My knives collection
SOLD
with Emerson 2006 skull
knives Selection
การจะเลือกมีดพับให้ถูกใจสักเล่มนั้น บอกตรงนี้ได้เลยครับว่ายาก ๆ มาก ๆ เพราะมันมักจะขาดโน่นนิดนี่หน่อยเสมอ ๆ เหมือนกล้องถ่ายภาพ นาฬิกา และอีกสารพัดของเล่นของพวกเรา ๆ ท่าน ๆ ในฐานะที่เป็นคนชอบมีด ในลักษณะที่มันเป็นเสมือนงานศิลปะชิ้นหนึ่ง ไม่ค่อยได้เอามาใช้สอยอะไรเท่าไรหรอกครับ ก็เริ่ม ๆ ซื้อเก็บ ๆ หาอ่านตามที่โน่นที่นี่ดูบ้าง ก็เลยอยากจะเขียนแบ่งปันไว้ ณ ที่นี้ เผื่อใครมาดูแล้วสนใจ อยากมีมีดพับไว้ใช้สักเล่มหนึ่งควรจะต้องพิจารณาอะไรบ้างเอาสัก 10 ข้อก็แล้วกันนะครับ
1. โลหะ
โลหะที่ใช้ทำใบมีดนี่แหละครับ มีสมบัติที่หลากหลายมาก ๆ จริง ๆ และมีหลากหลายสูตรมากมาย ซึ่งปัจจัยนี้จะส่งผลต่อราคาของมีดมาก ๆ ครับ เช่น มีระดับเริ่มต้นทั่ว ๆ ไปราคาหลักร้อยหลักพันต้น ๆ อาจเริ่มต้นด้วยโลหะ 8Cr13MOV ซึ่งเจอบ่อยมาก หรือไม่ก็พวก AUS8 หากมีดที่แพงขึ้นมาอีกนิดอาจจะเป็นเหล็กพวก VG10 ไล่ขึ้นไป D2 154 N90 S30V ไปจนถึงพวกแพง ๆ หน่อย เช่น S35VN ZDP189 204P Vanadis4 เป็นต้น ซึ่งเหล็กแต่ละสูตรก็จะมีสมบัติแตกต่างกันออกไปตามส่วนผสม ซึ่งข้อพิจารณาหลัก ๆ คือ ถ้ามีจำนวนโครเมี่ยมมากกว่า 10.5% ขึ้นไปก็จะถือว่าเป็น Stainless คือไม่เป็นสนิม (จริง ๆ ก็ยังเป็นได้นะครับถ้าไม่ดูแลรักษาให้ดี) อีกเรื่องคือเรื่องความแข็งของเหล็ก มักจะมีหน่วยการวัดเป็น hc ซึ่งเอาง่าย ๆ ว่าโดยปกติมีดที่แข็งมากมักจะทนทานต่อการใช้งานและมีการรักษาคมได้ดีในขณะที่ลับคมยากและลับให้คมมาก ๆ ได้ยาก หากเป็นเหล็กอ่อนจะสามารถลับคมได้คมมาก ๆ แต่เวลาใช้งานจะทื่อเร็ว ที่ผ่านมาแต่โบราณกาลจึงมีการนำเหล็กแข็งและเหล็กอ่อนมาตีทับผสมกันเป็นชั้น ๆ เพื่อให้ได้ข้อดีของเหล็กแต่ละประเภท เช่น Damascus เป็นต้น (ที่เราเห็นเป็นลาย ๆ ขึ้นมาถ้าตีเหล็กปกติจะมองไม่เห็นแต่มีการใช้สารเคมีชุบทำให้ผิวส่วนของเหล็กอ่อนโดนกัดกร่อนไปจึงมองเห็นเป็นลายขึ้นมา) อีกเรื่องที่มักจะมาพร้อมความแข็งคือความเหนียวของเหล็กว่าหากมีแรงกระทำแล้วมันจะงอหรือหักนั่นเองครับ
2. รูปทรงของใบมีด
เรื่องนี้มีหลากหลายตามการใช้งานครับ รูปทรงหลัก ๆ ของใบมีก็ได้แก่ Drop point, Tanto, Wharncliffe เอาแค่สามแบบนี้เป็นเบสิกก่อนก็พอครับ ถ้ามากกว่านี้มันจะมีการโมดิฟายไปได้อีกเยอะครับ
- Drop point เป็นลักษณะที่ใช้งานกันอย่างหลากหลายที่สุดแล้วของมีดครับ ถ้านึกไม่ออกก็นึกถึงมีดทำครัวทั่ว ๆ ไปครับ มีใบตรงตรงโคนและค่อย ๆ โค้งไปจนเป็นปลายมีด ใบมีดลักษณะนี้สามารถใช้งานได้หลากหลายครับ ตัด หั่น สับ เฉือน ทั่วไปได้หมด บางครั้งพบมีการทำ Reverse curve จากใบตรง ๆ ตรงโคนมีให้โค้งเว้าเข้าไปด้วย ด้วยเหตุผลเพื่อการต่อสู้ครับ
- Tanto ใบมีดลักษณะนี้ใบมีดจะตรงและตัดทำมุมขึ้นไปเป็นปลายมีดเลยครับ ไม่มีการโค้ง มีดพวกนี้มักจะถูกใช้ในการต่อสู้ครับ ใช้งานในชีวิตประจำวันได้ลำบาก
- Wharncliffe ใบมีดลักษณะนี้จะตรงอย่างเดียวเลยครับ ตรงปลายจะเป็นการโค้งจากทางสันมีดลงมาหาคมมีดอย่างเดียว ใช้งานทั่วไปยากอีกเช่นกัน แต่มักจะทำมาในมีดที่มีลักษณะการใช้งานแบบ Gentleman knife ไว้ตัดซองจดหมายอะไรพวกนั้น แต่ยุคนี้รับอีเมลกันแล้วผมยังนึกไม่ออกว่าจะเอามันไปใช้อะไร นอกจากนี้ใบมีดลักษณะนี้ยังพบในมีดต่อสู้แบบ Carambit ด้วย
3. ความยาวของใบมีด
ความยาวของใบมีดนี่แล้วแต่การใช้งานของแต่ละคนเลยครับ มีดพับส่วนมากที่พบมักจะมีความยาวตั้งแต่ 2" ไปจนถึงราว 4" ครับ ซึ่งขนาด 2" นี่นึกไม่ออกว่าจะเอาไปทำอะไร ฮ่ะ ๆ ในขณะที่ 4" นี่ก็เต็มที่แล้วครับถือว่าเป็นมีดพับขนาดใหญ่ถ้ายาวกว่านี้พกยากละครับ ส่วนตัวนะครับ ขนาดที่ชอบที่สุดคือราว ๆ 3" หรือ 3.25" ครับ กำลังพกสะดวกและใช้งานได้ดีสำหรับมีดพับครับ
4. การขึ้นคมของใบมีด
การขึ้นคมนี่ถ้าจะให้อธิบายคงต้องขอให้พยายามนึกถึงภาพตัดของใบมีดครับว่าจากเหล็กแท่ง ๆ จะทำให้เรียวลงไปจนถึงส่วนที่เป็นคมมีดได้อย่างไร แบ่งเป็น Flat grind, Hollow grind, Convex grind, Chisel grind
- Flat grind เจอเยอะสุดครับ ทำง่ายสุดในเชิงอุตสาหกรรม ใช้งานได้ทั่วไป
- Hollow grind ส่วนตัวผมชอบแบบนี้ที่สุดครับ การเจียรใบมีดจะเป็นลักษณะ Concave ทำให้ใบมีส่วนปลายมีความบางมาก ขึ้นคมแล้วเหมาะกับการเฉือนอะไรบาง ๆ แล่เนื้อเถือหนังให้เหมาะที่สุดครับ
- Convex grind เป็นการขึ้นคมตรงข้ามกับ Hollow grind คือส่วนที่จับมุมลงมาที่คมมีดจะเป็นแบบโค้งโป่งออก ผมมีอยู่เล่มนึงเฉือนของบาง ๆ ยาก แต่ดูว่าน่าจะมีความแข็งแรงมากกว่า Hollow grind ครับ
- Chisel grind เป็นการขึ้นคมทางเดียว บางท่านก็เรียกว่าขึ้นคมแบบสิ่ว ลักษณะการขึ้นคมแบบนี้ปราบเซียนกับการลับมีดพอควรครับ เพราะลับไปเลยด้านเดียว มักจะพบในมีดทำครัวแบบญี่ปุ่นครับ ที่เวลาหั่นข้าวของแล้วต้องการความตรงของชิ้นงานมาก ๆ
5. ความหนาของใบมีด
เรื่องความหนานี่จะไปสัมพันธ์กับการใช้งานพอสมควรครับ มีดหนา ๆ จริงอยู่ว่ายิ่งดียิ่งแข็งแรง บางยี่ห้อโชว์กันถึงขนาดที่เสียบมีดแล้วดึงข้อยกตัวคนขึ้นไปเลยก็ได้ ใบมีดหนา ๆ เวลาลงแรงหั่นหรือสับอะไรมีดจะไม่ค่อยดิ้น ไม่ค่อยพลิกหรือแฉลบจนทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ครับ ในขณะที่ใบมีดแบบบางจะสามารถใช้งานแบบเฉือนได้ดีกว่า
6. ระบบการล็อกและการเปิด
พูดถึงมีดพับก็ต้องพูดถึงระบบการล็อกการเปิดนี่แหละครับ ขอยกตัวอย่างมาอธิบายง่าย ๆ เป็นบางอย่างที่นิยมทำกันนะครับ
- ล็อกด้วยมือแบบมีดโกน
การล็อกแบบนี้คลาสสิกครับปลายใบมีดจะยื่นยาวออกมา เวลากางออกมาแล้วก็ใช้มือกำไว้รวมกับด้ามครับ เหมาะกับการใช้งานอะไรเบา ๆ ไม่งั้นอันตรายครับ มีดมันพับลงมาได้ง่าย ๆ แล้วแต่มือเราเลย
- Lock back
ระบบล็อกแบบนี้จะปลดล็อกจากด้านหลังของด้ามมีดครับ ข้อดียังนึกไม่ออก เพราะเก็บมีดได้ช้า และต้องใช้สองมือในการปลดล็อกครับ
- Liner lock
ระบบล็อกแบบนี้จะใช้ Liner ส่วนโลหะที่ซ้อนอยู่ด้านในของด้ามมีดเพื่อความแข็งแรง เอามายันใบมีดไว้ตอนเปิดออก เวลาจะปิดก็ผลักมันเลื่อนไปข้าง ๆ ก็สามารถพับมีดได้ด้วยมือเดียว
- Frame lock
ระบบล็อกแบบนี้คล้ายกับ Liner lock แต่เป็นการใช้เฟรมด้ามมีดทั้งอันมายันไว้แทน ข้อดีคือได้โลหะหนา ๆ มายัน แข็งแรง เวลาจับถือก็กำมันไปเลยไม่น่าจะเฟลง่าย ๆ บางยี่ห้องทำตัวล็อกมาล็อกเฟรมไม่ให้เลื่อนออกอีกทีหนึ่ง ยิ่งปลอดภัยมากขึ้นไปอีกครับ ส่วนมากมันจะพบระบบล็อกแบบนี้กับมีดที่มีราคาแพงหน่อย เพราะตัวด้ามมีดอย่างน้อยด้านหนึ่งต้องเป็นโลหะทั้งชิ้น
- Button lock
ระบบล็อกแบบนี้ใช้ปุ่มไปยันไว้บริเวณสันมีดด้านบนครับ เปิดปิดง่ายดีครับ ใบมีค่อนข้างฟรีและไม่ค่อยมีชิ้นส่วนที่มีการเสียดสีกันเท่าไร และสามารถทำได้ง่าย
ในปัจจุบันจะมีการคิดค้นวิธีการล็อกใบมีดอีกหลากหลายวิธีมาก ซึ่งบางอย่างก็เอาข้อดีของแต่ละอย่างมาผสมกันยากที่จะระบุไปว่าเป็นการล็อกแบบใด
การเปิดมีดพับ หลายท่านก็ให้ความสนใจด้านนี้มาก เพราะมันส่งผลต่อความเร็วและการพลิกแพลงใช้งาน (คือถ้าไม่คิดจะเอาไปสู้กับใครก็ไม่ค่อยจำเป็นหรอกครับ) เช่น ใช้นิ้วโป้งดันเปิดแบบปกติ หรือจะเอานิ้วดีดแล้วเปิด สะบัดเปิด มีเงี่ยงเอาไว้ฟลิปเปิด (ส่วนตัวชอบแบบนี้มาก) หรือบางยี่ห้อมีตัวเกี่ยวกับกระเป๋า พอดึงออกแล้วใบมีดกางออกมาเลยก็มี นี่ยังไม่รวมถึงมีดออโต้ ที่มีกลไกการเปิดอัตโนมัติแบบกดปุ่มหรือเลื่อนสวิตช์แล้วเปิดมีด และกึ่งอัตโนมัติแบบมีตัวช่วยให้เปิดได้ง่ายขึ้น
มีดแบบใช้มืออย่างเดียว ไม่เกี่ยวกับออโต้ ความลื่นในการเปิดจะมาจากส่วนของจุดหมุน (Pivot) ครับ สมัยก่อนก็เป็นแค่แหวนพลาสติกหรือทองแดงมารองกันการเสียดสีของมีดกับตัวเฟรมเท่านั้น แต่ระยะหลังมีการคิดค้นอะไร ๆ ออกมามากมาย เช่น Ceramic ball bearing ทำให้ลดการสึกหรอจากการสัมผัสของวัสดุ และทำให้การเปิดลื่นขึ้นมาก
7. วัสดุด้ามมีดและการจับถือ
วัสดุด้ามมีดมีความสำคัญต่อการจับถือ และแน่นอนว่ามีความสวยงามเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งเรื่องนี้ผู้ใช้งานควรได้ทดลองจับ ทดลองใช้เองว่าเหมาะมือและมีความสวยงามน่าพึงพอใจหรือไม่ ซึ่งมีดทั่วไปในตลาดปัจจุบันมักจะมีวัสดุด้ามมีดดังนี้ Nylon, Micata, G10, Carbon fiber, Aluminium, Stainless steel, Titanium, Wood
ในวัสดุทั้งหมดที่ยกมานี้ ไม้ดูน่าจะเป็นวัสดุที่โดนกัดกร่อนได้ง่ายที่สุดแล้วเพราะเป็นวัสดุจากธรรมชาติ ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาและหาไม้ที่มีคุณภาพดี เนื้อแข็ง ทนทานนะครับ ที่เหลือเป็นวัสดุสังเคราะห์ซึ่งมีสมบัติการทนน้ำดีอยู่แล้ว มีดระดับเริ่มต้นส่วนหนึ่งมักจะใช้ Nylon เพราะไม่แพง ถัดมาน่าจะเป็น G10 ซึ่งมีความแข็งแรงพอ ๆ กับ Aluminium โดนน้ำได้ไม่ลื่น ผิวสัมผัสดี ออกแบบได้หลากหลาย พวกตัว Liner หรือ Frame lock ทั้งหลายระดับเริ่มต้นมักใช้ Stainless steel เพราะมีความแข็งแรง เหนียว ทนทานดี แต่จะส่งผลให้มีดมีน้ำหนักมาก ในขณะที่มีดที่มีราคาแพง มักนิยมใช้ Titanium ซึ่งมีความแข็งแรงและน้ำหนักเบากว่ามาก
8. การพกพา
น้ำหนักของมีดมีผลอย่างมากต่อการพกพาครับ พกแล้วกระเป๋าห้อย กางเกงเอียงไปข้างนึงคงไม่ไหว พกแล้วตุงเนื่องจากความหนา และความยาวของมีดมากไปก็ไม่ไหวครับ มีดพับมีดพกที่ดีควรความเรียบร้อยเวลาพับแล้วไม่ควรมีเงี่ยงต่าง ๆ ที่ขาด ๆ เกิน ๆ ออกมา จะทำให้เกี่ยวกับกระเป๋าเสียหายได้ครับ ส่วนลักษณะของคลิปมันจะมีแบบ Deep pocket ที่พกเสียบลงไปแล้วจมหายไปในกระเป๋าเลย เหมาะมากกับการพกในชีวิตประจำวันเพื่อไม่ให้คนตกใจ แต่จะหยิบมีดออกมายากหน่อยนะครับเพราะมันอยู่ลึก
9. การดูแลรักษาและการทำความสะอาด
บางท่านจะสนใจกับเรื่องการทำความสะอาดเป็นพิเศษเพื่อให้มีดพับเราสวยงามและพร้อมใช้งานเสมอ ซึ่งอุปสรรคความสกปรกของมีดพับส่วนมากมักจะเป็นเรื่องฝุ่นนี่แหละครับ บางครั้งเราพกใส่กางเกง ขุยผ้า เศษฝุ่น จะเข้าไปจับในตัวด้ามมีดเสียเยอะ ต้องคอยเช็ดออกอยู่เรื่อย (สำหรับคนรักมีด) ซึ่งการออกแบบด้ามให้ช่องที่เก็บใบมีดเปิดทะลุจนถึงอีกด้านหนึ่งดูมีภาษีน่าจะสามารถทำความสะอาดและไม่เป็นการเก็บฝุ่นมากกว่า
10. ราคา
แน่นอนว่าราคาและงบประมาณเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ ครับ มีดใช้งานจริง ๆ ไม่ต้องแพงก็ใช้ได้ดีแล้วครับ ดูอย่างมีดทำครัวก็ใช้กันเป็นสิบ ๆ ปี พวกนั้นใช้เหล็กไม่ได้ดีเท่าพวกมีดพับเสียด้วยซ้ำ มีดถูก ๆ ถ้าได้ขนาดและลักษณะใบพอดีก็ใช้งานได้ยาว ๆ ครับ ใช้ไปลับไปอยู่ได้นาน แต่พวกมีดแพง ๆ กว่านี้ก็หาจุดขายไปได้เรื่อยครับ ถ้าดูเรื่องสเป็กวัสดุและการใช้งานมีอยู่ในระดับหลักพันก็มีให้เลือกมากมายเกินพอครับ แต่มีดระดับหลักหมื่นขึ้นไปมักจะเริ่มมีเรื่องสุนทรียภาพเข้ามาเกี่ยวข้องแล้วครับ ทั้งความเป็นมา ความเก่าแก่ ช่างมีดแต่ละคน การผลิตจำนวนจำกัด ฯลฯ ซึ่งพวกนี้ถ้าอินมาก ๆ ก็ค่อยมองหาลองศึกษาเอาเองดีกว่าครับ ยิ่งเล่น ยิ่งลึก ยิ่งลึกก็ยิ่งแพงครับ
ผมว่าเลือก ๆ ไปประมาณ 10 ข้อนี้ก็น่าจะหนักหนาเอาการอยู่สำหรับการเลือกซื้อมีดสักเล่มแล้วครับ เล่มแรกจะคิดเยอะหน่อย วิเคราะห์เยอะหน่อย เล่มต่อ ๆ ไปดูเอาสวยอย่างเดียวก็ซื้อแล้วครับ ฮ่ะ ๆ ๆ