันยืดหยุ่นและเก็บรายละเอียดส่วนมืดส่วนสว่างดีมาก และส่วนของรายละเอียดภาพที่กล้องและเลนส์เก็บมานั้น ต้องทำให้หันกลับไปมองกล้องดิจิทัลตัวอื่น ๆ ที่เคยใช้มา 7 ยี่ห้อว่า นี่เราใช้กล้องแบบนั้นมาได้ยังไงตั้งนาน (เหมือนอารมณ์เพื่อนผมเปลี่ยนไปใช้กล้องนอกกระแสอย่าง Sigma ก็รู้สึกแบบนี้เหมือนกัน อิ อิ ใครยังไม่เคยลอง Sigma ก็ลองซะนะครับ ทำเป็นเล่นไป)

อีกเรื่องที่ต้องพูดถึงในฐานะของคนที่ใช้กล้องมาหลายยี่ห้อ M60 นี่มีช่วง ISO ตั้งแต่ 200 - 6400 (หลายคนอาจร้องอี๋ในวินาทีนี้ที่ยี่ห้ออื่น ๆ ดันกันได้เป็นแสนเป็นล้าน) แต่ผมใช้กล้องมาหลากหลายยี่ห้อ พบว่ากล้อง Leica กินแสงน้อยครับ ถ้าเทียบแบบเห็นชัด ๆ เลยคือกับ Fujifilm (X-pro1) ในสถานการณ์เดียวกัน ISO เท่ากัน F เท่ากัน ชัตเตอร์สปีดห่างกันเป็น stop เลยนะครับ เวลาใช้ Leica ถ่ายภาพในแต่ละสภาพแสงจะสบาย ๆ กว่าเยอะครับ ไม่ต้องดัน ISO มาก แล้วรุ่นหลัง ๆ มา Leica เปลี่ยนไปใช้เซนเซอร์ CMOS แล้ว การจัดการจุดรบกวน (Noise) ในภาพก็ค่อย ๆ ดีขึ้นเป็นลำดับ ยิ่งรุ่นใหม่ ๆ อย่าง Q หรือ SL ยิ่งฟิน

เดี๋ยวจะหาว่าอวยชัยให้พรกันอย่างเดียวไม่พูดถึงข้อเสียข้อจำกัดกันบ้าง บอกไว้ ณ ที่นี้ได้เลยนะครับถ้าใครสนใจมาแนวนี้ต้องทำใจหลายเรื่องครับ

- เรื่องแรกคือราคา ไม่ใช่แค่ราคาซื้อนะครับ ราคาซ่อมบำรุงด้วย ทั้งอะไหล่ ทั้งค่าแรง ค่าส่ง ไม่ถูกเลยนะครับ เผลอ ๆ ซ่อมทีซื้อกล้องญี่ปุ่นรุ่นกลาง ๆ ได้อีกตัว

- ถ้าก้าวพ้นเรื่องราคามันมาได้ก็จะมาเจอกับคำว่าประสิทธิภาพในการใช้งาน เรื่องนี้ผู้ใช้ Leica อย่างเรา ๆ อาจจะโดนตราหน้า เหยียดหยามจาก “โปร” กล้องอื่น ๆ ได้ (สมัยนี้เบากว่าเมื่อสัก 10 ปีที่แล้วมาก สมัยนั้นพวกเนิร์ดกล้องแต่ละค่ายมันเหมือนคนบ้า อย่าไปพูดถึงมันดีกว่านะ) คือเรื่องประสิทธิภาพน่ะมันไม่คุ้มค่าแน่นอน คำว่ามีเงินแต่ไม่มีสมองนี่ได้ยินจนชินหูแน่นอนครับ

- M60 มันไม่ใช่กล้องที่เร็วนะครับ กดฉับ ๆ แบบพวก DSLR ไม่ไหว ถ่ายทิ้งขว้างแล้วมาเลือกนี่ไม่ใช่แนวฮะ ต้องรอ ต้องเล็ง แล้วฉับเดียวเด็ด เลิกกันเลย ถึงจะคนจริง และ M60 นี่บางครั้งมันแฮงก์ได้ด้วยนะ ต้องถอดแบตเตอรี่ออกมาแล้วใส่กลับเข้าไปใหม่จึงจะหาย ตลอดเกือบปีที่ผ่านมาผมเจอไปสัก 5 ครั้งได้ แต่บางคนก็ไม่เคยเจอนะครับ

- อีกอย่างที่หนักหนาสำหรับนักสะสมคือ บอดี้รุ่นนี้ผิวมันลอกได้นะครับ หึ หึ ผิวกล้องเป็นสเตนเลสก็จริง แต่เหมือนมันเคลือบผิวด้วยอะไรใส ๆ อีกชั้นนึง ซึ่งชั้นใส ๆ นั่นมันลอกได้ครับ แต่ลอกแล้วก็ไม่มีอะไร สีบอดี้ไม่เพี้ยน แต่เห็นรอยที่มันลอกไป :3

- เรื่องที่ฝรั่งมังค่าบ่นกันหนาหูมากคือมันจะ Minimalism ไปไหนถึงได้ตัดหูคล้องสายห้อยคอออกไป อยากได้ Pure form มากนักใช่มั้ยออดี้ แต่ก็นะครับ มันถึงต้องแถม Half case มาให้ด้วยไง หมดสิทธิ์หาสายคล้องคอหล่อ ๆ ถ้าอยากหล่อคนใช้รุ่นนี้ส่วนมากเขา Custom made กันหมดครับ

- ส่วนเรื่องหงุดหงิดรำคาญใจจากคนที่ใช้ M typ 240 มาก่อนก็คือเรื่องที่ M60 มันตัดช่องเสียบ EVF ออกไปด้วย (บินไปพร้อมกับจอ) นั่นหมายความว่าเลนส์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่เม้าท์ M ไม่มีตัวเตะเรนจ์ไฟน์เดอร์ของกล้อง จะไม่สามารถหาโฟกัสได้เลย เลนส์ตัวโปรดที่สุดในชีวิตการถ่ายภาพของผมอย่าง Mamiya sekor 55/1.4 ก็เป็นอันนอนตู้ยาววววว

ข้อเสียก็มีข้อดีก็มาก สรุปว่า การใช้งานของกล้องตัวนี้ ถึงแม้ว่าความสะดวกสบายในการใช้งานจะแพ้กล้องยี่ห้ออื่น ๆ แต่ใจมันได้ครับ ถ่ายยาก ๆ คนอื่นถ่ายไม่ได้ แตะไม่ได้ ต้องพิถีพิถันในการวัดแสง (ยังดีที่ถ่ายมาเป็น RAW เสมอ ถ้าถ่ายมา JPG ล่ะตัวใครตัวมัน) ค่อย ๆ หมุนโฟกัสเวลาจะเอาเนี๊ยบ หรือจะเอาเร็วก็ใช้เทคนิค Hyper focusing ที่คนถ่ายภาพรุ่นใหม่ ๆ มักลืมเลือนกันไป มันทำให้อารมณ์ในการถ่ายภาพกลับมาครับ อยากจะหยิบ อยากจะถ่าย แล้วไปรอลุ้นเอาที่บ้านตอนเย็นว่าภาพจะโอเคหรือไม่ ระบบ Wifi อะไรแบบกล้องสมัยนี้ไม่ต้องพูดถึง ไม่มีให้เกะกะ M60 เรากำลังพูดถึงเรื่องแก่นของการถ่ายภาพกันอยู่มิใช่รึ Leica Das Wesentliche (The Essential) ไงล่ะ ใครจะเล่นกล้องก็ลองเล่นไปให้สุดประสิทธิภาพของแต่ละค่ายซะก่อนครับ ถึงจุดนั้นแล้วจะหันกลับมาถ่ายภาพด้วย Passion แน่นอน

M60 กับเคสตัดเองเย็บเอง

ส่วนใครอยากเป็นเจ้าของ M60 จริง ๆ รุ่นนี้มันจัดเป็นรุ่น limited ที่ขายไม่ค่อยออกนะครับ 55 แต่ช่วงนี้เริ่มหายากละครับ อาจต้องรอจังหวะดี ๆ หรือหาคนปล่อยมือสอง ในอีเบย์ยังมีนะครับ เคยเห็น Serial no. 001/600 ราคายังไม่ถึงล้าน ถถถถ

bottom of page